ซากุระใกล้ดอยอินทนนท์ เชียงใหม่

Trips เชียงใหม่

เส้นทางสู่ขุนวาง แยกจากทางขึ้นดอยอินทนนท์

บ้านขุนกลาง-ขุนวาง

ชียงใหม่ นอกจากจะมีดอยสุเทพเป็นขุนเขายอดนิยมตลอดกาล ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ติดตัวเมืองแล้ว อีกหนึ่งยอดดอยนามว่า อินทนนท์ ก็โดดเด่นและเป็นที่รู้จักไม่แพ้กัน  เพราะที่เที่ยวมากมี ธรรมชาติก็สวยงาม แถมยังเปรียบดั่งหลังคาสยามอีก ด้วยสูงเกินกว่า 1,000 ม.เหนือระดับน้ำทะเล จึงเหมาะแก่การเจริญเติบโตของพืชเมืองหนาวนานาชนิด กับต้นพญาเสือโคร่งก็เช่นกัน ทุกปีเมื่อเดือนมกราคมมาถึง ตามที่ทำการอุทยานฯ รวมถึงเส้นทางลาดยางสายเล็กๆ มุ่งหน้าสู่บ้านขุนวางยาวไปจรดบ้านแม่จอนหลวง จะเต็มไปด้วยดอกไม้สีชมพูสะพรั่งตลอดแนว งดงามไม่แพ้จุดชมซากุระแห่งไหนๆ ในเมืองไทย 

Location ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) บ้านขุนวาง หมู่ที่ 12 ต.แม่วิน อ.แม่วาง ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ราว 101 กม.

จากตัวเมืองเชียงใหม่ ให้คุณใช้เส้นทางหมายเลข 108 มุ่งหน้าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ สู่อ.จอมทอง ประมาณ 53 กม. จะสังเกตุเห็นทางขึ้นดอยอินทนนท์อยู่ฝั่งขวามือ ให้คุณเลี้ยวขวาตรงไปตามเส้นทางหมายเลข 1009 จนถึงกม.ที่ 30-31 ก่อนถึงที่ทำการฯ จะเป็นสามแยกด้านขวาบอกทางเป็นบ้านขุนวาง ให้คุณเลี้ยวขวาแล้วตรงไปอีกราว 16 กม. ผ่านทางเข้าบ้านขุนวางซึ่งอยู่ขวามือประมาณ 2 กม. ก็จะถึงสถานนีเกษตรฯ ขุนวาง

ไปชมได้ช่วงฤดูหนาว ราวปลายเดือนธันวาคม-กลางมกราคม

เส้นทางชมดอกซากุระสายนี้ อาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไป แต่กับนักท่องเที่ยวเจ้าถิ่น รวมถึงช่างภาพ และนักล่าซากุระ กลับเป็นที่รู้จักกันมานาน เส้นทางดังกล่าวอยู่ใกล้กับเส้นทางท่องเที่ยวยอดนิยมติดอันดับ 1 ใน 5 ของเชียงใหม่ คืออินทนนท์ เพียงแต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่ามีดงซากุระอยู่ลึกเข้าไปเพียง 18 กม.จากเส้นทางสายหลักคือ 1009 บริเวณ กม.ที่ 30 หรือสามแยกหมู่บ้านขุนกลาง เพียงคุณเลี้ยวขวาไปไม่ไกลภาพต้นพญาเสือโคร่งที่ออกดอกชมพูสะพรั่งก็จะค่อยๆ เผยตัวให้คุณเห็น มากขึ้นๆ ตามระยะทางที่ลึกเข้าไปบนถนนสายนี้

อีกมุมน่ามอง

จุดชมซากุระ

การเที่ยวชมดอกพญาเสือโคร่งในเส้นทางสายนี้ คุณสามารถพบเห็นดอกซากุระเมืองไทยที่สะพรั่งเต็มต้นได้ตั้งแต่บริเวณกม.ที่ 30 ริมเส้นทางหมายเลข 1009 ก่อนเข้าสู่หมู่บ้านขุนกลาง โดยจะยืนต้นอวดดอกกันประปรายทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวามือซึ่งเป็นที่ทำการอุทยานฯ หลังจากเลี้ยวขวาเพื่อมุ่งหน้าสู่บ้านขุนวาง จะเจอดงซากุระเล็กๆ อีกหนึ่งจุดบริเวณโรงเรียนบ้านขุนกลาง ให้คุณได้แวะเก็บภาพประทับใจกันเป็นจุดแรก ก่อนจะแวะถ่ายตามจุดเด่นๆ ระหว่างทางจนไปจบที่ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) 

โครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ ตามพระราชดาริ 

ตั้งอยู่ประมาณกม.ที่ 8 บนเส้นทางมุ่งสู่บ้านขุนวาง หลังจากผ่านโรงเรียนบ้านขุนกลางราว 7 กม. ซึ่งเดิมทีโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ ตามพระราชดาริ ในพื้นที่ภาคเหนือ (ดอยอินทนนท์) อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ แห่งนี้มีจุดประสงค์จัดตั้งขึ้น เพื่ออนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารี รวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยและการท่องเที่ยว รวมถึงขยายพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีที่หายากเพื่อนำกลับคืน สู่ป่าลดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

แต่ต่อมากมีการปลูกพืชเมืองหนาวอีกหนึ่งชนิดเป็นต้นพญาเสือโคร่ง ที่ปัจจุบันชูช่อสีชมพูอยู่รอบอ่างเก็บน้ำภายในโครงการฯ และอีกประปรายบริเวณเชิงเขา นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จึงนิยมแวะเข้าไปเยี่ยมชมเก็บภาพประทับใจ นั่งพักผ่อน รวมถึงศึกษาและถ่ายรูปพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีซึ่งหาชมได้ยากไปพร้อมๆ กัน

เส้นทางสายซากุระ

ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง)

ตั้งอยู่ประมาณกม.ที่ 18 ของเส้นทางสายนี้ ก่อนจะมีทั้งแยกด้านซ้ายเพื่อมุ่งสู่บ้านแม่จอนหลวงซึ่งอยู่ไกลออกไปบนทางลูกรัง อีกราว 6 กม. จัดเป็นอีกหนึ่งจุดชมต้นซากุระที่สวยงามไม่แพ้กัน แต่เดินทางค่อนข้างลำบาก นักท่องเที่ยวหลายคนจึงนิยมจบทริปชมซากุระที่ศูนย์วิจัยเกษตรแห่งนี้ 

ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2525 ครั้งนั้นในหลวงร.9 เสด็จพระราชดำเนินไปยังบ้านขุนวางเป็นครั้งแรก และทรงทอดพระเนตรเห็นว่าบริเวณนี้ยังคงมีการปลูกพืชเสพติด เช่น ฝิ่น อยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีการส่งเสริมให้ปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน และได้ดำเนินการอย่างจริงจังในช่วงปีพ.ศ.2528 โดยแบ่งขอบเขตการทำงานออกเป็นงานวิจัยไม้ดอก ไม้ผลและพันธุ์ไม้ เช่น คาร์เนชั่น องุ่น สตอเบอร์รี่ เฟิน ลินิน และพันธุ์กาแฟ รวมถึงงานส่งเสริมการปลูกพืชผักเมืองหนาว โดยให้ความรู้แก่เกษตรกรในการปลูกและขายกะหล่ำปลี กะหล่ำดาว หอมญี่ปุ่น กระเทียมต้น ท้อ แอปเปิ้ล สาลี่ บ๊วย พลับ พลัม และเสาวรส จึงไม่น่าแปลกใจว่าทันทีที่ลมหนาวมาถึงในบริเวณนี้จะเต็มไปด้วยดอกบ๊วย ดอกท้อ รวมถึงดอกซากุระ ที่อยู่ลึกเข้าไปในศูนย์วิจัยฯ

บ้านพักวิวสวย

ทันทีที่ถึงบริเวณด้านหน้าทางเข้าศูนย์วิจัยฯ ให้คุณแจ้งความจำนงค์ในสมุดบันทึกที่ป้อมปากทางเข้าก่อน จากนั้นใครจะแวะทางอาหารที่ร้านอาหารสโมสรภายในศูนย์วิจัยฯ ใกล้กับส่วนของที่พัก และสวนไม้ดอกเมืองหนาวก็ไม่ผิดกติกา แต่ถ้าคุณใจร้อนอยากชมต้นพญาเสือโคร่งที่ถูกปลูกเป็นแนว รวมถึงกำลังออกดอกสะพรั่งปกคลุมทั้งถนนต้องออกแรงเดินจากจุดจอดรถอีกประมาณ 800 ม.

ระหว่างทางเดินคุณสามารถชมทิวทัศน์ของดงซากุระที่อยู่บริเวณเชิงเขาห่างออกไปได้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังมีทั้งแปลกพืชเมืองหนาว รวมถึงไร่ท้อ และบ๊วย ซึ่งพากันออกดอกแข่งกับพญาเสือโคร่งในช่วงเดียวกัน ทันทีที่ผ่านพ้นช่วงที่เป็นไร่ท้อฝั่งซ้ายมือ จะมีถนนอีกหนึ่งเส้นตัดผ่าน ซึ่งตลอดทั้งแนวบนถนนลาดยางสายนี้คุณจะต้องตกตะลึงกับอุโมงค์สีชมพูซึ่งจัดว่าสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

อุโมงค์ซากุระ

ใครรักการถ่ายภาพ เชื่อว่าจะได้กดชัตเตอร์กันอย่างสนุกนิ้ว แถมถ่ายภาพซากุระที่นี่ยังไม่ต้องซีเรียสเพราะสามารถเลือกมุมถ่ายได้ทั้งเช้าและบ่าย แต่หากคุณต้องการจะได้ภาพมุมกว้างเป็นดงซากุระบริเวณเชิงเขา พร้อมทิวทัศน์ด้านหน้าเป็นสวนดอกไม้แนะนำให้มาในช่วงเช้า เพราะบ่ายจะย้อนแสง 

การเลือกเที่ยวที่ศูนย์วิจัยคุณสามารถเที่ยวได้ทั้งค้างคืน และไป-กลับ ไม่ว่าจะสะดวกแบบไหนคุณยังแวะเที่ยวดอยอินทนนท์เป็นของแถมได้อีกด้วย

สวนดอกไม้เมืองหนาวใกล้ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว

Tips: หลังจากชมซากุระกันจนเต็มอิ่ม หากคุณมีเวลามากพอก็วางแผนเที่ยวต่อบนเส้นทางหมายเลข 1009 หรืออุทยานฯ ดอยอินทนนท์ได้อย่างหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น น้ำตกสิริภูมิ ก็อยู่ไม่ไกลจากบ้านขุนกลาง ซึ่งเป็นทางผ่านระหว่างขากลับ

หากคุณเป็นแฟนพันธุ์ดอยอินทนนท์คงไม่ต้องไปห่วงเกี่ยวกับเรื่องกินและเรื่องนอนบนดอยสูงแห่งนี้ เพราะตั้งแต่ปากทางขึ้นสู่ยอดดอย จะเรียงรายด้วยที่พักและร้านอาหารมากมาย แต่ถ้าคุณไม่อยากเดินทางไกล ใกล้ๆ กับดงซากุระที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) ก็มีทั้งร้านอาหาร ที่พัก ลานกางเต็นท์ เต็นท์ พร้อมชุดเครื่องนอนไว้บริการ ส่วนใครที่ต้องการพักลึกเข้าไปที่บ้านแม่จอนหลวง ณ สถานีทดลองเกษตรที่สูงแม่จอนหลวง ก็มีบ้านพัก รวมถึงลานกางเต็นท์อีก 2 จุด ไว้ให้บริการเช่นกัน แต่ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ได้ทราบล่วงหน้าเสียก่อน 

สำหรับใครที่อยากพักด้านนอกใกล้กับที่ทำการอุทยานฯ ก็มีทั้งบ้านพักอุทยานฯ ลานกางเต็นท์ รวมถึงที่ของของโครงการหลวงดอยอินทนนท์ พร้อมร้านอาหารสโมสรที่พร้อมเสิร์ฟเมนูรสเด็ดด้วยวัตถุดิบสดๆ จากโครงการหลวง ทั้งผักเมืองหนาว และเมนูปลาหาทานยากอย่างเรนโบว์เทร้าก็น่าสนใจไม่แพ้กัน

ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) โทร 053 114 133

สถานีทดลองเกษตรที่สูงแม่จอนหลวง  โทร 053 114 133, 053 114 136

อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ โทร 053 286 728-9

สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ โทร 053 286 771-2