สัมผัสวิถีล้านนาตะวันออก
แพร่ เมืองเนิบช้าอีกจังหวัดหนึ่งที่จะช่วยชะลอวันเวลาให้เดินไปอย่างไม่รีบเร่ง คุณจะหายใจได้ยาวๆ เหมือนได้หยุดพักเมื่อสัมผัสกับวิถีชีวิต บ้านเรือน วัดวาอารามของที่นี่ หากวันนี้คุณรู้สึกว่าทำไมโลกมันหมุนเร็วเกินไป ลองเดินทางมาแพร่แล้วออกเดินเที่ยวตัวเมืองซึมซับความเป็นล้านนาตะวันออก บรรยากาศแบบนี้จะช่วยให้วันเวลาค่อยๆ ผ่านไปอย่างช้าๆ
วัดพงษ์สุนันท์
ตั้งอยู่ที่ถ.คำลือ ต.ในเวียง อ.เมือง
เดิมชื่อ วัดปงสนุก ภายหลังได้รับการบูรณะโดยพระยาบุรีรัตน์และทายาท จึงเปลี่ยนชื่อเป็นวัดพงษ์สุนันท์ สวยงามโดดเด่นตั้งแต่ซุ้มประตูหน้าวัดที่ประดับด้วยยอดเจดีย์ เรียกว่า ซุ้มประตูมงคล 19 ยอด ภายในอุโบสถประดิษฐาน พระเจ้าแสนสุข พระประธานปางมารวิชัยอายุเก่าแก่กว่า 568 ปี นอกจากนี้บริเวณวัดยังมีพระนอนสีทองขนาดใหญ่และพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ช่วงเดือนก.พ.ของทุกปี จะมีพิธีสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ หรืองานไหว้สาพระธาตุพงษ์สุนันท์มงคล
วัดพระบาทมิ่งเมือง ตั้งอยู่ริมถ.เจริญเมือง ใกล้ศาลากลางจังหวัดแพร่ สร้างขึ้นราวพ.ศ. 2498 โดยรวมวัดโบราณ 2 แห่งเข้าด้วยกัน คือ วัดพระบาท และวัดมิ่งเมือง ปัจจุบันวัดนี้เป็นที่ประดิษฐานของ พระพุทธโกศัยศิริชัยมหาศากยมุนี พระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัด และมี พระเจดีย์มิ่งเมืองซึ่งเป็นเจดีย์เก่าแก่มีรอยพระพุทธบาทจำลองอยู่ภายใน และเป็นที่ตั้งของมูลนิธิยาขอบอนุสรณ์เพื่อระลึกถึง ยาขอบหรือนายโชติ แพร่พันธุ์ นักเขียนผู้ล่วงลับไปแล้วซึ่งเป็นทายาทเจ้าเมืองแพร่คนสุดท้าย
วัดพระนอน อยู่ใกล้วัดหลวงบนถนนพระนอนเหนือ มีพระอุโบสถแบบเชียงแสนคือไม่มีหน้าต่างแต่ทำเป็นช่องรับแสงแทน ส่วนหน้าบันแกะสลักอย่างงดงามเป็นลายก้านขด มีภาพรามเกียรติ์ประกอบ ส่วนวิหารตกแต่งชายคาด้วยไม้ฉลุโดยรอบ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางสีหไสยาสน์ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นยาว 9 ม.ลงรักปิดทองตลอดองค์
วัดสระบ่อแก้ว อ.เมือง จ.แพร่ ตั้งอยู่บนถ.น้ำคือ ริมคูเมือง สร้างขึ้นสมัยเดียวกับวัดจอมสวรรค์ เดิมชื่อ วัดจองกลาง เป็นวัดศิลปะแบบพม่าที่สวยงามแปลกตา ทั้งศาลาการเปรียญ โบสถ์ และเจดีย์ มีพระพุทธรูปหินอ่อนทรงเครื่องแบบพม่า สร้างอย่างสวยงามวิจิตรพิสดารมาก วัดแห่งนี้ยังเป็นที่จำพรรษาของพระสงฆ์พม่าที่เดินทางเข้ามาศึกษาพระธรรมวินัยในประเทศไทย
วัดหลวง ตั้งอยู่ที่ถ.คำลือ ซอย 1 ต.ในเวียง เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองแพร่ วัดนี้ได้รับการบูรณะซ่อมแซมหลายยุคหลายสมัย
สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดได้แก่ วิหารหลวงพลนคร วิหารเก่าแก่สร้างพร้อมกับการสร้างเมืองแพร่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ คือพระเจ้าแสนหลวง พระธาตุหลวงไชยช้างค้ำ พระเจดีย์ศิลปะเชียงแสน ประดิษฐานพระธาตุที่นำมาจากเมืองหงสาวดี
พิพิธภัณฑ์เสรีไทย
ตั้งอยู่ที่ถ.ยันตรกิจโกศล ต.ในเวียง อ.เมือง ด้านหลังโรงแรมภราดร
ก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2550 โดย นายภุชงค์ กันทาธรรม บุตรของนายทอง อดีตหัวหน้าเสรีไทยสายแพร่ ภายในรวบรวมรูปภาพและข้อมูลต่างๆ ของขบวนการเสรีไทย รวมทั้งมีการจัดแสดงเรื่องราวสำคัญช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
พิพิธภัณฑ์ไม้สัก
ตั้งอยู่ที่ศูนย์ฝึกอบรมที่ 1 แพร่ สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ต.ในเวียง อ.เมือง
เป็นอาคารเก่าแก่อายุกว่าร้อยปี เดิมคือที่ทำการของบริษัท อีสต์เอเซียติก จำกัด มีทั้งสิ้น 3 หลัง จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแหล่งความรู้และประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการทำไม้ มีทั้งอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้โบราณ และรูปภาพการทำไม้ของบริษัท อีสต์เอเซียติก จำกัดในอดีต
คุ้มวิชัยราชา (คุ้มเจ้าโว้ง)
ตั้งอยู่ที่ถ.วิชัยราชา ต.ในเวียง อ.เมือง
ชมความงามของบ้านไม้สักเก่าแก่ทรงมะนิลา อายุหลายร้อยปี เดิมเป็นคุ้มของพญาแสนศรีชวา สืบทอดจนถึงยุคของพระวิชัยราชา ปัจจุบันยังคงมีการบูรณะต่อเนื่อง เพื่อรักษาไว้ซึ่งรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเก่าแก่อันล้ำค่า
พิพิธภัณฑ์เมืองแพร่ เป็นสถานที่รวบรวมพระพุทธรูปเก่าแก่หลายองค์ที่มีอายุเกือบ 500 ปี และโบราณวัตถุต่าง ๆ ของเมืองแพร่ นอกจากนี้ยังมี คุ้มพระลอ ซึ่งเป็นการจัดแสดงตัวอย่างบ้านแบบล้านนาโบราณ หอวัฒนธรรม จังหวัดแพร่ สร้างด้วยไม้สักทอง อายุ 200 ปี เป็นที่เก็บรวบรวมศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านมากมาย
เสาหลักเมืองจังหวัดแพร่ อ.เมือง จ.แพร่ ตั้งอยู่บนถนนคุ้มเดิมย่านกลางเมือง เป็นหลักใหม่สร้างตามนโยบายมหาดไทย ปีพ.ศ. 2535 ตั้งอยู่คู่กับหลักศิลาจารึกเก่าที่กล่าวถึงการสร้างวัดศรีบุญเริง สมัยรามคำแหงมหาราช ซึ่งในปัจจุบันวัดนี้ไม่มีแล้วกลายเป็นที่ตั้งเรือนจำจังหวัด อักษรบนจารึกเป็นภาษาไทยอาหม
อนุสาว์รีย์พระยาไชยบูรณ์ อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดแพร่ ประมาณ 4 กม. ริมทางหลวงแผ่นดินสาย 101 พระยาไชยบูรณ์เป็นข้าหลวงเมืองแพร่ รับราชการระหว่างพ.ศ. 2440-2445 ในปีพ.ศ. 2445 พวกเงี้ยวในเมืองแพร่ก่อการกบฏ ท่านถูกพวกเงี้ยวฆ่าตาย เนื่องจากไม่ยอมลงนามยกเมืองแพร่ให้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯให้ส่งกองทหารมาปราบพวกเงี้ยว แล้วสร้างอนุสาวรีย์ให้กับพระยาไชยบูรณ์เป็นอนุสรณ์ และเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาราชฤทธานนท์พหลพลภักดี
คุ้มเจ้าหลวง สร้างในสมัยพระเจ้าวิริยะเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองเมืองแพร่องค์สุดท้าย ประมาณปีพ.ศ. 2435 เพื่อเป็นที่พำนักของท่าน และเป็นที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองต่อมาในปีพ.ศ. 2535 คุ้มเจ้าหลวงได้ใช้เป็นบ้านพักของผู้ว่าราชการจังหวัด เรียกว่า จวนผู้ว่า คุ้มเจ้าหลวงได้รับการบูรณะโดยกรมศิลปากร และต่อมาได้มอบให้อยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ซึ่งมีนโยบายที่จะดูแลปรับปรุงภูมิทัศน์คุ้มเจ้าหลวงให้มีความร่มรื่น สวยงาม เป็นที่ประทับใจของนักท่องเที่ยว จัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ให้เยาวชนศึกษาประวัติศาสตร์ของแพร่
อาคารหลังนี้ยังได้รับพระราชทานรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประปีพ.ศ.2536 และสถาปัตยกรรมดีเด่นพ.ศ. 2550 จากกรมสมเด็จพระเทพฯ อาคารหลังนี้จึงนับได้ว่าเป็นโบราณสถานที่ทรงไว้ซึ่งคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมของชาวแพร่ตราบนานเท่านาน
บ้านวงศ์บุรี ตั้งอยู่เลขที่ 50 ถ.คำลือ (ถ.หลังจวนผู้ว่า สี่แยกพระนอนเหนือ ใกล้กับวัดพงษ์สุนันท์) ต.ในเวียง อ.เมือง จ.แพร่ เป็นบ้านไม้สักขนาดใหญ่ 2 ชั้น รูปทรงไทยผสมยุโรป ตกแต่งลวดลายแบบเรือนขนมปังขิง* ซึ่งได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ที่แพร่เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นการประดับตกแต่งลวดลายฉลุที่สวยงามเหมือนขนมปังขิง ที่มีลักษณะหงิกงอเป็นแง่งเหมือนขิง บ้านวงศ์บุรีสร้างโดยช่างชาวจีนจากมณฑลกวางตุ้ง โดยมีช่างชาวไทยเป็นผู้ช่วย ใช้เวลาก่อสร้างนาน 3 ปี ตัวบ้านมีฐานเป็นอิฐและซีเมนต์สูงจากพื้น 1 ม.หลังคาสูงทรงปั้นหยา 2 ชั้น มีช่องระบายลมระหว่างชั้นทั้งสอง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของอากาศเนื่องจากบ้านหันหน้าเข้าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ จึงมีลมพัดเย็นในฤดูร้อน
วัดพระธาตุจอมแจ้ง ตั้งอยู่บ้านไคร้ ต.ช่อแฮ อ.เมือง จ.แพร่ เลยพระธาตุช่อแฮไป 1 กม. ห่างจากตัวจังหวัดราว 10 กม. วัดพระธาตุจอมแจ้งมีองค์พระธาตุจอมแจ้ง ตั้งบนเนินเขาเตี้ย รูปทรงพระธาตุคล้ายกับพระธาตุช่อแฮ เป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุพระหัตถ์ซ้ายของพระพุทธเจ้า พระธาตุจอมแจ้งเป็นเจดีย์ทรงพุ่มศิลปะผสมระหว่างสุโขทัยกับศิลปะเวียงโกศัย ยังอยู่ในลักษณะค่อนข้างสมบูรณ์
วัดจอมสวรรค์ ตั้งอยู่บนถ.ยันตรกิจโกศล ต.ในเวียง อ.เมือง จ.แพร่ อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัด 1 กม. เป็นวัดเก่าแก่สร้างด้วยศิลปะพุกาม (พม่า) มีศิลปวัตถุและโบราณวัตถุที่สวยงามและทรงคุณค่า วัดจอมสวรรค์ สร้างสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อพ.ศ. 2437 โดยชาวเงี้ยว ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ในพม่า และเดินทางมาค้าขายที่เมืองแพร่ เมื่อเกิดเหตุการณ์เงี้ยวปล้นเมืองแพร่ วัดจึงถูกปล่อยให้ทรุดโทรม ต่อมาได้รับการบูรณะจากชาวไทใหญ่ ภายในวัดมีโบราณวัตถุที่มีคุณค่าหลายอย่างของเมืองแพร่และชาติไทย เป็นศิลปะอันล้ำค่าของพระพุทธศาสนา กรมศิลปากรได้เล็งเห็นความสำคัญของโบราณสถานและโบราณวัตถุอันล้ำค่า
วัดพระธาตุช่อแฮ เป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแพร่ ตามตำนานกล่าวว่าสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 1879-1881 ในสมัยพระมหาธรรมราชาธิราช (ลิไท) ยังทรงเป็นพระมหาอุปราชซึ่งครองเมืองศรีสัชนาลัย (สวรรคโลก) อยู่ในครั้งนั้น ทรงโปรดให้สร้างสถานที่ทางศาสนา ที่ปรากฏในพุทธประวัติในที่ต่าง ๆ และเลือกยอดดอยโกสิยธชัคคะ เพื่อเป็นที่สร้างพระเจดีย์พระธาตุช่อแฮ
ตามตำนานกล่าวว่า พระมหาราชาลิไท พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุแก่ขุนลัวะอ้ายก้อม ให้นำมาบรรจุไว้ในฐานเจดีย์ เมื่อขุนลัวะอ้ายก้อมมาถึงบริเวณดอยโกสิยธชัคคะเห็นว่าทำเลดีจึงสร้างเจดีย์ขึ้น และนำผอบพระบรมสารีริกธาตุบรรจุบรรจุไว้ในสิงห์ทองคำสร้างแท่นที่ตั้งผอบด้วยเงินและทอง แล้วตั้งสิงห์ทองคำไว้ โดยโบกปูนทับอีกชั้นหนึ่ง หลังจากนั้นก็จัดงานบำเพ็ญกุศลเฉลิมฉลอง 7 วัน 7 คืน ภายหลังเมืองแพร่ถูกรวมเข้ากับอาณาจักรล้านนาไทยกษัตริย์ล้านนาก็ทรงได้ทะนุบำรุงพระธาตุช่อแฮตามลำดับ
จนกระทั่งราชวงศ์นี้หมดอำนาจลง พระธาตุช่อแฮก็ทรุดโทรมเป็นอันมากจนล่วงมาถึงพ.ศ. 2467 พระครูบาศรีวิชัย (หรือตุ๊เจ้าวัดบ้านปางจังหวัดลำพูน) ได้เป็นประธานบูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุร่วมกับคณะสงฆ์จ.แพร่ และมีพระมหาเมธังกร (พรหม พรหมเทโว) อดีตเจ้าคณะจังหวัดแพร่ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ในการบูรณปฏิสังขรณ์ จนทำให้พระธาตุช่อแฮกลับมามีความงดงาม และเป็นแหล่งเชิดหน้าชูตาของจังหวัดแพร่ และเป็นแหล่งเชิดหน้าชูตาของจังหวัดแพร่
วัดพระธาตุช่อแฮได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2549
พระธาตุช่อแฮเป็นเจดีย์ที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้ายของพระพุทธเจ้า เป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม ย่อมุมไม้สิบสอง ศิลปะเชียงแสน สูง 33 ม. ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 11 เมตร สร้างด้วยอิฐโบกปูนหุ้มด้วยแผ่นทองเหลืองลงรักปิดทอง สำหรับชื่อพระธาตุช่อแฮนั้น บ้างว่าได้มาจากชื่อผ้าแพรชั้นดี ทอจากสิบสองปันนาและชาวบ้านนำมาผูกบูชาพระธาตุ บ้างก็ว่ามาจากผ้าแพรที่ขุนลัวะอ้ายก้อมนำมาถวาย
พระธาตุช่อแฮ่ เป็นพระธาตุ 1 ใน 12 ราศี คือ เป็นพระธาตุประจำปีเกิดสำหรับคนที่เกิดปีขาล หากนำผ้าแพรเนื้อดีไปถวายสักการะองค์พระธาตุช่อแฮ จะทำให้ชีวิตมีความผาสุข มีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต หน้าที่การงาน และมีพลังคุ้มครองป้องกันศัตรูได้
หลวงพ่อช่อแฮ เป็นพระประธานประดิษฐานในพระอุโบสถ ศิลปะล้านนา เชียงแสน สุโขทัย สันนิฐานว่า สร้างขึ้นหลังจากสร้างองค์พระธาตุช่อแฮแล้ว มีอายุหลายร้อยปี หน้าตักกว้าง 3.80 ม. สูง 4.50 ม. ก่อสร้างด้วยอิฐโบกปูน ลงรักปิดทอง
พระเจ้าทันใจและไม้เสี่ยงทาย พระเจ้าทันใจหรือหลวงพ่อทันใจ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิปูนปั้น ลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 30 นิ้ว สูงประมาณ 2 ศอก (กว้าง 80 ซม. สูง 1.20 ซม) เป็นพระพุทธรูปองค์ใหม่ที่สร้างขี้นเมื่อปีพ.ศ. 2465 ผู้สร้างคือ ชาวไทยใหญ่ (เงี้ยว) สร้างพระพุทธรูปองค์นี้แทนพระพุทธรูปองค์เดิมที่หล่อด้วยจืน (ตะกั่ว) ที่ถูกลักไป พระเจ้าทันใจหรือหลวงพ่อทันใจ (ทางเหนืออ่านว่า พระเจ้าตันใจ๋) เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่มีผู้นิยมมากราบไหว้ บนบานศาลกล่าวอยู่เสมอ เชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปที่ใครมาขอพรแล้ว จะได้สิ่งนั้นอย่างสมประสงค์
ด้านหลังซุ้มพระเจ้าทันใจประดิษฐานอยู่ มีไม้เสี่ยงทายทำด้วยไม้รวก หรือไม้สัก มีความยาวเกิน 1 วา คาดว่าใช้แทนไม้เซียมซี เมื่อผู้ใดต้องการเสี่ยงทายสิ่งใด ก็จะนำไม้ดังกล่าวมาทาบกับช่วงแขนที่กางเหยียดตรงไปจนสุดแขนทั้งสองข้าง ความยาวของวาอยู่ตรงจุดใดของไม้ก็จะ ทำเครื่องหมายไว้แล้วนำไม้มาอธิษฐานเบื้องหน้าพระเจ้าทันใจว่า สิ่งที่ตนประสงค์นั้นจะสำเร็จหรือไม่ หากสำเร็จก็ขอให้ความยาวของตนเลยจุดที่ทำเครื่องหมายไว้ออกไป เมื่ออธิฐานเสร็จแล้ว ก็นำไม้เสี่ยงทายขึ้นมาวาอีกครั้งหนึ่ง
พระพุทธโลกนารถบพิตร และวิหารศิลปะล้านนาประยุกต์ เป็นพระพุทธรูปปางพระนาคปรก ประดิษฐานอยู่ในวิหารศิลปะลานนาประยุกต์ ภายในมีภาพจิตกรรมฝาผนังอย่างสวยงาม สร้างขึ้นในปี 2534 โดยมีเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร ป.ธ.9) เป็นประธานเททองหล่อและเบิกพระเนตร องค์พระขนาดหน้าตักกว้าง 3.60 ม.สูง 7 ม. สร้างด้วยโลหะทองเหลือง ลงรักปิดทอง
พระเจ้าไม้สัก สร้างด้วยไม้สักทอง หน้าตักกว้าง 33 นิ้ว สูง 87 นิ้ว เป็นศิลปสมัยลานนา
พระเจ้านอน เป็นพระพุทธรูปที่ชาวจ.แพร่เคารพนับถือ ก่อนจะขึ้นไหว้องค์พระธาตุช่อแฮ ชาวบ้านมักจะแวะไหว้พระเจ้านอนก่อนเสมอ สร้างเมื่อพ.ศ. 2459 เป็นพระเจ้านอนศิลปะพม่า ขนาดยาว 3.70 ม. สูง 1.35 ม. ก่อสร้างด้วยอิฐโบกปูน ลงรักปิดทอง
ธรรมมาสน์โบราณ ธรรมมาสน์โบราณ มีความสวยงามวิจิตรบรรจง ลวดลายไทยผสมศิลปะทางล้านนา ซึ่งมีนางแก้ว ทองถิ่น สร้างอุทิศให้ นายคลอง ทองถิ่น เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2492 ก่อสร้างด้วยไม้สักแกะสลัก ลงรักปิดทอง
กรุอัฐิครูบาศรีวิชัย บรรจุอัฐิธาตุส่วนที่ 5 จากจำนวน 7 ส่วนของครูบาศรีวิชัย สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกบุญคุณที่ท่านได้ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา
บันไดนาคโบราณ ภายในวัดพระธาตุช่อแฮมีบันไดนาค อยู่ 4 ด้าน และบันไดสิงห์ 1 ด้าน รวม 5 บันได ซึ่งล้วนมีความยาวและจำนวนขั้นไม่เท่ากัน
เจ้ากุมภัณฑ์ มีความเชื่อว่า นาคที่เฝ้าบันไดกุมภัณฑ์ ด้านทิศตะวันออกขององค์พระธาตุช่อแฮ ชอบหนีออกไปเล่นน้ำที่ลำน้ำแม่สาย หมู่บ้านในเป็นประจำ ชาวบ้านจึงสร้างเจ้ากุมภัณฑ์ นั่งทับขดหางนาคไว้ เพื่อมิให้หนีไปเล่นน้ำอีก
แผ่นศิลาจารึก ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าพระเจ้าทันใจ จารึกเรื่องราวการสร้างบันไดด้านทิศตะวันตก
สวนรุกขชาติช่อแฮ ตั้งอยู่ที่ดินของวัด มีพื้นที่ 52 ไร่ เหมาะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจและศึกษาพันธุ์ไม้ มีต้นไม้นานาพันธุ์กว่า 1,000 ชนิด
ทุกปีจะมีงานนมัสการพระธาตุในวันขึ้น 9 ค่ำ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 (ประมาณเดือนมีนาคม) ของทุกปี
พระธาตุพระลอ อยู่ที่ ต.บ้านกลาง ห่างจาก อ.สอง ประมาณ 3 กม. เป็นพระธาตุเก่าแก่อายุกว่า 400 ปี สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์เพื่อระลึกถึงความรักอมตะของพระลอแห่งนครแมนสรวง และพระเพื่อน-พระแพงแห่งเมืองสรอง เป็นต้นกำเนิดของวรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอซึ่งจัดว่าเก่าแก่ที่สุด การเดินทาง ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 101 ประมาณ 24 กม. แยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 103 อีกราว 18 กม. แล้วเลี้ยวขวาสู่อำเภอสองใช้ทางหลวงหมายเลข 1154 กม. ที่ 54
บ้านทุ่งโฮ้ง
ไปทางถ.ยันตรกิจโกศล ไปทางอ.ร้องกวาง ผ่านสำนักงานตำรวจภูธรแพร่ประมาณ 1.5 กม.
เป็นชุมชนของชาวพวน ที่อพยพมาจากประเทศลาว มีอาชีพหลักคือการทำผ้าหม้อห้อม ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของบรรพบุรุษที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ทั้งยังเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าโอท็อปเชิงหัตถกรรมที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อเป็นของฝาก และหากต้องการพักแรมก็มีโฮมสเตย์ให้บริการด้วย ข้อมูลเพิ่มเติมบ้านทุ่งโฮ้ง