ขับรถเที่ยวพะเยา

Trips พะเยา

กว๊านพะเยา กลางฤดูฝน วิวชุ่มฉ่ำเขียว เมฆครึ้ม

ชมกว๊านพะเยา แอ่ววัดงามสไตล์ล้านนา

มาเที่ยวถึงจังหวัดพะเยาที่เที่ยวแห่งแรกที่คุณต้องไม่พลาดเลยก็คือ กว๊านพะเยา ทะเลสาบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของภาคเหนือ จะเดินชม ขับรถ หรือนั่งเรือก็เลือกได้ตามอัธยาศัย จากนั้นในตัวเมืองพะเยายังมีวัดสวยให้ไปชมกันอีกมากมาย ขับรถเที่ยวไม่ยาก บางแห่งมีทิวทัศน์อันงดงามให้ชมด้วย

งานเวียนเทียนกลางน้ำ มีแห่งเดียวในประเทศไทย ที่กว๊านพะเยา
งานเวียนเทียนกลางน้ำหนึ่งเดียวในประเทศที่กว๊านพะเยา

Location: อ.เมือง จ.พะเยา

จากแยกประตูเหล็ก ใช้ถ.พหลโยธิน (สายเก่า) ไปทางโรงพยาบาลพะเยาประมาณ 750 ม. จะพบวัดศรีโคมคำ และกว๊านพะเยา

Day 1 

ช่วงเช้า 

กว๊านพะเยา เกิดจากการยุบตัวของเปลือกโลกเมื่อประมาณ 70 ล้านปีที่ผ่านมา ในปีพ.ศ. 2478 กรมประมงได้ตั้งสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยาขึ้นบริเวณต้นแม่น้ำอิง และสร้างฝายกั้นน้ำทำให้บริเวณนี้เกิดเป็นบึงขนาดใหญ่

มีความลึกเฉลี่ย 1.5 ม. ทำให้กว๊านพะเยา กลายเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ขึ้นมา และกลายเป็นทะเลสาบที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของภาคเหนือ และเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย รองจาก หนองหาน และบึงบอระเพ็ด รวมพื้นที่ประมาณ 12,831 ไร่ มีปริมาณน้ำเฉลี่ยปีละ 29.40 ล้านลูกบาศก์เมตร และยังเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่สำคัญมีปลาน้ำจืดอาศัยอยู่กว่า 48 ชนิดเลยทีเดียว 

ริมทะเลสาบกว๊านพะเยา พัฒนาให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกาย
ริมกว๊านพะเยาน่าขี่จักรยาน

นอกจากจะเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่สำคัญที่สุดของจ.พะเยา กว๊านพะเยา ยังเป็นที่เที่ยวเด่นของพะเยาด้วย บริเวณกว๊านพะเยาได้รับการตกแต่งอย่างดี มีทางเท้าให้เดินเที่ยวชมวิวรอบด้าน หรือจะขับรถชมวิวรอบกว๊านพะเยาก็น่าสนใจไม่แพ้กัน

แต่หากอยากชมกว๊านพะเยาแบบใกล้ชิด บริเวณกว๊านพะเยามีกิจกรรมนั่งเรือชมวิวทะเลสาบและไหว้พระเก่ากลางกว๊านพะเยาที่วัดติโลกอารามให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือก    

พระอาทิตย์ตกลับทิวเขา หลังกว๊านพะเยา
ยามเย็น หาร้านอาหารสักร้านชมวิวนี้

มาเที่ยวกว๊านพะเยาก็ต้องไม่พลาดมาชิมเมนูปลาสดๆ หลากหลายชนิด บริเวณกว๊านพะเยามีร้านอาหารให้เลือกกันหลายแห่ง ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใกล้ทะเลสาบ จึงชมพระอาทิตย์อัสดง และบรรยากาศรอบด้านของกว๊านพะเยาได้อย่างสวยงาม

กุ้งเต้น เมนูรสแซ่บที่ได้จากกว๊านพะเยา
กุ้งเต้น มากว๊านพะเยาต้องได้ชิม

ช่วงบ่าย 

วัดศรีโคมคำ ริมกว๊านพะเยา เมืองพะเยา ประดิษฐานพระเจ้าตนหลวง
วัดศรีโคมคำ

วัดศรีโคมคำ 

Location: เขตเทศบาลเมือง ริมกว๊านพะเยา 

ภายในวัดประดิษฐานพระเจ้าตนหลวง ศูนย์รวมจิตใจของคนพะเยามานาน เป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในล้านนา

โฆษณา กว๊านพะเยาวิลล่า

นอกจากนี้ยังมีรอยพระพุทธบาท โบสถ์กลางน้ำ ภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือศิลปินแห่งชาติให้ชมด้วย และทุกปีวัดแห่งนี้ยังใช้เป็นสถานที่จัดงานบุญใหญ่ของเมืองพะเยา 

วัดอนาลโย เมืองพะเยา อุทยานพระพุทธศาสนา มีเจดีย์พุทธคยา เก๋งจีน หอพระแก้วมรกตจำลอง
วัดอนาลโย

วัดอนาลโย  

Location: บนดอยบุษราคัม ห่างจากตัวเมืองพะเยา ประมาณ 18 กม.

วัดอนาลโย เป็นเสมือนอุทยานทางพระพุทธศาสนา เพราะมีพื้นที่กว้างขวาง บรรยากาศร่มรื่น และประกอบด้วยพระพุทธรูปปางต่างๆ หลายองค์ แต่ที่ไม่ควรพลาดในการชมคือ เจดีย์พุทธคยา เก๋งจีน และหอพระแก้วมรกตจำลอง นอกจากนี้บริเวณวัดยังชมวิวได้อย่างสวยงาม 

วัดหลวงราชสัณฐาน เมืองพะเยา
วัดหลวงราชสัณฐาน

วัดหลวงราชสัญฐาน

Location: ต.เวียง อ.เมือง 

เป็นวัดสถาปัตยกรรมล้านนาพื้นเมืองที่มีอายุกว่าร้อยปีแล้ว ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาวยางไม้ลงบนกระดาษสาแปะบนผนังไม้ให้ชม 

วัดศรีอุโมงค์คำ เมืองพะเยา
วัดศรีอุโมงค์คำ

วัดศรีอุโมงค์คำ

Location: ต.หัวเวียง อ.เมือง 

ภายในวิหารเป็นสถานที่ประดิษฐาน พระเจ้าล้านตื้อ หรือหลวงพ่อวัดเมืองเรืองฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย สันนิษฐานว่ามีอายุมีอายุกว่า 500 ปี และยังมีพระเจ้าแข้งคม เป็นพระพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่ภายในวิหารเช่นกัน

วัดลี เมืองพะเยา เดิมแปลว่า ตลาด สถาปัตยกรรมเจดีย์เป็นล้านนาทรงสูง มีโบราณวัตถุสมัยอาณาจักรภูกามยาว
วัดลี

วัดลี

Location: บ้านหล่ายอิง ใกล้กับโรงเรียนเทศบาล 3 ต.เวียง อ.เมือง 

วัดลี เป็นชื่อดั้งเดิม และเป็นคำไทยโบราณของทางภาคเหนือหมายถึง กาดหรือตลาด วัดลีจึงหมายถึงวัดที่อยู่ในย่านชุมชน ภายในมีเจดีย์สถาปัตยกรรมพื้นเมืองแบบล้านนาทรงสูงเอวคอดให้ชมคู่กับ โบราณวัตถุสมัยอาณาจักรภูกามยาวจำนวนมาก 

วัดป่าแดงบุญนาค เมืองพะเยา อดีตแยกเป็น 2 วัด วัดป่าแดงหลวง และวัดบุญนาค
วัดป่าแดงบุญนาค

วัดป่าแดงบุญนาค 

Location: บ้านป่าแดง ต.ท่าวังทอง อ.เมือง

เดิมเป็น 2 วัดตั้งติดกันคือ วัดป่าแดงหลวง และวัดบุญนาค ปัจจุบันรวมเป็นวัดเดียวกัน ภายในมีเจดีย์ทรงกลมขนาดใหญ่แบบลังกาฐานสี่เหลี่ยมก่ออิฐยกสูง เหนือฐานแปดเหลี่ยมขึ้นไปก่อด้วยหินทราย ส่วนบริเวณเจดีย์ของวัดบุญนาคมีซากโบราณสถานให้ชม 

วัดพระธาตุจอมทอง เมืองพะเยา ประดิษฐานพระธาตุจอมทอง เจดีย์สีทองศิลปะล้านนา
วัดพระธาตุจอมทอง

วัดพระธาตุจอมทอง 

Location: บนดอยจอมทอง ตรงข้ามวัดศรีโคมคำ ต.เวียง อ.เมือง 

ภายในวัดเป็นสถานที่ประดิษฐานพระธาตุจอมทอง เจดีย์สีทองศิลปะล้านนา ที่เชื่อกันว่าบรรจุพระเกศาธาตุ และพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า ส่วนภายในวิหารประดิษฐานพระประธานศิลปะภูกามยาวปางมารวิชัย บริเวณวัดยังสามารถชมวิวกว๊านพะเยา และตัวเมืองได้อย่างสวยงาม 

ศูนย์อุตสาหกรรมอัญมณี พะเยา อบรมอาชีพด้านอัญมณีและเครื่องประดับ
ศูนย์อุตสาหกรรมอัญมณี

ศูนย์อุตสาหกรรมอัญมณี 

Location: ริมถ.พหลโยธินกม.ที่ 723 ต.แม่กา ห่างจากตัวเมือง 14 กม.

เป็นศูนย์กลางการอบรมอาชีพด้านอุตสาหกรรมสาขาอัญมณี และเครื่องประดับให้แก่เยาวชน ราษฏรในจังหวัดพะเยา และยังเป็นศูนย์ข้อมูล ศึกษาดูงานเกี่ยวกับการเจียระไนพลอย เครื่องประดับเงิน รวมถึงจัดจำหน่ายอัญมณีต่างๆ แก่ผู้ที่สนใจด้วย 


ขับชิลชิล เที่ยววัดดูงานศิลป์นอกอำเภอเมือง 

นอกจากวัดในตัวเมืองแล้ว รอบๆ อ.เมืองพะเยายังมีที่เที่ยวให้ขับรถไปชมกันอีกหลายแห่ง ทั้งสถาปัตยกรรมทางประวัติศาสตร์ วัดวาอาราม และธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ 

อำเภอแม่ใจ 

วัดศรีสุพรรณ แม่ใจ พะเยา วิหารศิลปะเชียงแสน ประดิษฐาน พระเจ้าทองทิพย์
วัดศรีสุพรรณ

วัดศรีสุพรรณ

Location: ตรงข้ามที่ว่าการ อ.แม่ใจ 

เป็นวัดที่มีวิหารแบบเชียงแสน ภายในประดิษฐานพระเจ้าทองทิพย์ พระคู่บ้านคู่เมืองของชาวแม่ใจ เป็นพระศิลปะเชียงแสนปางมารวิชัยทองสัมฤทธิ์ทั้งองค์ ทุกวันที่ 17 เมษายน จะมีการสรงน้ำพระเจ้าทองทิพย์ทุกปี  

วัดศรีบุญเรือง แม่ใจ พะเยา วัดขัวตาด ประดิษฐาน พระเจ้าองค์ดำ
วัดศรีบุญเรือง

วัดศรีบุญเรือง 

Location: ต.ศรีถ้อย อ.แม่ใจ 

เดิมชื่อ วัดขัวตาด ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองคือ พระเจ้าองค์ดำ พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ผิวสีดำ สันนิษฐานว่าอยู่ในสมัยเชียงแสนรุ่นที่ 3 ถูกค้นพบบริเวณหนองเหล็งทราย ชาวบ้านจึงอัญเชิญไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถของวัดศรีบุญเรือง   

อำเภอดอกคำใต้ 

วัดบุญเกิด ดอกคำใต้ พะเยา
วัดบุญเกิด

วัดบุญเกิด

Location: ด้านหน้าทางเข้าสถานีตำรวจภูธร อ.ดอกคำใต้ ต.บุญเกิด 

โบสถ์ของวัดสร้างเมื่อปีพ.ศ. 2469 เสามาจากไม้ประดู่ เครื่องบนสร้างด้วยไม้หลังคามุงกระเบื้องไม้สัก ลักษณะทรงไทยล้านนาฝาผนังก่อด้วยอิฐถือปูน เป็นวัดที่มีพระพุทธ 28 พระองค์ ประดิษฐานอยู่ในวิหารกลางวัด และมีพระบรมสารีริกธาตุของพระอรหันต์ ที่สมเด็จพระสังฆราชทรงบรรจุไว้ในพระโมลีของพระพุทธเจ้าทั้ง 28 พระองค์  

วัดพระธาตุจอมศีล ดอกคำใต้ พะเยา พระอุโบสถศิลปะล้านนา
วัดพระธาตุจอมศีล

วัดพระธาตุจอมศีล

Location: เขต อ.ดอกคำใต้ 

วัดนี้เด่นที่พระอุโบสถศิลปะล้านนา โดยหน้าบันแกะสลักเป็นรูปพระพุทธรูปปางนาคปรก หน้าต่างแกะสลักเรื่องราวพุทธประวัติ ส่วนภายในประดิษฐานพระประธานทรเครื่องเมืองพะเยาปางมารวิชัย ฝีมือช่างพื้นเมือง ส่วนพระธาตุเจดีย์ตั้งอยู่บนเนินเขา 

อำเภอจุน 

วัดพระธาตุขิงแกง จุน พะเยา อยู่บนเนินเขา มองเห็นวิวหมู่บ้านสวย
วัดขิงแกง

วัดพระธาตุขิงแกง

Location: ก่อนถึงบ้านธาตุขิงแกงประมาณ 10 กม. แยกขวาไปทางเดินเท้าอีก 300 ม.

วัดตั้งอยู่บนเนินเขาบ้านธาตุขิงแกง สามารถมองเห็นวิวหมู่บ้านได้อย่างชัดเจน ส่วนองค์พระธาตุมีรูปทรงแบบล้านนาคล้ายพระธาตุสบแวน ที่อำเภอเชียงคำ แต่มีขนาดใหญ่กว่า 

เจดีย์เก่าแก่ ในเขตโบราณสถานเวียงลอ บ้านน้ำจุน เมืองโบราณอายุ 5-600 ปี มีกำแพงเมืองเก่า และโบราณสถานกว่า 40 แห่ง พะเยา
โบราณสถานเวียงลอ

โบราณสถานเวียงลอ 

Location: บ้านน้ำจุน 

จุดเด่น เป็นเมืองโบราณที่มีอายุราว 500-600 ปีมาแล้ว ซึ่งภายในคูเมือง และกำแพงเมืองเก่า ได้พบโบราณสถานกว่า 10 แห่ง ส่วนบริเวณนอกคูเมืองยังพบโบราณสถานอีกประมาณ 40 แห่ง และบริเวณนี้ยังเป็นจุดลำน้ำจุนไหลลงแม่น้ำอิง ที่นี่จึงเรียกว่า สบอิง  

อำเภอคำ-อำเภอภูซาง 

วัดแสนเมืองมา หรือวัดมาง วัดศิลปะไทลื้อ เชียงคำ พะเยา
วัดแสนเมืองมา

วัดแสนเมืองมา 

Location: บ้านมาง ต.หย่วน อ.เชียงคำ 

เดิมชื่อ วัดมาง ตามชื่อหมู่บ้าน เป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมแบบไทลื้อ จุดเด่นของวัดอยู่ที่หลังคาวิหารซ้อนลดหลั่นกันหลายชั้น ประดับด้วยช่อฟ้า ซึ่งทำเป็นรูปหงส์แกะสลัก ส่วนภายในวิหารมีภาพเขียนสีบ่งบอกถึงวิถีชีวิตของชาวไทลื้อ 

วัดพระธาตุสบแวน เก่าแก่ สร้างโดยชาวไทลื้อ พระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะเชียงแสน ต้นจามจุรีขนาดใหญ่ทรงสวย เชียงคำ พะเยา
วัดพระธาตุสบแวน

วัดพระธาตุสบแวน 

Location: ห่างจากที่ว่าการอำเภอเชียงคำ ประมาณ 4 กม.

เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นโดยขาวไทลื้อที่อพยพมาในอ.เชียงคำ ภายในวิการประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะเชียงแสน 3 องค์ นอกจากนี้ยังมีต้นจามจุรีขนาดใหญ่ที่มีทรงสวยงามให้ชมด้วย 

ภายในพระอุโบสถ วัดพระเจ้านั่งดิน เชียงคำ พะเยา
วัดพระเจ้านั่งดิน

วัดพระเจ้านั่งดิน 

Location: ทางหลวงหมายเลข 1148 ห่างจากอ.เชียงคำ ประมาณ 4 กม.

ชมพระเจ้านั่งดิน พระพุทธรูปที่ไม่ได้ประทับอยู่บนฐานชุกชีเหมือนพระประธานอื่นๆ เพราะเคยนำขึ้นไปประทับแล้วเกิดฟ้าฝ่าพระอุโบสถถึง 3 ครั้ง จึงอัญเชิญลงมาอยู่กับพื้นอย่างเดิม และภายในยังมีภาพจิตรกรรมตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากดาวดึงส์ด้วย