อำเภอชื่อไพเราะ ธรรมชาติงดงาม
ความสงบที่หาไม่ได้ในตัวเมือง การดำเนินชีวิตที่เป็นไปอย่างเนิบช้า วัฒนธรรมที่แสดงความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น หากเอ่ยถึงสิ่งเหล่านี้ หลายคนอาจนึกถึงการใช้ชีวิตในชนบทที่แสนสงบ ซึ่งยังคงสิ่งต่างๆ เหล่านี้เอาไว้ และหนึ่งในที่ที่ยังคงความเรียบง่ายแบบนี้เอาไว้ได้ก็คือ อำเภอเล็กๆ ที่เพิ่งจะถือกำเนิดขึ้นมาได้ไม่นาน ภายใต้ชื่อ กัลยาณิวัฒนา
Location เป็นอำเภอเล็กๆ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจ.เชียงใหม่ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 165 กม.
จากเชียงใหม่ ใช้ทางหลวงหมายเลข 107 มุ่งหน้าสู่อ.แม่ริม ผ่านแม่แตง เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1095 ไปทางอ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ก่อนถึงปายประมาณ 13 กม. จะเจอสามแยกให้เลี้ยวซ้าย (มีป้ายบอก บ.วัดจันทร์) เข้าทางหลวงหมายเลข 1265 ผ่านบ้านเหมืองแร่ ก่อนถึงอ.กัลยาณิวัฒนา รวมระยะทางทั้งหมดจากเชียงใหม่ประมาณ 165 กม.
ก่อนจะมาเป็นอำเภอกัลยาณิวัฒนา
878 อาจเป็นตัวเลขที่ใครหลายคนมองว่าธรรมดา แต่คนกลุ่มหนึ่งที่อ.กัลยาณิวัฒนาคงไม่ได้มองแบบนั้นแน่ เพราะตัวเลขนี้หมายถึงการได้รับชัยชนะในการประกาศตัวเป็นอำเภอที่ 878 ของประเทศไทย หลังจากที่ต้องรอมานานกว่าสิบปี จึงทำให้พื้นที่กว่า 674.58 ตารางกิโลเมตร ของต.บ้านจันทร์ ต.แม่แดด และต.แจ่มหลวง ถูกรวมเป็นอำเภอเดียวกัน และใช้ชื่ออำเภอว่า กัลยาณิวัฒนา
ในหลวงร.9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อให้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อีกทั้งยังส่งผลที่เป็นประโยชน์แก่การปกครอง การให้บริการของรัฐ ความสะดวกของประชาชน และยังส่งเสริมให้ท้องที่มีความเจริญมากยิ่งขึ้น
ภูมิศาสตร์
พื้นที่โดยทั่วไปของอ.กัลยาณิวัฒนาจะเป็นป่าและมีภูเขาสูงชันล้อมรอบไว้ ลักษณะของป่าเป็นป่าสน ทำให้มีสภาพอากาศหนาวเย็นเกือบตลอดทั้งปี ด้านทิศเหนือของอำเภอมีอาณาเขตติดต่อกับอ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ทิศตะวันออกติดต่อกับอ.สะเมิง ทิศใต้ติดต่อกับอ.แม่แจ่ม และทิศตะวันตกติดต่อกับอ.เมืองแม่ฮ่องสอน โดยอ.กัลยาณิวัฒนาแบ่งการปกครองออกเป็น 3 ตำบล ได้แก่ ต.แจ่มหลวง ต.บ้านจันทร์ และต.แม่แดด มีทั้งหมด 21 หมู่บ้าน ส่วนมากเป็นชาวเขาเผ่าต่างๆ มีทั้งเผ่ากะเหรี่ยง เผ่าม้ง ซึ่งส่วนมากจะมีอาชีพทำการเกษตรเป็นหลัก และมีการทอผ้าเป็นอาชีพเสริม
จุดเด่นน่าเที่ยว
ความน่าสนใจของอำเภอเล็กๆ แห่งใหม่นี้ คือธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ และวิถีชีวิตอันเรียบง่ายแสนสงบของผู้คนที่นี่ ซึ่งทำให้วัฒนธรรม ประเพณีเก่าแก่ไม่ได้หายไปไหน ยังคงรักษาไว้เป็นมรดกของลูกหลานรุ่นต่อๆ ไป หากนักท่องเที่ยวท่านใดหลงรักป่าเขาลำเนาไพร ชื่นชอบการได้ศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตประจำท้องถิ่น โปรดปรานความสงบเรียบง่าย อยากหลีกหนีความวุ่นวายของสังคมเมืองคงจะถูกใจกับเมืองเล็กแห่งนี้ไม่น้อย เพราะกัลยาณิวัฒนาแห่งนี้สามารถตอบสนองสิ่งเหล่านั้นให้คุณได้เป็นอย่างดี อีกทั้งคุณอาจจะได้อมยิ้มให้กับมิตรไมตรีอันดีของชาวบ้านที่นี่ การได้มาเยือนยังสถานที่แห่งนี้คงถือเป็นกำไรชีวิตได้ไม่ยาก เพราะอาจจะเป็นโอกาสให้คุณได้สัมผัสกับประสบการณ์ชีวิตใหม่ๆ ในรูปแบบเก่าก็ได้
Day1
การเดินทางจากเชียงใหม่ ไปยังอ.กัลยาณิวัฒนาใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 3-4 ชม. เส้นทางที่ใช้เป็นเส้นทางเดียวกับทางไปอ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน แต่แยกไปด้านซ้ายก่อนเข้าตัวเมืองปายเล็กน้อย ดังนั้นกัลยาณิวัฒนาจึงอยู่ห่างจากปายเพียง 57 กม.เท่านั้น
สำหรับเส้นทางที่ต้องผ่านนอกจากจะต้องเจอกับเส้นทางขึ้น-ลงเขา ที่ทั้งสูงชันและโค้งหักศอกจำนวนมากแล้ว หลังจากแยกเข้าทางหลวง 1265 แล้วก็จะเจอกับเส้นทางขึ้น-ลงเขาอีกครั้ง ที่มีระดับความยากไม่ต่างจากเส้นทางก่อนหน้ามากนัก แต่วิวสองข้างทางก็ดึงดูดสายตาของคนที่ผ่านไปมาให้ลงไปเก็บภาพที่ระลึกได้เช่นกัน
ยิ่งถ้าได้เดินทางในช่วงหน้าหนาวที่ใบไม้กำลังเปลี่ยนสี คุณจะได้เห็นภาพทิวเขาที่เต็มไปด้วยสีแดงของใบไม้ที่กำลังเปลี่ยนสีบนภูเขาลูกแล้วลูกเล่าตลอดทางที่ผ่าน และเมื่อใกล้ถึงกัลยาณิวัฒนาทิวทัศน์รอบข้างจะค่อยๆ เปลี่ยนไป จากสีแดงกลายเป็นสีเขียวสลับน้ำตาลของทิวสนแทน เพราะป่าทางแถบนี้จะเป็นป่าสน ซึ่งมีทั้งสน 2 ใบและสน 3 ใบ
สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองคือ วิหารแว่นตาดำ ที่วิหารมีชื่อเรียกแปลกๆ แบบนี้เป็นเพราะ ลักษณะของวิหารที่คล้ายกับสวมใส่แว่นตาอยู่นั่นเอง ซึ่งวิหารแว่นตาดำนี้สร้างอยู่ในวัดเก่าแก่อย่างวัดจันทร์ ที่มีอายุกว่า 300 ปี ใครมาเยือนที่นี่แล้วไม่ได้มาที่วัดจันทร์ก็เหมือนกับยังมาไม่ถึงกัลยาณิวัฒนานั่นเอง
เมื่อเพิ่มความเป็นสิริมงคลกันเสร็จแล้วก็ลองเพิ่มความสงบให้กับตัวเองในสถานที่ร่มรื่น ปราศจากสิ่งรบกวนใดๆ อย่างอ่างเก็บน้ำบริเวณสำนักสงฆ์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความสงบเงียบและมีอากาศเย็นสบาย เนื่องจากเป็นอ่างเก็บน้ำที่ตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่ของสงฆ์จึงไม่ควรส่งเสียงดัง ไม่สามารถเล่นน้ำหรือจับสัตว์น้ำในบริเวณนั้นได้ แต่ก็สามารถให้อาหารปลาที่มีอยู่จำนวนมากได้ เส้นทางที่จะไปยังอ่างเก็บน้ำมีทางเข้าหลายทาง หากสนใจให้ลองสอบถามชาวบ้านแถวนั้นดูเพื่อให้ช่วยบอกทางก็ได้ แต่แนะนำว่าควรเป็นรถประเภทขับเคลื่อนสี่ล้อ เพราะทางเป็นลูกรัง มีหลุมบ่อและขึ้น-ลงเขาตลอดทาง
Day2
ตื่นแต่เช้า เพื่อชมทะเลหมอกกว้างไกลสุดสายตาได้บริเวณจุดชมวิวกม.ที่ 36 หรือรอรับพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าได้ที่จุดชมวิวซึ่งไม่ไกลจากจุดชมทะเลหมอกมากนัก หากเก็บภาพกันจนพอใจแล้ว ให้ขับรถย้อนกลับเข้ามาทางตัวเมืองไปที่โครงการหลวงบ้านวัดจันทร์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า อ.อ.ป. แวะเช่าจักรยานเพื่อปั่นไปยังอ่างเก็บน้ำห้วยอ้อ
ในตอนเช้าจะมีไอหมอกบางๆ ลอยเหนือผิวน้ำฟุ้งกระจายไปทั่ว เป็นทัศนียภาพที่สวยงามติดตาต้องใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็น น่าเดินเล่นบริเวณสันอ่างเก็บน้ำได้ พอตกสายอาจปั่นจักรยานชมธรรมชาติภายในอ.อ.ป. ซึ่งมีทั้งวิวป่าสน ทุ่งนา และดอกไม้ต้นไม้เมืองหนาว อย่างต้นนางพญาเสือโคร่งสีชมพูสะพรั่งหรือต้นเมเปิลสีแดงสะท้อนกับแสงแดดยามสาย ก่อนออกจากอ.อ.ป. ก็ลองแวะดูแวะชมสินค้าที่ระลึก ซึ่งงานทุกชิ้นเป็นงานทำมือและเลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติ
จากอ.อ.ป. ถ้าหากอยากสัมผัสวิถีชีวิตท้องถิ่นให้ลองเข้าไปที่หมู่บ้านปกาเกอะญอ จะพบกับการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายของชาวบ้านที่นี่ ตั้งแต่บ้านเรือนที่ยกพื้นสูง มุงหลังคาด้วยใบตองตึง ภายในบ้านมีดินไว้ก่อกองไฟ ไปจนถึงการแต่งกายที่มีรูปแบบและสีสันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผู้คนที่นี่ บวกกับอัธยาศัยที่น่ารักเป็นกันเอง ทำให้ผู้ที่ได้พบเห็นประทับใจได้เสมอ
เมื่อได้ศึกษาชีวิตคนท้องถิ่นกันแล้ว ก็ลองไปศึกษาเรียนรู้ชีวิตของสัตว์ที่สวนสัตว์กันบ้าง สวนสัตว์ที่นี่มีขนาดเล็ก มีสัตว์จำนวนไม่มากนักและมีอยู่ไม่กี่ประเภทเท่านั้น แต่ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูไปศึกษาได้อย่างใกล้ชิด และเส้นทางที่จะไปยังสวนสัตว์แห่งนี้ก็เหมาะกับรถขับเคลื่อนสี่ล้อ ด้วยสภาพเส้นทางที่เป็นลูกรังและเป็นเส้นทางขึ้น-ลงเขา
เมนูเก่าในอำเภอใหม่
อาหารการกินที่อ.กัลยาณิวัฒนานี้อาจหาได้ไม่ยากนัก เพราะพอจะมีร้านอาหารตามสั่งหรือร้านก๋วยเตี๋ยวอยู่บ้าง แต่เมื่อมาถึงถิ่นของชาวปกาเกอะญอกันทั้งที จะให้รับประทานแต่อาหารทั่วไป แล้วพลาดเมนูท้องถิ่นของผู้คนที่นี่ก็น่าเสียดาย ดังนั้นเมนูที่มีชื่อว่า ข้าวเบ๊อะ หรือที่ชาวปกาเกอะญอเรียกกันว่า ต่าพอพ่อ จึงเป็นเมนูสำคัญที่ใครไปใครมาควรต้องลองลิ้มชิมรสกันดูสักครั้ง
ข้าวเบ๊อะ เป็นอาหารที่มีความเป็นมาและความสำคัญต่อชาวปกาเกอะญอมาก เนื่องจากในอดีตชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างลำบาก อาหารการกินมีไม่เพียงพอ จึงได้คิดหาวิธีการแก้ปัญหาด้วยการนำพืช ผักในไร่นาที่พอจะรับประทานได้ใส่ลงไปในหม้อร่วมกับข้าวสาร เพื่อเพิ่มปริมาณให้เพียงพอกับความต้องการของคนในบ้าน จนข้าวเบ๊อะกลายเป็นอาหารยอดนิยมของชาวปกาเกอะญอ เนื่องจากทำได้ง่าย ให้ปริมาณมากแล้วยังมีรสชาติที่ถูกอกถูกใจชาวบ้านอีกด้วย
วิธีการทำช้าวเบ๊อะก็ไม่ยากเพียงแค่นำข้าวสารมาต้ม แล้วนำเนื้อสัตว์อย่างเนื้อหมูหรือเนื้อไก่ใส่ลงไป ใส่เครื่องปรุงประเภทตะไคร้ กระเทียม ขมิ้น ข่า หอม พริก และเกลือลงไป หากมีพืชผักที่เหลืออยู่ในบ้านก็อาจจะใส่ลงไปด้วยก็ได้ เมื่อทำเสร็จ ข้าวเบ๊อะจะมีหน้าตาคล้ายกับข้าวต้มที่มีสีสัน
เป็นอาหารที่นอกจากจะทำให้อิ่มท้องกันแล้ว ยังเป็นอาหารที่ชาวปกาเกอะญอใช้ต้อนรับแขก และใช้เป็นอาหารในพิธีสำคัญๆ ด้วย