อิ่มบุญ อิ่มวิว นอกเมืองเชียงใหม่
สายบุญมาต่อกันเลย ทริปนี้ไปเที่ยววัดที่อยู่นอกเวียง หรือนอกเมืองเชียงใหม่กันบ้าง แต่ละวัดอยู่ห่างไกลกัน คุณต้องปักหมุดว่าอยากจะไปเที่ยวหรือไปทำบุญวัดไหน แล้วแถมพ่วงเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่ต่อเลยเพื่อไม่ให้เสียเวลา ชอบใจวัดไหนลองเลือกกันเลยเจ้า
วัดถ้ำเมืองออน
Location: ต.บ้านสหกรณ์ อ.แม่ออน
จากบ้านบ่อสร้าง ให้ขับย้อนลงมาตามเส้นทางหมายเลข 1014 เพื่อเลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 1006 จากนั้นวิ่งตรงไปทางทิศตะวันออกบนเส้นทางหมายเลข 1006 เกือบ 14 กม.แล้วให้คอยสังเกตุแยกฝั่งซ้ายมือ ให้คุณเลี้ยวเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 1317 ขับต่อไปอีกราว 7.4 กม.เลี้ยวซ้ายอีกครั้ง 1 กม.ข้างหน้าจะเป็นที่ตั้งของวัดถ้ำเมืองออน (รวมระยะทางจากบ้านบ่อสร้าง ประมาณ 22.8 กม.)
พระธาตุนมผา ถ้ำเมืองออนอยู่สูง 410 ม.จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ต้องเดินขึ้นบันได 187 ขั้น จะถึงทางลงถ้ำเป็นทางชันและลื่นพอสมควร ภายในมีจุดเด่นคือ พระธาตุนมผา เกิดจากหินงอกหินย้อยขนาดใหญ่ ชาวบ้านเชื่อกันว่ามีพระธาตุอยู่ภายใน นอกจากหินงอกหินย้อยแล้ว ภายในถ้ำเมืองออนยังเป็นที่ประดิษฐานพระนอน และพระพุทธรูปปางสมาธิอีกด้วย
วัดต้นเกว๋น
Location: ต.หนองควาย อ.หางดง
จากตัวเมืองเชียงใหม่ ใช้เส้นทางหมายเลข 108 ขับเรื่อยลงมาทางทิศใต้ราว 6 กม. จากนั้นเลี้ยวขวามาประมาณ 1.9 กม. เข้าสู่ทางหลวงชนบทหมายเลข 3035 ตรงมาอีกไม่กี่ร้อยเมตรบนเส้นทางสายนี้เบี่ยงซ้ายอีกเล็กน้อย จะเป็นที่ตั้งของวัดต้นเกว๋น รวมระยะทางประมาณ 9.6 กม.
วิหารไม้ สร้างตั้งแต่ปีพ.ศ. 2401 จุดเด่นอยู่ที่วิหารแบบล้านนา หน้าบันประดับด้วยกระจกแก้ว และลายปูนปั้น บริเวณหน้าบันมีปีกนกแกะสลักเป็นรูปเศียรนาคในลายเครือเถาผสมกนก และรูปกินนรฟ้อนรำที่บริเวณคันทวยหูช้าง นอกจากนี้ยังมีมณฑปจตุรมุข พบแห่งเดียวของภาคเหนือ เป็นศาลาที่มีมุขยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน ส่วนกลางของศาลามีจั่วซ้อนสองชั้น มุงด้วยกระเบื้องดิน กลางสันหลังคามีซุ้มมณฑปเรียกว่าปราสาทเฟื่อง ที่หาพบได้ในภาคอีสานเท่านั้น
วัดดงหลวง (วัดหางดง)
Location: บ้านดง หมู่ที่ 9 ต.หางดง อ.หางดง
จากวัดต้นเกว๋น ให้คุณมุ่งไปทางทิศตะวันตก เข้าสู่ทางหลวงชนบท หมายเลข 3035 จากนั้นไม่ไกลให้เลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 121 ขับต่อประมาณ 2 กม.แล้วเลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหมายเลข 108 ราว 4.5 กม.จะเจอทางแยกเข้าวัดให้คุณเลี้ยวขวาขับตรงไปเรื่อยๆ ประมาณ 1.2 กม. จะพบวัดอยู่ฝั่งขวามือ (รวมระยะทางจากวัดต้นเกว๋น 7.9 กม.)
วิหาร วัดนี้มีอายุกว่าร้อยปี ไม่ปรากฎที่มาของวัด โดดเด่นที่วิหารซึ่งนับเป็นวิหารที่สวยงามมากแห่งหนึ่ง เป็นวิหารขนาดเล็กตามสถาปัตยกรรมล้านนา มีหลังคาซ้อนกันด้านหน้าสามชั้น และด้านหลังสองชั้น มีหน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้นทรงเรขาคณิตผสมลวดลายพรรณพฤกษาสลับสีกระจก มีเทพประดับติดตามเสา และหน้าบัน นับเป็นสถาปัตยกรรมคล้ายวิหารวัดต้นเกว๋น
เวียงท่ากาน
Location: ต.บ้านกลาง อ.สันป่าตอง
จากสนามบินเชียงใหม่ให้คุณออกมาทางถนนมหิดล แล้วเลี้ยวขวาสู่เส้นทางหมายเลข 108 (เชียงใหม่ – หางดง) มุ่งหน้าลงใต้ประมาณ 26 กม.จะเจอแยกไฟแดงที่มีป้ายบอกทางไปเวียงท่ากาน เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงชนบทหมายเลข 3006 แล้วขับตรงไปอีกประมาณ 2 กม.ปลายทางจะอยู่ฝั่งขวามือ (รวมระยะทางจากสนามบินเชียงใหม่ ประมาณ 29.4 กม.)
ท่องโบราณสถาน สร้างขึ้นในสมัยหริภุญชัย ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13 รัชสมัยพระเจ้าอาทิตยราช ถึงสมัยพญามังราย ก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่ โบราณสถานเด่นๆ อยู่กลางเมืองในเขตโรงเรียน เช่น วัดท่ากาน วัดต้นกอก นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุอีกมาก เช่น พระพุทธรูปหินทราย พระพุทธรูปดินเผา และพระพิมพ์จำนวนมาก รวมทั้งเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หยวน (พ.ศ. 1823-1911)
แม้จะเวียงท่ากานจะมีความสำคัญน้อยกว่าเวียงกุมกาม แต่ก็มีจุดเด่นน่าไปเที่ยวชมหลายแห่ง เช่น วัดกลางเมือง วัดอุโบสถ์ วัดต้นโพธิ์ วัดหัวข่วง วัดพระเจ้าก่ำ วัดต้นกอก วัดหนองหล่ม วัดน้อย วัดป่าเป้า วัดป่าไผ่รวก วัดกู่ไม้แดง เที่ยวที่นี่ได้เห็นศิลปะทั้งแบบหริภุญชัย และล้านนา
วัดพระธาตุศรีจอมทอง
Location: ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง
จากเวียงท่ากานให้ขับตรงออกมาสู้เส้นทางหมายเลข 108 จากนั้นเลี้ยวซ้ายมุ่งลงใต้ต่อบนเส้นทางหมายเลข 108 ตรงมาอีกประมาณ 28.5 กม. จะพบทางเข้าวัดพระธาตุศรีจอมทองอยู่ฝั่งซ้ายมือ (รวมระยะทางจากเวียงท่าการ 30.5 กม. จากสนามบินเชียงใหม่ 56 กม.)
พระบรมสารีริกธาตุ อยู่ก่อนขึ้นดอยอินทนนท์ สร้างในพุทธศตวรรษที่ 21 มีอายุกว่า 500 ปี จุดเด่นอยู่ที่พระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐานอยู่ในโกศห้าชั้น ภายในมณฑปปราสาท ก่อหินถือปูน ฝีมือช่างชาวพม่า วันเข้าพรรษา และออกพรรษา ทางวัดจะนำออกมาจัดงานสมโภช นับเป็นงานใหญ่ของอำเภอจอมทอง
เที่ยววัดนี้เสร็จก็ขึ้นไปเที่ยวต่อดอยอินทนนท์กันได้เลย
วัดพุทธเอ้น
Location: ต.ช้างเคิ่น อ.แม่แจ่ม
อ.แม่แจ่ม นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมจัดทริปควบคู่ไปกับดอยอินทนนท์ เพราะมีเส้นทางต่อเนื่องกัน โดยทางไปอ.แม่แจ่มจากดอยอินทนนท์นั้นใช้เส้นทางหมายเลข 1192 ซึ่งมีแยกทางเข้าอยู่กม.ที่ 39 บนเส้นทางหมายเลข 1009 (จอมทอง-ยอดดอยอินทนนท์) เส้นทางเดียวกับน้ำตกแม่ปาน นับจากทางแยกให้คุณขับมุ่งหน้าทางทิศตะวันตกราว 20 กม. ก่อนตรงเข้าเส้นทางหมายเลข 1088 อีกประมาณ 2 กม.เข้าสู่ตัวอ.แม่แจ่ม
จากที่ว่าการอ.แม่แจ่ม ให้คุณมุ่งขึ้นเหนือตามเส้นทางหมายเลข 1088 ประมาณ 1.5 กม. แล้วเลี้ยวซ้าย ตรงต่อไปอีกราว 1 กม. วัดพระพุทธเอ้นจะอยู่ทางซ้ายมือคุณ (รวมระยะทางจากที่ว่าการอ.แม่แจ่มประมาณ 2.5 กม. ห่างจากทางแยกกม.ที่ 39 ของเส้นทางหมายเลข 1009 ประมาณ 25 กม.)
โบสถ์กลางน้ำ ไม่เพียงแต่ชื่อวัดที่แปลก ภายในวัดยังมีสิมน้ำ หรือโบสถ์กลางน้ำที่แปลก และมีเพียงแห่งเดียวในจังหวัดเชียงใหม่ ลักษณะเป็นโบสถ์ไม้กลางน้ำ สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หน้าบันแกะสลักเป็นรูปพรรณไม้ เชิงชายเป็นรูปมกรคายน้ำทั้ง 4 ด้าน หน้าวัดมีบ่อน้ำที่มีน้ำไหลตลอดปีอยู่ด้วย
วัดกองกาน
Location: ต.แม่ศึก อ.แม่แจ่ม
จากวัดพุทธเอ้นให้คุณมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือ บนเส้นทางหมายเลข 1088 อีกประมาณ 2 กม. (รวมระยะทางจากที่ว่าการอ.แม่แจ่มประมาณ 4.5 กม.ห่างจากทางแยกกม.ที่ 39 ของเส้นทางหมายเลข 1009 ประมาณ 27 กม.)
พระเจ้าตนหลวง เป็นวัดเก่าแก่คู่อำเภอแม่แจ่มมานาน มีพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองคือ พระเจ้าตนหลวง พระพุทธรูปองค์ใหญ่ ตั้งอยู่ภายในวิหารที่เก่าแก่ เป็นพระพุทธรูปทรงศิลปะล้านนา และนับเป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอแม่แจ่ม
วัดป่าแดด
Location: ต.ท่าผา อ.แม่แจ่ม
จากที่ว่าการอ.แม่แจ่ม ให้คุณมุ่งหน้าออกไปทางทิศตะวันออกตามเส้นทางหมายเลข 1088 ประมาณ 2.3 กม. ผ่านวงเวียน แล้วเลี้ยวขวาเพื่อวิ่งบนเส้นทางหมายเลข 1088 ต่ออีกประมาณ 900 ม.จะพบวัดป่าแดดอยู่ทางฝั่งขวามือ (รวมระยะทางจากที่ว่าการอ.แม่แจ่ม 3.2 กม.)
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง จุดเด่นของวัดนี้คือภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารที่สร้างตั้งแต่เมื่อพ.ศ. 2420 เป็นภาพวาดฝีมือของชาวไทใหญ่ ปัจจุบันยังชัดเจนสวยงาม เป็นภาพที่เล่าเรื่องราวในพุทธประวัติ และชาดก
วัดยางหลวง
Location ต.ท่าผา อ.แม่แจ่ม
จากวัดป่าแดด ให้คุณวิ่งไปทางทิศตะวันตกตามเส้นทางหมายเลข 1088 จากนั้นเลี้ยวซ้ายตรงไปอีกไม่ถึง 1 กม.ก็จะเป็นที่ตั้งของวัดยางหลวง (รวมระยะทางจากวัดป่าแดด 1 กม. หางจากที่ว่าการอ.แม่แจ่ม 4.2 กม.)
กู่ปราสาท ชื่อของวัดยางหลวงมาจากชาวกะเหรี่ยงที่สร้างวัดนี้ขึ้นมาในพุทธศตวรรษที่ 24 สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คำว่า “ยาง” ในสมัยนั้นหมายถึงชาวกะเหรี่ยงนั่นเอง จุดเด่นของวัดนี้คือ กู่ปราสาท หรือกิจกูฎ สูงประมาณ 2 ม. ลักษณะของกิจกูฎเป็นสถาปัตยกรรมแบบพุกาม พม่า ผสมผสานกับศิลปะแบบล้านนา สกุลเชียงแสน ดูงดงาม
ทั้งหมดนี้ก็วัดเด่นๆ นอกเวียงเจียงใหม่ ถ้าเที่ยวกันครบทุกที่ก็ขออนุโมทนาสาธุ บุญรักษานะเจ้า…