อิ่มบุญ อิ่มอกอิ่มใจ
เวียง หรือ เมือง เชียงใหม่ มีวัดงามตามสไตล์ล้านนาให้เที่ยวชมหลายวัด เป็นการท่องวัฒนธรรมที่สุดเพลิดเพลิน ไม่ว่าคุณจะเป็นสายบุญ หรือสายศิลปะ การได้ท่องเที่ยวไปในวัดต่างๆ ของเวียงเจียงใหม่ จะทำให้ให้คุณหลงวันลืมคืนไปเลยก็ว่าได้ ลองเลือกดูวัดที่ชอบที่สนใจ โดยใช้ google map ประกอบ ก็เที่ยวได้ด้วยตัวเองทั้งขับรถเที่ยว หรือใช้บริการรถแดง
วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร
Location: ตัวเมืองเชียงใหม่ฝั่งด้านในคูเมือง ถ.สามล้าน ต.พระสิงห์ อ.เมืองเชียงใหม่
จากหน้าสนามบินเชียงใหม่ ให้เลี้ยวขวาไปทางถ.มหิดล เจอแยกไฟแดงแรกเลี้ยวซ้ายทันที แล้วขับมุ่งหน้าสู่ถนนรอบคูเมือง ผ่านประตูสวนดอกแล้วให้ชิดขวาทันทีเพื่อกลับรถ จากนั้นวิ่งกลับมาตามถ.อารักษ์ แล้วเลี้ยวซ้ายที่ซอยอารักษ์ 5 ตรงไปจนบรรจบกับถนนอินทรวโรรส สังเกตุฝั่งขวามือจะเป็นที่ตั้งของวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร
สถาปัตยกรรมล้านนา สร้างในสมัยพญาผายูพอ ในสมัยพระยาแสนเมืองครองนครเชียงใหม่ ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากเชียงรายมาประดิษฐานไว้ที่นี่ ชาวเมืองเรียกว่าพระสิงห์ นอกจากนี้ยังมีสถาปัตยกรรมล้านนาอันงดงาม เช่น หอไตร และวิหารลายคำ สถานที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ มีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสังข์ทองที่พบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย
วัดพวกหงษ์
Location: ถ.สามล้าน ต.พระสิงห์ อ.เมืองเชียงใหม่
การเดินทางมายังวัดพวกหงษ์ ใช้เส้นทางเดียวกันกับวัดพระสิงห์ได้ เพียงแต่ให้คุณต้องขับเลยมาทางทิศใต้อีกหน่อยบนสายเดียวกัน ถัดจากวัดพระสิงห์ ลงมาประมาณ 850 ม.เท่านั้น คุณก็จะพบกับวัดพวกหงษ์ทันที (ห่างจากวัดพระสิงห์ประมาณ 850 ม.)
เจดีย์เก่า รูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยพุทธศตวรรษที่ 21 ลักษณะเจดีย์ทรงกลมก่ออิฐถือปูน เหนือขึ้นไปเป็นฐานทรงกลม 3 ชั้น และซุ้มพระพุทธรูปอีก 7 ชั้น เจดีย์ลักษณะนี้พบในจังหวัดเชียงใหม่เพียง 3 แห่งเท่านั้น คือ วัดร่ำเปิง วัดเจดีย์ปล่อง และวัดพวกหงษ์
วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร
Location: ถ.พระปกเกล้า ต.ศรีภูมิ อ.เมืองเชียงใหม่
จากวัดพวกหงษ์ ให้คุณมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก บนถนนสามล้าน ซอย 7 ต่อไปยังถนนพระปกเกล้า ซอย 7 ประมาณ 800 ม. จากนั้นเจอทางแยกให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพระปกเกล้าตรงไปอีกราว 250 ม. จะเป็นที่ตั้งของวัดเจดีย์หลวง (ห่างจากวัดพวกหงษ์ ประมาณ 1.1 กม.)
เจดีย์เก่าและใหญ่สุด วัดเจดีย์หลวงเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ และมีเจดีย์ที่ใหญ่สุดของเชียงใหม่ สร้างในสมัยพญาแสนเมือง เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “กู่หลวง” ต่อมาสมัยพระเจ้าติโลกราช ได้สร้างเสริมพระเจดีย์ขึ้นใหม่ แล้วอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้ที่มุขด้านตะวันออกของเจดีย์นานถึง 80 ปี ภายในวัดยังมีเสาอินทขิล หรือเสาหลักเมือง ตั้งอยู่ในวิหารจตุรมุขศิลปะล้านนา
วัดพันเตา
Location: ต.ศรีภูมิ อ.เมืองเชียงใหม่
ออกจากวัดเจดีย์หลวง ให้คุณเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพระปกเกล้า ตรงไปประมาณ 130 ม. เจอสี่แยกให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถ.ราชดำเนิน ไปอีกประมาณ 50 ม. จะเป็นที่ตั้งของวัดพันเตา (ห่างจากวัดเจดีย์หลวงประมาณ 200 ม.)
หอคำ อยู่ใกล้กับวัดเจดีย์หลวง บนถนนพระปกเกล้า จุดเด่นอยู่ที่วิหารซึ่งเคยเป็นหอคำ หรือที่พักอาศัย และว่าราชการของเจ้านายฝ่ายเหนือมาก่อน เป็นอาคารทรงพื้นเมืองที่สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง ด้านหน้าวิหารเป็นประตูไม้บานใหญ่ เหนือประตูแกะสลักเป็นรูปนกยูง อันเป็นสัญลักษณ์ของเจ้านายฝ่ายเหนือ ฝาหอคำมีลักษณะเหมือนฝาปะกนเรือนไทยภาคกลาง ชาวล้านนาเรียกว่า “ฝาตาผ้า” คล้ายกับการนำผ้ามาขึงสะดึง หน้าต่างมีซุ้มเรือนแก้ว มีการเข้าขื่อในส่วนของหลังคา ซึ่งเป็นไม้อย่างประณีต
วัดเชียงมั่น
Location: ถ.ราชภาคินัย ต.ศรีภูมิ อ.เมืองเชียงใหม่
จากวัดพันเตา ให้คุณมุ่งหน้าทางทิศตะวันออกไปตามถนนราชดำเนิน เจอแยกแรกให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพระปกเกล้า ตรงไปประมาณ 550 เมตร เจอแยกให้เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนพระปกเกล้าซอย 13 ไปต่อราว 250 ม.ให้คุณเลี้ยวซ้ายเข้าถ.ราชภาคินัย จากนั้นลดความเร็วคอยสังเกตุทางเข้าวัดจะอยู่ฝั่งซ้ายมือ ถัดจากแยกมา 50 ม. (ห่างจากวัดพันเตาประมาณ 950 ม.)
พระแก้วขาว เป็นวัดหลวงแห่งแรกที่พญามังราย โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 1839 ภายในวัดเป็นที่ประดิษฐานพระสตังคมุนี หรือที่เรียกว่า พระแก้วขาว เป็นพระพุทธรูปหินสีขาวใส ปางมารวิชัย ศิลปะช่างสมัยละโว้ เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองสมัยพระนางจามเทวี อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดเชียงมั่น และพระพุทธรูปหิน ปางปราบช้างนาฬาคีรี เป็นพระพุทธรูปฝีมือช่างสกุลปาละ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-17 ศิลปะคุปตะ
วัดบุปผาราม (วัดสวนดอก)
Location: อยู่ฝั่งทิศตะวันตกของคูเมือง ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ (เยื้องกับโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่)
จากสนามบินเชียงใหม่ ขับตามถ.มหิดลมาทางทิศตะวันออกก่อน เจอแยกไฟแดงให้เลี้ยวซ้ายตรงสู่ถนนรอบคูเมือง ถึงบริเวณประตูสวนดอก ตรงข้ามสามแยกให้เลี้ยวซ้ายทันทีมุ่งหน้าทางทิศตะวันตกบนถนนสุเทพประมาณ 1 กม. ผ่านหน้ารพ.มหาราชนครเชียงใหม่ สังเกตุฝั่งซ้ายมือจะเป็นที่ตั้งของวัดบุปผาราม (รวมระยะทางจากสนามบินเชียงใหม่ 4 กม.)
เจดีย์ทรงลังกา เป็นวัดที่พญากือนาให้สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 1914 เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และเป็นที่จำพรรษาของพระสุมนเถระ ผู้เผยแผ่พุทธศาสนา นิกายลังกาวงศ์แบบสุโขทัย ภายในวัดมีเจดีย์องค์ใหญ่แบบล้านนาทรงลังกา และวิหารหลวง เดิมเป็นเรือนหลวงของพระเมืองแก้ว ส่วนวัดเก้าตื้อ อยู่ในบริเวณเดียวกันกับวัดสวนดอก มีพระพุทธรูปเก้าตื้อ หล่อด้วยสำริดขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่ในโบสถ์ ศิลปะการสร้างผสมผสานทั้งแบบสุโขทัย และแบบล้านนา
วัดอุโมงค์
Location: ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่
ออกจากวัดบุปผาราม ให้คุณเลี้ยวซ้ายขับไปทางทิศตะวันตกไปตามถ.สุเทพ เข้าสู่ถ.ศรีวิชัย ประมาณ 1.3 กม. จะมีทางแยกฝั่งซ้ายมือ เป็นทางเข้าสู่วัดอุโมงค์ (รวมระยะทางจากวัดบุปผาราม 1.4 กม.)
เจดีย์ทรงระฆัง มีอีกชื่อว่าวัดเวฬุกัฏฐาราม บรรยากาศสงบ ร่มรื่น สร้างขึ้นในสมัยพญามังราย เพื่อให้่ฝ่ายอรัญยวาสีจำพรรษา ต่อมาพญากือนา ได้สร้างอุโมงค์ขึ้นเพื่อให้พระมหาเถระจันทร์ ใช้เป็นที่นั่งวิปัสสนากรรมฐาน เจดีย์ทางทิศใต้ของมหาวิหาร เป็นโบราณสถานที่มีศิลปกรรมแตกต่างจากเจดีย์อื่นๆ คือเป็นเจดีย์ทรงระฆัง มีชั้นทรงกลมสามชั้นคล้ายกลีบบัวซ้อนกันอยู่ ด้านบนมีปลียอด สันนิษฐานว่าในสมัยพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นโบราณสถานที่มีความเก่าแก่ของแคว้นล้านนา
วัดผาลาด
Location: ต.สุเทพ อ.เมืองชียงใหม่
จากวัดอุโมงค์ ให้เลี้ยวขวาเข้าสู่ถ.สุเทพ ไปอีกไม่ไกลเลี้ยวซ้ายอีกครั้งเพื่อเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 121 จากนั้นขับตรงไปประมาณ 1.7 กม. เจอสี่แยกให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถ.ห้วยแก้ว ขับตามเส้นทางหมายเลข 1004 ไปเรื่อยๆ จนเข้าถ.ศริวิชัย ระยะทางประมาณ 6 กม. ปลายทางจะอยู่ฝั่งซ้ายมือ (รวมระยะทางจากวัดอุโมงค์ 8.3 กม.)
บรรยากาศธรรมชาติ สร้างในสมัยพระเจ้ากือนา เป็น 1 ใน 3 วัด ที่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จุดเด่นจึงอยู่ที่บรรยากาศที่ปกคลุมด้วยป่าไม้หนาแน่น ทำให้เกิดความร่มรื่น ชุ่มชื่น จนมอส เฟิน ถักทอตามโบราณสถานอันเก่าแก่สร้างขึ้นมาในสมัยครูบาศรีวิชัย ทำถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพ นอกจากบรรยากาศเขียวขจีโดยรอบแล้ว โบราณสถานอย่างบ่อน้ำ และพระพุทธรูปริมหน้าผา ยังเป็นจุดเด่นน่าชม ส่วนสิ่งก่อสร้างยุคใหม่ เช่น โบสถ์ วิหารนั้น ก็สร้างได้อย่างกลืมกลืนทั้งกับธรรมชาติ และของเก่าได้อย่างลงตัว
วัดกู่เต้า
Location: ตั้งอยู่ฝั่งด้านทิศเหนือของคูเมือง ต.ช้างเผือก อ.เมืองเชียงใหม่
จากสนามบินเชียงใหม่ เริ่มต้นคล้ายกับหลายที่ซึ่งกล่าวมาเบื้องต้น หากออกจากสนามบินบริเวณทางเข้าด้านหน้าให้คุณเลี้ยวขวามุ่งไปทางถ.มหิดล เจอแยกไฟแดงแรกให้เบี่ยงซ้ายเพื่อตัดเข้าสู่ถ.มหิดล จากนั้นขับตรงตลอด ประมาณ 2.4 กม. เลียบคูเมืองบนถ.บุญเรืองฤทธิ์ ต่อไปยังถ.หัสดีเสวี ก็จะถึงที่ตั้งของวัดกู่เต้า (รวมระยะทางจากสนามบินเชียงใหม่ 4.8 กม.)
เจดีย์กู่เต้า วัดนี้มีอีกชื่อว่าวัดเวฬุวนาราม แปลว่า “วิหารที่อยู่ในป่าไผ่” ส่วน “กู่” เป็นภาษาไทยยวน แปลว่าที่บรรจุอัฐิ และ “เต้า” แปลว่าผลแตงโม โดยเรียกตามลักษณะของเจดีย์ที่คล้ายกับผลแตงโมเรียงซ้อนกันนั่นเอง เจดีย์วัดกู่เต้ามีรูปทรงคล้ายบาตรพระคว่ำห้าชั้น เรียงจากใหญ่ไปหาเล็ก มีซุ้มจระนำทั้งสี่ทิศ องค์เจดีย์แต่ละชั้นประดับด้วยลายปูนปั้น และกระจกสีเป็นรูปดอกไม้เล็กๆ ส่วนยอดฉัตรเป็นศิลปะแบบพม่า
วัดแสนฝาง
Location: ริงแม่น้ำปิง บนถ.วิชยานนท์ ต.ช้างม่อย อ.เมืองเชียงใหม่
จากวัดกู่เต้า ให้ให้มุ่งลงใต้ไปตามถ.หัสดีเสวี เข้าสู่ถนนห้วยแก้วซอย 2 เจอแยกใหญ่บริเวณคูเมืองให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถ.มณีนพรัตน์ จากนั้นขับตรงตลอดเพื่อวิ่งบนถ.มณีนพรัตน์ ถึงแยกบริเวณมุมคูเมืองให้คุณเบี่ยงขวาเข้าถ.ชัยภูมิ ตรงมาไม่เกิน 250 ม. ให้คุณเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถ.สิทธิวงศ์ ตรงมาประมาณ 600 ม. ให้เลี้ยวซ้ายอีกครั้งเข้าสู่ถ.ช้างม่อย จากนั้นอีก 130 ม. เจอทางแยกให้เลี้ยวขวา ตรงไปอีกไม่ไกล จะสังเกตุเห็นวัดแสนฝางอยู่ฝั่งขวามือ (รวมระยะทางจากวัดกู่เต้าประมาณ 3.6 กม.)
ศิลปผสม วัดนี้เป็นการรวมศิลปะทั้งของล้านนา พม่า และยุโรป เข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน สิ่งที่น่าสนใจคือ กุฏิ 100 ปี หลวงโยนการพิจิตร เป็นตึกขนาดใหญ่สถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล ประดับด้วยไม้ที่ฉลุลายตกแต่งอย่างสวยงาม และเจดีย์ประธานทรงระฆังที่ถือเป็นรูปแบบร่วมสมัยกับพม่า ส่วนวิหารเป็นรูปแบบม้าต่างไหมที่ตกแต่งด้วยไม้แกะสลักลายก้านขดที่เจ้าอินทวิชยานนท์ และเจ้าแม่ทิพเกสรโปรดเกล้าฯ ให้รื้อตำหนักเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์มาปรับปรุงใหม่
วัดช่างฆ้อง
Location: ถ.กำแพงดิน ต.ช้างม่อย อ.เมืองเชียงใหม่
จากวัดแสนฝาง มุ่งลงใต้ไปตามถ.ช้างม่อยตัดใหม่ เข้าสู่ถ.ท่าแพ ขับตรงไปยังถนนกำแพงดิน 400 ม. ทางเข้าวัดช่างฆ้องจะอยู่ฝั่งขวามือคุณ (ระยะทางจากวัดแสนฝาง 500 ม.)
หอไตร เป็นวัดเล็กๆ ที่ไม่มีประวัติการสร้างที่แน่ชัด ตั้งอยู่ในเขตชุมชนหลายกลุ่ม หลายเชื้อชาติ สิ่งที่น่าสนใจคือหอไตร มีลักษณะผสมผสานศิลปกรรมทั้งของไทย และพม่าเข้าไว้ด้วยกัน ตัวอาคารเป็นตึก สองชั้นขนาดเล็ก ประดับด้วยลวดลายปูนปั้น และไม้ฉลุที่งดงามมาก ภายในยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ด้านนอกของหอไตร เป็นนิทานพื้นบ้าน โดยฝีมือช่างพื้นบ้าน
วัดเจดีย์เจ็ดยอด
Location: ต.ช้างเผือก อ.เมืองเชียงใหม่
จากสนามบินเชียงใหม่ ให้คุณขับเข้าหาคูเมืองเป็นอันดับแรก เริ่มจากเลี้ยวขวาไปทางถ.มหิดล จากนั้นเลี้ยวซ้ายบริเวณแยกไฟแดง ขับตรงขึ้นเหนือบนถ.บุญเรืองฤทธิ์ ผ่านประตูสวนดอก เจอแยกใหญ่บริเวณแจ่งหัวรินให้เบี่ยงซ้าย เข้าสู่ถ.ห้วยแก้ว (เส้นทางหมายเลข 1004) ตรงไปราว 1.3 ม.เจอแยกให้เลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 11 ขับตรงไปประมาณ 1 กม. จะมีทางแยกด้านซ้ายมือ ให้คุณเลี้ยวเข้าไปอีกไม่ไกลจะพบวัดเจ็ดยอดอยู่ฝั่งซ้ายมือ (รวมระยะทางจากสนามบินเชียงใหม่ ประมาณ 6.5 กม.)
เจดีย์เจ็ดยอด มีอีกช่ือว่าวัดโพธารามหาวิหาร นับว่าเป็นวัดที่แปลกที่สุด เพราะมียอดอยู่บนเรือนธาตุสี่เหลี่ยมถึงเจ็ดยอด คล้ายกับมหาโพธิ์เจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย มีลวดลายปูนปั้นรูปเทพยดาที่มีความวิจิตรงดงามอยู่โดยรอบ และยังมีลายประดับหัวเสาที่เป็นเอกลักษณ์ของล้านนา พม่า ที่รับเอาศิลปะนี้ไป เรียกว่า ลายเชียงใหม่
วัดบวกครกหลวง
Location: ต.หนองป่าครั่ง อ.เมืองเชียงใหม่
จากสถานีขนส่งอาเขตเชียงใหม่ ให้คุณไปทางทิศใต้ยังเส้นทางหมายเลข 11 ก่อน จากนั้นค่อยเลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 11 ตรงไปประมาณ 350 ม. ค่อยกลับรถที่ถนนแก้วนวรัฐ ขับตรงต่อไปประมาณ 2 กม. ให้ชิดซ้ายเพื่อเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 1006 โดยจะมีป้ายบอกว่าเป็นทางไปอ.สันกำแพง จากนั้นขับตรงมาประมาณ 1.3 กม. ให้สังเกตุฝั่งขวามือจะมีทางแยกเข้าวัดบวกครกหลวง ให้เลี้ยวเข้ามาราว 170 ม. วัดจะอยู่ฝั่งขวามือ (รวมระยะทางจากสถานีขนส่งอาเขตเชียงใหม่ 4.5 กม.)
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ฝีมือของช่างเงี้ยว หรือชาวไทใหญ่ สีสันและรูปยังคงมองเห็นได้อย่างแจ่มชัด เป็นภาพที่นำเสนอเรื่องราวของพุทธประวัติ และทศชาติชาดก ภายในวัดยังมีสัตตภัณฑ์ หรือราวเทียนบูชาพระ ซึ่งปัจจุบันหาชมได้ยาก วัดบวกครกหลวงแต่เดิมเคยใช้ชื่อว่าวัดม่วงคำ ไม่ทราบที่มาแน่ชัด แต่วิหารนั้นสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 และได้ทำการบูรณะเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน
เวียงกุมกาม
Location: ต.ท่าวังตาล อ.สารภี
หากคุณเดินทางมาเชียงใหม่ด้วยรถยนต์ คุณสามารถแวะเที่ยวเวียงกุมกามก่อนได้โดยไม่ต้องเข้าตัวเมือง ตามเส้นทางหมายเลข 11 จากกรุงเทพฯ มุ่งเข้าเชียงใหม่นั้น หลังจากผ่านลำพูนเริ่มเข้าเขตเชียงใหม่ คุณจะพบถนนวงแหวนตัดผ่านเส้นทางหมายเลข 11 อยู่ 3 จุด หากคุณต้องการเยี่ยมเยือนอาณาจักรโบราณแห่งนี้ก่อน ให้คุณเลือกเลี้ยวซ้ายบริเวณวงแหวนรอบ 2 มุ่งหน้าทางทิศตะวันตกบนถนนสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ขับตรงจนเห็นสะพานข้ามแม่น้ำปิงอยู่ตรงหน้า จึงค่อยชะลอแล้วชิดซ้ายเพื่อกลับรถใต้สะพาน ขับย้อนกลับมาเส้นทางเดิม ประมาณ 900 เมตร จะพบกับป้ายทางเข้าเวียงกุมกามด้านซ้ายมือ
จากสนามบินเชียงใหม่ ให้มุ่งหน้าออกถนนใหญ่ทางประตูทิศตะวันออก หรือประตูทางเข้าด้านหลังสนามบิน หน้าทางออกจะมีสี่แยก ให้เลือกเลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 108 หรือถ.สายเชียงใหม่-หางดง ขับมุ่งหน้าทางทิศใต้ลงมาเรื่อยๆ จนเจอแยกไฟแดงใหญ่ มีอุโมงค์ลอด ให้คุณเบี่ยงออกซ้าย เลี้ยวเข้าสู่ถ.สมโภชเชียงใหม่ 700 ปี (คนในพื้นที่เรียกถนนวงแหวนรอบสอง) มุ่งไปทางทิศตะวันออก (เส้นทางไปอ.สันกำแพง) ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำปิง รวมแล้วประมาณ 4 กม. จากนั้นให้สังเกตุฝั่งซ้ายมือ จะมีป้ายบอกทางเข้าเวียงกุมกามอยู่ เลี้ยวซ้ายเข้าซอยขับเลาะเลียบถนนภายในหมู่บ้าน ประมาณ 700 ม.คุณก็จะสังเกตุเห็นเขตเมืองเก่า (รวมระยะทางจากสนามบินเชียงใหม่ประมาณ 10 กม.)
กลุ่มโบราณสถาน เป็นเมืองโบราณสร้างขึ้นราวพ.ศ. 1830 หลังจากพญามังรายยึดเมืองหริภุญชัยได้ ก่อนจะย้ายเมืองไปสร้างนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ริมแม่น้ำปิง ภายในประกอบด้วยวัดต่างๆ และสถูปเจดีย์จำนวนมาก กรมศิลปากรเข้ามาขุดแต่งขึ้นใหม่เมื่อพ.ศ. 2523
วัดเจดีย์เหลี่ยม รูปทรงเจดีย์คล้ายกับเจดีย์กู่กุดที่เมืองลำพูน เชื่อว่าเป็นอารามแห่งแรกที่พญามังราย ใช้เป็นที่บำเพ็ญภาวนาของพระกัสสปะเถระ และพระสงฆ์สานุศิษย์ที่ธุดงค์มาถึงเวียงกุมกาม องค์เจดีย์ลดหลั่นไปจนถึงยอดประดับด้วยซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปด้านละ 15 องค์
วัดช้างค้ำ หรือวัดกานโถม อยู่ใจกลางเวียงกุมกาม พญามังรายให้สร้างขึ้น เมื่อพ.ศ. 1831 ปีเดียวกับที่สร้างวัดเจดีย์เหลี่ยม วิหาร และเจดีย์ได้พังทลายเหลือเพียงซากส่วนฐานเป็นรูปช้างค้ำแบบเจดีย์สุโขทัย นอกจากนี้ยังพบจารึกสำคัญต่างๆ เป็นอักษรฝักขาม และอักษรมอญ
วัดปู่เปี้ย เป็นเจดีย์ประธานทรงมณฑป มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ด้านหน้ามีวิหาร สร้างยกพื้นสูง และอุโบสถ 8 เหลี่ยม สร้างขึ้นในสมัยเริ่มแรกที่สร้างเวียงกุมกาม โดยคำว่าปู่เบี้ยมาจากภาษาท้องถิ่นที่เรียกชายชราร่างเล็กว่าปู่เบี้ย
วัดอีค่าง อยู่ใจกลางเวียง เป็นวัดสำคัญอีกแห่งของเวียงกุมกาม เชื่อกันว่าเป็นวัดมหาธาตุประจำเมือง เดิมบริเวณวัดมีสภาพเป็นป่ารกร้าง จึงมีฝูงค่างเข้ามาอาศัยอยู่ในวัดมาก ชาวบ้านจึงเรียกวัดนี้ว่าวัดอีค่าง
วัดธาตุขาว เจดีย์ประธานสีขาวฉาบด้วยปูน จึงเป็นที่มาของชื่อวัด ลักษณะพิเศษคือ มณฑปหรือแท่นแก้วชุกชี สร้างอยู่ตรงกลางใกล้เคียงด้นทิศใต้พระเจดีย์
ทั้งหมดนี้เป็นวัดเด่นๆ ในเวียงเจียงใหม่ หากคิดจะเที่ยวให้ครบทุกวัด เกรงว่าอาจจะต้องใช้เวลาหลายวันอาจจะอิ่มบุญไปหน่อย ลองเลือกวัดที่สนใจแล้วไปเที่ยวแบบค่อยๆ ซึมซับจะดีกว่า ส่วนวัดอื่นๆ ที่เหลือค่อยจัดเป็นทริปต่อไป ใครที่มาแอ่วเจียงใหม่แล้ว รับรองไม่มาครั้งเดียวแน่ๆ…