กอดลมหนาว นอนดูดาว ชมซากุระ ชิมสเตอเบอรี่
ดอยอ่างขาง เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาแดนลาวติดกับพรมแดนพม่า มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,900 ม. ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเขาหินปูนและหินดินดาน อากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี ทำให้ชมทะเลหมอกได้ง่าย และเหมาะกับการปลูกพืชเมืองหนาว นอกจากจะมีสถานีวิจัยพืชเมืองหนาวแห่งแรกของโครงการหลวง ตามแนวพระราชดำริของในหลวงร.9 เมื่อปีพ.ศ. 2512 และแปลงผักแปลงดอกไม้ให้ชมแล้ว ยังมีหมู่บ้านชาวเขาเผ่าต่างๆ ให้คุณได้เยี่ยมชมสัมผัสวิถีชีวิตแบบใกล้ชิดอีกด้วย
Location ขึ้นดอยอ่างขางเลือกได้ 2 เส้นทาง จากตัวเมืองเชียงใหม่ใช้ทางหลวงหมายเลข 107 เลยอ.เชียงดาวมา 6 กม. เลี้ยวซ้ายที่สามแยกเมืองงาย เส้นทางเดียวกับทางไปอุทยานฯเชียงดาว ตามทางหลวงหมายเลข 1178 ถึงกม.ที่ 31 เลี้ยวขวาเข้าบ้านอรุโณทัย-ดอยอ่างขาง แล้วตัดเข้าทางหลวงหมายเลข 1249 จนถึงดอยอ่างขาง เส้นทางนี้เป็นถนนลาดยางตลอดสาย แม้จะอ้อมหน่อยแต่ไม่คดเคี้ยวมากนัก
หรือจะเลือกขับรถเลยอ.เชียงดาวไปจนถึงอ.ไชยปราการ ถึงกม.ที่ 137 บริเวณตลาดแม่ข่า เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 1249 อีก 25 กม.ก็จะถึงดอยอ่างขาง เส้นทางนี้ค่อนข้างสูงชันและคดเคี้ยวต้องขับขี่ด้วยความระมัดระวัง
จุดแรกที่ต้องเที่ยวชมคือ สถานีเกษตรโครงการหลวงดอยอ่างขาง ที่นี่เป็นสถานที่ทดลองพันธุ์ไม้เมืองหนาวชนิดต่างๆ ทั้งไม้ดอกไม้ประดับ และพืชพักผลไม้ แปลงผักและผลไม้แยกออกเป็นสัดส่วน มีทั้งผักกาดแก้ว ปวยเล้ง เห็ดหอม แครอต แรดิช อาติโชก กะหล่ำม่วง ไม้ดอกเช่น ลิลลี่ เยอบีรา กุหลาบ และอีกหลายสิบชนิด รวมทั้งแอปเปิ้ล สาลี่ บ๊วย กีวี่ฟรุ้ต สตอเบอร์รี่ พลับ ราสเบอรี่ อโวคาโด เสาวรส และอื่นๆ อีกมากมาย
ส่วนใครที่ชื่นชอบการชมไม้หายากอย่างเช่นสวนบอนไซ และพรรณไม้เขตกึ่งร้อนกึ่งหนาว ที่นี่ก็มีการจัดสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2530 โดยมี ม.จ.ภีศเดช รัชนี จัดแต่งเป็นสวนคล้ายภูเขาขนาดย่อมประดับด้วยพรรณไม้ท้องถิ่น และพรรณไม้ต่างประเทศหลายชนิด ทั้งสวนบอนไซต่างประเทศ ปรงแคระ ต้นหางจระเข้จากทวีปแอฟริกา ต้นแมกโนเลีย เมเปิ้ลหอม แปะก้วยหรือกิงโก เป็นต้น
รวมถึงพืชเฉพาะถิ่นหายาก เช่น เฟิร์นข้าหลวงอ่างขาง ต้นหูเสือหมอคาร์ ให้คุณได้ชมกันแบบใกล้ชิดและยังสามารถถ่ายภาพดอกไม้เหล่านี้ได้อย่างเพลิดเพลินใจ
ใกล้ๆ กับสถานีเกษตรโครงการหลวงดอยอ่างขางยังมี บ้านคุ้ม หมู่บ้านเล็กๆ ที่มีชาวบ้านหลากเชื้อชาติอาศัยอยู่ ทั้งไทยใหญ่ พม่า และจีนฮ่อ ภายในหมู่บ้านมีร้านค้า ร้านขายของที่ระลึก และที่พักบริการแก่นักท่องเที่ยวด้วย หากคุณจองที่พักบนดอยอ่างขางไม่ทัน ทีนี่ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกอาจไม่เทียบเท่า แต่ทัศนียภาพความงามของวิวทิวทัศน์นั้นก็สวยงามไม่แพ้กัน
ห่างสถานีเกษตรฯ ไป 7 กม.คุณจะได้แวะเที่ยวที่ บ้านนอแล หมู่บ้านของชาวเขาเผ่าปะหล่อง อยู่บริเวณชายแดนไทย-พม่า อพยพมาอยู่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ตอนนี้ที่หมู่บ้านได้รับการส่งเสริมให้ปลูกกุหลาบสีสันสดใสสวยงาม เข้าไปชมสวนและเลือกซื้อกุลาบสดๆ ได้จากสวน
ยามค่ำคืนบนดอยอ่างขางนอกจากคุณจะได้สนุกสนานกับกิจกรรมแค้มป์ไฟ ได้เล่าเรื่องราวล้อมรอบกองไฟ และสนุกสนานกับการทำอาหารแล้ว กิจกรรมนอนดูดาวบนดอยอ่างขางที่นี่ก็แสนโรแมนติกอย่าบอกใคร
สำหรับวันที่สองบนดอยอ่างขางควรตื่นเช้าเสียหน่อย เพื่อไปเฝ้ารอชมทะเลหมอกแสนอลังการและวิวยามพระอาทิตย์ขึ้นก็สวยงามและน่าประทับใจ
ช่วงสายไปเที่ยวกันต่อที่ บ้านขอบด้ง อยู่ห่างสถานีเกษตรฯ ไป 3 กม. เป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่ามูเซอดำ (ลาหู่นะ) เมื่อก่อนชาวบ้านจะปลูกข้าว พืชต่างๆ และฝิ่นกัน แต่ตอนนี้เปลี่ยนมาปลูกสตอเบอร์รี่ และไร่ชา ที่นี่นับเป็นหนึ่งในจุดท่องเที่ยวสำคัญบนดอยอ่างขาง ที่มีวิวของไร่ชาและไร่สตอเบอร์รี่ที่สวยงามที่สุด
ขากลับคุณยังสามารถเลือกชมและเลือกซื้อกำไรจากหญ้าชิ หรือชิปุแค ที่ชาวเผ่ามูเซอดำถักขึ้นเอง เป็นของฝากได้ด้วย
สำหรับคนชอบเดินป่าศึกษาธรรมชาติ และชอบการดูนกเป็นชีวิตจิตใจ ที่ดอยอ่างขางเองก็มีเส้นทางดูนกและเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติบริเวณด้านหลังหน่วยจัดการต้นน้ำแม่เผอะสถานีเกษตรดอยอ่างขาง ตลอดทางเดินผ่านป่าเล็กๆ และไร่เกษตรของชาวบ้านก็มีนกหลายชนิดให้ชม ทั้งนกประจำถิ่นเช่น นกปรอดภูเขา นกกางเขนน้ำหัวขาว นกปากนกแก้วอกลาย หรือนกอพยพช่วงฤดูหนาว เช่น นกอีเสือหลังแดง นกเดินดงชนิดต่างๆ
ดอยอ่างขางขุนเขาที่เหมาะแก่การดูนก
พื้นที่ที่เป็นภูเขาสูงของดอยอ่างขางประกอบกับเป็นพื้นที่กสิกรรม ป่าดงดิบ ป่างเต็งรัง และป่าสนเขา ดอยอ่างขางจึงเป็นจุดที่พบนกหลายชนิด โดยเฉพาะทางเดินด้านหลังหน่วยจัดการต้นน้ำแม่เผอะสถานีเกษตรดอยอ่างขาง ที่จะพบทั้งนกประจำถิ่น และนกอพยพหนีหนาว สำหรับช่วงปลายหนาวที่ดอกซากุระบานสะพรั่ง
ถ้าขยันเฝ้ารอการมาเยือนของนกกินปลีหางยาวคอสีฟ้า และนกแว่นตาขาว นกสองชนิดหายากของประเทศไทยที่จะโฉบบินให้คุณชมได้อย่างน่าอัศจรรย์