เที่ยวเมืองหลวงลาว นครเวียงจันทน์

Trips หนองคาย

ประตูชัย ภาพที่คุ้นตาของนักท่องเที่ยว

ข้ามโขงจากหนองคายไปเที่ยวลาว

สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1

หนองคาย-เวียงจันทน์

สะพานข้ามโขง เชื่อมต่อวัฒนธรรมบ้านพี่เมืองน้อง

สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 เป็นอีกหนึ่งเส้นทางเชื่อมต่อเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศ บ้านพี่เมืองน้องอย่างไทยและลาว ที่มีความเกี่ยวเนื่องและสนิทสนมกันมาอย่างยาวนาน วันนี้อีกหนึ่งบทบาทหลักของสะพานยาว 1,170 ม.ซึ่งพาดผ่านน้ำโขงแห่งนี้คือ ประตูสู่แหล่งท่องเที่ยวอันน่าตื่นตาของทั้งชาวไทย พี่น้องชาวลาว รวมถึงชาวต่างชาติ

สะพานมิตรภาพแห่งแรก

Location: ตั้งอยู่บ้านจอมมณี ต.มีชัย เขตอำเภอเมืองหนองคาย ตรงข้ามกับบ้านท่านาแล้ง เมืองท่าเดื่อ ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ห่างจากนครเวียงจันทน์ราว 20 กม.

จากตัวเมืองหนองคาย ให้คุณใช้เส้นทางหมายเลข 2 หรือถ.มิตรภาพ มุ่งขึ้นเหนือเข้าหาแม่น้ำโขง ก็จะถึงที่ตั้งของสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ส่วนการนำรถออกจากด่านไทย ต้องทำเอกสารนำรถออก ล่วงหน้าเสียก่อน 

จ.หนองคาย เป็นเมืองที่มีพื้นที่ติดริมน้ำโขงมากที่สุดในประเทศคือ 320 กม.จึงไม่น่าแปลกใจที่สะพานมิตรภาพแห่งแรกระหว่างไทยและลาวจะถูกสร้างขึ้นที่นี่ จังหวัดที่มีฝั่งตรงข้ามห่างจากเมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพียง 20 กม. สะพานแห่งนี้สร้างขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว และออสเตรเลีย ข้ามลำน้ำโขงเชื่อมต่อระหว่างเขตเทศบาลเมืองหนองคายกับบ้านท่านาแล้ง ในเขตนครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจของประเทศ ที่เพียบพร้อมด้วยสถานที่ท่องเที่ยวอันน่าตื่นตา และสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน 

สะพานแห่งนี้ สร้างขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2534 ด้วยความช่วยเหลือจากรัฐบาลออสเตรเลีย จนแล้วเสร็จในเดือนเมษายน พ.ศ. 2537 ตัวสะพานมีความยาววัดได้ 1,170 ม. มีทางรถกว้าง 3.5 ม. 2 ช่องจราจร  ทางเดินเท้ากว้าง 1.5 ม. 2 ช่องทางเดิน และทางรถไฟกว้าง 1 ม. อีก 1 ราง ที่สร้างต่อมาในภายหลังตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศของทั้งสองชาติ ซึ่งแล้วเสร็จในปีพ.ศ. 2551 ใช้ในการขนส่งสินค้าสำหรับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงรับส่งผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศด้วย

สะพานมิตรภาพไทยลาว แห่งที่ 1 จ.หนองคาย มีพิธีเปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2537 โดยมีในหลวงร.9 และนายหนูฮัก พูมสะหวัน ประธานประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวขณะนั้นเสด็จเป็นประธานในพิธี ส่วนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ ระหว่างจ.หนองคายถึงสถานีรถไฟท่านาแล้งนั้น เปิดเดินรถอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2552 โดยมีหนึ่งโบกี้เป็นที่ประทับของกรมสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งทรงเสด็จมาพร้อมกับรถไฟขบวนนี้ด้วย 

หลังจากเปิดใช้งานสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 สะพานแห่งนี้ได้แสดงบทบาทและก่อประโยชน์มากมายให้กับทั้งสองแผ่นดิน และช่วยกระชับสัมพันธ์ หลังจากเคยระแวงกันและกันในช่วงสงครามอินโดจีน กลายเป็นประเทศคู่ค้าและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สนิทสนมกัน นักธุรกิจไทยมากมายเข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว นักธุรกิจในลาวมากมายเช่นกันก็ใช้เส้นทางสะพานแห่งนี้ลำเลียงสิ่งของเพื่อขนส่งทางทะเล

หนองคายไม่มีสนามบิน ต้องลงที่อุดรฯแล้วต่อรถไปอีกนิดเดียว

ส่วนประโยชน์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนตั้งแต่ปีแรกของการเปิดสะพานก็คือ ธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ซึ่งมีทั้งโรงแรม ร้านอาหาร รวมถึงผู้ประกอบการท่องเที่ยวมากมายเกิดขึ้นในนครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อที่จะรองรับนักท่องเที่ยวไทย ที่แห่กันเข้าชมวัฒนธรรมอันล้ำค่า รวมถึงโบราณสถานน่าสนใจมากมายในผืนแผ่นดินที่มีแต่ผู้คนยิ้มแย้ม ใจดี มีไมตรีต่อชาวต่างชาติทุกคน แต่สำหรับใครที่มีเวลาน้อยไม่อยากข้ามประเทศ ก็เดินเที่ยวชมบนสะพานเฉยๆ ได้ โดยมีช่องทางขึ้นอยู่ด้านล่างใต้สะพาน ในช่วงเย็นทัศนียภาพแม่น้ำโขงและตัวสะพานจะสวยงามที่สุด จึงนับเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ไม่ควรพลาดสำหรับนักท่องเที่ยวคนไหนที่รักการถ่ายภาพเป็นชีวิตจิตใจ

นครหลวงเวียงจันทน์

เป็นที่รู้กันในหมู่ผู้ประกอบการ เกี่ยวกับการท่องเที่ยวทั้งแถบแนวชายแดนฝั่งไทย และประเทศเพื่อนบ้านในนครหลวงเวียงจันทน์ว่า นับตั้งแต่มีการเปิดใช้สะพานมิตรภาพ เพื่อใช้สัญจรไปมาระหว่างสองชาติ ธุรกิจการท่องเที่ยวของทั้งสองฝั่งต่างรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ พี่น้องชาวลาวพากันมาจับจ่ายซื้อของในไทย พี่น้องชาวไทยต่างพากันเข้าไปเยี่ยมชมโบราณสถานอันงดงามและเป็นเอกลักษณ์ 

ส่วนการเดินทางท่องเที่ยวภายในนครหลวงเวียงจันทน์ด้วยตัวเองนั้น นอกจากการเดินเที่ยวตามสถานที่เด่นซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกันแล้ว อีกหนึ่งยานพาหนะที่แนะนำก็คือ รถสามล้อ ซึ่งพร้อมจะพาคุณไปส่งในทุกที่รอบนครแห่งนี้ แต่ถ้าอยากให้ประหยัดตังค์ในกระเป๋าเลือกจ้างเหมาทั้งวันแล้วตระเวนเที่ยวรอบเมืองจะคุ้มค่าที่สุด 

9 ที่เที่ยวน่าไปเยือนในเวียงจันทน์ 

1 พระธาตุหลวง 

Location: ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประตูชัย 

ที่เที่ยวอันดับหนึ่งของนครเวียงจันทน์คือ พระธาตุหลวง ที่นี่เป็นศาสนาสถานที่สำคัญที่มีความหมายต่อจิตใจของประชาชนชาวลาวอย่างใหญ่หลวง เพราะเป็นดั่งอนุสรณ์แทนความเป็นเอกราช และอำนาจอธิปไตยของประเทศลาว

พระธาตุหลวง สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 16 เป็นเจดีย์ที่มีลักษณะโดดเด่นที่สุดในอาณาจักรล้านช้างตั้งแต่สมัยสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชเจ้า โดยมีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่าได้มีพระภิกษุลาวจำนวน 5 รูป เดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย และได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้ามายังนครเวียงจันทน์ด้วย

ต่อมาได้กราบทูลพระยาจันทบุรีประสิทธิ์ศักดิ์ เจ้านครเวียงจันทน์ให้สร้างพระธาตุหลวงขึ้นเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุเพื่อให้ชาวลาวได้กราบไหว้บูชา ซึ่งเชื่อกันว่าพระธาตุองค์เดิมนั้นสร้างด้วยหินเป็นทรงคว่ำ มีการก่อกำแพงล้อมรอบเอาไว้ทั้งสี่ด้าน ต่อมาสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองหลวงของราชอาณาจักรล้านช้างมาอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์จึงทรงมีบัญชาให้สร้างพระเจดีย์องค์ใหม่ครอบองค์เดิมไว้ 

ปัจจุบันองค์พระธาตุหลวงมีลักษณะคล้ายป้อมปราการ มีระเบียงสูงใหญ่โอบล้อมองค์พระธาตุ ส่วนภายในก่อสร้างตามสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมในพระพุทธศาสนากับสถาปัตยกรรมของอาณาจักร ซึ่งได้รับความเชื่อมาจากคติจักรวาลที่มีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลาง เริ่มจากภายนอก และทางเข้าทั้ง 4 ทิศ เสมือนเป็นเทือกเขาน้อยใหญ่ที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ ส่วนฐานลดหลั่นกัน 3 ชั้นอันหมายถึงโลก 3 ภูมิ คือ มนุษย์โลก เทวโลก และพรหมโลก เหนือฐานชั้นที่ 3 เป็นองค์ระฆังเตี้ยคล้ายสถูปทรงฟองน้ำในผังทรงสี่เหลี่ยม และมีเจดีย์บริวารล้อมรอบอีกหลายองค์  

นอกจากองค์พระธาตุหลวงแล้ว ภายในบริเวณใกล้เคียงยังมีศิลาจารึกเกี่ยวกับประวัติของพระธาตุหลวง และพระบรมรูปสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชตั้งอยู่บนฐานสูงด้านหน้าทางเข้าสู่พระธาตุหลวง    

2 ประตูชัย

Location: บนถนนล้านช้าง ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเวียงจันทน์ 

ประตูชัย ตั้งอยู่ใจกลางวงเวียนของถนนล้านช้าง ด้วยขนาดอันใหญ่โตจึงมองเห็นได้แต่ไกล ประตูชัยสร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2512 เป็นอนุสรณ์สถานเพื่อระลึกถึงประชาชนชาวลาวผู้เสียสละชีวิตในสงครามก่อนหน้าการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์ การก่อสร้างประตูชัยแห่งนี้ได้ใช้ปูนซีเมนต์ของประเทศสหรัฐอเมริกาที่กำลังจะนำไปสร้างสนามบินใหม่ในช่วงสงครามอินโดจีน แต่ไม่ทันได้สร้างอมริกาดันพ่ายแพ้เสียก่อน ชาวลาวจึงนำปูนมาสร้างเป็นประตูชัยแทน หลายจึงเรียกประตูชัยในอีกชื่อหนึ่งกันว่า รันเวย์แนวตั้ง

สำหรับทางด้านสถาปัตยกรรมประตูชัยได้รับอิทธิพลการสร้างมาจากประตูชัยของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แต่ลักษณะสถาปัตยกรรมยังคงเป็นเอกลักษณ์ของลาว ไม่ว่าจะเป็น รูปปูนปั้น พระพุทธศิลป์ ภาพเรื่องราวมหากาพย์รามายณะ ส่วนการเที่ยวชมนอกจากภายนอกแล้ว ภายในยังมีบันไดให้เดินขึ้นไปเที่ยวชมวิวสวยๆ โดยสามารถชมเมืองเวียงจันทน์ได้อย่างรอบด้าน นอกจากนี้ภายในแต่ละชั้นก็ยังมีร้านขายของฝากให้เลือกซื้อกันด้วย ประตูชัยเปิด-ปิดตั้งแต่เวลา 08.00-12.00 น. และ 13.00-17.00 น.     

3 วัดสีสะเกด

Location: ถนนเชษฐาธิราช ตรงข้ามหอพระแก้ว 

แต่เดิมวัดแห่งนี้ชื่อ วัดสตสหัสสาราม หรือ วัดแสน แต่เหตุที่เปลี่ยนมาเรียกกันว่า วัดสีสะเกด เนื่องจากวัดแห่งนี้หันหน้ามาทางพระราชวัง หรือทิศหัวนอนของเจ้าอนุวงศ์ เมื่อเจ้าอนุวงศ์ตื่นหรือเข้าบรรทมก็สามารถไหว้พระในวัดสีสะเกดได้ทั้งในตอนเช้า และค่ำ 

สำหรับประวัติวัดสีสะเกดเจ้าอนุวงศ์เป็นผู้สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2361 โดยใช้พื้นที่วัดเก่าแก่แห่งหนึ่งที่ตั้งติดกับพระราชวังเป็นสถานที่ตั้งวัดแห่งใหม่ และได้จัดการวางแผนผังวัดให้มีความระเบียบเรียบร้อยคือ มีระเบียงล้อมรอบพระอุโบสถอย่างชัดเจนตามแบบวัดไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เนื่องจากในสมัยนั้นลาวยังคงตกเป็นเมืองขึ้นของไทย

ภายในวัดมีให้เที่ยวชมกันหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น หอไตรศิลป์พม่า ศิลาจารึกสร้างด้วยหินทรายบอกประวัติการสร้าง การจัดวาง และการสมโภชเฉลิมฉลองวัดสีสะเกด พระพุทธรูปเงิน และพระพุทธรูปดินเผากว่า 2,000 องค์ รางไม้รูปทรงคล้ายพญานาคใช้เป็นรางสำหรับสรงน้ำพระในช่วงเทศกาลสงกรานต์   

4 หอพระแก้ว 

Location: ถนนเชษฐาธิราช ตรงข้ามวัดสีสะเกด 

หลังเที่ยวชมวัดสีสะเกดแล้วคุณสามารถข้ามถนนมาเที่ยวชมหอพระแก้วกันต่อได้เลย หอพระแก้ว ในอดีตเคยเป็นวัดหลวงประจำราชวงศ์ลาวพระเชษฐาธิราชโปรดฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตที่อัญเชิญมาจากล้านนา และเมื่อทำศึกสงครามกับสยามในปีพ.ศ. 2322 จนนครเวียงจันทน์แตกพ่าย กองทัพสยามได้นำพระแก้วมรกตกลับไปด้วย จากนั้นวัดแห่งนี้ก็รับการบูรณะขึ้นใหม่อีกหลายครั้ง 

ปัจจุบันหอพระแก้วไม่ใช่เป็นวัดอีกต่อไป ทางลาวได้ปรับเปลี่ยนให้เป็นหอพิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นสถานที่เก็บรวบรวมพระพุทธรูป และโบราณวัตถุต่างๆ ยังนิยมเข้ามาสักการบูชาพระพุทธรูปภายในวัดแห่งนี้กันอยู่เช่นเคย ในส่วนของพิพิธภัณฑ์นั้นจัดแสดงพระแท่นราชบังลังก์ปิดทองจารึกพระไตรปิฎกภาษาขอม กลองสำริดประจำพระราชวงศ์ลาว และยังมีทุ่งไหหินจากแขวงเชียงขวางให้ชมกัน 1 ใบ โดยตั้งอยู่ภายในศาลาหลังเล็กด้านหน้าหอพระแก้ว        

5 ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม

Location: ถ.ท่าเดื่อ บริเวณหลักกม.ที่ 18 

ศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้บริหารจัดการโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศลาว ภายในจัดแสดงบ้านเรือนของลาวลุ่ม ลาวเทิง และลาวสูง รวมถึงยังมีลานแสดงศิลปวัฒนธรรมของชาวลาว และสวนสัตว์ขนาดเล็กที่มีสวนกะปอมหลวง หรือไดโนเสาร์จำลองขนาดเท่าของจริงให้ชมกันอย่างเพลิดเพลินด้วย

นอกจากนี้ด้านหลังของศูนย์วัฒนธรรมยังติดแม่น้ำโขง และมีร้านอาหารคอยให้บริการอาหาร เครื่องดื่มกันหลายแห่ง จึงเหมาะสำหรับไปนั่งพักผ่อนชมวิว และรับประทานอาหารกลางวัน ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเปิดให้เที่ยวชมตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. 

6 พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ 

Location: ถ.สามเสนไท ติดสนามกีฬาแห่งชาติลาว 

พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ หรือพิพิธภัณฑ์กองทัพ แต่เดิมเป็นจวนข้าหลวงของฝรั่งเศส ต่อมาทางรัฐบาลลาวได้ใช้เป็นที่ทำการของหน่วยงานฝ่ายบริหาร ก่อนถูกปรับปรุงมาเป็นพิพิธภัณฑ์ในปีพ.ศ. 2428 ภายในจัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในช่วงการกอบกู้เอกราชของประเทศลาว รวมถึงจัดแสดงอาวุธยุทโธกรณ์ เครื่องแบบในราชการ และรูปบุคคลสำคัญในช่วงทำการปฏิวัติ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเปิดให้เที่ยวชมในเวลา 09.00-16.00 น. 

7 วัดศรีเมือง

Location ถ.เชษฐาธิราช ใกล้กับสถานทูตฝรั่งเศส 

วัดศรีเมืองสร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2106 โดยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ภายในวัดเป็นที่ตั้งของเสาหลักเมืองประจำนครเวียงจันทน์ หลังจากเหล่าอำมาตย์ของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้ลงความเห็นให้ก่อสร้างก็ได้มีการขุดหลุมใหญ่ขึ้นเพื่อทำพิธีสร้างเสาหลักเมือง จากนั้นได้แขวนเสาหลักเมืองไว้เหนือหลุม และรอผู้สมัครใจกระโดดลงไปในหลุม

มีหญิงมีครรภ์ผู้หนึ่งอาสาสมัครลงไป หลังจากนั้นจึงทำการสร้างสิมครอบเสาหลักเมืองเอาไว้ สิ่งน่าสนใจภายในวัดแห่งนี้ ได้แก่ พระพุทธรูปเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2371 และพระบรมรูปของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ตั้งอยู่บนแท่นสูงกลางสวนสาธารณะ 

8 พระธาตุคำ 

Location: ใกล้กับโรงแรมเอเชียนพาวิลเลียนโฮเต็ล  

พระธาตุดำ สร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรล้านช้างตอนต้น มีตำนานพื้นบ้านเล่าสืบต่อกันมาว่า ภายใต้องค์พระธาตุดำเป็นปากทางออกจากนครบาลของเหล่าพญานาคเจ็ดเศียรที่มาช่วยเหลือชาวลาวในนครเวียงจันทน์ไว้จากการรุกรานของกองทัพสยาม ปัจจุบันองค์พระธาตุดำแม้จะทรุดโทรม และไม่ได้รับการปรับปรุงให้งดงาม แต่ก็ตั้งอย่างโดดเด่นอยู่ใจกลางเมืองเวียงจันทน์แห่งนี้  

9 วัดเชียงควน

Location: ถ.ท่าเดื่อ ห่างจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาวประมาณ 3 กม.และห่างจากตัวเมืองเวียงจันทน์ 25 กม.

วัดเชียงควน สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2501 นายบุญเหลือ สุริทัต ได้สร้างสวนแห่งนี้ขึ้น โดยนำหลักคำสอนของศาสนาพุทธ และศาสนาฮินดูมารวมเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้ภายในวัดมีพระพุทธรูปต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น พระวิษณุ พระศิวะ รวมถึงรูปปั้นต่างๆ เมื่อรวมกับอาคารทรงฟักทองขนาดใหญ่ยิ่งทำให้ดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

อาคารฟักทองประกอบด้วย 3 ชั้น แทนสวรรค์ โลกมนุษย์ และนรก ในชั้นบนสุดมีบันไดเวียนเดินขึ้นไปยังจุดชมวิวชมบริเวณวัดได้อย่างสวยงามไปจนถึงวิวแม่น้ำโขง วัดเชียงควนจึงเป็นที่นิยมมาก

เที่ยวไป ชิมไป

ด้วยลักษณะของเมืองเวียงจันทน์ที่ตั้งติดกับแม่น้ำโขง ในเรื่องอาหารการกินเมนูปลาจากแม่น้ำโขงจึงเด่นที่สุด นำมาปรุงเป็นอาหารได้อย่างหลากหลายชนิด เช่น ปลาเผา ต้มยำปลา ปลาทอดกระเทียม ฯลฯ และร้านอาหารส่วนใหญ่ยังตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ชิมไปชมวิวฝั่งไทยไปนับว่าได้บรรยากาศอันสุนทรีย์ไม่น้อย ยิ่งชวนเย็นนับเป็นช่วงเวลาที่พิเศษสุด แม้แต่คนลาวเองยังนิยมมานั่งรับประทานอาหารริมแม่น้ำโขงกันเป็นจำนวนมาก 

สำหรับร้านอาหารในตัวเมืองเวียงจันทน์ก็มีให้เลือกอยู่มากมายเช่นกัน ตามถนนสายสำคัญต่างๆ จะพบร้านอาหารอยู่หลายสัญชาติ ไม่ว่าจะเป็น อาหารลาวพื้นบ้าน อาหารไทย อาหารเวียดนาม อาหารฝรั่ง และอาหารอินเดีย ใครที่ชื่นชอบอาหารท้องถิ่นราคาประหยัดบริเวณตลาดสีห้อมนับเป็นย่านที่มีร้านอาหารท้องถิ่นให้เลือกชิมกันตลอดวันเลยทีเดียว แถมมีให้เลือกชิมกันเพียบทั้งอาหารไทย อาหารลาว และอาหารเวียดนาม เช่น ข้าวจี่ เฝอ ก๋วยเตี๋ยวญวน และอาหารตามสั่งแบบบ้านเรา  

ประตูชัยยามเย็น

พักฝั่งลาว

หากคุณเลือกพักฝั่งนครเวียงจันทน์กันหนึ่งคืน แนะนำว่าโลเคชั่นที่ดีเยี่ยมที่สุดสำหรับการพักผ่อนก็คือ ริมฝั่งโขง ตลอดถนนเลียบฝั่งแม่โขงของเวียงจันทน์นับเป็นบริเวณที่มีโรงแรม รีสอร์ตอันสะดวกสบายให้บริการอยู่หลายแห่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมระดับ 2-3 ดาว ขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ ทุกแห่งมีห้องพักอันสะดวกสบายให้พักผ่อนชมวิวแม่น้ำโขงกันตลอดวัน ช่วงเย็นจากโรงแรมเดินข้ามถนนไปนั่งชมพระอาทิตย์ตกได้อย่างสะดวก หรือจะเดินหาร้านอาหารอร่อยริมโขงฝั่งเวียงจันทน์ก็มีร้านอาหารให้เลือกชิมกันหลายแห่ง 

ใครที่ชื่นชอบการพักผ่อนภายในตัวเมืองใกล้สิ่งอำนวยความสะดวก ภายในเมืองเวียงจันทน์ก็ยังมีโรงแรม รีสอร์ต เกสต์เฮ้าส์ให้เลือกอีกหลายแห่งเช่นกัน บางแห่งนำอาคารสไตล์โคโลเนียลมาปรับปรุงใหม่เป็นห้องพักได้อย่างสวยงามคลาสสิก ส่วนบางแห่งก็สร้างขึ้นใหม่ตัวอาคารจึงมีสถาปัตยกรรมอันทันสมัยน่าพักผ่อนไม่แพ้กัน    

เขื่อนน้ำงึม

Location: ตั้งอยู่ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ราว 90 กม.

เนื่องจากเขื่อนน้ำงึมอยู่ไกลจากนครหลวงเวียงจันทน์ การเดินทางโดยรถสามล้อรับจ้างจึงไม่สะดวก แนะนำให้จ้างเหมารถตู้ จะสะดวกกว่า ส่วนใหญ่นิยมแวะเที่ยวขากลับจากทริปท่องเที่ยวเมืองวังเวียง

เขื่อนน้ำงึม เป็นเขื่อนที่มีทะเลสาบขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของลาว เพราะต้องคอยเก็บกักน้ำไว้ใช้รวมถึงผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้สอยในนครหลวงเวียงจันทน์ บางส่วนที่เหลือใช้ก็ส่งขายต่อที่ประเทศไทย มีผลพลอยได้เป็นแหล่งท่องเที่ยวบรรยากาศดีสำหรับนั่งพักผ่อนหย่อนใจ ล่องเรือ ทานอาหารประเภทปลาสดๆ จากทะเลสาบ

ใครที่ไม่อยากล่องเรือ ริมฝั่งทะเลสาบกว้างก็มีร้านอาหารบรรยากาศดีให้คุณได้ลิ้มลองอาหารตำรับลาว พร้อมชมวิวทะเลสาบตลอดช่วงบ่ายจนเย็นย่ำพระอาทิตย์ตก แต่สำหรับใครที่ยังติดใจหรืออินด์กับบรรยากาศแสนชิล การเลือกนอนพักสักคืนในรีสอร์ตบรรยากาศชั้นยอดริมทะเลสาบก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางการพักผ่อน ซึ่งรับรองว่าสามารถมอบความประทับใจให้กับคุณและครอบครัวอย่างแน่นอน