ขับรถเที่ยวขอนแก่น

Trips ขอนแก่น

เขื่อนอุบลรัตน์ ยามสนธยาสวยส่งท้ายวัน

เที่ยวทะเลอีสาน เขื่อนอุบลรัตน์ นอนแพ แช่น้ำ แถมภูเวียง ภูเก้า ภูพานคำ

คนขอนแก่นเองก็นิยมมาเที่ยวเขื่อนอุบลรัตน์ เพราะอยู่ใกล้เมืองไปเช้ากลับเย็นได้สบายๆ

ทะเลสาบอันกว้างใหญ่ที่มีทัศนียภาพสวยงามมาก และมีกิจกรรมทางน้ำให้สนุกหลายอย่าง เช่น ล่องแพชมทิวทัศน์ ล่องแพไปกินอาหารไป หรือจะเพลิดเพลินกับเครื่องเล่นทางน้ำ ทั้งพายคายัค นั่งเรือกล้วย เล่นน้ำง่ายๆ กับห่วงยาง ยิ่งหน้าร้อนด้วยแล้ว ไม่ใช่เพียงคนขอนแก่น แต่ยังมีนักท่องเที่ยวอีกมากที่เดินทางมาเที่ยวเขื่อนอุบลรัตน์

เที่ยวเขื่อนอุบลรัตน์ยังได้ของแถมอีก 3 ที่เที่ยว 3 ภู นั่นคือ ภูเวียง ถิ่นอาศัยของสัตว์ดึกดำบรรพ์อย่างไดโนเสาร์มาก่อน ที่นี่จึงเต็มไปด้วยซากโครงกระดูกทั้งหลาย ภูเก้า เป็นเทือกเขารอยต่อจ.ขอนแก่น และหนองบัวลำภู ที่ได้ชื่อว่าภูเก้าก็เพราะมียอดภูรวมกัน 9 ยอด

ภูสุดท้ายคือ ภูพานคำ เป็นแนวเทือกเขาเดียวกันเทือกเขาภูพานที่ทอดยาวมาจาก จ.สกลนคร แม้ว่าทั้ง 3 ภูจะอยู่กันคนละแห่ง แต่ผสานกันด้วยทางหลวงแผ่นดินที่สะดวกสบาย ไปเที่ยวทั้ง 3 ภูขับรถม่วนอีหลี เรียกว่าเที่ยวต่อเนื่องได้อย่างคุ้มค่าการเดินทางไปเลย

นอนแพสักวันจะได้ส่งตะวันสวยๆ แบบนี้

เขื่อนอุบลรัตน์
Location: นับเป็นเขื่อนเอนกประสงค์แห่งที่สองของไทย ถัดจากเขื่อนภูมิพล สร้างขึ้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำเป็นแห่งแรกในภาคอีสาน ตั้งอยู่ที่ ต.เขื่อนอุบลรัตน์ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น และ ต.โนนสัง อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู ปิดกั้นแม่น้ำพองสาขาย่อยของแม่น้ำชี

ตัวเขื่อนเป็นหินถมแกนดินเหนียว ยาว 885 เมตร สูง 32 เมตร สันเขื่อนกว้าง 6 เมตร อ่างเก็บน้ำมีความจุ 2,263 ล้านลูกบาศเมตร ผลิตไฟฟ้าได้ 55 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง

การสร้างเขื่อนริเริ่มขึ้นในชื่อ โครงการน้ำพอง เมื่อพ.ศ. 2503 โดยได้รับความร่วมมือจากกองทุนพิเศษแห่งสหประชาชาติ  ดำเนินการสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2508 และเนื่องจากบริเวณที่สร้างเขื่อน มีลักษณะภูมิประเทศเป็นแม่น้ำที่ไหลผ่านช่องเขาทั้งสอง ซึ่งแม่น้ำพองดูเหมือนถูกหนีบ ชาวบ้านจึงเรียกเขื่อนนี้ว่า เขื่อนพองหนีบ ตามชื่อดั้งเดิมของบริเวณนี้

ในหลวง ร.9 และพระราชินี ได้เสด็จเปิดเมื่อ 14 มีนาคม พ.ศ. 2509 พระราชทานชื่อเขื่อนนี้ว่า เขื่อนอุบลรัตน์

หาดบางแสน 2

ประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่นอกเหนือจากเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้า แหล่งประมง แหล่งน้ำเพื่อการเกษตรกรรมแล้ว นั่นคือเรื่องของการท่องเที่ยว ปัจจุบันเขื่อนอุบลรัตน์ได้รับความนิยมในการไปท่องเที่ยวทั้งจากชาวขอนแก่นเอง และนักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัด ด้วยภูมิทัศน์ที่สวยงาม อาหารการกินอุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะปลาชนิดต่างๆ รวมถึงกุ้งตัวโต มีที่พักและแพลอยน้ำให้บริการหลายผู้ประกอบการ จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมตลอดปี

หน้าร้อน ได้รับความนิยมสูงสุด เพราะนักท่องเที่ยวนิยมมาเล่นน้ำ หน้าฝน ได้บรรยากาศร่มรื่นร่มเย็น วิวสวยดุจภาพวาดสีน้ำ ส่วนหน้าหนาว อากาศแจ่มใส อากาศเย็นสบาย บรรยากาศโรแมนติกน่ามาพักผ่อนที่สุด

ครัวครูอ๊อด ครูอ้อ พร้อมเสริฟความอร่อยบนแพลอยน้ำ

มาเที่ยวเขื่อนอุบลรัตน์หากจะมาเช้ากลับเย็นก็มีกิจกรรมทางน้ำให้สนุกทั้งวัน ตั้งแต่เล่นน้ำ นั่งแพชมวิว หรือจะนั่งแพกินอาหาร ร้องคาราโอเกะ เผลอเดี๋ยวเดียวก็หมดวัน จากนั้นรอชมพระอาทิตย์ตก และกินมื้อเย็นที่นี่เลยก็ได้ ใครอยากได้ประสบการณ์ดีๆ เลือกนอนแพ แช่น้ำ ใช้บริการที่นี่จากผู้ประกอบการหลายเจ้าได้เลย

กิจกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างมากในการล่องแพเขื่อนอุบลรัตน์คือการมาจัดสัมมนา หรือท่องเที่ยวแบบหมู่คณะ ซึ่งแต่ละแพล้วนมีขนาดแพที่รองรับได้หลักสิบไปจนถึงหลักร้อยกันเลยทีเดียว

ชุ่มฉ่ำกับการเล่นน้ำกันแล้ว คราวนี้มีทริปขับรถเที่ยวต่อเนื่องไปได้อีก 3 ภู เริ่มกันเลย… แนะนำว่าควรค้างที่แพสักคืนเพื่อวันรุ่งขึ้นจะมีเวลาขับรถเที่ยวได้เต็มวันไม่เหนื่อยจนเกินไป

ภูเวียง

Location:  อุทยานแห่งชาติภูเวียง จากตัวเมืองขอนแก่นใช้ทางหลวงหมายเลข 12 (ขอนแก่น-ชุมแพ) ผ่าน อ.หนองเรือไปจนถึงสามแยก อ.ภูเวียง ระยะทาง 48 กม. จากนั้นเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 2038 ขับต่อไปอีก 38 กม. จะถึงที่ทำการอุทยานฯ ภูเวียง

ภูเวียง บ้านของไดโนเสาร์

ภูเวียง

Location: อุทยานแห่งชาติภูเวียง จากตัวเมืองขอนแก่นใช้ทางหลวงหมายเลข 12 (ขอนแก่น-ชุมแพ) ผ่าน อ.หนองเรือไปจนถึงสามแยก อ.ภูเวียง ระยะทาง 48 กม. จากนั้นเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 2038 ขับต่อไปอีก 38 กม. จะถึงที่ทำการอุทยานฯ ภูเวียง

พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง
Location: อยู่ในเส้นทางเดียวกับทางไปอุทยานฯ ภูเวียง อยู่ด้ายซ้ายมือก่อนถึงที่ทำการอุทยานฯ ใช้เส้นทางเดียวกับทางไปอุทยานฯ ภูเวียง จากตัวเมืองขอนแก่นใช้ทางหลวงหมายเลข 12 (ขอนแก่น-ชุมแพ) ผ่าน อ.หนองเรือ ไปจนถึงสามแยก อ.ภูเวียง ระยะทาง 48 กม. จากนั้นเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 2038 เมื่อถึง อ.ภูเวียง แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปทาง อ.เวียงเก่า เลย อ.เวียงเก่า ไปถึงพิพิธภัณฑ์ฯ อยู่ด้านซ้ายมือ

พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา จัดแสดงเรื่องราวของซากดึกดำบรรพ์ ตั้งอยู่บริเวณโคกสนามบิน เนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ ซึ่งการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ที่ภูเวียงนี้เป็นการค้นพบครั้งแรก และแห่งแรกของประเทศไทย ภายในพิพิธภัณฑ์ฯ มีการจัดพื้นที่ประกอบด้วย ส่วนสำรวจและวิจัยส่วนอนุรักษ์ และทำเทียมชิ้นส่วนตัวอย่างซากดึกดำบรรพ์ นอกจากนี้ยังมีส่วนคลังตัวอย่าง ห้องสมุด ส่วนนิทรรศการถาวร ส่วนบริหารจัดการ โรงอาหาร ร้านเครื่องดื่ม ร้านขายของที่ระลึก และห้องประชุมอำนวยความสะดวกให้ด้วย

หลุมขุดค้นที่ 3

เส้นทางเดินชมหลุมขุดค้น
Location เส้นทางเดินเริ่มต้นที่ที่ทำการอุทยานฯภูเวียง ระยะทาง 2.3 กม. จากพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง เลี้ยวซ้ายแล้วขับตรงไปทางที่ทำการอุทยานฯ ภูเวียง เมื่อถึงที่ทำการอุทยานฯ จะมีเส้นทางเดินเท้าศึกษาธรรมชาติอยู่ติดกับโรงอาหาร
เส้นทางเดินนี้จะทำให้คุณได้พบกับหลุมขุดค้นที่มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ จุดเริ่มเดินอยู่ติดกับโรงอาหาร ซึ่งจะผ่านหลุมขุดค้นที่ 3 จากนั้นเดินต่อไปอีก 650 ม. จะผ่านจุดชมวิว เดินต่ออีก 200 ม. ถึงหลุมขุดค้นที่ 1 จากนั้นเดินต่อไปอีก 500 ม. จะผ่านสุสานหอยล้านปีและอาคารหลุมขุดค้นที่ 2 ซึ่งหากคุณไม่อยากเดินเท้าให้เหนื่อย จะขับรถเข้ามาชมที่นี่เลยก็ได้ จากนี้เดินต่อไปอีก 500 ม. จะไปสุดที่หลุมขุดค้นที่ 9 จบเส้นทางเดินเท้าศึกษาธรรมชาติ

สำหรับคนที่มีเวลาเยอะหน่อย ที่เที่ยวในอุทยานฯยังไม่หมด จากด่านตรวจหินร่องจะมีน้ำตกทับพญาเสือและถ้ำต่างๆ ให้ชมหลายแห่ง เช่น ถ้ำหินลาดหัวเมย ถ้ำคนนอน และถ้ำฝ่ามือแดง ส่วนที่ด่านตรวจโคกสูงจะพาคุณไปชมน้ำตกตาดฟ้าและรอยเท้าไดโนเสาร์บนลานหินป่าชาด เมื่อเที่ยวครบแล้วค่อยขับรถกลับไปนอนที่เขื่อนอุบลรัตน์ก็ยังได้

อุทยานฯภูเก้า-ภูพานคำ

Location จากตัวเมืองขอนแก่นขับรถไปตามทางหลวงหมายเลข 2 (ถ.มิตรภาพทางไป จ.อุดรธานี) ระยะทาง 26 กม. จากนั้นเลี้ยวซ้ายตามทางหลวงหมายเลข 2109 ไปทาง อ.อุบลรัตน์ ระยะทาง 24 กม. จากนั้นเลี้ยวขวาตรง อ.อุบลรัตน์ตามทางหลวงหมายเลข 2146 (สายอุบลรัตน์-หนองบัวลำภู) อีก 25 กม. จะเห็นที่ทำการอุทยานฯ ภูเก้า-ภูพานคำอยู่ด้ายซ้าย ติดกับอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์
อุทยานฯภูเก้า-ภูพานคำ
การท่องเที่ยวที่นี่จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือฝั่งภูพานคำ จะเป็นที่ตั้งที่ทำการอุทยานฯอยู่ริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งอยู่ติดกับช่องเขาขาด จุดชมวิวพระอาทิตย์ตกที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของ อ.อุบลรัตน์ ส่วนที่เที่ยวทางฝั่งภูเก้า จะตั้งอยู่ในเขต อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู แหล่งท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะอยู่บนเขา ควรใช้รถขับเลื่อนสี่ล้อ หรือกระบะยกสูงจะสะดวกที่สุด

หอสวรรค์ วิวสวยเหมือนมองจากสวรรค์

วัดพระพุทธบาทภูเก้า+หอสวรรค์
Location: หน่วยพิทักษ์อุทยานฯวังมน ต.บ้านถิ่น ห่างจากตัวเมืองหนองบัวลำภู ประมาณ 20 กม. หากคุณอยู่ที่ทำการอุทยานฯ ภูเก้า-ภูพานคำ ริมเขื่อนอุบลรัตน์ ให้ขับตามทางหลวงหมายเลข 2146 เลียบอ่างเก็บน้ำไปทางด้านซ้ายมือ ทางไปจ.หนองบัวลำภู จากนั้นเลี้ยวซ้ายทางเข้าบ้านถิ่น เมื่อถึงที่ทำการอบต.บ้านถิ่น ขับตรงเข้าไปตามทางคอนกรีตอีก 10 กม. จะถึงด่านตรวจตาดโตน จากนั้นขับขึ้นเขาไป 5 กม. จะถึงวัดพระพุทธบาทภูเก้า
วัดเก่าแก่ซึ่งมีรอยพระพุทธบาทจำลองในมณฑปบนลานหิน นอกจากนี้ยังมีรอยเท้ามนุษย์และสุนัขขนาดใหญ่สลักอยู่บนหินซึ่งเกี่ยวโยงกับนิทานพื้นบ้านเรื่อง “พระสุพรหมวิโมขากับหมาเก้าหาง” ภายในวัดพระพุทธบาทภูเก้ายังมีถ้ำมิ้ม หรือถ้ำเรขาคณิต ซึ่งมีภาพเขียนสี และภาพสลักตามผนังถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์อายุกว่า 3,500 ปี ยุคเดียวกับที่บ้านเชียง จ.อุดรธานี

รอยพระพุทธบาทจำลอง

ถัดจากวัดไปประมาณ 1 กม. เป็นเส้นทางไปยังจุดชมวิวที่หอสวรรค์ ซึ่งอยู่บนเขาสูง ต้องปีนบันไดขึ้นไปยังหอริมหน้าผา บนนี้จะมีศาลาตั้งอยู่มองเห็นทิวทัศน์ที่ราบ อ.โนนสัง และทะเลสาบเขื่อนอุบลรัตน์ได้อย่างสวยงาม 

ผามะลึกคึกคัก

ผามะลึกคึกคัก
Location: ห่างจากหอสวรรค์และวัดพระพุทธาทภูเก้าประมาณ 1.5 กม. จากวัดพระพุทธบาทภูเก้ามีเส้นทางลูกรังบนสันเขาผ่านป่าเต็งรัง ระยะทาง 1.5 กม.
หน้าผาสูงที่มีหินทรายยื่นออกไปในอากาศ คล้ายกับผาหล่มสักบนยอดภูกระดึง ชมทิวทัศน์ได้อย่างสวยงาม ใกล้กับหน้าผามีก้อนหินขนาดใหญ่หลายก้อน ก้อนหนึ่งกว้าง 3 ม. ยาว 8 ม. ซึ่งโยกได้เหมือนกับไม้กระดกด้วยคนเพียงคนเดียว เกิดเสียงดังกึกกัก จึงเรียกหินและหน้าผานี้ว่า “ผามะลึกคึกคัก” การเดินเที่ยวชมที่นี่ต้องระมัดระวังกันสักหน่อย เพราะต้องเดินข้ามสะพานไม้ที่พาดระหว่างช่องเขา และต้องมุดลอดก้อนหินไปยังหน้าผาด้านนอก ควรแต่งกายรัดกุม

รอยเท้าไดโนเสาร์ของจริง

รอยเท้าไดโนเสาร์
Location: หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ วังมน อยู่ห่างจากผามะลึกคึกคัก 3 กม. จากผามะลึกคึกคักขับมาตามทางลูกรัง ทางไปหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ วังมน จะมีทางแยกจากทางลูกรังไปยังลำธารที่พบรอยเท้าไดโนเสาร์ 2.5 กม.
รอยเท้าไดโนเสาร์ที่พบบริเวณลำห้วยนี้จะมีอยู่ด้วยกันประมาณ 5 – 6 รอย ส่วนใหญ่จะคล้ายกับสัตว์สองเท้าพวกนกขนาดใหญ่ ประทับอยู่บนแผ่นหินในลำห้วย สันนิษฐานว่าเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดเล็กพวกคาร์โนซอร์ พวกเดียวกับที่ค้นพบที่อุทยานฯ ภูเวียง แต่ยังไม่มีการศึกษาในรายละเอียดอย่างแน่ชัด นอกจากนี้บริเวณรอบๆ ยังพบซากหอยหินล้านปีด้วย

จากนั้นขับต่อไปยังบ้านวังมนเพื่อไปชมถ้ำเสาหินหามต่าง คล้ายกับดอกเห็ด มีแผ่นหินวางทาบอยู่ด้านบนของเสาหิน คล้ายกับเสาเฉลียงที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม อุบลราชธานี