หมู่เกาะสุรินทร์ พังงา

Trips พังงา

หมู่เกาะสุรินทร์ แหล่งดำน้ำตื้นสวยสุด เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเล

สุดยอดโลกใต้น้ำตื้นแห่งทะเลอันดามัน

อุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ได้รับความนิยมสูงสุดแห่งหนึ่งของไทย ใครไปก็มีสิทธิ์ชมโลกใต้ทะเลแสนสวยได้เหมือนกันหมด เพราะเป็นแหล่งดำน้ำตื้นที่สวยที่สุดในทะเลไทย เรียกว่าตื้นๆ ก็สวยได้ ดังนั้นใครๆ ก็ท่องโลกใต้ทะเลได้ ไม่ต้องแบกถังแบกแท้งค์ให้ยุ่งยาก

Location หมู่เกาะสุรินทร์อยู่ห่างจากชายฝั่งอ.คุระบุรี จ.พังงา ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 60 กม.

เที่ยวได้ตั้งแต่พฤศจิกายนไปจนถึงเมษายนของทุกปี

มีแพกเกจแบบ Day tour, 2 วัน 1 คืน และ 3 วัน 2 คืน จากผู้ประกอบการหลายแห่ง เรือออกจากท่าเรือคุระบุรีประมาณเก้าโมงเช้า ทุกวันในฤดูท่องเที่ยว ซื้อแพกเกจทัวร์ได้จากสำนักงานบริษัททัวร์ต่างๆ บริเวณตลาดเช้าอำเภอคุระบุรี ใช้เวลาในการเดินทางด้วยเรือเร็วประมาณชั่วโมงเศษ และ 2-3 ชม.สำหรับเรือทัวร์ (เรือไม้)

เรือพาไปดำน้ำตามจุดต่างๆ ทั้งสุรินทร์เหนือ-ใต้

หมู่เกาะสุรินทร์ ถูกค้นพบโดยพระยาสุรินทรราชา (นามเดิมคือ นกยูง วิเศษกุล) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นเทศาเมืองภูเก็ตได้นั่งเรือกลไฟสำรวจทะเลฝั่งอันดามัน ล่องเรืออยู่หลายวันจึงได้พบกับหมู่เกาะแห่งนี้ เป็นเกาะที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้หนาแน่น แนวปะการังหลากหลายชนิด ห่างจากเกาะนี้ขึ้นไปทางทิศเหนือ 15 กม. ก็เข้าสู่น่านน้ำประเทศเมียนม่าร์ ต่อมาจึงได้เรียกชื่อหมู่เกาะนี้ว่า “หมู่เกาะสุรินทร์” นั่นเอง

หมู่เกาะสุรินทร์ ประกอบด้วยเกาะ 5 เกาะ คือ เกาะสุรินทร์เหนือ (ขนาดใหญ่ที่สุด) เกาะสุรินทร์ใต้ เกาะสต็อร์ค (เกาะรี) เกาะปาจุมบา (เกาะกลาง หรือเกาะมังกร) และเกาะตอรินลา (เกาะไข่เต่า)

ภาพในอดีตบ้านชาวมอแกนที่อ่าวบอน เสียดายไฟไหม้ไปเสียแล้ว

ทริปเที่ยวหมู่เกาะสุรินทร์ที่ดีที่สุดคือ ต้องนอนค้างบนเกาะอย่างน้อย 2 คืน โดยมี 2 ทางเลือกคือ นอนบ้านพักหรือนอนเต็นท์ก็ได้ เนื่องจากเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวที่ต้องใช้เวลากับการดำน้ำชมโลกใต้ทะเล บางหาดคุณต้องใช้เวลาเกือบครึ่งวันเพื่อชมโลกบนฝั่ง และโลกใต้ทะเลที่อลังการ

Day 1 ช่วงเช้า : ออกเดินทางจากท่าเรือคุระบุรี 

หากใช้บริการเรือเร็ว สายๆ ก็มาถึงเกาะสุรินทร์เหนือ แต่หากนั่งเรือไม้มา ใช้เวลา 2-3 ชม. ถึงเกาะสุรินทร์เหนือก็เกือบเที่ยง

เมื่อมาถึงเกาะสุรินทร์เหนือแล้ว สิ่งแรกที่ทำคือเก็บสัมภาระเข้าที่พัก หากจองเต็นท์ก็เข้าเต็นท์ จองบ้านพักก็เข้าบ้านพัก เปลี่ยนเสื้อผ้า พักผ่อนสบายๆ และมากินมื้อเที่ยงที่ร้านอาหารสวัสดิการของอุทยานฯ หากมากับทัวร์สบายหน่อยเพราะไกด์เตรียมไว้ให้แล้ว หากมาเองก็สามารถสั่งกินกันได้จากร้านอาหารของอุทยานฯเลย

ช่วงบ่าย 

ประมาณบ่ายโมงเรือนำเที่ยวจะพาคุณไปดำน้ำ บริษัททัวร์แต่ละแห่งอาจเริ่มต้นที่จุดแรกไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสะดวกของการให้บริการและสภาพคลื่นลมในทะเล แต่ส่วนใหญ่จะพาไปที่อ่าวแม่ยาย ซึ่งอยู่ใกล้อ่าวช่องขาด ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ทำการอุทยานฯ ที่สุด

อ่าวแม่ยาย

อ่าวแม่ยาย ถือได้ว่าเป็นดงปะการังที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของหมู่เกาะสุรินทร์ เป็นอ่าวใหญ่ ก้นอ่าวลึกเว้าเข้าไปในเกาะ เนื่องจากเป็นอ่าวกึ่งปิดกึ่งเปิดเพราะมีปลายแหลมทั้งสองด้านไม่เสมอกัน และยังมีกระแสน้ำพัดผ่านมาจากอ่าวช่องขาด จึงเป็นแหล่งที่มีปะการังหลากหลายชนิด กินพื้นที่เป็นบริเวณกว้างยาวไปจนถึงปลายแหลมแม่ยายเลยทีเดียว ปะการังที่พบมากเป็นพิเศษคือปะการังเขากวาง ปะการังจาน ปะการังโต๊ะ ปะการังกิ่ง ปะการังดำ และปะการังอ่อน เป็นทั้งจุดดำน้ำตื้นและดำน้ำลึกที่นิยมมาก

อ่าวเต่า เป็นจุดที่สองของทริปดำน้ำในวันแรก อ่าวเต่าอยู่เกือบสุดทางด้านใต้ของเกาะสุรินทร์ใต้ ใกล้กับอ่าวผักกาด ลักษณะเป็นอ่าวเปิด ก้นอ่าวตื้น มีแนวหาดช่วงแคบๆ อยู่ 2 ช่วง แต่เห็นได้ชัดสุดเมื่อน้ำลงเต็มที่ ชื่อเสียงของอ่าวเต่าคือเป็นจุดที่พบเต่าทะเลได้ง่ายที่สุด โดยเฉพาะเต่ากระ และยังมีแนวปะการังที่ได้รับการยกย่องว่าสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของหมู่เกาะสุรินทร์ด้วย แนวปะการังมีพื้นที่กว้าง 200-500 ม. ในระดับน้ำลึก 20-25 ม.ดำน้ำได้ทั้งแบบดำน้ำตื้น และดำน้ำลึก หากโชคดีอาจได้พบเต่าทะเล ฉลามวาฬ และปลากระเบนราหูได้

อ่าวไข่เต่า

ประมาณบ่ายสี่โมงนั่งเรือกลับอ่าวช่องขาด พักผ่อนเล่นน้ำตามอัธยาศัย หรือจะอาบน้ำอาบท่าแต่หัวค่ำก็ดี คนจะได้ไม่แออัด หนึ่งทุ่มกินข้าวเย็น จบทริปวันแรก

ร่องน้ำกั้นระหว่างเกาะสุรินทร์เหนือและใต้

Day 2

ช่วงเช้า  หลังอาหารเช้าไปเที่ยวต่อ ยังมีจุดดำน้ำที่น่าสนใจอีกมาก

จากอ่าวช่องขาดนั่งเรือหางยาวไปอ่าวจาก อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะสุรินทร์เหนือ อ่าวจากเป็นอ่าวเปิด โค้งหาดกว้างเว้าเข้าเป็นรูปตัว C มีหาดทรายสีขาวสะอาดสะอ้าน ด้านหลังเป็นป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ เรือจะเข้าจอดหน้าหาดได้เฉพาะช่วงที่น้ำขึ้นเท่านั้น เพราะหากน้ำตื้นปะการังจะโผล่พ้นน้ำ ถ้าเรือเข้าเพราะอาจเกิดความเสียหายต่อปะการังได้ อ่าวจากนั้นมีแนวปะการังที่สมบูรณ์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอ่าวแม่ยาย มีปะการังเกือบทุกชนิดให้ชม เช่น ปะการังเขากวาง ปะการังโขด ปะการังจาน ปะการังโต๊ะ และกัลปังหาต้นใหญ่ มีสัตว์ทะเลอาศัยอยู่หลายชนิดเช่น หอยมือเสือ ดาวขนนก หนอนพู่ฉัตร และปลาสวยงามอีกมากมาย

เกาะสต็อร์ค

เกาะสต็อร์ค ตั้งอยู่ตรงข้ามกับอ่าวจาก หากขึ้นไปยืนอยู่บนหาด มองเห็นเกาะสต็อร์คอยู่ไม่ไกล เกาะนี้เรียกอีกชื่อว่า “เกาะรี” หรือ “เกาะไฟแวบ” เพราะมีกระโจมไฟสัญญาณสำหรับเดินเรือตั้งอยู่บนเกาะ จุดเด่นของเกาะนี้คือจุดดำน้ำตื้นและดำน้ำลึก มีดงปะการังที่อุดมสมบูรณ์ ด้วยระดับน้ำที่ลึกลาดชันจากเกาะทำให้มีโอกาสพบเห็นฉลามวาฬ และปลากระเบนราหูว่ายเข้ามาทักทายอยู่บ่อยครั้ง

ช่วงบ่าย

หลังมื้อเที่ยง หากคุณเป็นนักดำน้ำลึก มีรายการดำน้ำลึกที่กองหินริเชริว ไปดำน้ำลึกได้ 2-3 ไดฟ์

แต่สำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไป หรือเที่ยวกับแพกเกจทัวร์ จะพาคุณไปดำน้ำเที่ยวหาดที่อ่าวสุเทพ อยู่ด้านทิศเหนือของเกาะสุรินทร์ใต้ อ่าวสุเทพ เป็นอ่าวที่ใหญ่ที่สุดของเกาะสุรินทร์ใต้ เป็นอ่าวกึ่งเปิด เว้าอ่าวไม่ลึกมาก มีหาดทรายทอดยาวเห็นได้ชัดเมื่อตอนน้ำลง หลังหาดเป็นป่าที่ร่มรื่น อ่าวสุเทพ เป็นอ่าวที่นักดำน้ำห้ามพลาด เพราะที่นี่มีแนวปะการังน้ำตื้นที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของทะเลอันดามันเลยทีเดียว จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “สุดยอดเส้นทางศึกษาธรรมชาติใต้น้ำแห่งแรกของเมืองไทย” มีแนวปะการังที่ยาวถึง 1,200 ม.

เกาะปาจุมบา

เกาะปาจุมบา หรือเกาะกลาง ตั้งอยู่ตรงข้ามกับอ่าวสุเทพ ที่มาของชื่อเกาะกลางเนื่องจากตั้งอยู่ระหว่างเกาะสุรินทร์เหนือและเกาะสุรินทร์ใต้พอดี เกาะนี้เป็นจุดดำน้ำลึกที่นักดำน้ำนิยมมาก เพราะมีดงดอกไม้ทะเลผืนใหญ่ และฝูงปลาการ์ตูนหลากสีสัน ด้วยลักษณะของเกาะที่เป็นเกาะหิน มีหน้าผาสูงชันลาดลงสู่พื้นทะเล มีซอกหินอยู่มากมายเป็นแหล่งอาศัยของกุ้งมังกร นักดำน้ำจึงตั้งชื่อจุดดำน้ำที่นี่ว่า “คอนโดมังกร” และเรียกเกาะนี้อีกชื่อหนึ่งว่า “เกาะมังกร” นั่นเอง เกาะปาจุมบายังมีหาดทรายเล็กๆ อยู่ด้านทิศใต้ของเกาะตรงข้ามกับอ่าวสุเทพ แต่ไม่อนุญาตให้ขึ้นบนหาด เพราะอนุรักษ์ไว้เป็นที่สำหรับวางขาของเต่าทะเล

อ่าวไม้งาม เป็นที่สุดท้ายของทริปในวันที่สอง อ่าวนี้อยู่ด้านทิศตะวันตกของเกาะสุรินทร์เหนือ เป็นอ่าวขนาดใหญ่ มีโค้งหาดเป็นรูปตัว U ขนาบด้วยแหลมหินทั้งสองด้าน มีหาดทรายขาวสะอาดและมีที่ราบ เป็นจุดกางเต็นท์แห่งที่ 2 ของเกาะสุรินทร์เหนือ (แห่งแรกอยู่ที่อ่าวช่องขาด)  อ่าวไม้งามเหมาะมาว่ายน้ำ เล่นน้ำ หรือพักผ่อนอาบแดด หากว่ายออกไปกลางอ่าวก็ยังมีแนวปะการังให้ชม เป็นแนวยาวไปจรดปลายแหลมทั้งสองข้าง 

อ่าวไม้งามมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติไปยังอ่าวช่องขาดใช้เวลาเดิน 1 ชม.หากมากับทัวร์ นั่งเรือกลับไวกว่า

ช่วงเย็น ชมพระอาทิตย์ตกที่อ่าวกระทิง

ปิดท้ายทริปวันที่สองด้วยวิวพระอาทิตย์ตกที่อ่าวกระทิง อยู่ถัดจากอ่าวช่องขาดขึ้นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เดินไปเพียง 10 นาที ตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกที่มองเห็นดวงอาทิตย์จมดวงลงข้างๆ เกาะปาจุมบาอย่างสวยงาม ไปชมพระอาทิตย์ตกควรนำไฟฉายติดตัวไปด้วย

Day 3

ช่วงเช้า  อ่าวผักกาด-เกาะตอรินลา-หมู่บ้านมอร์แกน

เริ่มต้นด้วยกิจกรรมดำน้ำเช่นเคย จากอ่าวช่องขาดนั่งเรือมาที่อ่าวผักกาด อยู่ด้านใต้สุดของเกาะสุรินทร์ใต้ เป็นอ่าวเปิด มีแนวปะการังริมฝั่งกว้างประมาณ 150 ม. ความลึกประมาณ 20-25 ม. เป็นพื้นที่เล็กๆ ที่มีความหลากหลายของปะการังหลายชนิด เช่น ปะการังก้อน ปะการังเขากวาง ปะการังแผ่นทั้งแนวตั้งและแนวนอน นอกจากนี้ยังพิเศษที่มีแนวปะการังผักกาด จึงเป็นที่มาของชื่ออ่าวผักกาด ในระดับน้ำที่ลึกลงไปยังมีดอกไม้ทะเลหลากสี หอยมือเสือ ปลาสินสมุทร และปลาผีเสื้อก็พบได้ที่อ่าวผักกาด

เกาะตอรินลา

เกาะตอรินลา ตั้งอยู่ตรงข้ามกับอ่าวผักกาด เป็นเกาะบริวารของหมู่เกาะสุรินทร์ ลักษณะเป็นเกาะหินที่ดำน้ำได้ทั้งน้ำลึกและน้ำตื้น และนับว่าเป็นสุดยอดของจุดดำน้ำลึกแห่งหมู่เกาะสุรินทร์ รู้จักกันในชื่อ “กองเหลือง” แนวปะการังอยู่ในระดับ 12 ม. สลับกับกองหินใต้น้ำ มีปะการังเขากวางขึ้นเป็นดงขนาดใหญ่ และเคยสำรวจพบปลาทะเลอาศัยอยู่กว่า 200 ชนิด เช่น ปลาไหลสวน ฉลามหูดำ ปลากระเบนหางแส้ ฉลามเสือดาว ฉลามครีบเงิน ปลากะรังหน้าหงอน ปลาค้างคาว ปลาไหลริบบิ้น ปลากระเบนราหู และฉลามวาฬ นอกจากนี้เกาะตอรินลายังเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เกาะไข่เต่า เนื่องจากเป็นที่วางไข่ของเต่าทะเลอีกด้วย

หมู่บ้านมอแกน

หมู่บ้านมอแกน ตั้งอยู่ที่อ่าวบอน ทางด้านตะวันออกของเกาะสุรินทร์ใต้ เป็นรายการเที่ยวสบายๆ เยี่ยมชมวิถีชีวิตชาวยิปซีทะเล แต่ก่อนชาวมอแกนอาศัยอยู่ที่อ่าวไทรเอน เกาะสุรินทร์เหนือ แต่หลังจากเหตุการณ์สึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 จึงได้ย้ายหมู่บ้านมาตั้งอยู่ที่อ่าวบอน สามารถขึ้นไปเดินเที่ยวชมหมู่บ้านและซื้อของที่ระลึกจากฝีมือชาวมอแกน เช่น เสื่อทอแบบพื้นบ้าน กำไลสาน กระติ๊บใส่ของ และเรือกระบางจำลอง (เรือไม้ขุดที่มีไม้พายไว้แจวอยู่สองข้างลำเรือ) 

ของฝากจากหมู่บ้านมอร์แกน

ช่วงบ่าย 

หลังเยี่ยมชมหมู่บ้านชาวมอแกนแล้ว นั่งเรือกลับอ่าวช่องขาด อาบน้ำอาบท่า และกินมื้อเที่ยง จากนั้นเก็บสัมภาระให้เรียบร้อย พักผ่อนถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ประมาณบ่ายสองโมง เดินทางกลับสู่ท่าเรือคุระบุรี

เดินทางถึงท่าเรือคุระบุรีประมาณบ่ายสามโมงครึ่ง ใครที่ฝากรถไว้ที่ท่าเรือไปรับรถ ขับกลับกรุงเทพฯ ได้เลย ใครจะไปรถโดยสารประจำทาง ซื้อตั๋วรถได้จากจุดจำหน่ายตั๋วในอ.คุระบุรี หรือให้บริษัททัวร์จองให้ ส่วนใหญ่เป็นรถโดยสารทิ่วิ่งมาจากภูเก็ต-สถานีขนส่งสายใต้ใหม่

อ่าวช่องขาด

บริเวณอ่าวช่องขาด เป็นที่ตั้งที่ทำการอุทยานฯ บนเกาะ มีลานกางเต็นท์ และบ้านพักนักท่องเที่ยวบริการ พร้อมร้านอาหารและศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ท่าเรือและบริการเรือหางยาวนำเที่ยวรอบเกาะ

เกาะตาชัย อยู่ไกลสุด เป็นทริปพิเศษที่ต้องใช้บริการแพกเกจทัวร์