ท่องปราสาทขอมโบราณกลางเมืองสุรินทร์
ไม่น่าแปลกใจที่จังหวัดติดกัมพูชาจะมากไปด้วยปราสาทขอม และปราสาทที่ยิ่งใหญ่ที่สุด สวยที่สุดของจังหวัดนี้ก็คือ ปราสาทศีขรภูมิ หรือปราสาทระแงง ซึ่งจุดเด่นของปราสาทนี้คือภาพสลักนางอัปสรถือดอกบัวที่เสาประดับกรอบประตู ซึ่งมีลักษณะเดียวกับนางอัปสรที่ปราสาทนครวัดในประเทศกัมพูชา และเป็นปราสาทเดียวในประเทศไทยที่มีนางอัปสรถือดอกบัวอีกด้วย
Location: บ้านปราสาท ต.ระแงง อ.ศรีขรภูมิ ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ประมาณ 34 กม.
จากจังหวัดสุรินทร์ ขับรถมาตามทางหลวงหมายเลข 226 (สุรินทร์-ศีขรภูมิ) จะมีทางแยกเข้าสู่เทศบาล อ.ศีขรภูมิ อยู่ทางด้านซ้าย เลี้ยวไปตามทางจะผ่านสถานีรถไฟ จากนั้นเลี้ยวขวาแล้วขับตรงไปจนเจอสามแยก ให้คุณขับตรงไป เลยที่ทำการอำเภอไปประมาณ 1 กิโลเมตรจะเห็นปราสาทตั้งอยู่ทางขวามือ
ช่วงเช้า
หากเมื่อคืนคุณพักในตัวเมืองสุรินทร์ หลังมื้อเช้าวันนี้ขับรถไปที่อ.ศีขรภูมิ ระยะทางเพียง 30 กม. หากไม่รีบนัก คุณอาจแวะเที่ยวปราสาทเมืองที และปราสาทบ้านช่างปี่ ก่อนก็ได้ หรือคุณจะมาเที่ยวปราสาทศีขรภูมิก่อนแล้วค่อยแวะไปเที่ยวในขากลับเข้าเมืองสุรินทร์ก็ได้
ปราสาทศีขรภูมิ
ปีที่สร้าง: พุทธศตวรรษที่ 17 หรือต้นสมัยนครวัด
ลัทธิศาสนา: ฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ต่อมาถูกดัดแปลงเป็นพุทธศาสนสถานในราวพุทธศตวรรษที่ 22
ศิลปะ: ขอมแบบบาปวนผสมนครวัด
ชมอะไร?
ปราสาทศีขรภูมิประกอบด้วยปรางค์อิฐ 5 องค์ องค์กลางเป็นปรางค์ประธานมีปรางค์บริวารล้อมรอบอยู่ที่มุมทั้งสี่สร้างบนฐานเดียวกัน ก่อด้วยหินทรายและศิลาแลง ปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออกมีบันไดทางขึ้นและประตูทางเข้าเพียงด้านเดียวคือ ด้านทิศตะวันออก
ลักษณะของปรางค์ทั้ง 5 องค์ จะเหมือนๆ กันคือ องค์ปรางค์ไม่มีมุขมีประตูทางเข้าเพียงด้านเดียว มีชิ้นส่วนประดับทำจากหินทรายสลักเป็นลวดลายต่างๆ ทั้งส่วนที่เป็นทับหลังเสาประดับกรอบประตู เสาติดผนัง และกลีบขนุนปรางค์ส่วนหน้าบันเป็นอิฐประดับลวดลายปูนปั้น องค์ปรางค์ประธานมีทับหลังสลักเป็นรูปศิวนาฎราช (พระอิศวรกำลังฟ้อนรำ) บนแท่นมีหงส์แบก 3 ตัว อยู่เหนือเศียรเกียรติมุข มีรูปพระคเนศ พระพรหม พระวิษณุ และนางปารพตี (นางอุมาเทวี) อยู่ด้านล่าง นับเป็นทับหลังที่สวยงามและสมบูรณ์ที่สุดชิ้นหนึ่งของประเทศไทย
บริเวณเสาประตูสลักเป็นรูปทวารบาลและลวดลายเทพธิดา ลายก้ามปู รวมถึงนางอัปสรถือดอกบัวศิลปะแบบเดียวกับปราสาทนครวัด ที่พบเพียงปราสาทเดียวในประเทศไทย ส่วนปรางค์บริวารมีการขุดพบทับหลัง 2 ชิ้น (ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมาย) เป็นภาพกฤษณาวตารทั้งสองชิ้น ชิ้นหนึ่งเป็นภาพพระกฤษณะฆ่าช้างและคชสีห์ ส่วนอีกชิ้นหนึ่งเป็นภาพพระกฤษณะฆ่าคชสีห์
ปราสาทศีขรภูมิเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตัวปราสาทตั้งอยู่ข้างวัดบ้านปราสาท สังเกตเห็นง่ายไม่หลง คุณอาจใช้เวลาเที่ยวชมที่นี่ไม่นานนัก พอที่ช่วงบ่ายจะขับรถไปเที่ยวชมปราสาทอื่นๆ ในสุรินทร์ได้
ช่วงบ่าย
เที่ยวปราสาทเล็กๆ ที่อยู่ในสุรินทร์
นอกจากปราสาทศีขรภูมิที่ว่างดงามที่สุดของจังหวัดนี้แล้ว สุรินทร์ยังมีปราสาทที่เป็นร่องรอยของอู่อารยธรรมขอมให้ชมอีกหลายแห่ง ซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่คุณไม่ควรพลาดชม
ปราสาทเมืองที
Location : วัดจอมสุทธาวาส ต.เมืองที อ.เมือง ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 16 กม.
จากตัวเมืองสุรินทร์ ใช้เส้นทางเดียวกับทางไปปราสาทศีขรภูมิ โดยขับรถตามทางหลวงหมายเลข 226 ไปประมาณ 16 กม.จะเห็นปราสาทตั้งอยู่ด้านซ้ายมือ
ปราสาทเมืองที เป็นปราสาทขอมที่ได้รับการดัดแปลงในสมัยหลังเช่นเดียวกับปราสาทศีขรภูมิ ตัวปราสาทก่อด้วยอิฐฉาบปูน มี 5 หลัง สร้างรวมกันเป็นหมู่บนฐานเดียวกัน ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 3 หลัง ซึ่งมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสย่อมุมไม้สิบสอง หลังกลางมีขนาดใหญ่สุด มีบันไดทางขึ้นทั้งสี่ด้าน ตัวเรือนธาตุตันทึบไม่มีประตู
เนื่องจากการดัดแปลง ส่วนหลังคาทำเป็นชั้นมี 3 ชั้น เลียนแบบตัวเรือนธาตุ ส่วนยอดบนหักหายไป ปราสาทแห่งนี้นับเป็นโบราณสถานขอมอีกแบบหนึ่งที่นิยมสร้าง คือมีปราสาทหลังกลางเทียบเท่าเขาพระสุเมรุและมีปรางค์มุมทั้งสี่ตามความเชื่อในลัทธิศาสนาพราหมณ์ แต่น่าเสียดายที่ไม่พบจารึกหรือลวดลายทางศิลปะที่สามารถบอกว่าสร้างขึ้นเมื่อใด
ปราสาทตะเปียงเตีย
Location: บ้านหนองเกาะ ต.ตะเปียงเตีย อ.ลำดวน
จากตัวเมืองสุรินทร์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 2077 ทางไปอำเภอลำดวนและอำเภอสังขะ ให้คุณขับเลยอ.ลำดวนไปจนถึงบ้านกระสัง ก่อนถึงวนอุทยานป่าสนหนองคู จะมีทางแยกซ้ายมือตามป้ายบอกทางเข้าไปยังปราสาทตระเปียงเตีย
ปราสาทตระเปียงเตีย หรือตะเปียงเตีย มีลักษณะเป็นปรางค์ ก่อด้วยอิฐ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกัน 4 ชั้น ส่วนยอดทำเป็นรูปดอกบัวตูม เมื่อพิจารณาจากลัษณะสถาปัตยกรรมพบว่าเป็นแบบลาวร่วมสมัยกับอยุธยาตอนปลาย หรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ตระเปียงเตีย เป็นภาษาเขมรท้องถิ่น คำว่า “ตระเปียง” แปลงว่าบ่อ สระ หนอง หรือหลุมที่มนุษย์ขุดขึ้นหรืออาจจะหมายถึงบารายที่ปราสาทขอมทุกแห่งมักจะมีหรืออาจจะเป็นแหล่งน้ำที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ส่วนคำว่า “เตีย” หมายถึงเป็ด แปลรวมกันได้ความว่า ตระเปียงเตีย แปลว่า หนองเป็ด ซึ่งเป็นไปได้ว่าในอดีตบริเวณดังกล่าวมีนกเป็ดน้ำอพยพย้ายถิ่นมาอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวก็เป็นได้
ปราสาทยายเหงา
Location: บ้านพูนทราย ต.บ้านชบ อ.สังขะ ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ 4 กม.
จากตัวเมืองสุรินทร์ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2077 ตรงเข้าสู่อ.สังขะ จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 24 (โชคชัย-เดชอุดม) จนถึงกม.ที่ 189-190 จะมีป้ายให้เลี้ยวขวามือเข้าไปตามทางคอนกรีตอีก 800 ม. ถึงปราสาทยายเหงา
ปราสาทยายเหงา เป็นศาสนสถานแบบขอมที่ประกอบด้วยปรางค์ 2 องค์ตั้งอยู่เรียงกัน ในแนวทิศเหนือ-ใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก องค์ปรางค์ก่อด้วยอิฐตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง มีการแกะสลักเป็นลวดลายเช่น ที่กรอบหน้าบันเป็นรูปมกรคาบนาค 5 เศียร (สัตว์ผสมระหว่างสิงห์ ช้าง และปลา) แต่หากพิจารณาจากแผนผังของอาคาร ปราสาทยายเหงาน่าจะประกอบด้วยปรางค์ 3 องค์ ตั้งเรียงกัน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 2 องค์เท่านั้น
ปราสาทภูมิโปน
Location: บ้านภูมิโปน ต.ดม อ.สังขะ
จากตัวเมืองสุรินทร์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 2077 (สุรินทร์-สังขะ) ระยะทาง 49 กม.จากแยกอ.สังขะ เลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข 2124 (สังขะ-บัวเชด) ขับตรงไปจนถึงชุมชนบ้านภูมิโปนอีก 10 กม.จะเห็นปราสาทภูมิโปนตั้งอยู่ริมถนนด้านซ้ายมือ
ลักษณะของปราสาทภูมิโปนประกอบด้วยโบราณสถาน 4 หลัง คือ ปราสาทก่ออิฐ 3 หลังและศิลาแลง 1 หลัง มีอายุการก่อสร้างปนยุคปนสมัยกันอย่างน้อย 2 สมัยตัวปราสาทก่ออิฐหลังใหญ่ และหลังทางทิศเหนือสุด
นับเป็นปราสาทศิลปะขอมที่มีอายุเก่าที่สุดในประเทศไทย คือราวพุทธศตวรรษที่ 13 ส่วนปราสาทอิฐหลังเล็กที่ตั้งอยู่ตรงกลาง และปราสาทที่มีฐานศิลาแลงทางด้านทิศใต้นั้น สร้างขึ้นในสมัยหลัง จึงเชื่อกันว่าปราสาทภูมิโปนคงจะสร้างขึ้นเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย เช่นเดียวกับศาสนสถานอื่นๆ ในรุ่นเดียวกัน แม้จะไม่พบรูปเคารพ ซึ่งควรจะเป็นศิวลึงค์อยู่ภายในองค์ปรางค์ก็ตาม แต่ที่ปรางค์องค์ใหญ่ยังมีท่อโสมสูตร คือ ท่อน้ำมนต์ ที่ต่อออกมาจากแท่นฐานรูปเคารพในห้องกลางติดอยู่ที่ผนังพื้นห้อง
กลุ่มปราสาทตาเมือน
Location : บริเวณช่องเขาตาเมือน หรือช่องเขาตาเมียง บ้านหนองคันนาสามัคคี ต.ตาเมียง ในเขตอ.พนมดงรัก
จากตัวอ.พนมดงรัก ขับรถตามทางหลวงหมายเลข 224 ทางไปอ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ ขับเลยปั๊มน้ำมัน ปตท. ไปจากนั้นจะมีทางแยกให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางไปกลุ่มปราสาทตาเมือนตามป้ายบอกทาง
กลุ่มปราสาทตาเมือน เป็นปราสาทขนาดเล็กที่สุดประกอบด้วยปราสาทหินสามหลัง เรียงลำดับจากขนาดใหญ่ไปขนาดเล็ก คือปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ด และปราสาทตาเมือน ปราสาทตาเมือนธม สร้างขึ้นบนเนินเขาคร่อมโขดหินธรรมชาติ มีลักษณะเป็นปรางค์หินทราย 2 หลัง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันตกเฉียงเหนือของปราสาทประธาน และยังมีบรรณาลัยศิลาแลงด้วย เป็นปราสาทที่อยู่ใกล้ชายแดนมากที่สุด
ปราสาทหลังที่ 2 คือ ปราสาทตาเมือนโต๊ด อยู่ห่างจากปราสาทตาเมือนธมไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 750 ม. เป็นโบราณสถานที่ก่อด้วยศิลาแลงเชื่อกันว่าเป็นอโรคยาศาล หรือสถานรักษาพยาบาลตามเส้นทางคมนาคมที่นิยมสร้างกันในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ส่วนปราสาทตาเมือน อยู่ห่างจากปราสาทตาเมือนโต๊ด ประมาณ 390 ม. เป็นปราสาทที่เล็กที่สุด ก่อด้วยศิลาแลง มีลักษณะเป็นห้องยาวเชื่อว่าเป็นธรรมศาลา คือที่พักสำหรับคนเดินทาง
ปราสาทตาเมือน อยู่ห่างจากปราสาทตาเมือนโต๊ด ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 390 ม. เป็นปราสาทที่เล็กที่สุดในกลุ่ม ก่อด้วยศิลาแลง มีลักษณะเป็นห้องยาว เชื่อว่าเป็นธรรมศาลา หรือที่พักสำหรับคนเดินทาง
Tips : งานช้างสุรินทร์
สุรินทร์ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งช้าง ปัจจุบันมีหมู่บ้านช้างอยู่ที่บ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม ซึ่งบรรพบุรุษแต่เดิมนั้นจะเป็นชาวกุย หรือกวย ซึ่งมีความชำนาญในการคล้องช้างป่า นำมาฝึกและเลี้ยงช้างไปด้วย เพื่อประกาศความยิ่งใหญ่ของสัตว์บกที่ใหญ่ที่สุดให้กับคนทั้งโลกได้เห็นความฉลาดและงดงามจึงได้มีการจัดงานแสดงช้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2503
ต่อมากลายเป็นงานประจำปีของจังหวัดสุรินทร์ ชมประวัติความเป็นมาอันยาวนานและความผูกพันระหว่างคนกับช้างผ่านการแสดงของช้าง ซึ่งเริ่มตั้งแต่การคล้องช้างการจับช้างป่ามาฝึกเพื่อใช้งาน ขบวนช้างศึก การแสดงของช้างน่ารักแสนรู้ การชักเย่อคนกับช้าง ช้างแข่งฟุตบอล รวมทั้งการแสดงศิลปะพื้นเมือง ได้แก่ เรือมอันเร กันตรึม เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมในงานอีกมากมาย เช่น การประกวดโต๊ะอาหารช้าง พิธีต้อนรับและเลี้ยงอาหารช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยวันจัดงานจะตรงกับเดือนพฤศจิกายน ที่สนามกีฬาศรีณรงค์พร้อมกับการออกร้านกาชาด