เที่ยวเขื่อนวชิราลงกรณ สะพานมอญ เจดีย์สามองค์
ทองผาภูมิ–สังขละบุรี 2 อำเภอสุดท้ายของกาญจนบุรี ไกลสุด แต่ไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด วันหยุดสุดสัปดาห์ก็ไปเที่ยวได้แบบไม่เหนื่อยเกินไป เมื่อถึงสังขละบุรีแล้ว ที่เที่ยวแต่ละแห่งจะอยู่ไม่ไกลกัน เที่ยวต่อเนื่องได้ง่าย แค่ได้มาเที่ยวชมสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในโลกก็คุ้มแล้ว สวยทั้งเช้า สาย บ่าย เย็น ยังมีวิถีชีวิตชาวมอญและความเป็นเมืองชายแดนให้สัมผัส
Location: เขื่อนวชิราลงกรณ มีพื้นที่ครอบคลุม อ.ทองผาภูมิ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี อ.สังขละบุรี ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรี 230 กม.
จากตัวเมืองกาญจนบุรี มุ่งหน้าสู่สี่แยกแก่งเสี้ยน แล้วแยกไปตามเส้นทางไปอ.ทองผาภูมิ ทางหลวงหมายเลข 323 ผ่านไทรโยคน้อย ไทรโยคใหญ่ แล้วจะพบสามแยกถ้าตรงไปจะไป อ.ทองผาภูมิ แต่ถ้าเลี้ยวขวาจะไป อ.สังขละบุรี หลังจากเลี้ยวขวามาแล้วไม่ไกลจะผ่านน้ำตกเกริงกะเวีย น้ำตกไดช่องถ่อง และอุทยานฯ เขาแหลม จนไปถึงแยกด่านเจดีย์สามองค์ ตรงไปอีก 7 กม. จะพบทางแยกซ้ายอีก 300 ม. ถึงสะพานมอญ
อ.สังขละบุรี มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอข้างเคียงคือ
- ทิศเหนือ ติดต่อรัฐมอญ รัฐกะเหรี่ยง (ประเทศพม่า) และ อ.อุ้มผาง จ.ตาก
- ทิศใต้ ติดต่อกับ อ.ทองผาภูมิ
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อ.อุ้มผาง จ.ตาก และ อ.ทองผาภูมิ
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับเขตตะนาวศรี (ประเทศพม่า)
สังขละบุรี น่าเที่ยวตลอดปี มีบรรยากาศที่แตกกันไปแต่ละฤดูกาล
- ฤดูฝน น้ำเยอะ หมอกลง สวยแบบชุ่มฉ่ำ
- ฤดูหนาว ฟ้าใส น้ำสวย ผู้คนคึกคัก อากาศหนาวเหมือนเมืองเหนือ
- ฤดูร้อน น้ำลด ทำให้เห็นเสาสะพานสูง และเห็นวัดใต้น้ำปรากฎขึ้นได้อย่างชัดเจน
อ.สังขละบุรี เป็นอำเภอสุดเขตแดนตะวันตกของกาญจนบุรี ที่มีระยะทางห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรีกว่า 200 กม. แต่ทว่าดินแดนแห่งนี้กลับไม่เคยเงียบเหงา เพราะมีธรรมชาติ และกิจกรรมผจญภัยอันน่าตื่นตาตื่นใจให้เข้าไปเที่ยวชมกันเยอะ โดยเฉพาะกิจกรรมสนุกๆ ในเขื่อนเขาแหลม หรือในชื่อ เขื่อนวชิราลงกรณ ที่คุณจะได้สัมผัสทั้งความมหัศจรรย์ของเมืองบาดาล ความอัศจรรย์ของสะพานไม้แห่งศรัทธา แถมยามเช้ายังได้ความสุนทรีย์จากการพักผ่อนในเรือนแพริมน้ำอันกว้างใหญ่แห่งนี้ด้วย
เขื่อนวชิราลงกรณ์ ที่อยู่ในเขต อ.สังขละบุรีนั้นมีที่เที่ยวที่มีชื่อเสียงมานาน ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณทะเลสาบด้านทิศเหนือของเขื่อนในเขตสังขละบุรี
ใช้บริการเรือหางยาวลำใหญ่ไปเที่ยวชม เช่น วัดวังก์วิเวการาม (ใหม่) วัดใต้บาดาล (วัดวังก์วิเวการามเก่า) สะพานไม้แห่งศรัทธา
สังขละบุรี เป็นอำเภอสุดท้ายของกาญจนบุรีมีอาณาเขตติดพม่า เป็นดินแดนแห่งวัฒนธรรม ธรรมชาติงดงาม มีกิจกรรมผจญภัยที่ไม่ซ้ำใคร รวมถึงวิถีชีวิตพื้นเมืองของคนไทย ชาวมอญ และกะเหรี่ยง จุดเด่นคือมาเที่ยวสะพานมอญ หรือสะพานอุตตมานุสรณ์ เกิดขึ้นหลังจากมีการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ์ (เขาแหลม) ทำให้น้ำไหลท่วมพื้นที่ของ อ.สามประสบ
หลวงพ่ออุตตมะ จึงต้องการสร้างสะพานไม้ข้ามแม่น้ำซองกาเลีย เพื่อให้ประชาชนฝั่งอ.สังขละบุรี และฝั่งหมู่บ้านชาวมอญได้เดินข้ามสัญจรไปมาอย่างสะดวก โดยวาดรูปแบบสะพานไม้ให้ชาวบ้านร่วมกันสร้าง จนเกิดเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ยาว 444 เมตร 2 ศอก หรือ 850 เมตร เสาต้นใหญ่สูง 52 ศอก และตั้งชื่อว่า สะพานมอญ ใช้เวลาสร้างตั้งแต่ปีพ.ศ. 2529 ถึง 2530
สะพานอุตตมานุสรณ์ หรือที่นิยมเรียกกันว่า สะพานมอญ เป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย และเป็นสะพานไม้ที่ยาวเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสะพานไม้อูเบ็ง ประเทศพม่า
สะพานไม้แห่งนี้ยืนหยัดคงทนมาได้ตลอดหลายปี เมื่อถึงหน้าแล้งที่ระดับน้ำลดลงจะมีการซ่อมบำรุง เปลี่ยนเสา ยึดน็อตใหม่ให้แข็งแรงเตรียมพร้อมรับฤดูน้ำหลากในปีถัดไป ความที่สะพานแห่งนี้ถูกน้ำพัดตลอดเวลาทำให้เกิดการบิดไปบิดมากลายเป็นความงามไปอีกแบบ
ในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 เวลา 18:30 น. สะพานอุตตมานุสรณ์ได้พังทลายขาดเป็น 2 ท่อนในช่วงกลางสะพาน ความยาวประมาณ 30 เมตร เนื่องจากเกิดเหตุฝนตกหนักติดต่อกันนานถึง 3 วัน ทำให้เกิดน้ำป่าไหลเชี่ยวกรากจากทุ่งใหญ่นเรศวร พัดขยะตอไม้ลงสู่แม่น้ำซองกาเลีย ปะทะกับเสาสะพานทำให้เกิดขาดกลางและเสียหายเพิ่มเป็น 70 เมตร ในเที่ยงของวันต่อมา
หลังจากผ่านไป 1 ปี การซ่อมแซมสะพานแห่งนี้ก็ยังไม่เสร็จ และเกินสัญญาว่าจ้าง 120 วัน เนื่องจากมีปัญหาด้านบริษัทผู้รับเหมาที่มีปัญหาไม่สามารถนำไม้ที่ต้องขนส่งมาจากภาคอีสานมาซ่อมแซมได้ เนื่องจากเกรงว่าจะผิดกฎหมาย
ในที่สุดสะพานอุตตมานุสรณ์ก็ได้รับการซ่อมแซม จากทหารช่างจากกองพลทหารราบที่ 9 (พล.ร.9) ค่ายสุรสีห์ ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ ใช้เวลาเพียงแค่ 29 วัน และมีพิธีเปิดใช้อีกครั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นวันครบรอบชาตกาล 104 ปี ของหลวงพ่ออุตตมะ โดยมีการแสดงแสงสีเสียงสมโภช
หากขึ้นไปยืนอยู่บนกลางสะพานมอญ จะชมทิวทัศน์ของทะเลสาบเขื่อนวชิราลงกรณ (เขาแหลม) ได้อย่างสวยงาม และมองเห็นลำน้ำทั้งสามสาย ได้แก่ ห้วยซองกะเลีย ห้วยบิคลี่ และห้วยรันตี ไหลมาบรรจบ (ประสบ) กันเป็นแม่น้ำแควน้อย เป็นที่มาของชื่อ อ.สามประสบ นั่นเอง
ช่วงหน้าร้อน จะเห็นเมืองบาดาล หรือวัดวังก์วิเวการามเดิม วัดที่หลวงพ่ออุตตมะ และชาวบ้านอพยพชาวกะเหรี่ยง และมอญได้ร่วมก้นสร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2496 ในบริเวณที่เรียกว่า สามประสบ จุดที่แม่น้ำสามสาย คือ แม่น้ำซองกาเลีย แม่น้ำบีคลี่ และแม่น้ำรันตี ไหลมาบรรจบกัน
ถ้าใช้บริการนั่งเรือท่องทะเลสาบหน้าร้อนก็จอดเรือลงไปเดินชมวัดเก่าใต้น้ำกันได้เลย ส่วนถ้าไปหน้าฝนหรือหน้าหนาวระดับน้ำสูงก็จะเป็นการชมทิวทัศน์อันเขียวสดงดงาม เรียกว่าสวยทุกบรรยากาศตลอดปี
เมื่อมีการสร้างเขื่อนเขาแหลม ทำให้น้ำเข้าท่วมตัว อ.สังขละบุรีเก่ารวมทั้งวัดวังก์วิเวการามเดิม จึงได้ย้ายวัดมาอยู่บนเนินเขา ส่วนวัดเดิมได้จมอยู่ใต้น้ำมานานนับสิบปี เดือนมี.ค. – เม.ย. น้ำจะลดลงมาจนมองเห็นตัวโบสถ์ของวัด มีเรือพาเที่ยวติดต่อได้ที่ พี.เกสท์เฮ้าส์
วัดวังก์วิเวการาม อยู่ห่างจากจากตัว อ.สังขละบุรี 6 กม. เป็นวัดจำพรรษาของหลวงพ่ออุตตมะ วิหารที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อนที่สวยงามมาก ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อขาว
ห่างจากวัดวังก์วิเวการาม 1 กม. คือเจดีย์พุทธคยา บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนที่เป็นกระดูกนิ้วหัวแม่มือขวา ขนาดเท่าเมล็ดข้าวสาร ใกล้เจดีย์มีร้านจำหน่ายสินค้าจากพม่าหลายร้าน
ด่านเจดีย์สามองค์
ด่านเจดีย์สามองค์ อยู่ห่างจากอ.สังขละบุรีประมาณ 30 กม.
เจดีย์สามองค์ คือด่านชายแดนระหว่างไทยและพม่า เป็นปูชนียสถานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของกาญจนบุรี ในอดีตเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ในการเดินทัพของพม่าเข้ามาตีเมืองไทย เป็นเจดีย์สีขาวไม่สูงมากนัก บริเวณเดียวกันนี้ยังมีตลาดชายแดน เลือกซื้อสินค้าที่ชอบ หากด่านเปิดสามารถข้ามไปเที่ยวฝั่งพม่า ไปดูวัดเสาร้อยต้น เที่ยวตลาดพญาตองซูได้ด้วย
ถ่ายรูปคู่กับป้าย “สุดแดนตะวันตก อำเภอสังขละบุรี” แล้วจึงขับรถกลับกรุงเทพฯ
พักไหนดี?
ด้วยพื้นที่อันกว้างขวางของเขื่อนวชิราลงกรณ์ที่ครอบคลุมพื้นที่ อ.ทองผาภูมิ และ อ.สังขละบุรี ทำให้ในด้านของแพพักบริเวณเขื่อนแห่งนี้จึงมีให้คุณได้เลือกไปนอนริมน้ำกันหลายทำเลเลยทีเดียว ทำเลส่วนของ อ.สังขละบุรี จะเด่นตรงที่อยู่ใต้สะพานมอญ
เรือนแพเอกชนใน อ.สังขละบุรี
Location บริเวณสะพานมอญ
หากคุณตั้งใจจะไปพักผ่อนริมน้ำใน อ.สังขละบุรี คุณสามารถไปหาเรือนแพราคาประหยัดๆ ได้ที่บริเวณสะพานมอญ เพราะตั้งเรียงรายอยู่หลายแห่งเลยทีเดียว มีให้เลือกทั้งเรือนแพหลังเล็ก หลังกลาง และหลังใหญ่ จะมาแบบคู่รัก หรือครอบครัวแพที่นี่ก็รองรับได้ทั้งนั้น ส่วนภายในห้องเน้นการพักผ่อนอย่างเรียบง่ายอยู่กับธรรมชาติ มีที่นอน หมอน พัดลม และห้องน้ำให้อย่างส่วนตัวทุกหลัง บางแพสามารถลากออกไปเที่ยวชมบรรยากาศรอบด้านได้ด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีอาหาร เครื่องดื่มพร้อมให้บริการกันตลอดวัน