เกาะพยาม ระนอง

Trips ระนอง

เกาะพยาม มีหาดสวย บรรยากาศสงบคงเดิม

สวรรค์ของคนรักทะเลบริสุทธิ์

ในบรรดาหมู่เกาะทะเลระนอง เกาะพยาม นับเป็นเกาะที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวสูงสุด นอกจากธรรมชาติที่สงบเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวประเภทนิยมธรรชาติแล้ว เกาะนี้ยังมีบังกะโลราคาประหยัด มีเรือโดยสารจากปากน้ำระนอง ทั้งเรือเร็วและเรือธรรมดา มาเกาะพยามทุกวัน 

Location ท่าเรือโดยสารเกาะพยามอยู่ด้านหลังสถานีตำรวจภูธรต.ปากน้ำใช้เวลาในการเดินทางด้วยเรือธรรมดาประมาณ 2 ชม./ เรือเร็ว 1 ชม. เรือจะแวะส่งผู้โดยสารที่เกาะช้างก่อน แล้วจึงไปเกาะพยาม เรือออกวันละ 2 เที่ยว เรือธรรมดาเวลา 09.00 น. และ 14.00 น. /เรือเร็ว เวลา 09.30 น. และ 14.30 น.

*เวลาอาจเปลี่ยนแปลงได้

ย่านชุมชนใกล้ท่าเรือของเกาะพยาม

Day1

ช่วงเช้า:

สำหรับคนที่จองแพกเกจจากรีสอร์ทบนเกาะพยามไว้แล้ว จะมีเรือของรีสอร์ทมารับที่ท่าเรือบริเวณหลังสถานีตำรวจภูธรต.ปากน้ำ ส่วนใครที่ไปเองก็มาขึ้นเรือได้ที่ท่าเรือเดียวกันนี้ เก้าโมงเช้า เป็นเวลาเรือออก ไม่ว่าคุณจะนั่งเรือเร็วหรือเรือธรรมดามาเกาะ ก็จะถึงเกาะพยามเวลาใกล้เที่ยง เช้าวันนี้จึงยังไม่มีกิจกรรมอะไรมาก นอกจากเก็บกระเป๋าเข้าที่พัก และกินมื้อเที่ยงที่รีสอร์ท

ถนนบนเกาะพยาม

ช่วงบ่าย:

เกาะพยามนั้นมีเว้าอ่าวอยู่รอบเกาะ อ่าวที่ใหญ่และหาดทรายสวยที่สุดอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้และด้านทิศเหนือ คือ อ่าวใหญ่ และอ่าวเขาควาย ส่วนตอนกลางของเกาะเป็นภูเขาสูง ปกคลุมด้วยป่าดิบชื้น เป็นแหล่งอาศัยของนกแก๊ก หากคุณลองทำตัวนิ่งๆ นั่งซุ่มอยู่ใต้ต้นไม้ก็อาจจะเห็นนกแก๊กอย่างใกล้ชิดได้ 

อ่าวเขาควาย จุดเด่นตรงซุ้มประตูหินนี้

บ่ายวันนี้จึงเป็นกิจกรรมสบายๆ ให้คุณได้พักผ่อนเล่นน้ำที่หาดทรายหน้ารีสอร์ต หาดทรายที่สวยที่สุดของเกาะพยามและมีที่พัก บังกะโลคือ อ่าวเขาควาย ที่มีแนวหาดยาวประมาณ 2 กม. ทรายขาวสะอาด น้ำทะเลใส ส่วนอ่าวใหญ่ที่อยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้นั้น โค้งอ่าวสวย ทรายไม่สวยเท่าอ่าวเขาควาย แต่เล่นน้ำได้ดี หรือติดต่อรีสอร์ตให้จัดเตรียมมอเตอร์ไซค์เช่าสักคัน ขับเที่ยวรอบเกาะ หากคุณพักอยู่ที่อ่าวเขาควาย ขับเลียบหาดชมวิวขึ้นไปด้านทิศเหนือได้จนถึงอ่าวกวางปีป ไปดูซุ้มประตูหินที่ปลายหาดอ่าวเขาควาย แล้วเลาะเลียบหาดมาทางด้านทิศตะวันออก ชมทิวทัศน์อ่าวไผ่ ชมศาลเจ้าพ่อหินขาวที่อ่าวหินขาว และประติมากรรมโขดหินริมหาด 

อุโบสถกลางน้ำ

จากนั้นไปดูวัดเกาะพยามที่โดดเด่นด้วยพระอุโบสถกลางน้ำ และพระพุทธรูปปางลีลาองค์ใหญ่ เที่ยวชมชุมชน วิถีชีวิตชาวบ้านที่อ่าวแม่หม้าย ซึ่งเป็นท่าเรือหลักของเกาะพยาม ประตูสู่เกาะพยาม แล้วขับลงใต้ไปชมอ่าวใหญ่ อ่าวนี้ใหญ่สมชื่อ แนวหาดยาวต่อเนื่องกว่า 4 กม. ทรายเม็ดเล็กแต่ไม่ขาวมากนัก เล่นน้ำได้ มีจุดชมวิวด้านหลังหาดขึ้นไปมองเห็นอ่าวใหญ่ได้สวยงาม ถึงอ่าวใหญ่แล้วอย่างเพิ่งรีบกลับ มีบาร์เบียร์และร้านอาหารบรรยากาศคึกคักให้นั่งจิบรอชมพระอาทิตย์ตกด้วย

อาทิตย์อัสดงที่อ่าวใหญ่

กลับที่พักแล้ว ติดต่อเรือหางยาวไว้ก่อนเพื่อไปดำน้ำชมปะการังในวันรุ่งขึ้น

Day2

หลังมื้อเช้า คืนมอเตอร์ไซค์ แล้วนั่งเรือไปดำน้ำชมปะการังรอบเกาะพยาม ซึ่งมีแนวปะการังน้ำตื้นที่อุดมสมบูรณ์ให้ดูหลายจุด จุดแรกคือ อ่าวไผ่ อยู่ด้านทิศเหนือของเกาะพยาม มีแนวปะการังน้ำตื้นที่ยังบริสุทธิ์อยู่มาก จุดที่ 2 คือ เกาะขาม อยู่ด้านทิศตะวันออกของเกาะพยาม ตรงข้ามกับอ่าวมุก ถัดจากอ่าวแม่หม้ายลงมาทางทิศใต้เล็กน้อย เกาะขาม เป็นเกาะหินเล็กๆ เมื่อน้ำลงจะมีสันทรายเชื่อมระหว่างเกาะพยามและเกาะขามเหมือนทะเลแหวกที่กระบี่ รอบเกาะขามคือแนวปะการังที่สวยงามไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอ่าวไผ่ 

จุดชมวิวเกาะพยามเห็นอ่าวกว้างใหญ่สมชื่อว่า “อ่าวใหญ่”

จุดดำน้ำจุดที่ 3 อยู่ที่อ่าวใหญ่ มีเกาะหินเล็กๆ อยู่ด้านปลายแหลมทางซ้ายของอ่าวใหญ่ให้ดำน้ำ จุดดำน้ำทั้งสามใช้เวลาเที่ยวได้ภายในครึ่งวัน แล้วกลับมากินมื้อเที่ยงที่รีสอร์ท สำหรับการดำน้ำชมปะการังขึ้นอยู่กับสภาพน้ำขึ้นน้ำลงด้วย หากน้ำขึ้นมาก ก็จะมองไม่เห็นปะการัง หากน้ำลงเยอะเรือไม่สามารถเข้าหาดได้ อัตราค่าเหมาเรือหางยาวขึ้นอยู่กับจำนวนคน และระยะทาง

อ่าวแม่หม้าย

จากนั้นช่วงบ่ายจึงนั่งเรือกลับฝั่งระนอง เวลาเรือออกจากเกาะพยาม มี 2 เที่ยว เรือธรรมดา เวลา 08.30 น. และ 14.00 น./ เรือเร็ว เวลา 09.00 น. และ 13.00 น.

กาหยู หรือ มะม่วงหิมพานต์

กาหยู  ต้นแรกที่ระนอง

กาหยู เป็นภาษาระนอง หมายถึง มะม่วงหิมพานต์ เป็นพืชตระกูลเดียวกับมะม่วง มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศบราซิล เมื่อปีพ.ศ. 2444 พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี เป็นผู้นำเมล็ดกาหยูเข้ามาปลูกที่จ.ระนองเป็นครั้งแรก เช่นเดียวกับเกาะพยาม และเกาะช้าง และพื้นที่อื่นๆ ของระนอง นิยมปลูกกาหยูเพื่อส่งขาย โดยการนำมาคั่วหรืออบ จนกลายเป็นสินค้าสำคัญของระนอง ว่ากันว่า กาหยูคุณภาพดี ต้องมาจากเกาะพยาม จังหวัดระนองเท่านั้น

าหยู ยังมีชื่อเรียกต่างกันไปตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น นครศรีธรรมราช เรียกว่า “มะม่วงเล็ดลอด หรือ เล็ดล่อ” สงขลา-ยะลา-ปัตตานี เรียก “หัวครก” ภูเก็ตเรียก “ลูกย่าโห้ย” ส่วนพังงา เรียก “กาหยี” 

ที่พักบนเกาะพยาม สไตล์แบบนี้

Enjoy ในวิถีธรรมชาติ

เพราะเกาะพยามเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติ ทำให้ที่นี่ยังคงรักษาสภาพธรรมชาติเอาไว้ได้อย่างดี อีกทั้งระยะทางที่ไกลจากฝั่ง สาธารณูปโภคต่างๆ จึงพัฒนาไปอย่างช้าๆ แต่กลับเป็นผลดีเพราะเบียดเบียนธรรมชาติน้อย แต่ก็ใช่ว่าจะไร้ซึ่งความสะดวกสบาย เพราะที่อ่าวใหญ่และอ่าวเขาควายก็มีรีสอร์ท บังกะโลสวยๆ ดีๆ ให้เลือกพักอยู่หลายแห่ง มีราคาตั้งแต่หลักร้อยนิดๆ ไปจนภึงหลายพันบาท

สดๆ จากเกาะพยาม

เกาะพยาม หรือ เกาะพยายาม?

มีเรื่องเล่าหลายเรื่องเกี่ยวกับที่มาที่ไปของชื่อเกาะพยาม บ้างก็ว่าเมื่อก่อนนี้การเดินทางจากฝั่งระนองไปเกาะนี้นั้นแสนยากลำบาก มีเรือออกจากฝั่งแค่วันละเที่ยว หากพลาดเรือเที่ยวนี้ก็ต้องรออีกวันถึงจะได้เดินทาง ส่วนขากลับจากเกาะไม่มีเรือโดยสารออกเป็นเวลา ต้องอาศัยการโบกเรือ (เหมือนโบกรถข้างทาง) ที่แล่นผ่านไปมาเพื่อติดเรือขึ้นฝั่ง เรียกว่า “ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก” ในการมาเกาะนี้ จึงได้เรียกชื่อเกาะว่า “เกาะพยายาม” ส่วนคำภาษาใต้ที่ออกเสียงแบบสั้นๆ ก็จะกลายมาเป็น “เกาะพยาม” 

ส่วนอีกเรื่องเล่าหนึ่งเล่าว่า เมื่อก่อนเกาะนี้เคยเป็นฟาร์มหอยมุกของนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น เนื่องจากกลัวว่าจะมีคนมาขโมยหอยมุกไป นักธุรกิจจึงได้จ้างคนบนเกาะให้มาเป็น “ยาม” คอยสอดส่องดูแลฟาร์ม ชาวบ้านที่แล่นเรือผ่านก็จะเห็นยามนั่งเฝ้าฟาร์มหอยทุกครั้ง จึงเรียกกันต่อๆ มาว่า “เกาะยาม” 

แต่ไม่ว่าจะเป็นเกาะยาม หรือเกาะพยายาม หรือเกาะพยามที่เรียกกันอยู่ในปัจจุบัน เกาะนี้ก็นับว่าเป็นเกาะท่องเที่ยวที่น่าจับตามอง สำหรับคนที่ชอบธรรมชาติต้องไม่พลาดมาเยือนเกาะนี้ ที่สำคัญทุกคนคงต้องเป็น “ยาม” ดูแลเกาะนี้ร่วมกัน เพื่อให้ธรรมชาติที่บริสุทธิ์อยู่ยั่งยืนเช่นนี้ตลอดไป

ที่พักกะทัดรัดเป็นส่วนตัว ฝรั่งชอบอยู่กันยาวๆ