ภูเรือ คืออีกหนึ่งภูสวยที่เหล่าคนนิยมธรรมชาติ และผู้ที่ชื่นชอบการพักผ่อนบนดอยสูงคุ้นหูกันดี เนื่องจากภายในตัวอำเภอ รวมถึงบนยอดดอยมีอากาศที่เย็นสบายเกือบตลอดทั้งปี ครั้นหน้าหนาวมาเยือนอากาศจะยิ่งทวีเย็นมากยิ่งขึ้น เกิดแม่คะนิ้งบ่อย จนหลายคนขนานนามให้เป็น ดินแดนที่หนาวสุดในสยาม
Location: อุทยานแห่งชาติภูเรือ ครอบคลุม 3 อำเภอคือ หนองบัว ภูเรือ และท่าลี่ มีอาณาเขตฝั่งทิศเหนือติดกับ สปป.ลาว อีกด้วย จาก อ.เมือง ใช้ทางหลวงหมายเลข 203 มุ่งหน้าทางทิศตะวันตก ประมาณ 50 กม. ถึงตัว อ.ภูเรือ ก่อนเลี้ยวขวาบริเวณ กม.ที่ 50 ขึ้นสู่อุทยานฯ
2 เส้นทางเที่ยวภูเรือ
ขับรถเที่ยว, เดินเท้าเที่ยว
ภูเรือ เรารู้จักกันดีในนาม อำเภอหนึ่งของ จ.เลย อีกทั้งยังเป็นอุทยานแห่งชาติที่ติดหูใครหลายคน อุทยานฯ ภูเรือเป็นรอยต่อระหว่างภาคเหนือและภาคอีสาน รวมเนื้อที่ 75,525 ไร่ ด้านทิศเหนือของภูเรือยังเป็นพรมแดนธรรมชาติกั้นระหว่างไทยและลาว
เส้นทางน่าเดิน
บนภูเรือมีกิจกรรมท่องเที่ยวสุดอมตะที่ทำให้อุทยานฯ นี้ จัดหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ครองใจคนไทยมาหลายสิบปี ก็คือเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ที่ครบรสและคุ้มค่าเหนื่อย เพราะจะได้สัมผัสกับธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ของดอกไม้สวย น้ำตกงาม และจุดชมวิวสุดอลังการ ที่น้อยคนนักจะมีโอกาสได้สัมผัส ต้องใช้ทั้งแรงใจและแรงกาย เพื่อเดินแทนขับรถ
ขับรถเที่ยว
อย่างที่ทราบกันดีในกลุ่มคนนิยมธรรมชาติว่ายอดดอยนาม ภูเรือ แห่งนี้ มีหนึ่งจุดเด่นเป็นถนนลาดยางที่สมบูรณ์ตลอดสาย แถมเส้นทางยังไม่สูงชันและคดเคี่ยวจนเกินไป เหมาะแก่การขับรถเที่ยวด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญในการขับรถขึ้นเขาเป็นพิเศษ เพียงขับขี่ไม่ประมาท ก็จะได้ตื่นตาตื่นใจไปกับธรรมชาติงดงาม และจุดชมทิวทัศน์หลายแห่งที่อยู่ใกล้เพียงไม่กี่ก้าวเดิน
จุดชมวิวเดโช
อยู่บริเวณทางขึ้นภูเรือไม่ไกลจากที่ทำการอุทยานฯ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ขับรถตามถนนลาดยางมุ่งขึ้นเหนือราว 500 ม. แม้ที่นี่จะอยู่ต่ำกว่าจุดชมวิวแห่งอื่นๆ แต่ก็เหมาะสำหรับใครที่ตื่นสายแล้วกลัวไปชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ผาโหล่นน้อยไม่ทัน เพราะหากวันใดที่ท้องฟ้าแจ่มใส ไร้เมฆฝน จะมองเห็นภูต่างๆ ในเมืองเลย อย่างภูผาสาด ภูคั่ง ภูหลวง ได้ชัดเจนและสวยงามไม้แพ้จุดอื่นๆ
ผาซำทอง
อยู่ถัดจากจุดชมวิวเดโช ก่อนถึงจุดที่เรียกว่าหินเต่า ส่วนใหญ่นิยมแวะชมหลังจากเก็บภาพประทับใจแล้วจากจุดชมวิวเดโช หรือใครที่เดินทางลัดเลาะไล่ลงมาจากยอดดอยเพื่อกลับสู่จุดบริการนักท่องเที่ยว
คำว่า “ซำ” ในภาษาอีสานหมายความว่า น้ำซับ อีกทั้งบริเวณนี้ยังเต็มไปด้วยไลเคนซึ่งมีสีเหลืองมองแล้วคล้ายทอง ผู้คนจึงพากันเรียกผาแห่งนี้ว่า ผาซำทอง ตามลักษณะของสภาพแวดล้อมบริเวณนั้น
หินเต่า
อยู่ริมถนนลาดยางระหว่าง ผาซำทอง ถึงยอดดอย ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ราว 2.8 กม. จากผาซำทอง ให้ใช้เส้นทางจากที่ทำการฯ ถึงยอดดอย ตั้งอยู่ถัดจากผาซำทองทางทิศเหนือ ระยะห่างราว 6 กม.
สวนหินรูปร่างประหลาดพื้นที่ไม่กว้างมาก ติดริมถนนลาดยาง มีพระเอก หรือจุดเด่นเป็นประติมากรรมหินรูปร่างประหลาดคล้ายเต่าตั้งอยู่ จนใครหลายคนพากันเรียกตามภาพที่เห็นบวกกับจินตนาการว่า หินเต่า
มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า ในสมัยก่อนบริเวณนี้ เป็นเมืองที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ภูทุ่ง เจ้าเมืองภูทุ่งมีเพื่อนสนิทเป็นเจ้าเมืองภูครั่ง และด้วยความรักความผูกพันฉันญาติสนิทที่มีต่อกัน เจ้าเมืองทั้งสองจึงวางแผนให้ทั้งโอรสและธิดาแต่งงานเพื่อที่จะได้เป็นทองแผ่นเดียวกัน แต่ธิดาของเจ้าเมืองภูครั่งดันมีคนรักอยู่แล้ว ครั้นเมื่อโอรสเจ้าเมืองภูทุ่งจัดขันหมากมาสู่ขอ นางจึงลอบหนีไป ภายหลังโอรสเจ้าเมืองภูทุ่งจึงทำลายขันหมากทิ้ง กลายเป็นหินเรียงรายอยู่ที่ “ทุ่งหินพานขันหมาก” และได้สร้าง “หินศิวลึงค์” ไว้ให้คนเคารพบูชา พร้อมกับสร้าง “หินเต่า” เพื่อประชดความรักนั้นเอง
ผาโหล่นน้อย
อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ทางทิศเหนือ ราว 3.5 กม. จากที่ทำการให้ขับรถไปเรื่อยๆ ตามถนนลาดยางประมาณ 3.5 กม. จากนั้นลงเดินต่อราว 100 ม. เมื่อถึงด่านตรวจจุดที่ 2 ก็จะถึงที่ตั้งของผาโหล่นน้อย
จุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงามที่สุดบนภูเรือ มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,320 ม. ชมทัศนียภาพของภูหลวง ภูผาสาด ภูครั่ง และคลื่นภูเขาสลับซับซ้อนได้ชัดเจน ยิ่งวันไหนอากาศดีฟ้าเปิดเต็มที่ หลังจากภาพท้องฟ้าสีแดง ส้ม เหลือง ยามแสงแรกสาดส่องจางหาย อาจได้เห็นทิวทัศน์ไกลถึงอำเภอเชียงคานก็เป็นได้
เดินเท้าเที่ยว
การเดินเท้าเพื่อท่องเที่ยวตามจุดเด่นต่างๆ ที่รถยนต์เข้าไม่ถึง นอกจากความตระการตาของทิวทัศน์สวยงามจากมุมสูงที่เปรียบดังรางวัลชิ้นใหญ่แล้ว เหล่าพฤกษานานาพันธุ์ที่ขึ้นเรียงรายตลอดขอบทางเดินก็ช่วยให้เพลิดเพลินได้ไม่แพ้กัน
ยอดดอยภูเรือ
อยู่จุดสูงสุดของภูเรือ ห่างจากผาโหล่นน้อย 700 ม. หากคุณเลือกพักบริเวณที่ทำการอุทยานฯ แล้วกลัวจะเหนื่อยจนเกินไปถ้าต้องเดินเท้า แนะนำให้ขับรถยนต์ขึ้นมาจอดทิ้งไว้บริเวณลานจอดรถใกล้ผาโหล่นน้อย หรือเลือกนั่งรถรับจ้าง แล้วนั้นเดินเท้าต่อราว 700 ม. ไปยังจุดสูงสุดของยอดภูเรือ
ยอดภูเรือ เป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญไม่ควรพลาดหากได้มาภูเรือ จุดนี้เป็นจุดที่สูงสุดในอุทยานฯ มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางถึง 1,365 ม. ทันทีที่เท้าสัมผัสอยู่บนปลายยอดสูงสุดแล้วฟ้าฝนเป็นใจ อากาศเปิดโล่ง จะสามารถชมทิวทัศน์ของทั้งแม่น้ำเหืองและแม่น้ำโขงซึ่งเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างไทยและลาวได้ชัดเจน
หินพานขันหมาก ห่างจากท่ีทำการอุทยานฯไปทางทิศเหนือราว 3 กม. มีสองวิธีคือ เดินยาวตามทางเท้าจากที่ทำการอุทยานฯ ไปทางทิศเหนือผ่านลานสาวเอ้ สวนหินพาลี และจุดบริการที่ 2 ถึงยังหินพานขันหมาก รวมระยะทางประมาณ 2.5 กม. หรือใครที่มีเวลาน้อยจะเลือกนั่งรถจากที่ทำการมาลงจุดบริการที่ 2 ก่อนเดินเท้าต่อยังหินพานขันหมาก ก็ได้
หินพานขันหมาก มีลักษณะเป็นก้อนหินก้อนเดียว ที่ตั้งอยู่บริเวณลานหิน รูปร่างลักษณะเหมือนพานที่ถูกคว่ำเอาไว้ เป็นประติมากรรมหินคล้ายกับหินเต่า
ลานหินแตก
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของน้ำตกหินสามชั้น ห่างจากจุดบริการที่ 2 ไม่ถึง 1 กม. เลือกเดินเท้าได้จากทั้งจุดบริการที่ 2 และที่ทำการอุทยานฯ หากเริ่มต้นจากจุดบริการที่ 2 เดินตามทางเท้าผ่านน้ำตกหินสามชั้น ลงมาจนถึงลานหินแตก ส่วนอีกเส้นทางเหมาะสำหรับใครที่เลือกเที่ยวน้ำตกห้วยไผ่ก่อน เพราะถัดจากลานเหมือดแอ ก็สามารถขึ้นเหนือถึงลานหินแตกได้เลย
ลานหินแตก เป็นจุดท่องเที่ยวที่น้อยคนนักจะเข้าถึง และอาจเผลอมองข้ามไป เนื่องจากเป็นจุดที่อยู่ไกลแถมยังเข้าถึงได้ด้วยวิธีเดียวคือการเดินเท้า สถานที่แห่งนี้จึงมีธรรมชาติที่ค่อนข้างสมบูรณ์ และร่มรื่นด้วยดอกไม้ป่า รวมถึงต้นไม้เขียวเป็นระยะตลอดการเดินทาง จุดเด่นเป็นลานหินกว้างสีแดง และยังเป็นทางผ่านของสายน้ำที่ไหลลงสู่น้ำตกห้วยไผ่
น้ำตกห้วยไผ่
อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ทางทิศตะวันตก ประมาณ 2 กม. ไปน้ำตกห้วยไผ่ง่ายที่สุดมีวิธีเดียวคือ เดินเท้าจากที่ทำการอุทยานฯ มาทางทิศตะวันออกตามทางเดินราว 2 กม.
ตัวน้ำตกจัดว่ามีขนาดใหญ่ สูงชันประมาณ 30 ม. สายน้ำจึงพุ่งแรงแต่ใสสะอาด ไหลอาบแผ่นหินสีดำลงแอ่งน้ำสีเขียวมรกตเบื้องล่าง ลอดหินก้อนใหญ่ด้านหน้าไหลเป็นลำธารสายเล็กๆ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญในการใช้ทำน้ำประปาใน อ.ภูเรือ
ส่วนการเดินทางถือว่าไม่ลำบากเพียงแต่อาจกินเวลามากสักหน่อย คือประมาณชั่วโมงเศษ ตลอดทางเดินเป็นป่าร่มรื่นมีป้ายบอกทางเป็นระยะ ไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่นำทาง ทันที่เริ่มผ่านเข้าสู่ป่าไผ่เท่ากับว่าน้ำตกห้วยไผ่อยู่ห่างออกไปเพียงไม่กี่เก้าเดินแล้ว
อุทยานฯภูเรือ มีบ้านพักหลายหลัง รวมถึงลานกางเต็นท์อีกสองจุด ช่วงฤดูหนาวบ้านพักมักจะเต็มตลอดสุดสัปดาห์ และวันหยุดยาว แนะนำให้จองล่วงหน้าก่อน ที่เว็บไซต์ nps.dnp.go.th
จุดกางเต็นท์ 1
อยู่บริเวณเดียวกับที่ทำการอุทยานฯ กลุ่มบ้านพัก รวมถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ตั้งอยู่บริเวณตีนดอย มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบ ทั้งลานจอดรถ ห้องน้ำ และร้านอาหาร จะนำเต็นท์ไปกางเอง หรือหาเช่าจากอุทยานฯ พร้อมชุดเครื่องนอนสนามก็ได้
จุดกางเต็นท์ 2
อยู่บริเวณจุดบริการที่ 2 ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ทางทิศเหนือราว 4 กิโลเมตร ตามเส้นทางลาดยาง ใกล้กับผาโหล่นน้อย หินพานขันหมาก และน้ำตกสามชั้น มีสิ่งจำเป็นให้ ทั้งห้องน้ำ ลานจอดรถ และร้านอาหาร
อาหาร
ร้านอาหารสวัสดิการขายอาหารและเครื่องดื่ม อยู่บริเวณที่ทำการอุทยานฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งของลานกางเต็นท์และศูนย์บริการนักท่องเที่ยว รวมถึงบริเวณจุดบริการที่ 2 ส่วนใครที่สนใจอาหารนอกอุทยานฯ จากบ้านพักไปตลาดระยะทาง 4 กม. ฝั่งตรงข้ามกับที่ว่าการอำเภอ มีร้านอาหารมากมายให้เลือก