ภูลมโล พิษณุโลก

Trips พิษณุโลก

ยามเย็นบนลานกว้างเหนือภูลมโล สีสันหน้าหนาวสวยมาก

ชมพญาเสือโคร่งหน้าหนาว เที่ยวบ้านร่องกล้าชมพืชเมืองหนาว

อ่ยชื่อ ภูลมโล อาจจะไม่คุ้นหูคนทั่วไปนัก แต่สำหรับนักนิยมธรรมชาติที่นี่มีทิวทัศน์และธรรมชาติเดิมๆ ที่งดงามมาก ยิ่งหน้าหนาว จะเปลี่ยนเป็นผืนป่าซากุระออกดอกชมพูสะพรั่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แทบไม่น่าเชื่อว่าจะซ่อนตัวอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าที่ใครๆ ก็รู้จัก นอกจากนี้ที่บ้านร่องกล้าซึ่งเป็นชุมชนชาวเขาเล็กๆ ยังมีดอกไม้เมืองหนาวสีสันสดใสสะพรั่งน่าไปเที่ยว และน่าไปพักโฮมสเตย์ที่นี่เป็นอย่างยิ่ง

แค้มปิ้ง พักเต็นท์ ริมป่าซากุระบรรยากาศธรรมชาติในหน้าหนาว ภูลมโล นครไทย พิษณุโลก
มาเที่ยวภูลมโล ต้องแค้มปิ้ง

Location อ.นครไทย จ.พิษณุโลก

จาก อ.เมืองพิษณุโลก ใช้ทางหลวงหมายเลข 12 (พิษณุโลก-หล่มสัก) ถึง กม.ที่ 69 สามแยกบ้านแยง เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2013 ไป อ.นครไทย ระยะทางประมาณ 29 กม. ถึงสามแยกบ้านหนองกะท้าว เลี้ยวขวาไปประมาณ 5 กม. เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2331 ระยะทางประมาณ 25 กม. ผ่านที่ทำการอุทยานฯ ภูหินร่องกล้า

แผนที่ประกอบ ตำแหน่งภูลมโล ในเขตจังหวัดพิษณุโลก

จากนั้นขับตรงไปอีกประมาณ 7 กม. จะถึงหมู่บ้านร่องกล้า จุดเริ่มต้นสู่ภูลมโล หรือจะขึ้นทาง ต.กกสะทอน อ.ด่านซ้าย จ.เลย ก็ได้เช่นกัน มีรถพาเที่ยวภูลมโลของชาวบ้านให้บริการ

แผนที่ประกอบ ภูลมโล เขตอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า พิษณุโลก

ช่วงเวลาท่องเที่ยวที่เหมาะสมอยู่ในฤดูหนาว

จุดชมวิวบนหน้าผาหิน มองเห็นทิวทัศน์ภูเขาและพื้นราบไกลออกไป ภูลมโล อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า พิษณุโลก
ทิวทัศน์ภูลมโล สวยพิเศษในหน้าหนาว

บนภูลมโลมีลานกางเต็นท์ให้บริการนักท่องเที่ยว ต้องเตรียมเต็นท์ อาหาร และน้ำดื่มไปเอง หรือจะเลือกพักบริเวณบ้านร่องกล้าและอบต.กกสะทอนก็ได้เช่นกัน มีรถนำเที่ยวให้บริการด้วย

แต่หากไม่สะดวก จะเลือกบ้านพักในอุทยานฯ ภูหินร่องกล้าก็น่าสนใจไม่น้อย เส้นทางไไกลหน่อยอาจมาชมพระอาทิตย์ขึ้นไม่ทัน ส่วนใหญ่จะใช้บริการที่พักบริเวณบ้านร่องกล้าที่มีให้เลือกหลายแห่ง

อบต.กกสะทอน โทร 042 039 867

อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า โทร 055 356 607

ยอดภูลมโล มีบริเวณลานโล่งให้กางเต็นท์หลายจุด เดินทางขึ้นไป แนะนำให้จ้างรถท้องถิ่นที่ชำนาญเส้นทาง พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย
ใช้บริการรถท้องถิ่นดีที่สุด

อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า มีพื้นที่กว้างใหญ่ครอบคลุมถึง 3 จังหวัดได้แก่ พิษณุโลก เลย และเพชรบูรณ์ ภายในเขตอุทยานฯ จึงมีดอยสูงที่มีธรรมชาติและทิวทัศน์อันงดงามให้ไปเที่ยวชมกันหลายแห่ง

ภูลมโลก็นับเป็นหนึ่งในไฮไลต์ของอุทยานฯ ที่อลังการเพราะเป็นเขาที่มีต้นซากุระมากที่สุดในไทย ว่ากันว่ามีให้ชมถึงแสนต้นเลยทีเดียว

พระอาทิตย์ตกที่ภูลมโล ยอดเขาที่โล่ง มีหน้าผาที่ชมวิวทิวทัศน์รอบตัวสวยๆ หลายแหล่ง พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย
ส่งตะวันยามเย็นที่ภูลมโล

ภูลมโล เป็นยอดดอยที่สูงเป็นอันดับ 2 ของอุทยานฯ ภูหินร่องกล้า มีความสูงประมาณ 1,644 ม. จากระดับน้ำทะเล ด้วยที่ตั้งของภูลมโลอยู่ในพื้นคาบเกี่ยว อ.นครไทย จ.พิษณุโลก และ อ.ด่านซ้าย จ.เลย จึงมีเส้นทางขึ้นยอดภูได้ทั้งสองทางจากสองจังหวัด แต่เส้นทางส่วนใหญ่เป็นดินลูกรังและขึ้นเขาสูงชัน จึงเหมาะสำหรับรถกระบะหรือรถขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น

ภูลมโล มีต้นซากุระไทย หรือนางพญาเสือโคร่งมากที่สุดในไทย
ซากุระที่มีมากที่สุดในประเทศไทย

หากเดินทางจากบ้านร่องกล้าขับรถขึ้นเขาไปประมาณ 8 กม. ก็จะถึงยอดภูลมโล ที่เป็นลานกว้างโล่งไม่มีต้นไม้ใหญ่มากนัก ชมวิวได้รอบด้าน ใครมากางเต็นท์อาจต้องเลือกจุดที่มีกำบังลมหน่อย เพราะลมแรง จากนั้นช่วงเช้าประมาณตี 5 เตรียมตื่นไปรอชมพระอาทิตย์ขึ้นกัน จากลานกางเต็นท์เดินไปจุดชมวิวได้สะดวก เพราะห่างเพียงไม่กี่เมตรเท่านั้น

ดอกนางพญาเสือโคร่ง ออกดอกและบานช่วงฤดูหนาว ภูลมโล พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย
สีสันชมพูของพญาเสือโคร่งหน้าหนาว

ช่วงเช้าชมตะวันขึ้นได้อย่างสวยงามท่ามกลางทิวเขาน้อยใหญ่รอบด้าน หากมาในช่วงฤดูหนาวบางวันมีทะเลหมอกให้ชมด้วย หลังตะวันขึ้นอย่าเพิ่งรีบกลับ ทิวทัศน์จากจุดนี้ยังสามารถมองเห็นวิวได้ไกลถึง 3 จังหวัดเลย

ต้นนางพญาเสือโคร่ง ช่วงฤดูหนาวออกดอกสีชมพูบานสะพรั่ง ภูลมโล พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย

หากมาเยือนภูลมโลในช่วงฤดูหนาวประมาณปลายปี-ต้นปี ช่วงกลางวันคุณยังจะได้ชมซากุระบานสะพรั่งทั่วภูลมโลเป็นป่าซากุระไทยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ช่วงหน้าหนาวนี้ ยังได้ชมดอกกระดาษที่ภูหินร่องกล้าออกดอกสะพรั่งเช่นกัน บางที่พักเขาปลูกดอกกระดาษไว้ให้ชมกันสะดวกๆ ข้างบ้าน หลายแห่งมีผลไม้เมืองหนาวอย่างเช่น สตรอเบอรี่ ให้ช้อปแบบเดินเข้าแปลงปลูกไปเก็บเองอีกด้วย

จากนั้นลงจากดอยขากลับจะแวะไปเที่ยวอุทยานฯภูหินร่องกล้าหรือภูทับเบิกก็น่าสนใจไม่แพ้กัน 

เที่ยวต่อ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า คลิ๊กเลย!!

เที่ยวต่อ ภูทับเบิก คลิ๊กเลย!!

ดอกนางพญาเสือโคร่งสีชมพูบานสะพรั่งเต็มต้น

พญาเสือโคร่ง ซากุระแห่งเมืองไทย

ในอดีตหากพูดถึงดอกซากุระ ก็จะนึกถึงเทศกาลดอกซากุระบานที่โตเกียว หรือตามเมืองสำคัญต่างๆ กว่า 20 แห่งของประเทศญี่ปุ่น แต่ปัจจุบันหากอยู่ในประเทศไทยและพูดถึงดอกซากุระ แทบทุกคนจะพูดถึงดอกพญาเสือโคร่ง หรือซากุระเมืองไทย คอยช่วงวันที่ดอกจะบาน จะเป็นที่ขุนวาง ดอยอินทนนท์ บ้านม้งขุนช้างเคี่ยน หรือป่าซากุระใหญ่สุดในไทยที่ภูลมโล

ดอกนางพญาเสือโคร่งสีชมพูบานสะพรั่งเต็มต้น

รู้จักพญาเสือโคร่ง
ดอกพญาเสือโคร่ง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Prunus cerasoides ส่วนภาษาอังกฤษเรียกว่า Wild Himalayan Cherry เป็นพรรณไม้ที่มีการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน พบอยู่ในป่าที่ระดับความสูง 500-1,500 ม. จากระดับน้ำทะเลปานกลาง จัดอยู่ในวงศ์กุหลาบ (Rosaceae) แต่อยู่ในสกุลเดียวกับต้นซากุระของประเทศญี่ปุ่น คือ (Prunus) ในบ้านเราจะเป็นกลุ่มบ้วยท้อ ซากุระ ทำให้เป็นที่มาของชื่อ ซากุระเมืองไทย และยังอยู่ในสกุลเดียวกับต้นเชอรี่ แอปริคอต พลัม แอปเปิลท้อ และสาลี่ เป็นกลุ่มพรรณไม้ที่ชอบอากาศหนาวเย็นทั้งสิ้น

ดอกนางพญาเสือโคร่งสีชมพูบานสะพรั่งเต็มต้น

ในประเทศไทยจะพบ ดอกพญาเสือโคร่ง ขึ้นตามภูเขาที่สูง 1,000-2,000 ม. จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ลักษณะเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 10-15 ม.ใบเป็นชนิดใบเดี่ยว ลักษณะรูปรีแบบไข่ หรือไข่กลับ ออกสลับกัน ใบมีความกว้าง 3-5 ซม. ยาว 5 -12 ซม. ปลายใบเรียวแหลม โคนใบกลมหรือสอบแคบ ขอบจักปลายก้านใบมีต่อม 2-4 ต่อม หูใบแตกแขนงคล้ายเขากวาง ใบร่วงง่าย ดอกสีขาว ชมพู หรือแดง ออกเป็นช่อกระจุกใกล้ปลายกิ่ง ก้านดอกยาว 0.7-2 ซม.  ขอบริ้วประดับจักไม่เป็นระเบียบ กลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูปกรวย กลีบดอกมี 5 กลีบ เมื่อบานขนาดโตเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 ซม. ผลรูปไข่หรือกลม ยาว 1-1.5 ซม. เมื่อสุกสีแดงสามารถนำมารับประทานได้ มีรสชาติเปรี้ยว ออกดอกระหว่างเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ โดยจะทิ้งใบก่อนออกดอก

ชื่อวิทยาศาสตร์ prunus cerasoides ชื่อสามัญ Wild Himalayan Cherry ดอกพญาเสือโคร่ง หรือซากุระเมืองไทย

ซากุระชนิดเดียวกับญี่ปุ่นหรือไม่
ประเทศญี่ปุ่นเรียกซากุระว่า ฮิมาลายาซากุระ (ヒマラヤザクラ) แม้จะอยู่ในสกุล Prunus เหมือนกับดอกพญาเสือโคร่งของไทย แต่ไม่ได้เป็นชนิดเดียวกัน เพราะซากุระของญี่ปุ่นแตกแขนงออกไปอีกมากกว่า 100 ชนิด โดยพันธุ์ที่พบเจอได้ง่ายและมีมากที่สุดในประเทศญี่ปุ่นคือ โซะเมอิ โยะชิโนะ (染井吉野 somei-yoshino) ในชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Prunus × yedoensis ความโดดเด่นพิเศษคือมีกลิ่นที่หอมละมุน ไม่เหมือนซากุระที่เติบโตในประเทศอื่นๆ

พวงช่อดอกพญาเสือโคร่ง หรือซากุระเมืองไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ prunus cerasoides ชื่อสามัญ Wild Himalayan Cherry

ดอกพญาเสือโคร่ง ของไทยนอกจากจะเป็นคนละสายพันธุ์กับซากุระญี่ปุ่น ยังมีช่วงเวลาออกดอกต่างกันคือ ดอกพญาเสือโคร่งจะเริ่มบานในช่วงปลายหนาวระหว่างปลายธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ แต่ซากุระในญี่ปุ่น จะออกดอกช่วงเดือนมีนาคมเมษายน เป็นฤดูใบไม้ผลิของญี่ปุ่น แต่ก็มีการสันนิษฐานว่า ดอกพญาเสือโคร่ง และซากุระมีบรรพบุรุษร่วมกันทางตอนใต้ของจีน และมีวิวัฒนาการออกไปจนมีสายพันธุ์มากมาย

ที่มาของซากุระ
ในแง่ของตำนาน ซากุระ เกิดขึ้นมาเพราะเทวนารีองค์หนึ่ง คือ โคโนะฮานะ ซากุยะ ฮิเมะ ที่แปลว่า “ผลิบาน” เชื่อกันว่า พระนางเป็นผู้ริเริ่มปลูกต้นซากุระขึ้นเป็นครั้งแรก และอาจจะเกิดจากการกร่อนจากคำว่า ซะกุยะ เมื่อรวมกันแล้ว ซากุระ จึงมีความหมายว่า เจ้าหญิงดอกไม้บาน 

เมื่อแปลความหมายจากภาษาญี่ปุ่นโบราณแล้วก็จะได้อีกความหมายหนึ่งของ “ซากุระ” ว่ามาจากคำเก่าแก่สองคำ คือ “ซา” หมายถึง วิญญาณแห่งพืชพันธุ์  และ “กุระ” หมายถึง ที่ประทับของเทพเจ้า คำว่า “ซากุระ” จึงหมายถึง ที่สถิตของจิตวิญญาณแห่งพืชพันธุ์ทั้งปวง นอกจากนี้ ซากุระ ยังเป็นดอกไม้ประจำชาติของญี่ปุ่น มีถิ่นกำเนิดในญี่ปุ่น คุณลักษณะเด่นของดอกซากุระคือ เมื่อร่วงจะร่วงพร้อมกันหมด ซากุระจึงเป็นสัญลักษณ์ของเลือดทหารและซามูไรของญี่ปุ่น ในวันที่ซากุระบานจึงมีการจัดงานเฉลิมฉลองและระลึกถึงบรรพบุรุษชาวญี่ปุ่นผู้ล่วงลับด้วย

ต้นพญาเสือโคร่ง ออกดอกสีชมพูเต็มต้นช่วงปลายฤดูหนาวทางภาคเหนือของไทย

ลักษณะและชนิดของดอกซากุระญี่ปุ่นที่ต่างจากดอกพญาเสือโคร่งของประเทศไทย
สายพันธุ์และชนิดของซากุระในญี่ปุ่นที่พบเจอได้ง่ายและมีจำนวนมาก คือ Somei Yoshino และ Yamazakura แต่ละชนิดจะมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไป แต่สามารถแยกพันธุ์ได้จากจำนวนกลีบดอก สีของดอกเวลาบาน ช่วงเวลาบาน และรูปทรงของลำต้น
จำนวนกลีบดอก 
ซากุระที่ญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะมี 5 กลีบ คล้ายกับดอกพญาเสือโคร่งของไทย แต่จะมีพันธุ์อื่นที่มีจำนวนกลีบแตกต่างกันออกไปมากกว่า 5 กลีบ เรียกว่า yaezakura เช่น 10 กลีบ, 20 กลีบ, หรือ 100 กลีบ เป็นต้น
สีของดอกเวลาบาน 
สีของดอกซากุระที่บานเต็มที่แล้วส่วนใหญ่จะมีสีชมพูอ่อนๆ หรือสีขาว เหมือนกับดอกพญาเสือโคร่งของไทย บางชนิดมีสีชมพูเข้ม หรือสีเหลืองอ่อน บางชนิดสีของดอกตั้งแต่เริ่มบานจนถึงบานเต็มที่ก็จะมีการเปลี่ยนไปตามเวลา
ช่วงเวลาในการบาน 
ซากุระของประเทศญี่ปุ่นจะบานในช่วงฤดูใบไม้ผลิ แต่ก็ยังมีบางพันธุ์เป็นส่วนน้อยที่จะบานในช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วงจนถึงต้นฤดูหนาว
รูปทรงของลำต้น
ต้นซากุระมีลักษณะการเจริญเติบโตที่แตกต่างกัน จึงทำให้รูปทรงและลักษณะแตกต่างกันไปด้วย เช่น เป็นทรงสามเหลี่ยม ทรงสูง หรือรูปตัววี

ดอกพญาเสือโคร่ง

ลักษณะของต้นซากุระที่พบเป็นส่วนใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น
Somei Yoshino:
พันธุ์ซากุระที่รู้จักกันเป็นอย่างดีของประเทศญี่ปุ่น ดอกมี 5 กลีบ ส่วนใหญ่จะเป็นสีขาว หรือสีชมพูอ่อน
Ichiyo:
ดอกมี 20 กลีบ สีชมพูอ่อน จะออกดอกบานเต็มที่ในช่วงกลางเดือนเมษายน
Ukon:
ดอกมี 10-20 กลีบ ส่วนดอกจะมีสีเหลืองอ่อน ใบจะมีสีเหลืองอมแดง ทำให้จดจำได้ง่าย และจะออกดอกบานเต็มที่ในช่วงกลางเดือนเมษายน
Yamazakura:
เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่หาชมได้ง่าย เติบโตได้ดีในเขตแทบภูเขา ดอกมีสีชมพูสว่าง และมี 5 กลีบ กลีบมีลักษณะค่อนข้างเล็ก จะออกดอกบานเต็มที่ช่วงปลายเดือนมีนาคม-ต้นเมษายน
Shidarezakura:
พันธุ์นี้ทรงต้นจะเป็นแบบ weeping tree คือกิ่งจะห้อยระย้าลงมา ดอกมี 5 กลีบหรือมากกว่า จะออกดอกบานเต็มที่ช่วงปลายเดือนมีนาคม-ต้นเมษายน
Kanzan:
เป็นอีกชนิดหนึ่งที่โด่งดังและเป็นที่รู้จัก กลีบดอกมีสีชมพู มีจำนวนมากถึง 30-50 กลีบ ใบมีสีน้ำตาลอมแดง จะออกดอกบานเต็มที่ในช่วงกลาง-ปลายเดือนเมษายน
Shogetsu:
ดอกบานเต็มที่จะค่อนข้างใหญ่ มีสีขาว จำนวน 20-30 กลีบต่อดอก ส่วนใบมีสีเขียวเข้ม และจะออกดอกบานเต็มที่บานในช่วงกลาง-ปลายเดือนเมษายน
Kikuzakura: พันธุ์นี้บานค่อนข้างช้า จะออกดอกบานเต็มที่ในช่วงปลายเมษายน-พฤษภาคม กลีบดอกหนาแน่นกว่า 100 กลีบ มีสีชมพูอ่อนกับสีขาวสวยงามมาก
หนาวนี้ไม่ต้องตีตั๋วไปญี่ปุ่น แค่เดินทางขึ้นภาคเหนือของไทย ก็ได้สัมผัสซากุระชมพูสะพรั่ง ท่ามกลางอากาศเย็นสบายไม่ต่างจากญี่ปุ่น ในราคาเงินบาทสบายกระเป๋า และสบายใจ