กระดิ่งที่ไม่สิ้นเสียง
ภูกระดึง หรือความหมายว่า “เขากระดิ่ง” มีคำเล่าลือมาแต่ครั้งโบราณแล้วว่ามักจะมีผู้ได้ยินเสียงกระดิ่งดังก้องกังวานจากบนยอดภูเสมอ โดยเฉพาะในวันพระ คนเฒ่าคนแก่เชื่อว่าเสียงกระดิ่งนี้เกิดจากการตีของพระอินทร์ ชื่อของภูกระดึงจึงมาจากตำนานนี้ “ภู” หมายถึง “ภูเขา” ส่วน “กระดึง” คือ “กระดิ่ง” แปลกแต่จริง หากเราไปเดินบนยอดเขาบางพื้นที่ถ้าเดินลงเท้าหนักๆหรือใช้ไม้กระทุ้งพื้นก็จะมีเสียงก้องคล้ายเสียงสั่นกระดิ่ง
Location ต.ศรีฐาน อ.ภูกระดึง ห่างจากตัว จ.เลย บนทางหลวงหมายเลข 201 ประมาณ 81 กม.
ขับรถไปเอง จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) มุ่งหน้าไป จ.สระบุรี ผ่าน อ.ปากช่อง เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 201 ที่ อ.สีคิ้ว ผ่าน อ.ด่านขุนทด อ.เมือง จ.ชัยภูมิ อ.ภูเขียว เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 12 ผ่าน อ.ชุมแพ และใช้ทางหลวงหมายเลข 201 (เลย-ชุมแพ) เมื่อถึง อ.ภูกระดึง ให้เลี้ยวขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2019 มุ่งหน้าสู่ที่ทำการอุทยานฯ รวมระยะทางประมาณ 80 กม.
รถประจำทาง จากกรุงเทพฯ แอร์เมืองเลย มีเที่ยวรถตรง กรุงเทพฯ-เลย ให้ลงที่ป้ายผานกเค้า แล้วต่อรถสองแถวไปยังที่ทำการอุทยานฯ ภูกระดึง ซึ่งอยู่ตีนภู ระยะทาง 8 กม.
เปิดฤดูท่องเที่ยว วันที่ 1 ตุลาคม-31 พฤษภาคม ของทุกปี จำกัดนักท่องเที่ยวขึ้นภู
อุทยานแห่งชาติภูกระดึง โทร. 042 871 333, 042 871 458
ภูมิประเทศของภูกระดึงเป็นภูเขาหินทรายมีพื้นที่ราบกว้างใหญ่สลับกับเนินเตี้ยๆ มียอดสูงสุดคือ ภูกุ่มข้าว สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,300 ม. เป็นต้นกำเนิดของลำน้ำพองที่ไหลลงไปยังเขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนหนองหวายจ.ขอนแก่น ยอดภูกระดึงประกอบไปด้วยป่าสนสลับป่าก่อ และทุ่งหญ้า มีพันธุ์ไม้ดอก ไม้ใบขึ้นอยู่ทั่วไปตามบริเวณน้ำตก ลำธาร และสวนหิน
ทำไมภูกระดึงจึงเป็นภูเขายอดตัด
ลักษณะของภูกระดึงนั้นเกิดจากปรากฏการณ์การเคลื่อนตัวของเปลือกโลกที่เกิดการหักตัว (Fault) และการโก่งตัว (Fold) ประกอบกับได้รับอิทธิพลของการกัดเซาะ การพัดพา และการทับถมที่เกิดจากธรรมชาติเป็นเวลานาน
ภูเขาหลายลูกในบริเวณเดียวกันนี้คล้ายกันคือ ภูหอ ภูเขียว ภูเวียง ภูผาจิต ภูหลวง และภูเรือ ทั้งหมดนี้เป็นภูเขายอดตัดแบนราบ
พิชิตภูเขายอดตัด
หากลองดูแผนที่การขึ้นภู จะเห็นว่าต้องไต่ความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ระยะทางที่ต้องไต่เขาประมาณ 5 กม.ไปยังยอดเขาภูกระดึงที่เป็นยอดตัดนั้น ต้องใช้เวลาเดินไม่น้อยไปกว่า 3-5 ชม. ผ่านจุดแวะพักเหนื่อยหลายจุด แต่ละจุดจะมีชื่อขึ้นต้นด้วย ซำ เช่นซำแฮก อย่ามัวแต่หอบแฮกตามชื่อ จนลืมดูวิวรอบตัว เพราะคุณจะพบว่ามีพรรณไม้ให้ชมอยู่ตลอดทางขึ้นแบ่งได้ดังนี้
ซำแฮก ลักษณะเป็นป่าใหญ่ร่มรื่น ทางเดินสูงชันจะพบป่าเต็งรังผสมปนเปกับป่าเบญจพรรณ
ซำแฮก-ซำบอน ด้วยลักษณะหินทรายสีขาวอมชมพู ทำให้ตลอดระยะทาง 700 เมตรช่วงนี้มีป่าไผ่โปร่งสวยงาม
ซำบอน-ซำกกกอก ด้วยลักษณะหินทรายสีขาวอมชมพูเกี่ยวเนื่องกับหินทรายสีแดงปนน้ำตาล ช่วงนี้จึงมีป่าไผ่สำสลับกับป่าเต็งรัง
ซำกกกอก-พร่านพรานแป-ซำกกหว้า-ซำกกไผ่ ลักษณะหินทรายสีแดงปนน้ำตาล ทำให้มีป่าเต็งรังขึ้นสลับกับป่าเบญจพรรน และจะมีต้นไผ่ขึ้นเยอะบริเวณซำกกไผ่
ซำกกไผ่-ซำกกโดน ระดับความสูงเพิ่มมากขึ้นป่าใหญ่ช่วงนี้จะมีลักษณะเป็นป่าดงดิบแล้งสลับกับป่าไผ่และป่าเบญจพรรณ
ซำกกโดน-ซำแคร่ เข้าสู่ช่วงสุดท้ายของเส้นทางขึ้นเขา ลักษณะเป็นป่าดงดิบเขาที่ร่มครึ้ม จนแทบมองไม่เห็นท้องฟ้า
ซำแคร่-หลังแป ใกล้ถึงยอดหลังแปเต็มทีป่าใหญ่เริ่มหายไป เข้าสู่สภาพที่ราบเป็นทุ่งหญ้าสลับกับป่าสน มีป้ายผู้พิชิตภูกระดึง ให้คุณถ่ายภาพเป็นที่ระลึก จากนั้นเดินบนที่ราบอีก 3 กม. ก็ถึงหลังแป
หลังแป-ที่พัก
หลังแปคือยอดภูกระดึงลักษณะเป็นภูเขายอดตัดกินพื้นที่หลายพันไร่ โล่งกว้างขวางชมวิวได้กว้างไกล มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว บ้านพัก ลานกางเต็นท์ และร้านอาหารบริการครบครัน จากลานกางเต็นท์มีเส้นทางท่องเที่ยวสายน้ำตก สายชมวิว และชมพรรณไม้ให้คุณเลือกเที่ยวได้ตามสไตล์
เส้นทางเดินเท้าท่องเที่ยวบนภูกระดึง
เมื่อคุณสามารถผ่านซำต่างๆ ขึ้นมาถึงภูเขายอดตัดได้แล้ว คราวนี้เราจะเดินไปเที่ยวที่ไหนก็ไม่ต้องปีนเขา เพราะพื้นที่ราบนับพันไร่บนยอดเขาแห่งนี้มีจุดท่องเที่ยวที่กระจายอยู่ทั่วไป พื้นที่บนภูกระดึงแบ่งออกเป็นสองโซนคือ
- ป่าเปิด เป็นสถานที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวทั่วไปท่องเที่ยวได้ โดยไม่ต้องใช้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่านำทาง บริเวณที่เรียกว่าป่าเปิดนี้จะมีลักษณะเป็นทุ่งหญ้าและป่าสน ซึ่งจัดเป็นพื้นที่ทางซีกใต้ของภูกระดึง
- ป่าปิด เป็นสถานที่ต้องขออนุญาตเข้าไปจึงจะได้ มีลักษณะเป็นป่าดิบ เส้นทางเดินยากกว่าและมีธรรมชาติแบบป่าดงดิบ และทุ่งหญ้าตามหน้าผา
สำหรับป่าเปิดนั้นมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายที่น่าสนใจ สามารถจัดเป็นเส้นทางท่องเที่ยวได้หลายเส้นทาง แต่ที่นิยมกันคือ เส้นทางจากที่พัก–ผานกแอ่น (ชมพระอาทิตย์ขึ้น)
เส้นทางจากที่พัก–เลียบหน้าผาหมากดูก–ผาหล่มสัก
เส้นทางจากที่พัก–น้ำตกต่างๆ
จุดที่พัก ซึ่งเป็นลานกว้างทางอุทยานฯได้จัดไว้ถือเป็นศูนย์กลางก็ได้เพราะทั้งศูนย์บริการนักท่องเที่ยว บ้านพัก ร้านอาหาร ลานกางเต็นท์ ซึ่งหากเราจะเดินไปท่องท่องเที่ยวที่ไหนก็จะกลับมาที่นี่ทุกเย็น
เส้นทางจากที่พัก–ผานกแอ่น ชมพระอาทิตย์ขึ้น ระยะทาง 2 กม.
เป็นหน้าผาที่มีความเหมาะสมใช้ชมพระอาทิตย์ขึ้น มีคำกล่าวว่าการเดินทางมาเที่ยวภูกระดึงของคุณจะไม่สมบูรณ์เลยหากไม่ได้มาชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ผานกแอ่น การมาท่องเที่ยวสวัสดีกับพระอาทิตย์ที่นี่ต้องลงทุนตื่นเช้าสักหน่อยไม่ควรตื่นเกินตีห้า ใส่เสื้อกันหนาว หมวก ถุงมือให้พร้อม เพราะที่หน้าผาลมจะแรงและอากาศหนาวเย็นมาก โดยเฉพาะฤดูหนาวและที่ขาดไม่ได้ก็คือไฟฉายนำทาง ใช้เวลาเดินเท้าประมาณครึ่งชั่วโมงก็จะมาถึงผานกแอ่น เส้นทางเดินเท้าเป็นทางใหญ่ และเดินง่ายค่อนข้างราบเรียบ และไม่มีการเลี้ยวไปเลี้ยวมา
ผานกแอ่นเป็นหน้าผาเล็กๆ ที่มีทิวสนขึ้นริมหน้าผา ถึงปุ๊บก็ยืนชมพระอาทิตย์ที่จะค่อยๆ โผล่พ้นตีนฟ้าขึ้นมาทีละนิดๆ เมื่อแสงสีทองเริ่มสว่างขึ้นจะมองเห็นทะเลหมอกสีขาวโพลนที่อยู่เต็มหุบ โดยเฉพาะในฤดูหนาวจะงดงามมาก
สายหน่อยทะเลหมอกเริ่มเคลื่อนตัวจางหายไป จะเห็นผานกเค้าปรากฏในที่ราบและเห็นทิวทัศน์ข้างล่างงดงาม
ในเที่ยวกลับฟ้าแจ้งแล้ว ตามเส้นทางเดินผ่านลานหินจะได้พบกับพืชประเภทกล้วยไม้มากมายตามลานหินกว้างใหญ่ เช่น เอื้องแซะภู มอส ไลเคนสวยๆ เหมือนมีใครมาจัดสวนไว้
ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน จะได้พบกับดอกไม้ชูช่อมากมาย และควรเดินด้วยความระมัดระวัง
ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน บริเวณริมทางเดินใกล้ผานกแอ่นจะพบกุหลาบขาวขึ้นเป็นดงใหญ่ช่วงเวลาเดียวกันยังพบต้นว่านมหาเมฆ ขึ้นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะช่วงที่เกิดไฟป่าแล้ว จะมีว่านมหาเมฆขึ้นเป็นพิเศษ
อีกจุดเด่นก็คือ ลานวัดพระแก้ว ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปตั้งแต่ปีพ.ศ. 2463 นายอำเภอวังสะพุงขณะนั้น ขึ้นไปสร้างไว้ ก็คือพระพุทธรูปลานวัดพระแก้วแห่งนี้
จึงจัดได้ว่าเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งบนภูกระดึง
ที่ทำการ-ผาหมากดูก ระยะทาง 2 กม.
จากที่พักเดินทางข้ามลำธารเล็กๆ ไปตามทางทิศตะวันตก ระหว่างทางเป็นป่าสวยงามใช้เวลาไม่มากนักก็ถึงผาหมากดูก ก่อนถึงผาหมากดูก ประมาณ 300 ม. ด้านขวามือ ถ้าเป็นช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมจะได้เห็นทุ่งดอกว่านมหาเมฆด้วย ผาหมากดูกเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่ใกล้ที่สุด สำหรับคนที่เดินทางไกลไม่ไหว อาจชมพระอาทิตย์ตกที่นี่ก็ได้ บริเวณผาหมากดูกเป็นลานหินหินกว้าง มีหินก้อนใหญ่ๆ วางเรียงรายอยู่ ริมหน้าผามีร่องลึกเป็นรอยแยกคล้ายลานหินแตก จากผาหมากดูกจะมองเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกล เห็นภูผาจิตอยู่เบื้องหน้า ยอดภูผาจิตนี้เป็นยอดเขาสูงสุดของอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวใน จ.เพชรบูรณ์
ฤดูหนาว เป็นช่วงตะวันอ้อมข้าว ดวงอาทิตย์จะลับขอบฟ้าบริเวณเหลี่ยมเขา ฤดูร้อน ดวงอาทิตย์จะตกลงในหมู่ทิวสนบนแผ่นดินสองบรรยากาศที่งดงามในฤดูกาลที่ต่างกัน
ผาหมากดูก-ผาจำศีล ระยะทาง 0.6 กม.
จากผาหมากดูก เดินต่อไปเพียง 600 ม. บนเส้นทางเลียบหน้าผาไปผ่านทุ่งหญ้าป่าสนที่งดงาม ไม่นานนักจะถึงผาจำศีล ซึ่งมีลักษณะเป็นผาสูงประมาณ 50-60 ม. สามารถเดินลงไปข้างล่างซึ่งจะพบลานหินกว้างกว่าสิบเมตรยกพื้นเหมือนอาสนะที่พะสงฆ์นั่ง เมื่อแหงนหน้ามองขึ้นข้างบนก็จะเห็นแผ่นหินยื่นออกมาปกคลุมเหมือนหลังคาด้วยบรรยากาศเช่นนี้จึงได้ชื่อว่าผาจำศีล ซึ่งในความเป็นจริงที่นี่จะมีพระภิกษุผุ้แสวงหาความสงบมาธุดงค์ปฏิบัติธรรมอยู่บ่อยครั้ง เส้นทางเดินยังมีกุหลาบขาวมากด้วยและหม้อข้าวหม้อแกงลิงเต็มสองข้างทางไปหมด
ผาจำศีลน้อย–ผานาน้อย ระยะทาง 0.7 กม.
จากผาจำศีลเดินเลียบเส้นทางหน้าผาไปอีก 700 ม. ถึงผานาน้อย สาเหตุที่ได้ชื่อว่าผานาน้อยก็เพราะบริเวณผานี้อยู่ตรงกับหมู่บ้านข้างล่าง ที่มีชื่อว่าหมู่บ้านนาน้อย ผานี้เหมาะสำหรับพักผ่อนชมวิว โดยตัวหน้าผาเองแล้วเป็นหน้าผาลานหินไม่กว้างนัก บริเวณผานาน้อยนี้หากไม่เดินเลียบหน้าผาต่อไปก็จะไม่มีทางแยกไปสระแก้ว หรือสระอโนดาตได้
ผานาน้อย–ผาเหยียบเมฆ ระยะทาง 2 กม.
เดินต่อจากผานาน้อย เลียบหน้าผาไปอีก 2 กิโลเมตรถึงผาเหยียบเมฆ ผาเหยียบเมฆเป็นผาขนาดกว้างใหญ่พอสมควร มีลักษณะคล้ายอยู่ใกล้เมฆ ปานว่าจะเหยียบเมฆได้ ผาเหยียบเมฆนี้เป็นอีกจุดหนึ่งที่สามารถชมพระอาทิตย์ตกได้งดงาม และเป็นจุดชมทัศนียภาพได้งดงามมากแห่งหนึ่ง
ผาเหยียบเมฆ–ผาแดง ระยะทาง 2.5 กม.
หลังจากพักเหนื่อยที่ผาเหยียบเมฆแล้ว เดินต่อไปอีก 1.5 กม. ถึงผาแดง ซึ่งเป็นหน้าผาเล็กๆ ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่แวะที่ผานี้ มักจะเดินต่อไปเลย เพราะอีก 2.5 กม. ก็จะถึงสุดยอดจุดชมพระอาทิตย์ตกที่งดงามที่สุด ตลอดเส้นทางเดินช่วงนี้จะเป็นทางทรายสีขาวสลับกับสวนหินที่มีพืชแปลกตามากมายรวมทั้งหม้อข้าวหม้อแกงลิงด้วย
ผาแดง–ผาหล่มสัก ระยะทาง 2.5 กม.
แข็งใจอีกนิดเดินรวดเดียว 2.5 กม. จุดหมายที่ผาหล่มสักก็ถึงแล้ว ควรจะมาถึงที่ผาหล่มสักประมาณช่วงเย็นๆ เพื่อที่จะชมพระอาทิตย์ตก ถ้ามาหัววันไป จะรอนาน
มีคำกล่าวจากนักท่องเที่ยวมาหลายยุคหลายสมัยแล้วว่า จุดเด่นที่น่าสนใจมากที่สุดบนภูกระดึงก็คือผาหล่มสัก ถ้าใครไม่ได้ไปผานกแอ่นถือว่าการมาเที่ยวภูกระดึงไม่สมบูรณ์ แต่ถ้าไม่ได้มาผาหล่มสักถือว่ามาไม่ถึงภูกระดึงเลยทีเดียว
จากที่พักเดินผ่านหน้าผาต่างๆ จนมาถึงผาหล่มสักระยะทาง 9 กม.เป็นหน้าผาที่ไกลที่สุดจุดเด่นของที่นี่คือ การที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ชะง่อนหินก้อนหนึ่งให้ยื่นออกไปจากหน้าผา ไม่เท่านั้นยังมีต้นสนต้นหนึ่งไปขึ้นติดชะง่อนหิน และยื่นกิ่งใหญ่ออกไปขนานกับก้อนหิน ดูช่างลงตัวและงดงามยิ่งนัก
พระอาทิตย์ก็เป็นใจมาตกลงใกล้ๆ ชะง่อนผาดวงงกลมโต เป็นภาพที่งดงามมากโดยเฉพาะฤดูหนาวที่ท้องฟ้าปลอดโปร่งแจ่มใส ไม่มีเมฆมากเกินไป คนจะมากในฤดูท่องเที่ยว บางครั้งต้องต่อแถวเพื่อถ่ายรูปกันเลยทีเดียว ความนิยมและความชื่นชอบของนักท่องเที่ยวที่มีต่อผานี้ จึงมีคนตั้งฉายาของผาหล่มสักว่า “ผาดารา”
ผาหล่มสัก ห่างจากที่พัก 9 กม. เป็นผาที่ไกลที่สุด แต่เป็นผาที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยเฉพาะยามเย็นช่วงที่พระอาทิตย์จะลับขอบฟ้า เมื่อยืนที่ผาหล่มสัก มองเห็นเทือกเขาสลับซับซ้อนทางตะวันตก ส่วนใหญ่อยู่ในเขต จ.เพชรบูรณ์
หลังพระอาทิตย์ลับฟ้าไปแล้ว ความมืดเขามาแทนที่ เดินกลับเป็นกลุ่มๆ อากาศยามค่ำจะเย็นเพราะลมจะพัดแรงมาก จากหน้าผาปะทะขึ้นมา ควรเตรียมเสื้อกันหนาว หมวกไหมพรม และไฟฉายให้พร้อม และที่สำคัญรองเท้าต้องเป็นรองเท้าที่คุ้นเคยใส่สบาย เพราะต้องเดินกลับยาวไกล 9 กม. ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชม. แล้วแต่เรี่ยวแรงของแต่ละคน
ถึงที่พักประมาณสองทุ่มกว่า..หลังอาหารเย็น คืนนี้หลับสนิทแน่ๆ
เส้นทางที่พัก–น้ำตกต่างๆ
ในขณะที่เส้นทางเลียบผาจะเป็นทุ่งหญ้าและป่าสนเดินสบายๆ แต่สำหรับเส้นทางไปท่องเที่ยวน้ำตกต่างๆ นั้น จะเป็นช่วงที่ทุ่งหญ้าจรดกับป่าดงดิบซึ่งมีลำธารวังกวางไหลผ่านไปยังน้ำตกต่างๆ และเส้นทางสู่น้ำตกเหล่านี้ยังเดินเชื่อมสถานที่ท่องเที่ยวประเภทหน้าผาต่างๆ และสระน้ำธรรมชาติได้ด้วย
น้ำตกวังกวาง
ไหลลงมาจากหน้าผา 5 ม. ตัดขวางลำธารอยู่ เมื่อน้ำไหลลงจะตกลงสู่วังน้ำเบื้องล่าง สายน้ำนี้ไหลมาจากลำธารวังกวางที่เกิดจากที่ราบกว้างใหญ่มีน้ำไหลตลอดปีบริเวณหน้าสำนักงานและที่พัก
น้ำตกแห่งนี้ได้รับสมญานามว่าเป็นเสมือนวังของกวาง ด้านล่างของน้ำตกมีโพรงลึกเข้าไปเหมือนถ้ำและมักมีกวางอาศัยอยู่จึงเรียกน้ำตกวังกวาง ลำธารวังกวางนี้ไหลไปทางทิศเหนือแล้ววนกลับมามีน้ำตกอีกแห่ง อยู่ห่างออกไปคือน้ำตกเพ็ญพบใหม่
น้ำตกเพ็ญพบใหม่
น้ำตกที่งดงามแห่งหนึ่งของภูกระดึง สายน้ำนี้เกิดจากการรวมตัวของลำธารสวรรค์และลำธารวังกวาง ตอนบนของน้ำตกเป็นลานหินกว้างใหญ่ที่มีกุมภลักษณ์ (หลุมรูปหม้อ) อยู่มากมาย น้ำตกเพ็ญพบไม่สูงมาก แต่มีแนวหน้าผากว้าง ตัวน้ำตกอยู่บริเวณปากทางเข้าป่าปิดด้านน้ำตกผาน้ำผ่า ในฤดูฝนสายน้ำนี้จะไหลแรงและเชี่ยวกราก ริมน้ำตกมีพรรณไม้มากชนิดสลับกันอีกฟากหนึ่งเป็นป่าไผ่ขึ้นหนาแน่น
น้ำตกเพ็ญพบ
นับเป็นน้ำตกใหญ่แห่งหนึ่งบนภูกระดึง น้ำตกนี้เกิดจากลำธารสองสายไหลมารวมกัน นั่นคือลำธารเพ็ญพบและลำธารถ้ำใหญ่ น้ำตกเพ็ญพบมีลำธารกว้างก็จริง แต่ตัวน้ำตกไม่สูงมากนัก อีกทั้งน้ำก็ไม่ลึกจึงเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวที่ใช้เป็นที่เล่นน้ำและพักผ่อนกัน
น้ำตกโผนพบ
สายน้ำที่ก่อเกิดเป็นน้ำตกโผนพบนี้มาจากลำธารวังกวางเช่นเดียวกันกับน้ำตกเพ็ญพบใหม่ ครั้งหนึ่งนักชกแชมป์โลกคนแรกของไทย โผน กิ่งเพชร ได้ขึ้นมาฟิตซ้อมร่างกายบนภูกระดึง เพื่อปรับสภาพร่างกายให้คุ้นกับอากาศเย็นก่อนจะไปชกมวยที่ต่างประเทศ และระหว่างทางวิ่งออกกำลังกายได้ไปพบกับน้ำตกแห่งนี้ จึงเป็นที่มาของชื่อน้ำตกโผนพบ ลักษณะของน้ำตกไหลตกลงมาเป็นชั้นๆ ดูงดงามมา
น้ำตกถ้ำใหญ่
จัดเป็นน้ำตกใหญ่แห่งหนึ่งไหลมาจากลำธารสวรรค์ รายล้อมไปด้วยป่าดิบ ลักษณะของน้ำตกคล้ายกับถ้ำมีผาหินยื่นออกไปใต้ผาหิน มีโพรงถ้ำลึกเข้าไป บริเวณใต้ผาสามารถเข้าไปยืนดูสายน้ำ เสน่ห์อย่างหนึ่งของน้ำตกแห่งนี้คือยามต้นฤดูหนาวจะมีใบเมเปิ้ลสีแดงร่วงหล่นเกลื่อนเป็นลานสวยสีแดงที่ตัดกับสีเขียวของพืชจำพวกมอสและเฟิน
น้ำตกธารสวรรค์
น้ำตกแห่งนี้มีลักษณะแปลกจากลักษณะภูมิประเทศ เพราะตัวน้ำตกเกิดจากการที่ลำธารไหลมาตามพื้นราบ และมาตกลงที่หน้าผาน้ำตกซึ่งเกิดจากการเคลื่อนตัวของแผ่นหินในบริเวณนั้น น้ำที่ไหลมาจึงตกลงสู่เบื้องล่าง และไหลลัดเลาะต่อไปตามร่องหิน
น้ำตกถ้ำสอเหนือ
เป็นน้ำตกใหญ่ที่เกิดจากลำธารถ้ำสอ แม้จะอยู่ไกลจากที่พัก แต่ตัวน้ำตกก็อยู่ในเส้นทางท่องเที่ยวแบบวงกลม และเป็นน้ำตกที่สวย สายน้ำตกลงมาจากหน้าผาเป็นม่านสูงราว 10 เมตร ตกลงเบื้องล่างสามารถเดินลงมาข้างล่างแล้วมองเห็นม่านน้ำตกได้ ลำธารเขียวขจีไปด้วยมอส และปกคลุมด้วยป่าดงดิบ เหนือน้ำตกมีดงกุหลาบแดง หากมาในฤดูร้อนจะพบกับสีสันสวยงามของกุหลาบแดงเป็นของแถม
สระแก้ว
จากธารหลายๆ สายที่ไหลมารวมกันเกิดเป็นสระน้ำขึ้นและถือเป็นส่วนต้นน้ำของลำธาร “ธารสวรรค์” สระแก้วมีลักษณะเป็นวังขนาดไม่กว้างนัก แต่น้ำใสมากจนมองเห็นพื้นเบื้องล่าง สระน้ำแห่งนี้เป็นแหล่งนัดพบฝูงเก้ง กวางที่ลงมากินน้
ยามค่ำ
สระอโนดาต
เป็นสระน้ำขนาดไม่ใหญ่มาก มีทิวสนเรียงรายสวยงาม สระอโนดาตเกิดจากลำธารหลายสายไหลมารวมกันเป็นสระน้ำ ปากธารน้ำไหลมีลานหินโผล่ขึ้นมาถ้าเป็นช่วงน้ำน้อยสามารถไปนั่งเล่นได้ เส้นทางที่เชื่อมต่อกับสระอโนดาตสามารถเดินไปบรรจบกับเส้นทางสู่น้ำตกถ้ำสอเหนือและถ้ำสอใต้
เส้นทางเชื่อมน้ำตกกับหน้าผา
คุณสามารถเดินเที่ยวทั้งเส้นทางสายน้ำตกและหน้าผาได้ในวันเดียว หากมองในแผนที่จะพบว่ามีเส้นทางเดินเที่ยวเป็นเส้นสงกลมบรรจบกันนั่นก็คือเส้นทางสายนี้นี่เอง โดยจะเริ่มจากเส้นทางสายน้ำตก เมื่อมาถึงน้ำตกถ้ำสอเหนือจะมีเส้นทางเดินตัดไปยังผาหล่มสัก ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร เพื่อไปรอชมวิวพระอาทิตย์ตก จากนั้นค่อยเดินกลับเส้นทางเลียบหน้าผา ระยะทาง 9 กิโลเมตรจนถึงที่พัก ต้องใช้เวลา 1 วันเต็มในการเดินเที่ยวบนเส้นทางนี้
Where to eat & stay
ลานกางเต็นท์
ลานกางเต็นท์ลานวังกวางอยู่บนหลังแป ลักษณะเป็นลานสนามหญ้าโล่งกว้างขวางมาก มีเต็นท์หลากขนาดรองรับพร้อมถุงนอน ที่รองนอน หมอน และผ้าห่มให้คุณเช่าได้อย่างสะดวกสบาย คนที่นำเต็นท์ไปเองหรือเช่าเต็นท์ของเอกชน ต้องเสียค่าบริการสถานที่กางเต็นท์ บริเวณพื้นที่รอบลานกางเต็นท์ มีห้องน้ำ และห้องอาบน้ำแยกชายหญิงให้บริการอยู่หลายจุด
บ้านพัก
อุทยานแห่งชาติภูกระดึงมีบ้านพักให้บริการให้เลือกทั้งแบบบ้านพักหลังใหญ่ บ้านพักหลังเล็กที่แบ่งเป็นห้อง หรือเรือนพักเยาวชนแต่บ้านพักส่วนใหญ่จะถูกจองจนเต็มหมดในฤดูท่องเที่ยว หากคุณต้องการพักผ่อนในบ้านพักสบายๆ ก็ควรจองล่วงหน้าในระบบออนไลน์ที่ dnp.go.th
อาหาร
ในเรื่องอาหารการกินที่นี่มีจุดบริการอาหาร และเครื่องดื่มอยู่บริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยวศรีฐาน ระหว่างทางเดินขึ้นเขา ทั้งที่ซำแฮก ซำกอซาง ซำกกโดน และซำแคร่ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง ใกล้กับลานกางเต็นท์ รวมถึงจุดชมทิวทัศน์สำคัญๆ บนยอดภูกระดึงด้วย แทบจะไม่ต้องเตรียมเสบียงหรืออุปกรณ์หุงหาอาหารขึ้นมาเลย