ชมตึกเก่าชิโนโปรตุกีส
เสน่ห์ของเกาะภูเก็ตไม่ได้มีแต่เพียงธรรมชาติของหาดทราย น้ำทะเล และทิวทัศน์อันงดงามเท่านั้น ภายในเกาะแห่งนี้ยังมีประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม และวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ควรค่าแก่การไปเที่ยวชมอยู่หลายแห่ง ทั้งตึกเก่าสไตล์ชิโนโปรตุกีสในตัวเมือง ศาลากลางจ.ภูเก็ต วัดฉลอง พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติถลาง และอนุสาวรีย์วีรสตรี ซึ่งทุกแห่งล้วนมีความสำคัญทั้งในด้านการท่องเที่ยว และทางด้านประวัติศาสตร์ของเกาะภูเก็ตแห่งนี้
ชมตึกเก่าชิโนโปรตุกีส
Location: ภายในตัวเมืองภูเก็ต
จากอนุสาวรีย์วีรสตรีใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 402 มาทางตัวเมืองภูเก็ต เมื่อถึงตัวเมืองภูเก็ตเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 4020 บริเวณสี่แยกโรงแรมสตรีภูเก็ต ตรงไปไมไกลจากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนเยาวราช บริเวณนี้จะเป็นหนึ่งในย่านที่มีอาคารสไตล์ชิโนโปรตุกีส
หากคุณชื่นชอบที่พักขนาดเล็กที่มีการตกแต่งอันสวยงาม และเพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก คุณจะประทับใจที่พักภายในตัวเมืองภูเก็ต เพราะทุกแห่งมีความโดดเด่นมีสไตล์เป็นส่วนตัว และบางแห่งยังนำตึกเก่าสไตล์ชิโนโปรตุกีสมาดัดแปลงเป็นที่พักแสนสวยอีกด้วย
อาคารสไตล์ชิโนโปรตุกีส เป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่สืบทอดมาตั้งแต่เกาะภูเก็ตยังเป็นเมืองท่าอันเจริญรุ่งเรืองของแหลมมลายู ปัจจุบันอาคารสวยอันเป็นเอกลักษณ์เหล่านี้ยังคงถูกชาวภูเก็ตเก็บรักษาไว้อย่างดี ซึ่งได้สร้างบรรยากาศให้ตัวเมืองภูเก็ตน่าเดินเที่ยวเพื่อเก็บภาพประทับใจกันตลอดวัน
สำหรับจุดเริ่มต้นของอาคารสไตล์ชิโนโปรตุกีสในเกาะภูเก็ต คงต้องย้อนกลับไปในสมัยภูเก็ตยังเป็นเพียงเมืองเหมืองแร่ดีบุก โดยในขณะนั้นได้มีชาวโปรตุเกส ชาวดัตช์ ชาวอังกฤษ และชาวจีนเข้ามาขุดแร่ดีบุกกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้คนเหล่านี้ไม่ได้มาเพียงมือเปล่าแต่ยังได้นำศิลปะ และสถาปัตยกรรมของตนเองมาเผยแพร่สู่อาคารบ้านเรือนในเมืองภูเก็ตกันด้วย และเมื่อผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาสถาปัตยกรรมเหล่านี้ก็ได้เกิดการผสมผสานจนเกิดเป็นสถาปัตยกรรมสไตล์ชิโนโปรตุกีสขึ้นมานั่นเอง
สำหรับคำว่า ชิโนโปรตุกีส มาจากการนำคำว่า ชิโน หมายถึง คนจีน และคำว่า โปรตุกีส หมายถึง ชาวโปรตุเกส มาต่อกัน เพราะสถาปัตยกรรมสไตล์ชิโนโปรตุกีสเป็นการผสมผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมแบบยุโรป (โคโลเนียล) และศิลปะการตกแต่งแบบจีน ซึ่งจุดเด่นที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ ตัวอาคารจะมีเสาแบบกรีกโรมัน หน้าต่างออกแบบให้เป็นวงโค้งรูปเกือกม้า ส่วนบานประตู หน้าต่างจะเป็นศิลปะแบบจีน รวมถึงการตกแต่งภายในอาคารก็จะพบศิลปะแบบจีนผสมผสานอยู่ทุกพื้นที่
ปัจจุบันภายในตัวเมืองภูเก็ตจึงมีอาคารสไตล์ชิโนโปรตุกีสให้เที่ยวชมกันอยู่หลายแห่ง เช่น บริเวณถนนถลาง ถนนดีบุก ถนนกระบี่ และถนนเยาวราช ส่วนใหญ่มีให้เที่ยวชม 2 รูปแบบ คือ อาคารตึกแถว และ คฤหาสน์ ซึ่งบางแห่งเคยเป็นบ้านของเจ้าขุนมูลนายในอดีตจึงมีประวัติน่าสนใจให้ศึกษาด้วย ส่วนบางแห่งได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ โรงเรียน โรงพยาบาล ร้านค้า และร้านอาหารบรรยากาศดีๆ กันหลายแห่ง ซึ่งหากคุณพักอยู่ภายในตัวเมืองจะเลือกเดินเที่ยว หรือขี่จักรยานชมตึกเก่าก็สะดวกทั้งนั้น
ตระกูลเก่าแก่ของภูเก็ต
ในอดีตภูเก็ตนับเป็นเหมืองแร่ใหญ่ที่มีชาวจีนฮกเกี้ยนเข้ามาลงทุนทำเหมืองแร่ และมาอาศัยอยู่ในภูเก็ตเป็นจำนวนมาก แม้จะหมดยุคเหมืองแร่ไปแล้ว แต่ตระกูลต่างๆ ก็ยังคงสืบทอดเชื้อสายจากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงปัจจุบัน เช่น ตระกูล ณ ระนอง ตระกูลงานทวี ตระกูลบุญสูง ตระกูลตันติวิท ตระกูลหงส์หยก ตระกูลอุปัติศฤงค์ ตระกูลวานิช ฯลฯ ซึ่งตระกูลเก่าแก่เหล่านี้นับว่ามีกิจการการค้ามาตั้งแต่สมัยภูเก็ตรุ่งเรืองเหมืองแร่ ปัจจุบันจึงเป็นตระกูลที่มีบทบาทสำคัญในการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมของภูเก็ตในหลายๆ ด้าน
ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต
Location: ถ.นริศร ต.ตลาดใหญ่ อ.เมืองภูเก็ต
จากสี่แยกโรงเรียนสตรีภูเก็ตเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 4020 ถึงศาลจังหวัดภูเก็ตเลี้ยวขวา ขับตรงไปจากนั้นพบสี่แยกให้เลี้ยวซ้ายอีกครั้งเข้าสู่ถนนนริศร จะพบศาลากลางจังหวัดภูเก็ต
อาคารอันสวยงามภายในตัวเมืองภูเก็ตไม่ได้มีเพียงบ้านเรือนของประชาชนเท่านั้น ภายในสำนักงานของหน่วยงานราชการก็มีอาคารเก่าแก่ให้แวะไปเที่ยวชมสถาปัตยกรรมอันสวยงามเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต
ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2450-2456 ในสมัยพระยารัษฏานุประดิษฐ์มหิศรภักดี หรือในชื่อ คอซิมบี้ ณ ระนอง โดยขณะนั้นได้ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต และได้สั่งให้บริษัททุ่งคาคอมเปาต์มาเป็นผู้สร้างอาคาร เพื่อแลกกับสัมปทานในการขุดแร่ในเกาะภูเก็ต ทางบริษัทจึงได้จ้างช่างชาวอิตาลีมาเป็นผู้ออกแบบ และก่อสร้าง จึงทำให้ศาลากลางจังหวัดภูเก็ตมีสถาปัตยกรรมแบบยุโรป และเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กหลังแรกของประเทศไทย
สำหรับลักษณะเด่นของอาคารเป็นอาคารไม้สักรูปทรงสี่เหลี่ยมสองชั้น ตรงกลางเป็นลานกว้างเปิดโล่งไม่มีหลังคา มีระเบียงรอบอาคารทั้งภายนอก และภายใน จึงสามารถเดินได้รอบอาคารทั้งสองชั้น ในส่วนของประตูมีมากถึง 99 ประตู แต่หน้าต่างมีเพียง 2 บาน ซึ่งเป็นการสร้างต่อเติมในภายหลัง ประตูทุกบานประดับตกแต่งด้วยลวดลายฉลุอย่างสวยงาม นอกจากนี้บริเวณภายนอกอาคารยังประดับตกแต่งด้วยสวนหย่อม และสนามหญ้าทำให้ศาลากลางมีบรรยากาศร่มรื่นน่ามาเดินเที่ยวชมยิ่งขึ้น
ปัจจุบันศาลากลางจังหวัดภูเก็ตได้ถูกทางกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไปสามารถมาเที่ยวชมสถาปัตยกรรมอันงดงามแห่งนี้ได้ในเวลาราชการ
ผู้ว่าราชการจังหวัดคนแรกของภูเก็ต?
ตามหลักฐานทางราชการผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตคนแรกคือ พระยาวิสูตรสาครดิฐ (สาย โชติกะเสถียร) โดยท่านดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตก่อนปีพ.ศ. 2450 สำหรับผู้ว่าราชการภูเก็ตคนปัจจุบันคือ นายไมตรี อินทุสุต เริ่มดำรงตำแหน่งในปีพ.ศ. 2555-ปัจจุบัน รวมภูเก็ตมีผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งหมด 43 ท่าน
วัดฉลอง
Location: ถ.เจ้าฟ้าตะวันตก อ.เมืองภูเก็ต
จากตัวเมืองภูเก็ตใช้ทางหลวงหมายเลข 4021 ผ่านสามแยกบริเวณสนามกีฬาสุรกุล เลี้ยวซ้ายไปทางห้าแยกฉลอง วัดฉลองจะอยู่ทางซ้ายมือก่อนถึงห้าแยกฉลองประมาณ 4 กิโลเมตร รวมระยะทางห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ 8 กิโลเมตร
ภายในเกาะภูเก็ตมีวัดวาอารามอยู่หลายแห่ง แต่ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดคือ วัดฉลอง หรือในชื่อ วัดไชยธาราราม ซึ่งเป็นวัดที่มีความโด่งดังมาจากเรื่องราวความศักดิ์สิทธ์ และคุณความดีของ หลวงพ่อแช่ม พระภิกษุผู้เป็นที่พึ่งทางจิตใจของชาวภูเก็ตมาตั้งแต่อดีตกาลจนถึงปัจจุบัน
วัดฉลอง ไม่มีหลักฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่เชื่อกันว่าสร้างในช่วงรัชกาลที่ 2 หลังจากกองทัพเมืองถลางพ่ายแพ้ให้แก่กองทัพพม่า โดยชาวบ้านได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจ และเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ต่อมาในช่วงปีพ.ศ. 2419 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีชาวจีนเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และได้รวมตัวกันเป็น อั้งยี่ สร้างความเดือดร้อนก่อเหตุปล้นทำร้ายชาวบ้านฉลองไม่เว้นวัน ชาวบ้านจึงคิดหลบหนีไปยังที่อื่นจึงนมัสการหลวงพ่อแช่มไปด้วย แต่หลวงพ่อไม่คิดหนี และช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ชาวบ้านแทน ชาวบ้านฉลองจึงร่วมมือกันต่อสู้กับอั้งยี่จนได้รับชัยชนะ จากนั้นเรื่องราวของหลวงพ่อแช่มได้ทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี มีตำแหน่งเป็นสังฆปราโมกข์แห่งเมืองภูเก็ต และทรงพระราชทานนามให้วัดฉลองให้ใหม่เป็น วัดไชยธาราราม
ปัจจุบันแม้หลวงพ่อแช่มจะมรณภาพไปเนิ่นนานแล้ว แต่ทุกวันก็ยังคงมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมวัดฉลอง และนมัสการรูปจำลองหลวงพ่อแช่มในวิหารกันอย่างเนืองแน่น ซึ่งทางวัดยังได้สร้างกุฎิทรงไทยจำลอง และหุ่นขี้ผึ้งของหลวงพ่อแช่ม หลวงพ่อช่วง และหลวงพ่อเกลื้อม เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชมกัน นอกจากนี้ถัดเข้าไปด้านในวัดยังเป็นที่ตั้ง พระมหาธาตุเจดีย์พระจอมไทยบารมีประกาศ เป็นเจดีย์ที่ประดิษฐานพระพุทธรูป พระบรมสารีริกธาตุ และด้านบนยังเป็นจุดชมวิวที่สามารถชมทิวทัศน์ได้อย่างสวยงามรอบวัด
ประเพณีเก่าแก่บนเกาะภูเก็ต
ด้วยความเป็นเกาะที่มีประวัติศาสตร์ และรุ่มรวยไปด้วยเชื้อชาติทั้งไทย จีน และชาวเล ภูเก็ตจึงเป็นเกาะที่มีประเพณีเก่าแก่ให้เที่ยวชมกันอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ประเพณีกินผักกินเจ หรือที่ชาวภูเก็ตเรียกกันว่า เจี่ยะฉ่าย โดยจะจัดในช่วงเดือนตุลาคม ตั้งแต่วันที่ 1 ค่ำ เดือน 9 จนถึง วัน 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีน นับเป็นประเพณีสำคัญของคนไทยเชื้อสายจีนบนเกาะภูเก็ต และยังเป็นประเพณีสำคัญในด้านการท่องเที่ยวด้วย
ประเพณีลอยเรือของชาวไทยใหม่ เป็นพิธีที่จัดขึ้นในช่วงกลางเดือน 6 และเดือน 11 ชาวไทยใหม่ที่อาศํยอยู่ในบริเวณบ้านราไวย์ และบ้านสะปำ จะตกแต่งเรือจำลองให้สวยงาม และทำพิธีลอยเรือออกไปในทะเล โดยเชื่อกันว่าจะเป็นการลอยเคราะห์ และนำพาความโชคดีกลับมา ซึ่งคล้ายกับประเพณีลอยกระทงของคนไทย
นอกจากนี้ก็ยังมี วันท้าวเทพกษัตรี ท้าวศรีสุนทร จะจัดทุกวันที่ 13 มีนาคมของทุกปี และวันเทศกาลอาหารทะเล ที่จัดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติถลาง
Location: ถนนสายป่าคลอก ห่างจากสี่แยกวงเวียนอนุสาวรีย์วีรสตรี 200 ม.
จากตัวเมืองภูเก็ตใช้ทางหลวงหมายเลข 402 ไปทางสะพานสารสิน ระยะทาว 12 ม. ถึงสี่แยกอนุสาวรีย์วีรสตรี เลี้ยวขวาไปทางถนนสายป่าคอกระยะทาง 200 ม.จะพบพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติถลาง
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติถลางเป็นสถานที่จัดแสดง และเก็บรักษาข้อมูลสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวถลางตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นักท่องเที่ยวที่มีความสนใจในด้านประวัติศาสตร์ และเหตุการณ์สำคัญในอดีตของชาวภูเก็ตต้องไม่พลาดมาเที่ยวชมศึกษาข้อมูลที่นี่
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติถลาง สร้างขึ้นในพื้นที่ 13 ไร่ ในเขตต.ศรีสุนทร อ.ถลาง ซึ่งเป็นอำเภอเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์สำคัญยิ่งต่อชาวภูเก็ต และประเทศไทย ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์อาณาจักรสยามได้ทำศึกสงคราม 9 ทัพกับอาณาจักรพม่า พระเจ้าปดุงกษัตริย์พม่าในขณะนั้นได้ยกกองทัพมาถึง 9 ทัพ และกระจายกำลังเข้าตีกรุงรัตนโกสินทร์จาก 5 ทิศ ซึ่งทางทิศใต้กองทัพพม่าได้เข้าโจมตีจากทางระนอง และถลาง ช่วงเวลานั้นเจ้าเมืองถลางเพิ่งถึงแก่กรรมยังไม่มีการตั้งเจ้าเมืองคนใหม่ คุณหญิงจัน ภริยาของเจ้าเมืองคนเก่า และคุณมุกน้องสาว จึงได้รวบรวมกำลังชาวเมืองถลางเข้าต่อสู้กับกองทัพพม่าจนป้องกันเมืองไว้ได้ หลังเสร็จศึกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้คุณหญิงจันเป็นท้าวเทพกษัตรี และคุณมุกเป็นท้าวศรีสุนทร
ในปีพ.ศ. 2528 ซึ่งครบรอบวาระ 200 ปี หลังจากกองทัพพม่าเข้ามาตีเมืองถลาง ทางจังหวัดภูเก็ตจึงร่วมมือกับกรมศิลปากรดำเนินการสร้างพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติถลาง เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดแสดง และเก็บข้อมูลสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตของอ.ถลาง ภายในอาคารได้รับการออกแบบให้มีรูปทรงเป็นบ้านท้องถิ่นของชาวภูเก็ต 2 หลัง อาคารหลังแรกจัดแสดงเรื่องก่อนประวัติศาสตร์ชายฝั่งทะเลตะวันตก สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์เมื่ออารยธรรมอินเดียเผยแพร่เข้ามา ประวัติและวิธีการทำเหมืองแร่ดีบุก และสวนยางพารา ศิลปะพื้นบ้านและชาติพันธุ์วิทยาของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่บริเวณคาบสมุทรมลายู สำหรับอาคารหลังที่สองจัดแสดงฉากและเรื่องราวของศึกถลาง ชีวิตความเป็นอยู่และประเพณีที่น่าสนใจของชาวจีนในภูเก็ต และเรื่องราวความเป็นมาและถิ่นอาศัยของชาวเลในภูเก็ต
เที่ยวถนนสายสวนยางสายสุดท้ายที่ถลาง
หากคุณเป็นนักขับขี่ที่ชื่นชอบการชับรถชมวิวสวนยางอันร่มรื่น ในเขตต.ป่าคลอก และต.ไม้ขาว ของอ.ถลาง ยังมีถนนสายเล็กๆ ติดกับสวนยางพาราให้คุณขับรถเที่ยวชมสวนยางพารานับร้อยไร่ไปจนถึงหาดไม้ขาว ซึ่งเชื่อกันว่าถนนสายนี้เป็นถนนสายสวนยางสายสุดท้ายของเกาะภูเก็ต
อนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรี ท้าวศรีสุนทร
Location: สี่แยกวงเวียนอนุสาวรีย์วีรสตรี ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง
จากตัวเมืองภูเก็ตใช้เส้นทางหมายเลข 402 มุ่งขึ้นเหนือมาทางสะพานสารสิน 12 กม. จะพบสี่แยกวงเวียนอนุสาวรีย์วีรสตรี อนุสรณ์ของทั้งสองท่านตั้งอยู่ใจกลางวงเวียน
อนุสรณ์สถานแห่งนี้ทางจังหวัด และชาวภูเก็ตร่วมใจสร้างขึ้น เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เสียสละในประวัติศาสตร์ และสดุดีวีรกรรมของวีรสตรีทั้งสองพระองค์ในการนำชาวบ้านช่วยกันปกป้องเมืองถลางให้รอดพ้นจากกองทัพพม่าในสมัยรัชกาลที่ 1 ปัจจุบันบริเวณอนุสรณ์สถานนับเป็นสี่แยกสำคัญที่นักท่องเที่ยว และชาวบ้านใช้สัญจรไปมาสู่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ
ท้าวเทพกษัตรี และท้าวศรีสุนทร เป็นสองวีรสตรีไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่เดิมท้าวเทพกษัตรีมีชื่อว่า คุณหญิงจัน ส่วนท้าวศรีสุนทรมีชื่อว่า คุณมุก ทั้งสองพระองค์นับเป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยในช่วงทำศึกสงคราม 9 ทัพกับอาณาจักรพม่า ในขณะนั้น 1 ใน 9 กองทัพของพม่าได้เดินทัพเข้ามาทางปักษ์ใต้เพื่อโอบล้อมกรุงรัตนโกสินทร์จากทุกทิศทาง แต่เมื่อเดินทัพมาถึงเมืองถลางกองทัพพม่าได้ถูกสองวีรสตรีไทยนำชาวบ้านมาช่วยกันต่อสู้ต้านทัพพม่าไว้ได้อย่างห้าวหาญ จนกระทั่งกองทัพพม่าต้องพ่ายแพ้กลับไป ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาชื่อของสองวีรสตรีจึงถูกจารึก และยกย่องอยู่ในประวัติศาสตร์ชาติไทย และเป็นที่เคารพนับถือของชาวภูเก็ตจวบจนปัจจุบัน
หากคุณเดินทางไปเที่ยวเกาะภูเก็ต แวะมาเที่ยวชม และนมัสการอนุสรณ์สถานของสองวีรสตรีได้ที่บริเวณสี่แยกวงเวียนอนุสาวรีย์วีรสตรี เป็นอนุสาวรีย์ขนาดเท่าคนจริงยืนอยู่บนแท่นยกสูง 5 ม. การแต่งกายเสมือนจริงนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อแขนยาว รัดผ้าสไบตะแบงมาน ทรงผมดอกกระทุ่ม มือขวาถือดาบ ส่วนมือซ้ายของท้าวเทพกษัตรีย์ จับมือขวาของท้าวศรีสุนทร หากขับรถมาจากสะพานสารสินจะไปยังตัวเมืองภูเก็ต ระหว่างทางก็จะพบอนุสรณ์สถานของทั้งสองท่านตั้งอยู่อย่างโดดเด่นกลางวงเวียน และนอกจากอนุสรณ์สถานภายในจังหวัดภูเก็ตยังมีชื่อถ.เทพกษัตรี ต.เทพกษัตรี และต.ท้าวศรีสุนทรด้วย
เที่ยวต่อเนื่องเขาพระแทว ชมปาล์มหลังขาว และดูน้ำตกโตนไทร น้ำตกบางแป
เขาพระแทว ตั้งอยู่ในเขตอำเภอถลาง เป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์จนได้ชื่อว่าเป็นปอดแห่งภูเก็ต ที่นี่จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการเดินป่า ชมพรรณไม้ เที่ยวน้ำตก ภายในสถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าเขาพระแทว จะมี 2 เส้นทางเดินป่าให้คุณเลือก คือ เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกโตนไทร ระยะทาง 2 กม. เดินลัดเลาะน้ำตก ผ่านป่าดิบชื้น และสิ้นสุดด้วยการชมปาล์มหลังขาวที่ทางสถานีนำมาปลูกใกล้บ้านพักนักท่องเที่ยว
สำหรับคนชอบเดินป่าเป็นชีวิตจิตใจ มีเส้นทางน้ำตกโตนไทร-น้ำตกบางแป ระยะทาง 4 กม.ให้เดินชมพรรณไม้ใหญ่สลับกับปาล์มหลังขาวที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เส้นทางนี้ใช้เวลาเดินชมประมาณ 2 ชม.