เที่ยวตัวเมืองเพชรบุรี

Trips เพชรบุรี

เขาวัง สวยเป็นพิเศษต้นฤดูร้อนด้วยดอกลีลาวดีสะพรั่ง

เที่ยววัง ชมวัด

ทางหลวงหมายเลข 4 หรือถ.เพชรเกษมที่ตัดผ่านจ.เพชรบุรี ก่อนจะเข้าสู่จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวได้ว่าเป็นประตูสู่ภาคใต้ และทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงที่ผ่านอ.เมืองเพชรบุรีนี้ยังผ่านเขาวัง โบราณสถานคู่บ้านคู่เมืองที่มีกลุ่มเจดีย์และอาคารสีขาวปรากฏอยู่บนยอดเขาขนาดย่อม มองเห็นได้แต่ไกล รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวสำคัญส่วนใหญ่ก็อยู่ในตัวเมืองเช่นกัน ทั้งพระราชวัง ที่มีสถาปัตยกรรมอันสวยงามให้ได้ชม วัดวาอาราม ที่มีงานปูนปั้นฝีมือสกุลช่างเพชรบุรีอันโดดเด่น แต่ละแห่งอยู่ไม่ไกลกัน ขับรถยนต์เที่ยวชมได้ง่าย จะเที่ยวแบบเช้ามาเย็นกลับ หรือมาพักผ่อนในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ก็ทำได้เช่นกัน

Location จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 (สายธนบุรี-ปากท่อ) ผ่านสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และอ.ปากท่อ แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 4 ไปจ.เพชรบุรี รวมระยะทาง 123 กม. เขาวังจะตั้งอยู่ริมถ.เพชรเกษมสายเก่า (ทางเข้าตัวเมือง) หาที่จอดรถบริเวณศาลหลักเมืองที่ตั้งอยู่ทางด้านหน้าของเขาวังได้ ผู้ที่ต้องการนั่งรถรางไฟฟ้าหรือเคเบิ้ลคาร์ สถานีรถรางตั้งอยู่ทางด้านหลังของเขาวัง หากขับรถยนต์มาจากกรุงเทพฯ เมื่อเลี้ยวซ้ายเข้าเพชรบุรีมา 1 กม. จะมองเห็นธนาคารกรุงไทย สาขาพระนครคีรี อยู่ทางด้านขวามือ ให้กลับรถแล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนเลียบคลองชลประทานข้างธนาคารประมาณ 800 ม. ก็จะถึงที่ตั้งสถานีรถราง

ลมร้อนพัดมาพาให้ดอกลีลาวดีสีขาวบานสะพรั่ง

เขาวัง แต่เดิมชาวบ้านเรียกว่า เขาสมน ตามชื่อวัดที่สร้างขึ้นบริเวณเชิงเขาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างพระราชวังสำหรับเสด็จแปรพระราชฐานขึ้นบนยอดเขาแห่งนี้ และทรงพระราชทานนามว่าพระนครคีรี แต่ชาวเมืองเพชรนิยมเรียกกันสั้นๆ ว่าเขาวัง พระนครคีรีมีพระที่นั่ง พระตำหนัก วัด และกลุ่มอาคารต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบนีโอคลาสสิกผสมสถาปัตยกรรมจีน ตั้งอยู่บนยอดเขาใหญ่ 3 ยอด โดยยอดกลางเป็นที่ตั้งของพระธาตุจอมเพชร ยอดทางทิศตะวันออกเป็นที่ตั้งของวัดพระแก้ว และยอดทางทิศตะวันตกเป็นที่ตั้งของพระราชวังพระนครคีรี

หอชัชวาลเวียงชัย ชมวิวเมืองเพชรได้สวย

ทริป one day tour เที่ยวเขาวัง ชมวัดในตัวเมือง 

หากคุณมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่เขาวังโดยตรง ควรใช้เวลาอย่างน้อยครึ่งวัน เพราะบริเวณเขาวังนั้นมีสถานที่น่าสนใจอยู่หลายแห่ง ทั้งวัดพระแก้วที่ตั้งอยู่บนยอดเขา พระธาตุจอมเพชร หมู่พระที่นั่ง รวมทั้งพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงโบราณวัตถุต่างๆ ไว้อย่างน่าสนใจ ขึ้นไปเที่ยวชมเขาวังได้ 2 วิธีด้วยกัน วิธีแรก คือการเดินเท้าขึ้นไปจากบริเวณเชิงเขาวังด้านหน้า วิธีที่สอง คือการนั่งรถรางไฟฟ้าขึ้นไป ซึ่งให้บริการอยู่บริเวณด้านหลังเขาวัง จะซื้อตั๋วแบบไป-กลับ หรือแบบเที่ยวเดียวก็ได้ตามสะดวก จากนั้นช่วงบ่ายมาเที่ยวชมวัดวาอารามต่างๆ ในตัวเมือง ที่มีอยู่มากแห่ง อาจเที่ยวเฉพาะวัดเด่นๆ ที่มีงานศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์ได้ตามอัธยาศัย 

ขึ้นเขาวังได้ง่ายได้ทุกวัย

วัดมหาสมณาราม

ที่ตั้ง บริเวณเชิงเขาด้านทิศตะวันออกของเขาวัง 

เป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยา เดิมชื่อวัดสมณะ หรือวัดมหาสมน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใช้เป็นที่ประทับเมื่อครั้งทรงผนวช แต่ภายหลังเมื่อทรงสร้างพระนครคีรีแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะวัดแห่งนี้ และพระราชทานนามว่า วัดมหาสมณาราม แต่ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดเขาวัง 

ภาพเขียนของขรัวอินโข่ง

จุดเด่นน่าชมอยู่ภายในพระอุโบสถที่มีภาพเขียนฝีมือขรัวอินโข่ง จิตรกรที่มีชื่อเสียงโด่งดังของเพชรบุรี และเป็นคนไทยคนแรกที่ใช้วิธีการเขียนภาพแบบ perspective คือการใช้สีและแสงเงาในการวาด ทำให้ภาพเกิดมิติ มีระยะใกล้-ไกล และภาพในมุมมองแบบ Bird’s eye view อย่างตะวันตก ซึ่งเป็นภาพที่มองลงมาจากมุมสูง ฝาผนังพระอุโบสถทั้ง 4 ด้าน เขียนภาพเต็มทุกด้าน จัดแบ่งเป็น 2 ส่วน คือผนังส่วนบนเป็นภาพเขียนเกี่ยวกับการไปนมัสการสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนา และผนังส่วนล่างเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของคนสมัยก่อน 

การเข้าไปชมภาพเขียนภายในวัดมหาสมณารามนั้น ต้องขออนุญาตจากเจ้าอาวาสก่อน เพราะประตูของพระอุโบสถแห่งนี้ไม่ได้เปิดตลอดเวลา เพื่อเป็นการป้องกันและรักษาจิตรกรรมฝาผนังอันมีคุณค่านี้ไว้ ส่วนด้านหลังของวัดมีทางลงไปถ้ำพระพุทธโกษา สถานที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ยาว 3 วา เข้ามาชมได้

อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี

ที่ตั้ง ริมถ.เพชรเกษมสายเก่า ทางเข้าตัวเมือง

เวลาเปิด-ปิด อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. แต่ส่วนของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจะปิดเวลา 16.00 น.  

ช่วงเวลาที่สวยเป็นพิเศษคือ ฤดูร้อน เพราะดอกลีลาวดีสีขาวจะบานสะพรั่งไปทั่วทั้งเขาวัง 

เขาวัง ในวันต้นฤดูร้อน

อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าเขาวังนั้น นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสวยงามทั้งธรรมชาติและสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว ทั้งสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบนีโอคลาสสิก สถาปัตยกรรมไทย และจีน ตั้งอยู่บนยอดเขาใหญ่ 3 ยอด ยอดที่สูงสุดสูง 95 ม. ยอดเขาด้านทิศตะวันออกนั้นเป็นที่ตั้งของวัดพระแก้ว หรือวัดพระแก้วน้อย เป็นวัดประจำพระราชวังพระนครคีรี เช่นเดียวกับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นวัดประจำพระบรมมหาราชวังในกรุงเทพฯ วัดพระแก้วบนเขาวัง มีสิ่งน่าสนใจอยู่ที่เจดีย์แดง ปรางจัตุรมุข โบสถ์ที่มีสัดส่วนงดงาม ประดับด้วยหินอ่อน และพระพุทธเสลเจดีย์ เจดีย์หินอ่อนสีเทาอมเขียวที่ประกอบบนเกาะสีชังเสร็จแล้ว ได้รื้อแล้วนำลงเรือมาประกอบใหม่บนเขาแห่งนี้   

กลุ่มอาคารทางทิศตะวันออกบนเขาวัง

ส่วนเขายอดกลางเป็นที่ประดิษฐานของ พระธาตุจอมเพชร มีความสูงจากฐานเจดีย์ 40 ม. เป็นเจดีย์สีขาวทรงลังกา ภายในฐานกลวงเป็นหอกลม ตรงกลางฐานมีเสาใหญ่รับน้ำหนักองค์พระเจดีย์ มีทางเข้าไปยังหอกลมทั้งหมด 4 ทาง ด้านบนยังเป็นจุดชมวิวมองเห็นพระที่นั่งต่างๆ บนยอดเขาอีก 2 ยอด ตลอดจนทิวทัศน์ของตัวเมืองเพชรบุรีได้อย่างสวยงาม 

กลุ่มอาคารบนเขาวัง หลายสไตล์

และยอดเขาด้านทิศตะวันตก เป็นที่ตั้งของพระราชวังที่ประทับ ประกอบด้วยกลุ่มอาคารจำนวนมาก แต่ที่เข้าชมได้คือ พระที่นั่งสันถาคารสถาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์ พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท พระที่นั่งราชธรรมสภา ที่มีรูปทรงอาคารคล้ายเก๋งจีน และหอชัชวาลเวียงชัย ที่จากชั้นสองของหอนี้สามารถชมทิวทัศน์ของเมืองเพชรบุรีได้โดยรอบ นอกจากนี้ยังมีโรงรถ โรงม้า โรงครัว ศาลามหาดเล็ก ศาลาลูกขุน และป้อมปราการอยู่ทั้ง 4 ทิศ ตามแบบพระราชวังทั่วไป

เที่ยววัดในตัวเมือง

นอกจากเขาวังที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของเมืองเพชรบุรีแล้ว สิ่งหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงได้ไม่แพ้กันก็คือ งานศิลปะปูนปั้นฝีมือชั้นครูของชาวเพชรที่ปรากฏอยู่ตามวัดวาอารามต่างๆ ในตัวเมือง แต่ละแห่งล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แม้จะมีวัดอยู่มากแห่ง แต่คุณสามารถเลือกเที่ยวชมได้ตามความเหมาะสมของเวลา 

วัดมหาธาตุวรวิหาร

วัดมหาธาตุวรวิหาร

ที่ตั้ง ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 500 ม. ใกล้สะพานจอมเกล้า มาได้ทั้งทางถ.นอก หรือถ.ดำเนินเกษม สังเกตยอดปรางค์องค์ใหญ่เป็นหลัก

วัดมหาธาตุวรวิหาร ถือเป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของจ.เพชรบุรี มีความโดดเด่นอยู่ที่องค์พระปรางค์ 5 ยอด ที่มองเห็นได้แต่ไกล สร้างขึ้นตามแบบศิลปะขอม ปรางค์ประธานที่อยู่ตรงกลางนั้นมีความสูง 42 ม. ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และมีปรางค์องค์เล็กอยู่ทั้ง 4 ทิศ ปรางค์แต่ละองค์สร้างด้วยศิลาแลง 

วัดแห่งนี้ยังมีพระวิหารหลวงที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ภายในพระวิหารหลวงประดิษฐานพระพุทธรูปประธานทรงราชาภรณ์ ในลักษณะสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่จะมีพระประธานองค์แรก และองค์รองลงมาลดหลั่นกันไป มีพระพุทธรูปที่สำคัญคือ หลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์วัดมหาธาตุ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อวัดมหาธาตุ ส่วนผนังทุกด้านมีจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามทั้งภาพชาดก และเทพชุมนุม

นอกจากนี้วัดมหาธาตุยังถือเป็นแหล่งรวบรวมงานปูนปั้นฝีมือชั้นครูจากอดีตจวบจนปัจจุบัน สังเกตได้จากรูปปูนปั้นที่มีความหลากหลายทางศิลปะ ตั้งแต่องค์ปรางค์ บริเวณหน้าบันที่พระวิหารหลวง และพระอุโบสถ หรือตามช่อฟ้ารูปยักษ์ เทวดา นางฟ้า รวมทั้งเสาประตูทางเข้าอาคารต่างๆ ซึ่งเป็นภาพล้อเลียนการเมืองที่แฝงอารมณ์ขันของช่างปูนปั้นเมืองเพชรได้เป็นอย่างดี

วัดใหญ่สุวรรณาราม

วัดใหญ่สุวรรณาราม

ที่ตั้ง ถ.พงษ์สุริยา ห่างจากศาลากลางจังหวัด 1 กม.

วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา และได้มีการบูรณะใหญ่เพียงครั้งเดียวในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ศิลปกรรมที่ปรากฏในวัดจึงยังคงรักษาฝีมือช่างดั้งเดิมไว้เป็นส่วนมาก ภายในบริเวณวัดมีศาลาการเปรียญ เป็นพระตำหนักไม้สักทั้งหลังที่พระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยา พระราชทานแด่พระสังฆราชแตงโม มีลักษณะเป็นเรือนไทยขนาดใหญ่ 10 ห้อง จุดเด่นน่าชมอยู่ที่บานประตูจำหลักเป็นลายก้านขด 2 ชั้น และธรรมมาสน์เทศน์ รูปทรงบุษบกที่แกะสลักลงรักปิดทองอย่างงดงาม ส่วนพระอุโบสถมีลายปูนปั้นที่หน้าบัน รูปพระนารายณ์ทรงครุฑ และลายพุ่มกระจัง ฝีมือช่างชั้นครูของชาวเมืองเพชร ถัดเข้ามาภายในมีภาพเขียนสมัยอยุธยาที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ โดยเฉพาะภาพบริเวณผนังด้านข้างพระประธาน ซึ่งยังไม่เคยได้รับการซ่อมแซม เป็นภาพเขียนรูปเทพชุมนุมเรียงซ้อนกัน 5 ชั้น อายุกว่า 300 ปี สำหรับผู้ที่ต้องการชื่นชมศิลปกรรมในพระอุโบสถและศาลาการเปรียญ ต้องไปติดต่อขออนุญาตจากเจ้าอาวาสก่อน

บริเวณสระน้ำของวัดยังเป็นที่ตั้งของ หอไตรสมัยอยุธยา ซึ่งสร้างขึ้นจากไม้ ทำหลังคาทรงจั่วแบบเรือนของชาวบ้าน มีเสารองรับเพียง 3 เสา อาจเป็นความคิดของช่างที่ต้องการให้สอดคล้องกับที่เก็บพระไตรปิฎก 3 หมวด และที่สร้างไว้กลางน้ำก็เพื่อป้องกันพระไตรปิฎกใบลานให้พ้นจากมดปลวกที่จะมากัดกิน นับเป็นสถาปัตยกรรมที่หาชมได้ไม่ง่ายนักในปัจจุบัน

วัดกำแพงแลง

วัดกำแพงแลง

ที่ตั้ง มุมถนนวัดพระทรงที่ตัดกับถ.โพธิ์การ้อง ห่างจากศาลากลางจังหวัด 2 กม.

วัดกำแพงแลง เดิมเป็นเทวสถานในสมัยขอม สร้างขึ้นตามคติความเชื่อของศาสนาพรามณ์ แต่ภายหลังอิทธิพลของศาสนาพุทธได้แผ่ขยายเข้ามา จึงได้ดัดแปลงเทวสถานแห่งนี้ให้เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนานิกายมหายาน และหินยานตามลำดับ เทวสถานที่สร้างขึ้นเป็นสถาปัตยกรรมแบบขอมสมัยบายน ประกอบด้วยปรางค์ทั้งหมด 5 หลัง ทำด้วยศิลาแลง แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 4 หลัง สันนิษฐานว่าปรางค์แต่ละหลังใช้เป็นที่ประดิษฐานเทวรูปต่างๆ อาทิ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม พระนางอุมา เพราะในปีพ.ศ. 2499 มีผู้ขุดพบรูปสลักของพระนางอุมาในปรางค์องค์หนึ่งที่พังลงมา สิ่งที่น่าสนใจคือ แผนผังของปรางค์ปราสาทที่แตกต่างจากปรางค์แบบขอมที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือโดยปกติปรางค์ประธานจะมีโคปุระและระเบียงคตล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน แต่ที่วัดกำแพงแลงไม่มีทั้งโคปุระและระเบียงคต 

ภายหลังที่วัดแห่งนี้ดัดแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาแล้วได้สร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ แต่สภาพโดยรอบก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก สังเกตได้จากรอบๆ วัดที่ยังมีกำแพงที่ก่อด้วยศิลาแลงล้อมรอบอยู่ ถือเป็นโบราณสถานแบบขอมขนาดใหญ่และเก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบในเมืองเพชรบุรี