ปราสาทพนมรุ้ง บุรีรัมย์

Trips บุรีรัมย์

ปราสาทเมืองต่ำ เที่ยวคู่กับปราสาทพนมรุ้ง

ประดุจดังตั้งตระหง่านเหนือหิมาลัย

เมื่อครั้งที่ศาสนาฮินดูรุ่งเรืองอยู่ในยุคขอมโบราณ รวมถึงความเชื่อที่ว่ากษัตริย์นั้นคือสมมุติเทพ การสร้างเทวสถานถวายแด่ทวยเทพจึงเป็นงานของเหล่ากษัตริย์ที่ต้องทำเป็นอันดับต้นๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไมปราสาทหินต่างๆ จึงถูกรังสรรค์อย่างงดงาม ประหนึ่งจำลองสวรรค์มาใว้บนดินก็ไม่ปาน

ปราสาทพนมรุ้ง เฉลิมพระเกียรติ ปราสาทขอมโบราณที่สร้างบนยอดปล่องภูเขาไฟโบราณที่ดับสนิทแล้ว เป็นศาสนสถานของฮินดู ลัทธิไศวนิกาย และเปลี่ยนเป็นศาสนาพุทธ ลัทธิมหายานในภายหลัง
ปราสาทหินพนมรุ้ง

Location : บ้านดอนหนองแหน ต.ตาเป๊ก อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์
หากขับรถไปเอง เลือกได้ 2 เส้นทาง จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 2 (ถ.มิตรภาพ) ถึงอ.สีคิ้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 24 (โชคชัย-เดชอุดม) ผ่านอ.หนองกี่ ขับเลยอ.นางรองไปอีกราว 14 กม. มีทางเลี้ยวขวามือเข้าไปอ.เฉลิมพระเกียรติ มีป้ายบอกทางไปเขาพนมรุ้ง รวมระยะทางประมาณ 330 กม. ส่วนอีกทางหนึ่งใช้ทางหลวงสายบางนา-ตราด ฉะเชิงเทรา พนมสารคาม ออกอ.กบินทร์บุรี ผ่านสระแก้ว ตาพระยา แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 348 ตรงเข้าสู่อ.นางรองได้เช่นกัน

ช่วงเช้า 
เที่ยวปราสาทพนมรุ้ง
ปราสาทหินเขาพนมรุ้ง มาจากคำว่า “วนํรุง” แปลว่า “ภูเขาใหญ่” เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย สร้างขึ้นบนยอดเขาสูงประมาณ 200 ม. หรือประมาณ 350 ม. จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นยอดเขาปากปล่องภูเขาไฟที่มอดสนิทแล้ว ปราสาทแห่งนี้เชื่อว่าสร้างต่อเนื่องมาหลายสมัย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15-17 จนถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ราวพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งต่อมาได้มีการหันมานับถือศาสนาพุทธลัทธิมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงถูกเปลี่ยนมาเป็นพุทธศาสนสถานแทน จุดเด่นที่สุดของปราสาทแห่งนี้ก็คือ หินที่นำมาสร้างปราสาทเป็นหินทรายสีชมพูซึ่งมีความงดงามมาก

ปีที่สร้าง : พุทธศตวรรษที่ 15-18
ลัทธิศาสนา : ฮินดู ลัทธิไศวนิกาย
กษัตริย์ : พระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 3 (พ.ศ. 1487-1511), พระเจ้าชัยวรมันที่ 5 (พ.ศ. 1511-1544) และพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

ปราสาทเขาพนมรุ้ง

ชมอะไร?
โบราณสถานที่สำคัญภายในอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งมีอยู่หลายจุด เริ่มตั้งแต่ทางดำเนินสู่ปราสาท มีเสานางเรียงขนาบอยู่ 2 ข้าง จำนวนข้างละ 35 ต้น พลับพลาเปลื้องเครื่อง สุดทางเดินช่วงแรกคือสะพานนาคราช ซึ่งมีผังกากบาทยกพื้นสูง ราวสะพานทำเป็นลำตัวพญานาค 5 เศียร สะพานนาคราชนี้ว่าตามความเชื่อคือทางที่เชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับเทพเจ้า สิ่งที่น่าสนใจคือ จุดกึ่งกลางสะพาน มีภาพจำหลักรูปดอกบัวแปดกลีบ อาจหมายถึงเทพประจำทิศทั้งแปด ในศาสนาฮินดู จากนั้นคุณจะเดินขึ้นบันไดไปยังลานด้านบนซึ่งเป็นโคปุระชั้นที่ 2 บริเวณนี้จะมีบาราย 4 บ่อ (สระน้ำ) และมีสะพานนาคราชชั้นที่ 2 เมื่อเดินผ่านเข้าไปในโคปุระ (ซุ้มประตู) และระเบียงคตแล้ว ก็จะเข้าสู่ตัวปราสาทด้านใน

เมื่อก้าวผ่านเข้าสู่ด้านในคุณจะเห็นปราสาทประธานตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของลาน ประกอบด้วยปรางค์ยอดสูงเชื่อมต่อด้วยจัตุรัสย่อมุมมณฑป ภายในเรือนธาตุตรงกึ่งกลาง เรียกว่าห้องครรภคฤหะ เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพที่สำคัญที่สุด คือ ศิวลึงค์ ซึ่งแทนองค์พระศิวะนั่นเอง ที่ปราสาทประธานนี่เองที่ซึ่งมีหน้าบันและทับหลังที่แกะสลักลวดลายมากมาย โดยเฉพาะทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ซึ่งเคยหายไปในอดีต จนทวงกลับคืนมาได้ในที่สุด นอกจากนี้ยังมีทับหลังและหน้าบันอื่นๆ ที่น่าสนใจเช่นพระศิวนาฎราฐ (ทรงฟ้อนรำ) อวตารของพระนารายณ์ เช่น พระราม หรือ พระกฤษณะ ภาพพิธีกรรม ภาพชีวิตประจำวันของฤๅษีเป็นต้น

ปราสาทพนมรุ้ง ประโคนชัย บุรีรัมย์ ปราสาทขอมโบราณที่เชื่อว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 15-18 โดยพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 3 สร้างด้วยหินทรายสีชมพูสวยงาม
ปราสาทพนมรุ้ง

จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งที่เป็นสุดยอดวิศวกรรมขอมคือ การสร้างและออกแบบแผนผังให้มีแกนเน้นความสำคัญเข้าหาจุดศูนย์กลาง มีสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่เรียงตัวกันในแนวยาวตามทิศตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งทำให้เกิดสิ่งมหัศจรรย์คือ ประมาณ 4 ครั้ง ทุกๆ ปี แสงอาทิตย์จะส่องทะลุผ่านบานประตูปราสาททั้ง 15 บาน เป็นแนวเดียวกัน เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากวิศวกรรมขอมโบราณอันน่าทึ่งนั่นเอง

ซุ้มประตูทางเข้าศาสนสถานชั้นใน ปราสาทเมืองต่ำ ประโคนชัย บุรีรัมย์ ศิลปะขอมแบบบาปวน ศาสนาฮินดู ลัทธิไวษณพนิกาย
ปราสาทเมืองต่ำ

ช่วงบ่าย
เที่ยวปราสาทเมืองต่ำ
หลังจากชมปราสาทหินพนมรุ้งแล้ว ห่างออกไปเพียง 2.5 กม. คือ ปราสาทหินเมืองต่ำ เป็นปราสาทขอมอีกแห่งหนึ่ง สร้างอยู่ในที่ราบ ต่ำกว่าปราสาทหินพนมรุ้ง น่าไปเที่ยวชมควบคู่กับเขาพนมรุ้ง

Location : บ้านโคกเมือง อ.ประโคนชัย ห่างจากปราสาทพนมรุ้ง ประมาณ 2.5 กม.
จากตัวเมืองบุรีรัมย์ ขับรถตามทางหลวงหมายเลข 219 มายังอ.ประโคนชัย แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข 2075 ตรงเรื่อยมาจนพบทางแยกซ้าย ให้ใช้ทางตรงหรือเส้นขวาไปอีกประมาณ 16 กม. จนมาถึงเชิงเขาพนมรุ้งแล้วเลี้ยวซ้ายไปตามป้ายที่บอกประมาณ 5 กม. จะเห็นปราสาทเมืองต่ำอยู่ขวามือ
ปราสาทเมืองต่ำตั้งอยู่ ณ พื้นราบเบื้องล่างของเขาพนมรุ้งและน่าจะเป็นชุมชนที่มีความสัมพันธ์กันกับปราสาทพนมรุ้งเมื่อครั้งอดีต โดยจะเห็นได้จากปราสาททั้งสองแห่งอยู่ใกล้กัน และด้านในลักษณะสถาปัตยกรรมของปราสาทเมืองต่ำนั้นได้รับการก่อสร้างด้วยฝีมือช่างในระดับช่างหลวงไม่ด้อยกว่าปราสาทพนมรุ้งเลย

ปราสาทเมืองต่ำ ประโคนชัย บุรีรัมย์ ตามตำนานเชื่อว่า สร้างโดยกษัตริย์ขอมโบราณที่สร้างปราสาทพนมรุ้ง และดำริให้สร้างเมืองและปราสาทบนพื้นราบด้วย ศิลปะขอมแบบบาปวน ศาสนาฮินดู ลัทธิไวษณพนิกาย
ปราสาทเมืองต่ำในมุมบัวบาน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าในท้องถิ่นนางรองในอดีตว่า มีกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งพระนามว่าพระเจ้าฮินดูสถาน ได้ส่งกองทหารและช่างฝีมือมาสร้างปราสาทบนเขาพนมรุ้ง เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ทรงให้สร้างเมืองสำหรับข้าหลวงที่เบื้องล่างคือเมืองต่ำ และมีการสร้างปราสาทเป็นศาสนสถานซึ่งก็คือปราสาทเมืองต่ำแห่งนี้ส่วนชื่อของปราสาทเมืองต่ำ เป็นชื่อที่เข้าใจว่ามาเรียกกันในภายหลังคือเปรียบเทียบกับเมืองสูงคือพนมรุ้ง เพราะคำว่าเมืองต่ำนั้นหมายถึงพื้นที่ต่ำหรือพื้นที่ราบ ปราสาทเมืองต่ำสร้างร่วมสมัยกับปราสาทพนมรุ้ง คือในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ตามคติศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย เป็นศาสนสถานของชุมชนเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรม

ปีที่สร้าง: พุทธศตวรรษที่ 16-17
ลัทธิศาสนา: ฮินดู ไวษณพนิกาย
ศิลปะแบบ: ขอมแบบบาปวน

ชมอะไร?
ลักษณะเด่นของปราสาทแห่งนี้คือ ปราสาทก่ออิฐ 5 หลังที่ตั้งอยู่บนฐานเดียวกันมีระเบียงคตล้อมรอบสองชั้น แม้ว่าปราสาทเมืองต่ำจะตั้งบนพื้นราบ แต่ปราสาทหินแห่งนี้มีการวางผังที่แฝงความหมายตามคติการสร้างศาสนสถานขอมที่เกี่ยวกับความเชื่อในเรื่องแกนกลางของจักรวาลอันสัมพันธ์กับความเป็นศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์โดยมีปราสาททั้ง 5 หลังที่ยกพื้นขึ้นเป็นศูนย์กลางเปรียบดังเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นศูนย์กลางของชมพูทวีปที่เป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาลและเป็นที่สถิตของเหล่าเทพยาดา

ส่วนสระน้ำที่ลานชั้นนอกเปรียบดั่งมหาสมุทรที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ ใกล้กับปราสาทมีอ่างเก็บน้ำโคกเมืองเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ซึ่งยังคงความสำคัญต่อชุมชนในทุกวันนี้ มีกุฏิฤาษีตั้งอยู่ไม่ไกลและจากลักษณะทางกายภาพของพื้นที่แถบปราสาทเมืองต่ำอันเป็นที่ราบ ยังอุดมสมบูรณ์จากเถ้าลาวาของภูเขาไฟซึ่งเหมาะแก่การเพาะปลูก สิ่งเหล่านี้แสดงว่าในอดีตชุมชนในที่ราบเชิงเขาพนมรุ้งคงเป็นชุมชนที่มีขนาดใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีความสำคัญมากแห่งหนึ่ง

พระสุภัทรบพิตร พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองบุรีรัมย์ บนเขากระโดง (ในอดีตคนพื้นที่เรียก พนมกระดอง) ภูเขาไฟโบราณที่ดับแล้ว และเป็นจุดชมวิวเมืองบุรีรัมย์ที่กว้างไกลสวยงามด้วย
บนเขากระโดง ภูเขาไฟโบราณ มีจุดชมวิวเมืองบุรีรัมย์สวยงาม และประดิษฐาน พระสุภัทรบพิตร คู่บ้านคู่เมือง

Tips : ชมวิวบนภูเขาไฟเก่าที่เขากระโดง
เพียง 6 กม. จากในเมืองบุรีรัมย์ ขับรถออกไปทาง อ.ประโคนชัย ตามทางหลวงหมายเลข 219 ก็จะถึงวนอุทยานเขากระโดง คุณก็ได้จะชมภูเขาไฟ
เขากระโดง เป็นที่ตั้งของภูเขาไฟโบราณ ซึ่งยังคงปรากฏร่องรอยปากปล่องให้เห็นได้ชัดเจน ปากปล่องภูเขาไฟมีลักษณะเป็นแอ่งน้ำลึกมีน้ำขังตลอดปี ยอดสูงสุดประมาณ 265 ม. จากระดับน้ำทะเล คุณมาเที่ยวที่นี่ได้ 2 วิธี คือ จะเดินขึ้นบันได หรือขับรถขึ้นจนถึงยอดเขาก็ได้ นอกจากชมวิวภูเขาไฟเก่าแล้วบนยอดเขายังเป็นที่ประดิษฐาน “พระสุภัทรบพิตร” พระพุทธรูปองค์ใหญ่คู่เมืองบุรีรัมย์และมีปรางค์กู่โบราณ ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง รวมทั้งมีพันธุ์ไม้พื้นเมืองน่าศึกษาหลายชนิดด้วย