ขับรถเลียบโขงนครพนม

Trips นครพนม

ยอดดอยภูลังกา เด่นด้วยเจดีย์สีทอง ชมวิวไกลถึงน้ำโขง

ขับสนุกเลียบโขง กับทางหลวงหมายเลข 212 จากบึงกาฬสู่นครพนม+มุกดาหาร


ทั้งนครพนม และมุกดาหาร 
ต่างมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ เป็นเมืองริมโขง แม่น้ำที่ได้ชื่อว่ามหานทีแห่งแดนอินโดจีน ไม่เพียงตัวเมืองเท่านั้นที่ติดแม่น้ำโขง ที่เที่ยวส่วนใหญ่ก็ยังอยู่เลียบแม่น้ำโขงด้วย โดยมีทางหลวงหมายเลข 212 เป็นถนนหลักที่เหมาะกับการขับรถเที่ยว เส้นทางนี้เริ่มต้นที่หนองคาย ไล่เลาะแม่น้ำโขงจากอีสานเหนือ ไปสิ้นสุดที่ตัวเมืองอุบลฯ อีสานใต้ ขับรถเที่ยวสนุกมากกว่าเส้นทางไหนๆ
หอนาฬิกาเมืองมุกดาหาร

ถนนหนทางในนครพนม+มุกดาหาร
ทั้งนครพนมและมุกดาหาร ต่างมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือตัวเมืองตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ถนนที่เชื่อมทั้งสองจังหวัดนี้ก็ยังแล่นเลียบแม่น้ำโขงให้คุณได้ขับรถกินลมชมวิวแบบเพลินๆ ตรงข้ามกับนครพนมคือเมืองท่าแขก หากมีเวลาก็ข้ามโขงไปเที่ยวลาวได้ เช่นเดียวกับจ.มุกดาหารที่ขับรถข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ไปเที่ยวฝั่งลาวได้เช่นกัน สนุกทั้งเที่ยวไทยและต่างประเทศเลยทีเดียว

สะพานมิตรภาพไทย-ลาว

ทางหลวงหมายเลข 212
ทางสายนี้เริ่มต้นจากหนองคาย เป็นถนนเลียบชายโขงที่เหมาะกับการขับรถเที่ยวอย่างยิ่ง นอกจากจะเพลิดเพลินกับวิวสวยๆ ตลอดลำน้ำโขงแล้ว ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวให้แวะตลอดทาง นอกจากนี้ทางหลวงสายนี้ไม่ได้ผ่านแค่จ.นครพนม แต่ยังผ่านจ.มุกดาหาร จ.อำนาจเจริญ และจ.อุบลราชธานี ระยะทางไม่ไกล้ แต่ขับไป เที่ยวไปได้ไม่เบื่อ

แม่น้ำโขงยามเย็น ส่งตะวันได้ทั้งนครพนม มุกดาหาร

ทางหลวงหมายเลข 2034
เส้นทางสายนี้เริ่มต้นจากตัวเมืองมุกดาหาร เป็นเส้นทางเลียบโขงเช่นเดียวกับทางหลวงหมายเลข 212 เพียงแต่ระยะทางสั้นกว่า เส้นทางสายนี้มุ่งหน้าสู่อ.ดอนตาล ผ่านสู่อ.ชานุมาน และอ.เขมราฐ จ.อำนาจเจริญ เมื่อถึงเขมราฐแล้ว หากขับตรงไปตามทางหลวงหมายเลข 2112 จะไปอ.โขงเจียม แต่หากเลี้ยวขวาจะเข้าสู่ตัวเมืองอำนาจเจริญ แม้ว่าระยะทางจะสั้น แต่ก็ผ่านสถานที่ท่องเที่ยวที่พลาดไม่ได้เลยเพราะจะผ่านอุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ ประติมากรรมหินที่งดงาม และอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว สองอุทยานฯ เด่นของเมืองมุกดาหาร

เส้นทางสู่อุทยานฯภูลังกา

เลียบโขงชมเมืองนครพนม
จากบึงกาฬ ขับล่องลงมาตามการไหลของแม่น้ำโขงเข้าสู่จ.นครพนม ผ่านอุทยานฯภูลังกาให้คุณแวะเที่ยว อยู่ก่อนถึงอ.บ้านแพงประมาณ 6 กม.ล่องลงมาอีกประมาณ 67 กม. ผ่านอ.ท่าอุเทน แวะชมพระธาตุท่าอุเทน จากนั้นขับลงไปอีกเพียง 26 กม. คุณก็จะถึงตัวเมืองนครพนม ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำโขง ตรงข้ามกับเมืองท่าแขกของลาว

เรือโดยสารข้ามไปฝั่งลาวจากนครพนม

จากหนองคายล่องสู่นครพนม
ทางหลวงหมายเลข 212 เริ่มต้นจากตัวเมืองหนองคาย เลียบแม่น้ำโขงลงไปทางทิศใต้ ขับผ่านบึงกาฬ มีที่เที่ยวให้แวะก็หลายแห่ง น่าแวะที่สุดคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัวในอ.บุ่งคล้า ที่นี่มีน้ำตกเจ็ดสีและน้ำตกชะแนนที่ทั้งสวย และน่าเล่นน้ำ มีแอ่งน้ำให้ลงเล่น และโขดหินให้นั่งพักผ่อนสบายๆ

ออกจากเขตรักษาพันธฺสัตว์ป่าภูวัวลงใต้ไปอีกไม่ไกลนัก ถึงอ.บ้านแพง ตรงนี้เริ่มเข้าสู่จ.นครพนมแล้ว ที่นี่ก็น่าแวะเพราะมีอุทยานแห่งชาติภูลังกาตั้งอยู่ หากคุณไม่เดินป่าขึ้นไปบนยอดเขาเพื่อชมวิวแม่น้ำโขง ก็มีน้ำตกเล็กๆ แต่ร่มรื่นให้ชม ที่นี่มีอยู่ 2 น้ำตก ขนาดไม่ใหญ่นัก น้ำตกแรกคือน้ำตกตาดโพธิ์ เดินทางสะดวกมีทางรถเข้าถึง ขับรถเที่ยวชมได้ง่าย จากนั้นไม่ไกลกันนักขับรถเข้าไปที่ทำการอุทยานฯ ด้านหลังมีน้ำตกตาดขาม เดินเท้าไปไม่ไกลก็ถึงแล้ว

น้ำตกตาดโพธิ์

เที่ยวน้ำตกเสร็จแล้วขับตรงเข้าสู่อ.ท่าอุเทน เปลี่ยนบรรยากาศไปเที่ยววัดกันสักหน่อย ที่น่าชมคือวัดพระธาตุท่าอุเทน สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2455 ตามแบบศิลปะเดียวกับพระธาตุพนม สูงจากพื้นถึงยอด 33 วา ฐานกว้างด้านละ 6 วา 3ศอก ภายในพระธาตุบรรจุพระธาตุของพระอรหันต์ซึ่งพระอาจารย์ศรีทัตถ์ได้อัญเชิญมาจากเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า

พระธาตุท่าอุเทน

นอกจากนี้พระธาตุยังตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ชมวิวได้สวยสุด จากนั้นขับต่อมาเข้าเขตตัวเมืองแล้วเลี้ยวซ้ายตามถ.สุนทรวิจิตร จะถึงวัดนักบุญอันนาหนองแสง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง บนถ.สุนทรวิจิตร สร้างขึ้นเมื่อค.ศ.1926 โดยคุณพ่อเอทัวร์ นำลาภ อธิการโบสถ์ เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงว่าเมืองนครพนมนั้นเป็นเมืองนานาชาติ ที่มีคนหลากหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่นั่นเอง

วัดนักบุญอันนาหนองแสง

หลังจากชมวัดคาทอลิคแล้ว จากนี้ก็เข้าเมืองนครพนมไปเที่ยวกันต่อ หรือจะพักกินมื้อเที่ยงก่อนก็ได้ มีร้านเรือนแพให้เลือกชิมริมโขงหลายร้าน เลือกที่ชอบได้ตามสบาย

ประตูเมืองธาตุพนม

จากนครพนมล่องใต้เลียบโขงตามทางหลวงหมายเลข 212 สู่อ.ธาตุพนม
ทางหลวงหมายเลข 212 ที่เริ่มต้นจากตัวเมืองนครพนมล่องลงใต้ จะผ่านอ.เด่นของนครพนม 2 อำเภอคือ อ.เรณูนครและอ.ธาตุพนม ซึ่งทั้งสองเป็นพุทธสถานที่ตั้งของพระธาตุศักสิทธิ์ของชาวพุทธทั่วประเทศ คุณจึงไม่ควรพลาดที่จะได้ขับรถชมวิวโขง ไปไหว้พระธาตุเรณูนครและพระธาตุพนม ทางสายนี้ยังต่อเนื่องไปจนถึงจ.อำนาจเจริญ ตรงเข้าสู่ตัวเมืองอุบลราชธานีได้อีก ขับเที่ยวได้ไกลจากอีสานเหนือจนถึงอีสานใต้เลยทีเดียว

พระธาตุเรณูนคร

พระธาตุเรณูนคร
Location : วัดพระธาตุเรณูนคร อ.เรณูนคร ห่างจากตัวเมืองนครพนม 51  กม.
จากตัวเมืองนครพนมขับรถมาตามทางหลวงหมายเลข 212 ระยะทาง 44 กม. จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2031 เข้าอ.เรณูนครอีกราว 7 กม. จะเห็นวัดพระธาตุเรณูนครอยู่ด้านซ้ายมือ ตรงข้ามกับที่ว่าการอ.เรณูนคร
อ.เรณูนครนี้ได้ถูกกล่าวถึงมานานและเป็นที่รู้จักพอๆ กับที่อ.ธาตุพนม เพราะทั้งสองอำเภอนี้เป็นที่ตั้งพระธาตุศักดิ์สิทธิ์และเก่าแก่ที่ชาวอีสานให้ความเคารพมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ ในขณะที่พระธาตุพนมเป็นพระธาตุประจำเดือนของคนเกิดปีวอก ส่วนพระธาตุเรณูก็ยังเป็นพระธาตุประจำวันของคนเกิดวันจันทร์ด้วย

พระธาตุเรณู ถูกสร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2460 โดยพระอุปัชฌาย์อินภูมิโย มีการจำลองรูปทรงมาจากพระธาตุพนมองค์เดิมในช่วงก่อนที่จะล้มลงจากฟ้าผ่าในปีพ.ศ. 2518 แต่มีขนาดเล็กกว่า ประกอบด้วยซุ้มประตู 4 ด้าน ภายในองค์พระธาตุเรณูบรรจุพระไตรปิฏก พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปเงิน และของมีค่าที่ชาวบ้านบริจาค รวมทั้งเครื่องกกุธภัณฑ์ของพระยาและเจ้าเมืองเดิม มีการทำพิธีบรรจุพระบรมสาริกธาตุ และพระอรหันต์ธาตุเมื่อปีพ.ศ. 2519 ถือเป็นพระธาตุที่ได้รับการเคารพสักการะมากแห่งหนึ่งในอีสานนอกจากนี้ยังมีการจัดงานเทศกาลนมัสการพระธาตุเรณูนครขึ้นทุกวันขึ้น 11-15 ค่ำ เดือน 4 ประมาณเดือนมีนาคมทุกปี

ในพระอุโบสถวัดพระธาตุเรณูยังเป็นที่ประดิษฐานของพระองค์แสน หล่อด้วยทองเหลืองตันทั้งองค์ ซึ่งเชื่อกันว่ามีอายุนานกว่า 100 ปีแล้ว โดยมีมาก่อนการสร้างองค์พระธาตุเรณู พระองค์แสนถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองนครพนม ที่ชาวนครพนมเคารพนับถือและศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเชื่อว่าเป็นพระขอฝน หากปีใดฝนฟ้าแล้งก็จะจัดขบวนแห่พระรอบเมืองเพื่อขอฝนด้วย

พระธาตุพนม

พระธาตุพนม
Location : ริมทางหลวงหมายเลข 212 อ.ธาตุพนม ติดริมแม่น้ำโขง ห่างจากวัดพระธาตุเรณูนคร 15 กม.
จากตัวเมืองนครใช้ทางเดียวกับมาอำเภอเรณูนคร ตามทางหลวงหมายเลข 212 ขับเลยทางแยกเข้าอ.เรณูนครมาราว 15 กม. รวมระยะทางจากตัวเมืองนครพนม 60 กม.
วัดพระธาตุพนม หรือชื่อเต็มคือ “วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร” เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงบนถ.ชยางกูร มีลักษณะเป็นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสก่อด้วยอิฐกว้างด้านละ 12.33 ม. สูง 53.6 ม. มีกำแพงล้อมองค์พระธาตุอยู่ 4 ชั้น ความเป็นมาของพระธาตุพนมนั้นมีมานานแล้ว ตามตำนานอุรังคธาตุกล่าวว่า ท้าวพญาทั้งห้าผู้เป็นใหญ่ ได้แก่พญาสุวรรณภิงคาร เจ้าเมืองหนองหานหลวง พญาคำแดง เจ้าเมืองหนองหานน้อย พญาจุลณีพรหมทัต เจ้าเมืองจุลนีพรหมทัต พญาอินทรปัตถ์ เจ้าเมืองอินทปัตถนคร และพญานันทเสน เจ้านครศรีโคตรบูรณ์อันเป็นที่ตั้งของพระธาตุ ได้สร้างอูบมูงขึ้นเพื่อประดิษฐานพระอุรังคธาตุตามพุทธพยากรณ์

พระธาตุพนม

โดยก่อสร้างด้วยดินดิบ (อิฐดิบ) ฐานพระธาตุพนมได้ขุดลงไปจนเป็นอูบมุง (อุโมงค์) เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อก่อด้วยดินดิบเสร็จแล้วจึงได้ก่อไฟเผาพระธาตุเป็นเวลาหลายวัน อิฐจึงได้แห้งสนิทจรดกัน ในพระธาตุพนม บรรจุพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระพุทธเจ้า ซึ่งประมาณพ.ศ. 8 พระอุตรเถระและพระโสณเถระ สมรทูตของพระเจ้าอโศกมหาราช ได้อัญเชิญมา และพระมหากัสสปะเถระ ได้นำมาประดิษฐานไว้บนภูกำพร้า เป็นเนินดินสูงจากพื้นธรรมดาราว 3 ม.ในยุคนั้นพระธาตุพนมได้รับการบูรณะและอุปถัมภ์โดยกษัตริย์แห่งล้านช้าง

ท่าเรือนครพนม ฝั่งตรงข้ามคือลาว

นอกจากนี้องค์พระธาตุยังได้รับการบูรณะมาหลายครั้ง องค์เดิมนั้นไม่สูงเท่าที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ในพ.ศ. 2223-2225 องค์พระธาตุพนมเดิมเป็นมีรูปแบบศิลปะที่นิยมในอีสาน ต่อมาพ.ศ. 2233 พระครูโพนเสม็ด (ญาคูขี้หอม) ได้ปฏิสังขรณ์พระธาตุให้สูงขึ้น จากนั้นพ.ศ. 2483 รัฐบาลได้บูรณะให้สูงขึ้นอีก จนมาถึงวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2518 เวลาประมาณ 19.38 น. ได้เกิดพายุฝน ฟ้าผ่า ทำให้พระธาตุพนมพังทลายลงมาทั้งองค์ ภาครัฐ ประชาชนและพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศได้ร่วมบริจาคทุนทรัพย์เพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ตามแบบเดิม แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2522

สำหรับชาวพุทธทั่วประเทศมีความเชื่อว่าพระธาตุพนม เป็นพระธาตุประจำปีของคนเกิดปีวอก การได้มานมัสการพระธาตุจึงถือเป็นสิริมงคลอย่างมาก นอกจากนี้ในวันเพ็ญ (15 ค่ำ) เดือน 3 ถึง แรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปีจะมีการจัดงานนมัสการพระธาตุพนมด้วย