สุดยอดกะปิอร่อย บนเกาะกลางอันดามัน
ไม่ไกลจากปากน้ำระนองมีอีกหนึ่งเกาะอร่อยน่าสนใจ แต่ฟังชื่อแล้วอาจไม่ค่อยคุ้นหู นามว่า เกาะเหลา ซึ่งอดีตเคยเป็นเพียงที่พำนักของยิปซีทะเล หรือชาวมอแกน แต่ปัจจุบันกลับเริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ผลิตกะปิกุ้งเคยรสยอด ที่รู้จักกันในชื่อ กะปิระนอง
Location ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยามใกล้ป่าชีวมณฑลโลก ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดระนองห่างจากปากน้ำระนองราว 5 กม.
จากตัวเมืองระนอง ถึงยังเกาะเหลา ให้คุณขับรถออกจากตัวเมืองตรงสู่ท่าเรือสะพานปลาระนอง หรือท่าเรือปากน้ำระนอง แล้วเลือกเช่าเหมาลำเรือหางยาวมุ่งหน้าสู่เกาะเหลา ใช้เวลาเดินทางประมาณ 20-30 นาที
มีเรือหางยาวของชาวบ้านคอยรับส่งระหว่างเกาะ และฝั่งปากน้ำระนอง นอกจากนี้ยังมีจุดจำหน่ายของฝากและของที่ระลึกจากชาวมอแกน รวมถึงร้านค้า ร้านอาหาร และที่พักแบบโฮมสเตย์บนเกาะอีกด้วย
เกาะเหลา เป็นเกาะขนาดเล็กภายในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยาม ตั้งอยู่ที่ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระนอง ตรงข้ามกับจังหวัดเกาะสอง ของประเทศพม่า ภายในชุมชนมีบ้านเรือนอยู่รวมกันราวหกสิบกว่าหลังคาเรือน ซึ่งถือว่าไม่เล็กและไม่ใหญ่จนเกินไป ประชากรบนเกาะมีทั้งชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม โดยแบ่งเป็นทั้งกลุ่มคนไทย และกลุ่มชาวมอแกน รวมแล้วมีประชากรราว 300 คน ทั้งนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงลดเพิ่มตามการอพยพของชาวมอแกน
ส่วนที่อยู่อาศัยของประชากรทั้ง 2 กลุ่มนั้น จะจัดแบ่งกันอยู่คนละฟากเกาะ ซึ่งตั้งอยู่ห่างกันราว 3 กม. ส่วนใหญ่ใช้วิธีไปมาหาสู่กันด้วยการล่องเรือ และเดินเท้า กลุ่มคนไทย จะตั้งบ้านเรือนอยู่ในส่วนที่เรียกว่า เกาะเหลาใน ส่วนชาวมอแกน กลุ่มคนที่มีชีวิตผูกพันกับผืนน้ำและการประมง จะตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ ชุมชนขนาดย่อมริมทะเลด้านนอก ซึ่งมีชื่อเรียกว่า เกาะเหลานอก ทันทีที่ก้าวลงจากเรือคุณก็จะเห็นเด็กๆ ตัวเล็กเล่นซนกันตามชายหาด บ้างก็ออกหาปลากับพ่อแม่ เป็นอีกหนึ่งบรรยากาศที่ชวนให้เพลิดเพลินอย่างยิ่ง ว่ากันว่าประชากรเด็กๆ มีมากเกือบครึ่งหนึ่งของคนทั้งหมดบนเกาะ ใครชอบถ่ายภาพรับรองไม่ผิดหวังเพราะนอกจากจะได้ตามติดขั้นตอนการทำกะปิอย่างใกล้ชิด คุณยังจะได้ภาพเด็กชาวมอแกนสวยๆ ไปอวดเพื่อนอีกหลายใบ
ทริปสั้นๆ เที่ยวเกาะเหลา+ปากน้ำระนอง
การท่องเที่ยวยังเกาะเหลา เลือกทริปได้ทั้งแบบไปพักค้างคืนแบบโฮมสเตย์ ไปเช้า-กลับเย็น และไปเที่ยวแบบครึ่งวัน จากนั้นนิยมกลับฝั่งเพื่อชมพระอาทิตย์ตก ณ หาดชาญดำริ แล้วไปอิ่มอร่อยต่อกับอาหารทะเลสดๆ ราคาไม่แพง ตามฉายาอู่อาหารแห่งอันดามัน
ชมวิถีชีวิตชาวมอแกน
ชาวมอแกนที่เกาะเหลา ว่ากันว่าย้ายถิ่นมาจากเกาะช้าง และรวมตัวเป็นกลุ่มปักหลักอยู่ ณ เกาะแห่งนี้มากว่า 30 ปี มีการดำรงชีวิตแบบเรียบง่าย มีภาษาพูดเป็นของตนเอง (ภาษายาวี) ส่วนใหญ่ทำอาชีพประมงแบบโบราณสืบต่อมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษซึ่งหาดูได้ยากในปัจจุบัน ลักษณะการทำประมงของชาวมอแกน จะไม่ใช้เรือลำใหญ่ มีเพียง “เรือก่าบาง” เท่านั้นที่เปรียบเสมือนหัวใจของพวกเขา เป็นทั้งพาหนะ เครื่องมือทำมาหากิน และเป็นที่อาศัยในบางครั้งที่ต้องออกเรือเป็นเวลานานๆ
เจ้าเรือชนิดนี้มีลักษณะโดดเด่นตรง “ง่าม” หรือรอยหยักเว้าที่หัวเรือและท้ายเรือ ประโยชน์ของมันคือใช้เป็นที่ปีนเพื่อขึ้นและลงเรือ โดยเฉพาะยามที่ชาวมอแกนลงว่ายและดำน้ำ การปีนขึ้นด้านข้างลำเรืออาจทำให้เรือโคลงหรือกาบเรือที่สานจากไม้ไผ่พังลงมาได้ ส่วนการจับปลานั้น คนบนเกาะนี้ไม่ถนัดการใช้อวน ไซ หรือเครื่องมือในการจับสัตว์น้ำตามแบบชาวประมงทั่วไป แต่พวกเขาจะใช้ “แลม” มีลักษณะเป็นเหล็กแหลมเล็กๆ ในการไล่ล่าปลาแทน
นอกจากนี้พวกเขายังมีอีกหนึ่งอาชีพที่ทำให้นักท่องเที่ยว และนักชิมต่างพากันจับจ้องมาที่เกาะเล็กๆ แห่งนี้ อาชีพนั้นก็คือ พ่อครัวผู้ผลิตกะปิเคยรสเลิศนั้นเอง ส่วนลักษณะบ้านเรือนเป็นบ้านไม้ยกพื้นสูงมุงจากเพื่อความปลอดโปร่งเย็นสบาย แต่ก็ต้องแลกกับความคงทนที่ลดต่ำลงมา
ส่วนด้านวัฒนธรรมหากคุณมีเวลามากพอแล้วตัดสินใจค้างแบบโฮมสเตย์สักคืนบนเกาะแห่งนี้ การได้ชมลิเกป่าซึ่งร้องรำตามประสามอแกน ถ่ายทอดวิถีชีวิตผ่านบทเพลง ด้วยถ้อยสำเนียงภาษาเฉพาะชาติพันธุ์ พร้อมเครื่องเคาะจังหวะตามแต่หาได้ ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สามารถสร้างความบันเทิงให้คุณได้ไม่น้อย
ชมและชิมกะปิ
หนึ่งในกะปิเคยรสดีที่สุดกำเนิดจากแหล่งผลิตในชุมชนเล็กๆ บนเกาะไม่ไกลจากปากน้ำระนอง กะปิดังกล่าวเป็นกะปิชั้นเลิศซึ่งรู้จักกันในชื่อ กะปิระนอง แถมยังมีขายอย่างแพร่หลายในแหล่งช้อปปิ้งแหล่งต่างๆ
สำหรับกะปิดังฝีมือชาวเกาะเหลา เป็นกะปิที่ทำจากกุ้งเคย อีกทั้งยังเกิดจาการใช้ครกตำ มิใช่เท้าเหยียบเหมือนกับบางสูตร ทั้งหมดไม่มีการใส่สี ใส่สารกันบูด แต่จะดูสดใสสวยงามจากการใช้กุ้งเคยพันธุ์ดีในการทำ รสชาติโดดเด่นไม่เหมือนใครเพราะกลิ่นหอม แถมไม่เค็มเกินไป บางคนนิยมจิ้มผักสดกินกับข้าวสวยร้อนๆ บ้างนำมาปรุงผสมเพื่อเพิ่มความอร่อยให้กับเมนูอาหาร เช่น น้ำพริกกะปิ และผัดสะตอ ในแบบใต้ หรือ แกงผักต่างๆ และเติมนิดหน่อยในน้ำพริกอ่องในแบบเหนือ ก็อร่อยได้ไม่แพ้กัน
ส่วนต้นกำเนิดเครื่องปรุงชนิดเกิดจากการคิดค้นวิธีการเก็บถนอมรักษาอาหารของชาวประมง เมื่อไม่สามารถขายกุ้งได้หมด จึงต้องการดองกุ้งที่จับมาเพื่อเก็บรักษาเอาไว้รับประทานได้นาน ๆ สำหรับขั้นตอนการทำกะปิและวัตถุดิบที่ใช้นั้น ก็แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ เนื่องจากเป็นเครื่องปรุงที่แพร่หลายไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ขั้นตอนการผลิตกะปิของชาวเกาะเหลา เริ่มจากการจับและคัดสรรกุ้งเคยตัวงามๆ ซึ่งอาศัยอยู่ตามบริเวณผิวทะเลฝั่งทะเลอันดามันกันก่อน โดยจะใช้อวนไนล่อนสีฟ้า มีขนาดช่องตาตั้งแต่ 1-2 มม.นำมาเย็บเป็นถุงแล้วช้อนขึ้นตามผิวน้ำ จากนั้นนำเคยสดที่ได้ไปคลุกเคล้ากับเกลือ ในอัตราส่วนที่เป็นความลับ แล้วนำไปพักไว้โดยใส่ในภาชนะที่มีช่องระบาย ก่อนที่จะนำเคยที่ผ่านการหมักกับเกลือแล้วไปตากแดดจัด พอแห้งสนิทค่อยเอามาตำลงในครกไม้ให้ละเอียด แล้วนำไปบรรจุหมักในภาชนะที่มิดชิดปราศจากการรบกวนจากแมลงต่างๆ ตามระยะเวลาที่เป็นความลับอย่างน้อย 3-5 เดือน
ก่อนจะนำมาใส่บรรจุภัณฑ์เพื่อจำหน่าย