ดอยขุนตาน ลำพูน

Trips ลำพูน

ที่นี่สถานีรถไฟขุนตาน สถานีที่สูงสุดในประเทศ

ลงรถไฟ ไปเดินขึ้นดอย

มีเพียงดอยเดียวในประเทศไทยที่สถานีรถไฟอยู่ที่ตีนดอยเลย หลังจากผ่านอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศ ขบวนรถทุกขบวนจะจอด ณ จุดสูงสุดของเส้นทางรถไฟไทย นี่คือดอยขุนตาล ที่มียอดเขาสวยๆ ถึง 4 ยอด รอให้คุณมาเที่ยวชม

Location : ต.ท่าปลาดุก อ.แม่ท่า จ.ลำพูน

เดินทางด้วยรถยนต์ได้ 2 เส้นทาง คือ 

• จากแยกทางหลวงหมายเลข 11 (ลำปาง-เชียงใหม่) กม. ที่ 15-16 ใกล้อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ให้เลี้ยวขวาไปอีก 28 กม.ถึงที่ทำการอุทยานฯ 

• จากทางหลวงหมายเลข 11 แยกขวาระหว่าง กม. ที่ 46-47 บริเวณอ.แม่ทา จ.ลำพูน เป็นทางลาดยาง ระยะทาง 18 กม. ถึงที่ทำการอุทยานฯ

เส้นทางภายในบริเวณที่ทำการอุทยานฯ แม้จะเป็นถนนลาดยาง แต่มีความลาดชันสูง บางช่วงมีโค้งหักศอก รถใหญ่ขึ้นไม่ได้ ถนนจะตัดผ่านที่ทำการอุทยานฯ ขึ้นไปยัง ย. 1 จอดรถที่ ย. 1 แล้วเดินเท้าขึ้นเที่ยว

นอกจากนี้คุณยังสามารถเลือกเดินทางด้วยรถไฟ มาลงที่สถานีรถไฟขุนตาน จากนั้นเดินเท้าต่อไปยังที่ทำการอุทยานฯ ระยะทาง 1.3 กม.

สะพานหอสอง เชื่อมหุบเขาก่อนเข้าสู่อุโมงค์ขุนตาน

ก่อนจะมาเป็นอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล กว่าจะเจาะอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศ

อุทยานฯดอยขุนตาล มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในพื้นที่อ.แม่ทา จ.ลำพูน และอ.ห้างฉัตร อ.เมือง จ.ลำปาง สภาพพื้นที่เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีเนื้อที่ประมาณ 159,556.25 ไร่ หรือ 255.29 ตารางกิโลเมตร และมีอุโมงค์ขุนตาน ซึ่งเป็นอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทย สร้างโดยวิศวกรชาวเยอรมัน อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 10 ของประเทศไทย

พื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานฯ ดอยขุนตาล จะอยู่ในแนวเทือกเขาขุนตาล ซึ่งเป็นเทือกเขาที่แบ่งเขตระหว่างที่ราบลุ่มเชียงใหม่ และที่ราบลุ่มลำปาง เทือกเขาขุนตาลเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 325-1,373 ม. มียอดดอยขุนตาลเป็นยอดเขาสูงสุด 

จุดเด่นด้านการท่องเที่ยวอุทยานฯขุนตาล จึงเป็นการเดินป่าเที่ยวดอย โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่จะมีสภาพอากาศเย็นสบาย และอุณหภูมิจะลดต่ำสุดในเดือนธันวาคม เป็นช่วงที่จะได้เดินทางมาชมสายหมอกบนดอยขุนตาลได้อย่างสวยงาม 

นอกจากนี้ในเส้นทางเดินป่าสู่ดอยขุนตาล ยังเคยเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญมาก่อน ทำให้ได้ความรุ้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อีกด้วย

อุโมงค์รถไฟขุนตาน ฝั่งขาขึ้นไปเชียงใหม่

อุโมงค์รถไฟขุนตาน

แม้ว่าการเดินทางด้วยรถยนต์ไปเที่ยวดอยขุนตาลในพ.ศ. นี้จะสะดวกสบาย แต่แนะนำว่าคุณน่าจะใช้บริการรถไฟดู เพราะจุดเด่นของที่นี่เริ่มต้นตั้งแต่การเดินทางด้วยรถไฟจากกรุงเทพฯ ในช่วงหัวค่ำ นอนสบายๆ ในตู้นอน ถึงสถานีรถไฟขุนตานเช้าตรู่พอดี รถไฟเกือบทุกขบวนจะจอดที่สถานีนี้ แม้จะเป็นเพียงสถานีกลางป่าเล็กๆ เนื่องจากที่ตั้งของสถานีอยู่บนจุดสูงสุดของเส้นทางรถไฟ 578 ม. จากระดับน้ำทะเลปานกลาง จึงต้องมีการจอดรถเพื่อเช็คห้ามล้อ (เบรค) 

อุโมงค์ขุนตาน เที่ยวขาล่องลงกรุงเทพฯ ช่วงค่ำเป็นรถตู้นอนผ่าน
อุโมงค์ขุนตานเจาะทะลุภูเขายาวกว่าหนึ่งกิโลเมตร

สมัยก่อนที่การรถไฟยังเป็นรถจักรไอน้ำ จะต้องมีหัวรถจักรอีกหัวหนึ่งคอยดันขบวนท้ายสุดเพื่อขึ้นไปยังดอยขุนตาล เนื่องจากความสูงของรางรถไฟที่พาดผ่านขึ้นไปบนเขา ปัจจุบันหัวรถจักรดีเซลมีกำลังมากพอที่จะดึงทั้งขบวนขึ้นไปได้ จนทะลุอุโมงค์ขุนตาน สู่สถานีรถไฟกลางไพรที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของไทย

ที่นี่สถานีรถไฟขุนตาน เห็นลุงยังขายกล้วยไม้ด้วย

อุโมงค์ขุนตาน เป็น 1 ใน 7 อุโมงค์ของรถไฟไทย และเป็นอุโมงค์ที่ยาวที่สุด 1,352.15 ม. อยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล ระหว่างอ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง และอ.แม่ทา จ.ลำพูน เริ่มต้นก่อสร้างเมื่อพ.ศ. 2450 แล้วเสร็จพ.ศ. 2461 กินระยะเวลา 11 ปี ใช้งบประมาณไป 1,362,050 บาท โดยการรถไฟหลวงแห่งกรุงสยาม  พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยาการ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นผู้บัญชาการ โดยมีวิศวกรชาวเยอรมันชื่อ นายเอมิล ไอเซนโฮเฟอร์ เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง

หลังจากลงรถไฟแล้ว คุณอาจจะแวะไปดื่มกาแฟร้อนๆ ที่ร้านค้าหลังสถานีรถไฟ อาศัยห้องน้ำของสถานีที่พร้อมให้บริการล้างหน้าล้างตา แล้วค่อยเดินมาเที่ยวมาถ่ายภาพอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุด ซึ่งอยู่ตีนดอยขุนตาลนั่นเอง

สถานีรถไฟขุนตาน ลงรถไฟปุ๊บเดินขึ้นดอยขุนตานได้ปั๊บ

อุโมงค์ขุนตาน มีความกว้าง 5.20 ม. สูง 5.50 ม. ยาว 1,352.15 ม. เป็นอุโมงค์ชนิดคอนกรีตเสริมเหล็กตลอดแนว อุโมงค์ด้านเหนือสูงกว่าด้านใต้ประมาณ 14 ม. ด้านหน้ามีอนุสรณ์ให้รำลึกถึงกรมหลวงกำแพงเพชรอัครโยธิน และวิศวกรชาวเยอรมันตั้งอยู่ด้วย

กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสด็จตรวจงานสร้างอุโมงค์ขุนตาน พ.ศ.2450-2462

มีบันทึกถึงการก่อสร้างอุโมงค์นี้ว่า การก่อสร้างเต็มไปด้วยความยากลำบาก เพราะเป็นป่าทึบ และโขดเขาสูงชัน เครื่องมือในการก่อสร้างต้องใช้ช้างและเกวียนบรรทุกไป ต่อด้วยการใช้รอกชักขึ้นเขา ลงเขา  คนงานก่อสร้างเป็นพวกคนเร่ร่อนบ้าง เป็นกรรมกรขี้เหล้าบ้าง และเป็นพวกติดฝิ่นบ้าง สมัยนั้นการสูบฝิ่นยังไม่ผิดกฎหมาย ด้วยเทคโนโลยีที่ยังไม่ทันสมัย การก่อสร้างจึงต้องใช้แรงงานคนมหาศาล เล่ากันว่าหลายคนต้องตายไปเพราะเป็นไข้ป่า บางคนถูกเสือกัด การขุดเจาะนั้นก็ยากลำบากต้องใช้แรงคนตอกสกัดให้เกิดรูลึกเข้าไป หลังจากนั้นจึงนำเอาดินระเบิดไดนาไมต์ ฝังเข้าไปเพื่อระเบิดให้เป็นอุโมงค์ จากนั้นก็ทำการขนดินขนหินที่ระเบิดออกมา การขุดเจาะนี้เริ่มจากปลายอุโมงค์ทั้งสองด้าน เพื่อให้มาบรรจบกันตรงกลาง ใช้เวลายาวนานถึง 8 ปี และใช้เวลาอีก 3 ปี เพื่อผูกเหล็ก เทคอนกรีต ทำผนัง และหลังคา 

หลังจากนั้นยังต้องทำการก่อสร้างวางรางรถไฟจากสถานีลำปางไปยังปากอุโมงค์ อีก 8 กม. ผ่านหุบเหวลึกถึงต้องสร้างสะพานพาดรางรถไฟในหุบเขาอีก 3 สะพาน คือ สะพานสองหอ สะพานสามหอ และสะพานคอมโพสิต 

หลังจากอุโมงค์ขุนตานแล้ว การรถไฟยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะวางรางรถไฟไปจนถึงจ.เชียงใหม่ได้

สถานีรถไฟขุนตาน ห่างจากสถานีรถไฟกรุงเทพ 683.14 กม. อยู่ในเขตต.ท่าปลาดุก อ.แม่ทา จ.ลำพูน เลยจากอุโมงค์ขุนตานมาเพียง 200 ม.

สถานีรถไฟขุนตานหลังเก่า อยู่หน้าอุโมงค์ขุนตาน

รายชื่อสถานีรถไฟจากจังหวัดลำปาง-เชียงใหม่

นครลำปาง

ห้างฉัตร

ปางม่วง

ห้วยเรียน

แม่ตานน้อย (เข้าสู่อุโมงค์ขุนตาน)

ขุนตาน

ทาชมภู

ศาลาแม่ทา

หนองหล่ม

ลำพูน

ป่าเส้า

สารภี

เชียงใหม่

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบรถไฟ น่าจะแวะไปที่สะพานรถไฟทาชมภู ก่อนถึงสถานีรถไฟทาชมภูจะมีสะพานสีขาว ซึ่งการรถไฟมักจะใช้เป็นภาพโฆษณาประชาสัมพันธ์อยู่บ่อยๆ ลักษณะเป็นสะพานคอนกรีตสีขาว มีความสวยงาม ชาวบ้านเรียกกันว่าสะพานขาว อยู่ระหว่างสถานีรถไฟขุนตาน และสถานีรถไฟทาชมภู 

ย.1 มองไปทางจ.เชียงใหม่

ย. 1

วิวสวย บ้านงาม

เกือบร้อยปีที่แล้ว ย. 1 เคยถูกใช้เป็นบ้านพักของผู้บัญชางานก่อสร้างอุโมงค์ขุนตาน วันนี้บ้านพักของการรถไฟก็ยังอยู่ และยังมีลานกางเต็นท์ มีจุดชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม เห็นเส้นทางรถไฟที่ทอดรางผ่านป่าใหญ่อยู่เบื้องล่าง

Location : ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 1,500 ม.

เดินเท้าขึ้นมาจากสถานีรถไฟดอยขุนตาน หรือขับรถจากอ.แม่ทา ขึ้นมายังที่ทำการอุทยานฯ

หลังจากที่คุณเดินทางมาถึงสถานีรถไฟด้วยขบวนตู้นอนแสนสุข เมื่อถึงสถานีขุนตาน หอบสัมภาระลงจากขบวนรถ ได้ดื่มกาแฟร้อน ล้างหน้าล้างตา และเดินไปเที่ยวชมปากอุโมงค์ขุนตานเรียบร้อยแล้ว คราวนี้ก็เดินขึ้นดอยกัน ใครที่คิดว่าของที่นำมามันหนักแบกไม่ไหว ติดต่อหาลูกหาบได้ที่ร้านกาแฟหลังสถานีรถไฟขุนตานนั่นเลย เขาจะมีมอเตอร์ไซค์นำสัมภาระคุณขึ้นไปส่งไว้ให้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวบน ย. 1 แล้วอย่าลักไก่กระโดดซ้อนมอเตอร์ไซค์ไปเชียว เพราะคุณจะพลาดดื่มด่ำความงดงามระหว่างเดินขึ้นดอยขุนตาล

จากสถานีรถไฟเพียงคุณเดินข้ามรางรถไฟไปอีกฝั่งที่อยู่เยื้องๆ กับตัวสถานี ก็จะพบทางขึ้นดอย จากนั้นก็ค่อยๆ เดินเท้าไต่ระดับขึ้นไป ทางเดินง่ายผ่านป่าอันร่มรื่น ได้ยินเสียงนกร้องต้อนรับ หากมาเที่ยวในช่วงหน้าฝน หน้าหนาว บางครั้งเดินๆ อยู่สายหมอกสีขาวๆ จะลงปกคลุมอย่างสวยงาม ระยะทาง 1,300 ม.

ลานกางเต็นท์ที่ ย.1

ใช้เวลาสักครึ่งชั่วโมงคุณก็จะมาถึงที่ทำการอุทยานฯดอยขุนตาล จ่ายค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่ จากนั้นเดินต่อไปอีก 1,500 ม. ขึ้นไปยัง ย. 1 ทางเดินไม่ยาก บางช่วงมีบันไดให้เดินขึ้น

เมื่อเกือบร้อยปีที่แล้ว บ้านพักของกรมหลวงกำแพงเพชรอัครโยธิน ก็อยู่บน ย. 1 คิดถึงการเดินขึ้น เดินลงไปควบคุมบัญชาการก่อสร้างของท่านแล้ว คงต้องเป็นบุคคลที่แข็งแรงทีเดียว

ย. 1 แม้จะยังไม่เป็นยอดเขาที่สูงมาก แต่วิวสวยมาก จุดเด่นแรก คือจุดชมวิวที่มองเห็นรางรถไฟทอดผ่านหายเข้าไปในป่าใหญ่หลังจากพ้นสถานีขุนตาน มุ่งหน้าสู่สถานีทาชมภู จ.ลำพูน ถ้าตั้งใจรอรถไฟผ่าน วันหนึ่งคุณจะได้เห็นหลายขบวนทีเดียว ทั้งรถไฟท้องถิ่น รถสินค้า 

จุดเด่นที่สอง คือสนามหญ้ากว้างใหญ่ที่อยู่ด้านหลังจุดชมวิว ที่นี่เหมาะมากที่จะกางเต็นท์พักแรม มีห้องน้ำ ห้องท่าเสร็จสรรพ ด้านหลังสุดเป็นศูนย์บริการนักท่องเที่ยวที่จะช่วยเหลือคุณได้ตลอดเวลาทั้งในการหาที่พัก สั่งทำอาหาร หรือแม้แต่ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวที่จะสวยงามในแต่ละช่วงเวลา

บังกะโลรถไฟที่ย.1

จุดเด่นที่สาม ที่พลาดไม่ได้คือไปดูบ้านพักของการรถไฟที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่พำนักของกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน สร้างมาตั้งแต่พ.ศ. 2460 เมื่อก่อนทาสีฟ้าสดใสสวยมาก แต่ตอนนี้ถูกสีเหลืองและน้ำตาลทาทับ มองคล้ายยกสถานีรถไฟขึ้นไปไว้บนดอย ลักษณะเป็นบ้านชั้นเดียวคล้ายบังกะโล เฟอร์นิเจอร์ภายในเป็นของเก่าทั้งหมด ปัจจุบันเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าพัก โดยติดต่อได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ด้านหน้าบ้านเป็นระเบียงกว้าง หากมากันเป็นหมู่คณะ นั่งล้อมวงกินข้าว คุยกันสรวลเสเฮฮาได้เป็นอย่างดี และวิวยังสวยมองกว้างไกลถึงลำพูนในวันที่อากาศดี รอบๆ บ้านยังมีสวนไม้ดอกที่รายล้อมไว้อย่างสวยงาม และช่วงเวลาเย็นยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยที่สุดของดอยขุนตาลด้วย

ระเบียงบ้านพักรถไฟกว้าง น่าล้อมวงกินหมูกะทะ

นอกจากบ้านสวยหลังนี้ของการรถไฟที่คุณใช้บริการได้แล้ว ยังมีบ้านบังกะโลรถไฟอีกหลายหลังให้คุณเลือกทำเลได้ เช่น บังกะโลหลังที่ 2 อยู่ไม่ห่างกันมาก เด่นตรงมีเตาผิงภายในด้วย และมีระเบียงชมวิวได้เช่นกัน ส่วนบังกะโลหลังที่ 3 มีขนาดย่อมลงมาหน่อยอยู่ริมหน้าผา วิวจึงสวยเป็นพิเศษ ด้านหน้าเป็นสวนดอกไม้ใหญ่ช่วยสร้างบรรยากาศโรแมนติกมาก ตัวบ้านเป็นทรงยุโรป เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่ก็เป็นของเก่าสไตล์ยุโรป

ที่สำคัญราคาประหยัดมาก บริเวณบังกะโลรถไฟ อยู่บนความสูงประมาณ 900 ม. จากระดับน้ำทะเล เดินเท้าจากสถานีรถไฟขึ้นมา 2.7 กม. ถึงบ้านหลังแรก และหลังสุดท้ายเดินต่อไปอีกเพียง 100 ม.เท่านั้น

ย.2 มีป่าสนแสนสวย

ย. 2

เยือนบ้านม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เที่ยวน้ำตกตาดเหมย

Location : ห่างจาก ย. 1 ประมาณ 800 ม.

เดินเท้าจาก ย. 1 ไปตามทางขึ้นตามป้ายอุทยานฯ ซึ่งจัดทำไว้ตลอดเส้นทาง 

หลังจากได้ที่พักกันถูกอกถูกใจแล้ว รายการต่อไปก็เดินไต่ความสูงขึ้นไป ย. 2 ระยะทางไม่ยาวไกล 800 ม. เดินเพลินๆ ชมวิวป่าไปชั่วโมงเศษก็จะถึง จุดเด่นแรก คุณจะเห็นทางขึ้นไปยังเนินเขาด้านข้างมีบันไดดินให้เดินขึ้นไปพบกับลานสนกว้างใหญ่ นับเป็นป่าสนเขาที่ใหญ่ที่สุด และสวยที่สุดของดอยขุนตาล หลังจากชมและถ่ายภาพเสร็จ คราวนี้เดินลงมายังทางเดิน ตรงข้ามกับป่าสนเขานั้นเป็นบ้านพักของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมได้ ลักษณะเป็นบ้านไม้หลังเล็กๆ มีต้นจำปีใหญ่อยู่ตรงระเบียงส่งกลิ่นหอมชื่นใจยอมออกดอก

บ้านพักม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชที่ย.2

ย. 2 ในอดีตเคยเป็นที่ตั้งแค้มป์ของบริษัททำไม้มาก่อน ซึ่งหยุดกิจการไปเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ขอซื้อที่ดินนี้เพื่อทำเป็นที่พัก ในยุคนั้นยังไม่มีการประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ท่านจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินบนดอยขุนตาลแห่งนี้ นอกจากบ้านพักแล้ว ยังมีการปลูกสวนดอกไม้ และผลไม้ โดยเฉพาะลิ้นจี่ ได้ชื่อว่าเป็นลิ้นจี่ดอยขุนตาลที่รสชาติดีที่สุด สมัยก่อนหากช่วงไหนที่ท่านไม่ได้ขึ้นมาพำนัก ในช่วงที่ลิ้นจี่ออกผล คนเฝ้าสวนก็ยังทำหน้าที่เก็บลิ้นจี่ส่งไปให้ท่านถึงกรุงเทพฯทุกปี 

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของประเทศไทย ดำรงตำแหน่งระหว่างพ.ศ. 2518-2519 ท่านตั้งใจจะมาใช้บ้านขุนตาล เป็นที่พำนักยามบั้นปลายชีวิต แต่ด้วยโรคภัยที่มาเยือนทำให้ชีวิตช่วงบั้นปลายต้องพักอยู่ที่บ้านสวนพลู กรุงเทพฯ จนถึงแก่อสัญกรรมไปเมื่อพ.ศ. 2538 ด้วยวัย 84 ปี และอัฐิของท่านได้ถูกนำมาบรรจุไว้ที่บ้านพักบนดอยขุนตาลแห่งนี้ด้วย

มาเดินเที่ยวชมสวนดอกไม้และวิวทิวทัศน์ เพื่อเป็นการรำลึกถึงบุคคลสำคัญของประเทศไทย และยังจัดเป็นบุคคลสำคัญของโลกตามที่องค์การยูเนสโก้ได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ เมื่อพ.ศ. 2552 ให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นบุคคลสำคัญของโลก ใน 4 สาขา ได้แก่ การศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน ในวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาล

น้ำตกตาดเหมย ร่มครึ้มทั้งวันจนแทบไม่เห็นแดด

จุดเด่นที่สอง ของ ย. 2 คือน้ำตกตาดเหมย ทางเดินเข้าน้ำตกอยู่ระหว่างจาก ย. 2 ไปยัง ย.3 จะพบทางเดินลงเขา มีป้ายบอกชัดเจน ระยะทาง 300 ม.

น้ำตกตาดเหมยจะมีน้ำมากในช่วงฤดูฝน ไปจนถึงต้นหนาวเท่านั้น เป็นน้ำตกขนาดกลาง ไหลเลียดลงหน้าผาสู่แอ่งเบื้องล่าง รายล้อมด้วยเงาป่าครึ้มทั้งวัน หากคุณมาเที่ยวช่วงกลางฤดูหนาวไปแล้ว อาจจะเห็นน้ำตกที่นำ้น้อยมาก คงไม่ต้องแวะลงมาก็ได้

ขุนตาล หรือ ขุนตาน?

คุณๆ ที่มาเที่ยวดอยขุนตาลคงจะสับสนถึงตัวสะกดของชื่อดอยนี้ เริ่มจากป้ายที่สถานีรถไฟ ใช้คำว่า “ขุนตาน” ที่สะกดด้วย น.หนู แต่บนอุทยานฯ ใช้คำว่า “ขุนตาล” ซึ่งสะกดด้วย ล.ลิง

คำว่าขุนตานนั้น สันนิษฐานกันว่าน่าจะมาจากคำว่า “ขุนธาร” ซึ่งมีความหมายของขุนเขาที่อุดมไปด้วยสายน้ำ ต่อมาออกเสียงเป็น “ขุนตาน” ซึ่งทางรถไฟจะใช้ตัวสะกดเป็น “ขุนตาน” ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสถานีรถไฟ ชื่ออุโมงค์ ส่วนทางอุทยานแห่งชาติจะใช้ตัวสะกดเป็น “ขุนตาล”

ย.3 ไปเยี่ยมบ้านพักมิชชันนารี วิวสวย

ย. 3

ตามหาสามปอยดอยขุนตาล เที่ยวบ้านมิชชันนารี

Location : ห่างจาก ย. 2 ประมาณ 3.5 กม.

เดินเท้าไปตามทางเดินเลียบไหล่เขาไต่ระดับความสูงขึ้นไป

หลังจากเที่ยว ย. 2 กันแล้ว คราวนี้เดินต่อขึ้นเขา ทางเดินจะผ่านหน้าบ้าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นั่นเอง เดินตามทางดินเล็กๆ ขึ้นไปตามความสูงของขุนเขา จาก ย. 2 ไป ย. 3 นี่ไกลหน่อย ถ้ามาเที่ยวกันน้อย เดินกันเหงาอาจจะรู้สึกนาน แต่มาเที่ยวกันเยอะ เดินกันสนุกลืมเหนื่อยไปเลย

ระหว่างทางเดินจะมีนกให้คุณได้ชมหลายชนิด และที่สำคัญเส้นทางสู่ ย. 3 นี้มีกล้วยไม้ท้องถิ่นที่ชื่อสามปอยขุนตาล อยู่บริเวณบนต้นไม้ระหว่างทางด้วย กล้วยไม้ชนิดนี้หายาก ปกติกล้วยไม้สามปอยมีอยู่ทั่วไป แต่สามปอยขุนตาลนั้น จะมีกลีบดอกใหญ่และแข็งแรง ส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ สมัยก่อนใครที่เคยนั่งรถไฟผ่านสถานีขุนตานในช่วงกลางวัน พอขบวนรถจอดจะมีชาวบ้านถือกระถางกล้วยไม้มาชูขาย นั่นล่ะคือสามปอยขุนตาล ที่เขาเพาะพันธ์ุมาจำหน่าย นับเป็นสถานีรถไฟที่แปลกที่สุดในประเทศก็ได้ที่ขายกล้วยไม้กัน แทนที่จะขายข้าวเหนียว ไก่ย่าง ไข่ต้ม ฯลฯ

ระเบียงบ้านพักมิชชันนารี มองไปทางเชียงใหม่

ช่วงสุดท้าย ทางจะไต่ระดับความสูงขึ้นมาหยุดอยู่บนเนินหน้าบ้านพักมิชชันนารี ซึ่งมีรั้วรอบขอบชิดอยู่  เป็นป่าที่ร่มครึ้มมาก บ้านพักมิชชันนารีนี้ถูกสร้างเมื่อค.ศ. 1900 โดยมิชชันนารีคณะเพรสไพทีเรียนที่เดินทางมาทำพันธกิจแรกๆ ที่จ.ลำปาง คณะเพรสไพทีเรียนนี้ เป็นหนึ่งในคณะต่างๆ ของนิกายโปรแตสแต็นท์ ศาสนาคริสต์ จะเด่นเรื่องการศึกษา และการแพทย์ จึงปรากฎโรงพยาบาล และมหาวิทยาลัย สถานศึกษาหลายแห่งในภาคเหนือ ซึ่งก็เกิดจากการทำพันธกิจของมิชชันนารีคณะเพรสไพทีเรียนนี่เอง

บ้านพักมิชชันนารีแห่งนี้ สร้างก่อนที่จะเกิดอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาลขึ้น คล้ายกับบ้านพัก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช พื้นที่นี้จึงเป็นกรรมสิทธิ์ของสภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย ผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลก็คือมหาวิทยาลัยพายัพ จ.เชียงใหม่

ในอดีตบ้านพักมิชชันนารีนี้ ใช้เป็นที่พักผ่อนของบรรดามิชชันนารีในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี แม้จะเป็นหน้าร้อนแต่อากาศบน ย. 3 นี้เย็นสบาย จุดเด่นน่าชมก็คืออาคารบ้านพักที่ปลูกสร้างกันอย่างง่ายๆ  มีระเบียงกว้างให้ชมวิวผ่านป่าสน ถ้าอากาศดีจะมองเห็นถึงจังหวัดเชียงใหม่ แต่ด้วยระดับความสูงที่มากขึ้นในแต่ละวันของฤดูฝนและฤดูหนาวจึงมีหมอกปกคลุม ซึ่งก็สวยงามไปอีกแบบ

อีกจุดเด่นคือดงต้นคริสต์มาสสีแดงสะพรั่ง อยากชมต้องมาในช่วงธันวาคมจะได้เห็นสีแดงสวยไปทั่ว 

บ้านพักมิชชานีนี้ เป็นกลุ่มอาคารที่พัก 6 หลัง พื้นที่กว้างขวางประมาณ 13 ไร่ ห่างจากตัวสถานีรถไฟขุนตานประมาณ 7.3 กม. ห่างจาก ย. 1 เพียง 5 กม.เหมาะสำหรับวัยรุ่น หนุ่มสาว หรือผู้เรี่ยวแรงดี ยิ่งมากันเป็นหมู่คณะเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันจะสนุกมาก 

ย. 3 แห่งนี้ยังเหมาะสำหรับแวะรับประทานอาหารที่ถือติดตัวกันขึ้นมา ซึ่งจะได้เวลามื้อกลางวันพอดี ก่อนที่จะเดินทางไปเที่ยว ย. 4 ซึ่งเป็นยอดสูงสุดของดอยขุนตาล

ใครที่อยากสัมผัสบรรยากาศคืนและวันที่นี่ก็สามารถทำได้ ติดต่อที่พักได้ที่ม.พายัพ เชียงใหม่

ย. 4 หินนี้คือม่อนส่องกล้อง จุดสูงสุด

ย. 4

พิชิตยอดสูงสุดของดอยขุนตาลที่ม่อนส่องกล้อง

Location : ห่างจาก ย. 3 ประมาณ 1 กม.

เดินเท้าไปตามเส้นทางอุทยานฯ ลักษณะเป็นทางเดินเล็กๆ ลัดเลาะไหล่เขา ไต่ระดับความสูงขึ้นไป ท่ามกลางป่าอันร่มรื่น

จาก ย. 3 เดินขึ้นไปตามทางเดินเท้าเล็กๆ แม้ระยะทางจะเพียงอีก 1 กม. แต่ด้วยความที่ผ่านระยะทาง และความสูงชันมาพอสมควร หลายคนจึงล้มเลิกความตั้งใจที่จะพิชิตยอดสูงสุด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก ทางเดินไม่ได้ยากลำบากอะไร อดทนสักนิดคุณก็จะได้พิชิตยอดดอย

ช่วงสุดท้ายนั้น จะเป็นทางตัดชันขึ้นสู่ยอด ต้นไม้โดยรอบเริ่มจะมีลักษณะแคระแกรนเหมือนยอดเขาอื่นๆ เพราะต้องต่อสู้กับสายลม และภูมิอากาศบนยอดให้ยืนต้นอยู่ได้ 

พอพ้นเนินสุดท้ายก็จะเห็นลานกว้างบนยอดดอย มีหินก้อนใหญ่สูงขนาดเลยหัวเราไปหลายคืบ มีบันไดเล็กๆ ให้ไต่ขึ้นไปยืนบนยอด นี่ล่ะที่เขาเรียกกันว่า “ม่อนส่องกล้อง”

ย.4 ไกลสุด สูงสุด ต้องมาให้ถึง

นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่นี่เป็นที่ส่องกล้องทางไกล มองเห็นตัวเมืองลำปางได้อย่างชัดเจนในวันที่อากาศแจ่มใส และหากคุณมาในวันที่เต็มไปด้วยไอหมอกปกคลุม ก็นับว่าสวยไปอีกแบบสำหรับยอดสูงสุดแห่งนี้ อุตส่าห์เดินตั้งไกลกว่าจะมาถึง จึงนิยมขึ้นไปนั่งบนชะง่อนหินถ่ายภาพเก็บไปเป็นที่ระลึกว่าได้พิชิตยอดดอยขุนตาลที่ระดับความสูง 1,373 ม. จากระดับน้ำทะเลปานกลางกันแล้ว

ลานกว้างรอบยอดหินใหญ่นี้ เป็นทุ่งหญ้า และมีจุดชมวิวบริเวณหน้าผาใกล้ๆ กัน มีป้ายจากทางอุทยานฯ ชี้ตำแหน่งให้เห็นว่ามองไปทางซ้ายจะเห็นอะไร มองไปทางขวาจะเห็นอะไร ซึ่งก็คือทิวทัศน์ของฝั่งลำปาง และลำพูน อันเป็นที่ตั้งคาบเกี่ยวของอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาลนั่นเอง

ยอดดอยนี้ ทางอุทยานฯ ไม่อนุญาตให้ตั้งแค้มป์พักแรม และหากคุณจะมาพิชิตกัน ต้องกะเวลาให้ดีๆ อย่าขึ้นมาถึงเย็นมากนัก เพราะขากลับทางจะมืดเดินไม่สะดวก อย่างไรพกไฟฉายติดตัวกันไว้ก็ดี เผื่อฉุกเฉินเดินกลับไม่ทันจะได้ใช้งาน และควรเตรียมน้ำดื่มมาให้พร้อมด้วย เพราะบนยอดนี้มีแต่ป่ากับวิวเท่านั้น

หลังจากได้ชมวิว ถ่ายภาพ และพักกันจนหายเหนื่อย คราวนี้ก็เดินลง ขากลับนี่ง่ายหน่อย เพราะเดินลงตลอด ไม่ค่อยเหนื่อย และทำเวลาได้เร็วกว่าขาขึ้น เดินกลับมาทางเก่า ผ่าน ย. 3 ย.2 ถึง ย. 1 ก่อนจะเข้าที่พักแวะชมวิวพระอาทิตย์ตกกันก่อน มีจุดชมได้หลายแห่งบน ย. 1 จากนั้นใครเลือกพักที่ไหนก็เข้าบ้านนั้นไม่ว่าจะเป็นบังกะโลรถไฟ บ้านพักอุทยานฯ หรือลานกางเต็นท์ก็ตาม

การมาเที่ยวดอยขุนตาล นับเป็นการเดินทางท่องเที่ยวเชิงพักผ่อนไปในตัว ควรมีเวลาอย่างน้อย 2 คืน บนดอย วันแรกที่มาถึงอาจจะเที่ยวสถานีรถไฟขุนตาน ชมอุโมงค์รถไฟ หรือเลยไปเที่ยวสะพานทาชมภู แล้วค่อยเดินขึ้นมายัง ย. 1 พักผ่อนหย่อนใจกับเพื่อนฝูง หากเลือกพักบังกะโลรถไฟ เขามีครัวให้ด้วยอาจจะสนุกกับการช่วยกันทำอาหาร ชมพระอาทิตย์ตกตอนเย็น รุ่งขึ้นอีกวันจึงค่อยเดินขึ้นไปเที่ยว ย. 2 ย. 3 และ ย.4 ซึ่งใช้เวลาเต็มวัน แล้วนอนบนดอยอีกคืน

เช้าวันที่สาม หลังอาหารเที่ยงค่อยเดินลงมายังสถานีรถไฟขุนตาน ใครที่จองตั๋วรถไฟกลับกรุงเทพฯ ก็รอขึ้นรถไฟในช่วงค่ำ หรือใครจะเดินทางต่อไปเที่ยวเชียงใหม่ ก็นั่งรถไฟท้องถิ่นไปก็ได้เช่นกัน

ที่เที่ยวทั่วไปรอบดอยขุนตาล

อุทยานฯ ดอยขุนตาล ไม่ได้มีเพียง ย. 1-4 เท่านั้น ความกว้างใหญ่ของพื้นที่ซึ่งครอบคลุมทั้งจ.ลำปาง และจ.ลำพูน ทำให้มีสถานที่สวยงามตามธรรมชาติให้ชมอีกหลายแห่ง เช่น น้ำตกต่างๆ แม้จะไม่เป็นที่นิยมนัก แต่หากคุณมีเวลา หรือนำรถยนต์มาเที่ยวก็สามารถขับไปแวะเที่ยวชมได้

สะพานทาชมภู

สะพานทาชมภู

Location : ต.ท่าปลาดุก อ.แม่ทา อยู่ระหว่างสถานีรถไฟขุนตาน และสถานีรถไฟทาชมภู

หากคุณนั่งรถไฟสายท้องถิ่นขึ้นเหนือในเวลากลางวัน จะผ่านสะพานนี้ หรือขับรถจากอุทยานฯดอยขุนตาลไปทางวัดทาชมภู หรือจากอ.แม่ทา จ.ลำพูน ใช้ทางหลวงหมายเลข 106 ไปทางอ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ระยะทาง 1.5 กม. ถึงทางแยกเลี้ยวขวาไปบ้านทาชมภู

สะพานทาชมภู เป็นสะพานคอนกรีตสีขาว นับเป็นสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยก็ว่าได้ ภาพในโปสเตอร์เพื่อการประชาสัมพันธ์ของการรถไฟมักจะมีสะพานนี้ปรากฎอยู่เสมอ สะพานนี้สร้างข้ามแม่น้ำแม่ทา อยู่ในพื้นที่ราบ ท่ามกลางทุ่งนากว้าง จึงมองเห็นได้แต่ไกล ประกอบกับตัวสะพานทาด้วยสีขาว ชาวบ้านแถบนี้จึงเรียกกันว่าสะพานขาว ตามสีของสะพานนั่นเอง

สะพานแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2462 ต่อเนื่องมาจากการสร้างอุโมงค์ขุนตาน โดยกรมพระกำแพงอัครโยธิน ลักษณะสะพานเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก มีความยาว 87.3 ม. จุดน่าสังเกตน่าชมในขณะที่สะพานข้ามหุบ หรือคลองส่วนใหญ่จะใช้เหล็กล้วนๆ แต่ที่นี่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เนื่องจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เหล็กหายาก ด้วยการคำนวณทางวิศวกรรมที่แม่นยำทำให้สะพานแห่งนี้แข็งแรงแม้จะใช้งานมาเกือบร้อยปีแล้วก็ตาม

หมู่บ้านแกะสลักที่อ.แม่ทา ต.ทาทุ่งทา ไม่ไกลจากดอยขุนตาน

ย. หมายถึงอะไร?

หลายคนที่มาเที่ยวดอยขุนตาล เห็นคำว่า ย. 1 ย. 2 ย. 3 ย. 4 เลยเดากันว่าน่าจะย่อมาจากยอดเขาที่ 1-4 แท้ที่จริงหาใช่ดังนั้นไม่ คำว่า ย. ที่จริงย่อมาจาก “จุดยุทธศาสตร์” ที่ถูกใช้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

มีนกอะไรให้ดูที่ดอยขุนตาล

นกยางกรอกพันธุ์จีน นกยางไฟหัวน้ำตาล นกคุ่มอกลาย นกปากซ่อมหางพัด นกชายเลนน้ำจืด นกเด้าดิน นกเขาไฟ นกอีวาบตั๊กแตนนกบั้งรอกใหญ่ นกกระปูดใหญ่ นกเค้ากู่ นกแอ่นตาล นกกะเต็นน้อย นกจาบคาเล็ก นกตะขาบทุ่ง นกตีทอง นกเด้าลมเหลือง นกเขนน้อยปีกแถบขาว นกขมิ้นน้อยสวน นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า นกปรอดเหลืองหัวจุก นกไต่ไม้หน้าผากกำมะหยี่ นกกินปลีอกเหลือง