เขาค้อ เพชรบูรณ์

Trips เพชรบูรณ์

สวิตเซอร์แลนด์แดนไทย

ณ กม.ที่ 100 ทางหลวงหมายเลข 12 สู่เขาค้อ
เข้าสู่เส้นทางที่พาดผ่านทะเลภูเขาหญ้า ซึ่งเต็มไปด้วยสถานที่น่าสนใจทางธรรมชาติ และร่องรอยแห่งคืนวานของประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของเมืองไทยตลอดสาย เป็นเส้นทางยอดนิยมที่นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนมากมาย เพราะจุดหมายปลายทางคือ เขาค้อ ที่ว่ากันว่า ‘นอน 1 คืน อายุยืน 1 ปี’

ตลอด 2 ข้างทางเต็มไปด้วยทัศนียภาพอันงดงาม อากาศบริสุทธิ์ และปัจจุบันที่เริ่มกลมกลืนกับความสะดวกสบายต่างๆ ทั้งที่พัก ร้านอาหาร เครื่องดื่ม และจุดแวะพักผ่อนเที่ยวชมนับร้อยพันแห่ง

ทะเลหมอกผืนใหญ่สวยงามที่มองเห็นจากริมทางถนนสู่ เขาค้อ เพชรบูรณ์
เส้นทางสู่ทะเลภูเขา ณ เขาค้อ

Location จาก อ.เมืองเพชรบูรณ์ ไปตามทางหลวงหมายเลข 21 (เพชรบูรณ์-หล่มสัก) ราว 13 กม. เลี้ยวซ้ายที่แยกบ้านนางั่วเข้าทางหลวงหมายเลข 2258 ไปอีกราว 24 กม. แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2196 มุ่งหน้าสู่ เขาค้อ อีก 8 กม.

ทางขึ้นเขาค้อ ใช้เพียงแค่รถเก๋งสภาพดี ก็ขับเที่ยวได้สบายๆ เพราะแม้ว่าจะมีทางโค้งมาก บางช่วงบางเส้นยังค่อนข้างเล็กและแคบ ประกอบกับเป็นทางลาดชัน แต่เส้นทางหลักส่วนใหญ่ปัจจุบันเป็นถนนราดยางสภาพดี ไม่ยากเกินความสามารถและกำลังรถ

แต่ให้ระมัดระวัง 2 จุดหลักที่มีความสูงมากเป็นพิเศษ คือ อนุสรณ์สถานผู้เสียสละเขาค้อ พระตำหนักเขาค้อ ที่ต้องใช้กำลังของเครื่องยนต์มากขึ้น รวมถึงทักษะและความชำนาญของผู้ขับขี่ และอย่าลืมตรวจสอบสภาพรถก่อนออกเดินทาง โดยเฉพาะเบรก ยางรถ คลัตช์ และเครื่องยนต์

ตลาดริมทางบางชุมชนและจุดท่องเที่ยวหลักที่คนนิยมไปแวะ จะมีร้านขายของฝากและที่ระลึก เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของชาวเขา ผักผลไม้ตามฤดูกาลและเมืองหนาว เขาค้อ เพชรบูรณ์
ช้อปปิ้งกับสีสันสดใสในวันกลางฤดูหนาว

ความมหัศจรรย์ของเส้นทางนี้

  1. เนินมหัศจรรย์บริเวณ กม.17-18 เพียงจอดรถนิ่งๆ และปลดเกียร์ว่าง รถก็จะไหลถอยหลังขึ้นเนินเองอย่างน่าอัศจรรย์
  2. เส้นทางเต็มไปด้วยสถานที่น่าสนใจทั้งทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์ของเมืองไทยตลอดเส้น
  3. มีจุดแวะพักชมวิวสวยๆ ให้ถ่ายรูปอวดซ่อนอยู่เพียบ
  4. มีรีสอร์ตและที่พักหลากหลายรูปแบบให้เลือกนับพันแห่ง นับเป็นสีสันหลักอีกอย่างของเขาค้อ
  5. ร้านเครื่องดื่ม ร้านอาหารระหว่างทางขึ้นลงเยอะ หรือร้านขายของฝาก บรรดาผักผลไม้เมืองหนาวก็มีตลาดเป็นจุดๆ หลายแห่ง
ฐานปืนใหญ่บนอนุสรณ์สถานผู้เสียสละ บนยอดเขาค้อ เนินยุทธศาสตร์สำคัญในช่วงยุทธภูมิเขาค้อ จัดแสดงอาวุธที่ใช้ และเป็นจุดท่องเที่ยวชมวิวที่สวยงามด้วยในตัว เพชรบูรณ์
วันนี้ไม่เล็งปืน แต่เล็งวิว

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2511 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เล็งเห็นว่ารอยต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และเลย เป็นชัยภูมิที่เหมาะสมในการเป็นฐานที่มั่นของกองกำลัง โดยเฉพาะที่บริเวณเขาค้อและภูหินร่องกล้า จึงดำเนินการแทรกซึมและครอบครอง จัดตั้งเป็นสถานที่เผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ และทำสงครามกองโจรเพื่อบังคับให้ชาวเขาที่อาศัยในละแวกนั้นมาเป็นแนวร่วมยึดอำนาจจากรัฐบาล

อ่างเก็บน้ำรัตนัย แหล่งเก็บน้ำหลักที่ใหญ่สุดในอำเภอ เขาค้อ เพชรบูรณ์
อ่างเก็บน้ำรัตนัย รับอรุณแห่งเขาค้อ
อ่างเก็บน้ำรัตนัย มองจากจุดชมวิวยอดนิยมริมทางหลวง บริเวณใกล้ที่ว่าการอำเภอ เขาค้อ มักมีทะเลหมอกให้ชมบ่อยครั้งตามฤดูกาล
อ่างเก็บน้ำรัตนัย ยามหมอกมาเยือน

จนกระทั่งวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511 เกิดเหตุการณ์สำคัญที่เรียกกันว่า ‘วันปืนแตก’ โดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายฝ่ายคอมมิวนิสต์เข้าโจมตีที่ตั้งของอาสาสมัครชุดคุ้มครองหมู่บ้านห้วยทรายเหนือ และเข้ายึดภูหินร่องกล้าเป็นฐานที่มั่น แผ่อิทธิพลครอบคลุมไปยังพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด รวมถึงบริเวณเขาค้อด้วย ก่อนจะถูกรัฐบาลสร้างยุทธศาสตร์ทำเส้นทางสายทุ่งสมอ-เขาค้อ สู่พื้นที่ในปี พ.ศ. 2519 และเข้ายึดได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2524 และได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์สำคัญอีกแห่งของเมืองไทย

ทะเลหมอกกับเขาค้อเป็นของคู่กัน เพชรบูรณ์
ไปกอดหมอกกันที่เขาค้อ

เขาค้อ ถูกเรียกว่าเมืองแห่งรีสอร์ต เพราะมีที่พักตลอดเส้นทางกว่าพันแห่ง! (เหลือเชื่อ) มากมายหลากหลายสไตล์ ทั้งบ้านไม้ทรงไทย ทรงล้านนา สไตล์คันทรีร่วมสมัย หรือบังกะโล ส่วนใหญ่เน้นไปที่การออกแบบให้ใกล้ชิดธรรมชาติรอบตัว ท่ามกลางบรรยากาศของขุนเขา เห็นวิวทิวทัศน์สะดวกทั้งจากระเบียงชมวิวของรีสอร์ต หรือแม้แต่จากปลายเตียงในห้องพัก

พวงลิ้นจี่ที่ใกล้ระยะเก็บเกี่ยวแล้ว ไร่บี.เอ็น เขาค้อ เพชรบูรณ์
ลิ้นจี่ที่ไร่บี.เอ็น.

บริเวณเขาค้อเป็นสถานที่เพาะปลูกทางการเกษตร จึงมีพืชพรรณต่างๆ ให้เลือกสรรอย่างอุดมสมบูรณ์ ร้านอาหารส่วนใหญ่จึงเด่นเรื่องของการใช้ผักปลอดสารพิษที่ส่งตรงจากเขาค้อ โดยบริการเมนูหลากหลาย ทั้งอาหารไทย อาหารตะวันตก อาหารจีน อาหารพื้นบ้าน และอาหารป่า ท่ามกลางบรรยากาศของวิวธรรมชาติอันงดงาม

อากาศที่เขาค้อมีอุณหภูมิเย็นสบายตลอดทั้งปี เหมาะแก่การจิบกาแฟยิ่งนัก ร้านกาแฟจึงมีบริการและให้เลือกหลากหลาย โดยเฉพาะกาแฟสดตามสถานที่ท่องเที่ยว และตามรีสอร์ทต่างๆ อีกทั้งยังมีเค้กและเบเกอรี่สดใหม่ให้ทานคู่กันด้วย

ผลิตผลการเกษตรสดๆ ชิมแล้วช้อป

สถานีทดลองเกษตรที่สูงเขาค้อ 

Location: บ้านกองเนียน ต.สะเดาะพง อ.เขาค้อ

ลงจากพระตำหนักเขาค้อ และเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 2258 ถึงบ้านกองเนียนจะพบสถานีทดลองเกษตรที่สูงเขาค้อ  

สถานีทดลองเกษตรที่สูงเขาค้อ เป็นสถานที่ทดลองเพาะปลูกดอกไม้ และผลไม้เมืองหนาวหลากหลายชนิดจากสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร เดิมสถานีจะเน้นงานทางด้านวิจัยเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่ต่อมารัฐบาลได้เสนอให้เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว จึงมีการปรับเปลี่ยนบางส่วนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ปัจจุบันนอกจากจะมีผลไม้เมืองหนาวให้ชมมากมายแล้ว สถานีทดลองเกษตรที่สูงเขาค้อ ยังจัดภูมิทัศน์ได้อย่างสวยงาม มีดอกไม้เมืองหนาวให้นักท่องเที่ยวได้ชมกันหลายชนิด นอกจากนี้ภายในสถานียังมีที่พัก และลานกางเต็นท์ให้บริการด้วย 

พระตำหนักเขาค้อ อยู่บนเขาย่า

พระตำหนักเขาค้อ
ตั้งอยู่บนเขาย่า จุดที่สูงที่สุดของเขาค้อ ด้วยความสูงกว่า 1,100 ม. จากระดับน้ำทะเล มีเนื้อที่กว่า 15 ไร่ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2527-2528 เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่ในหลวงร.9 เพื่อใช้เป็นที่ประทับเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินในโครงการพระราชดำริและทรงตรวจเยี่ยมพสกนิกรที่ อ.เขาค้อ ลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตครึ่งวงกลม ออกแบบโดย ศ.ดร.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา มีทั้งหมด 15 ห้อง สร้างเป็น 2 ชั้น ชั้นบนเป็นห้องบรรทม ชั้นล่างด้านซ้ายเป็นห้องพระราชทานเลี้ยง ห้องเสวย และห้องเข้าเฝ้าฯ ส่วนด้านขวาเป็นห้องบรรทมของพระบรมวงศานุวงศ์

ขออนุญาตเจ้าหน้าที่เข้าชมบริเวณโดยรอบพระตำหนักได้ แต่ต้องแต่งกายสุภาพ และชมได้เฉพาะภายนอกพระตำหนักเท่านั้น

อนุสรณ์สถานผู้เสียสละ

อนุสรณ์สถานผู้เสียสละเขาค้อ
บนยอดเขาค้อ ห่างจากพิพิธภัณฑ์อาวุธประมาณ 1 กม. ผู้ออกแบบคือ ศ.ดร.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ศิษย์เก่าดีเด่นผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติจากสถาบันในเครือมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลฯ ที่ดำเนินบทบาทและสร้างคุณประโยชน์แก่สังคมมากมาย และยังเป็นผู้ออกแบบพระตำหนักเขาค้อบนเขาย่าอีกด้วย

งานประติมากรรมหินอ่อนสีเทาเขาสูงเด่นรูปสามเหลี่ยม ที่ล้อมรอบด้วยบรรดาไม้สนและเนินหญ้าเขียวขจี สร้างขึ้นเพื่อเทิดทูนวีรกรรมของตำรวจ ทหาร และพลเรือน ผู้พลีชีพเพื่อชาติในการสู้รบกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ในปีพ.ศ.2511-2525 ผนังภายในบันทึกประวัติของอนุสรณ์สถาน และรายชื่อวีรชนผู้กล้าจำนวน 1,171 ราย ทางขึ้นเป็นถนนคดเคี้ยวที่มีวิวสองข้างทางสวยงามมาก

ล้อมรอบด้วยบรรดาไม้สนและเนินหญ้าเขียวขจี

ความหมายในซ่อนอยู่ในรูปทรงสามเหลี่ยมหมายถึงการปฏิบัติการร่วมกันระหว่างพลเรือน ตำรวจ ทหาร ฐานอนุสรณ์กว้าง 11 ม. หมายถึงปีพ.ศ.2511 คือปีที่เริ่มปฏิบัติการความรุนแรงของผกค. ความสูงจากแท่นบูชาถึงยอดอนุสรณ์สถาน 24 ม. หมายถึงปีพ.ศ.2524 ที่เกิดยุทธการครั้งใหญ่ ความสูงจากฐานถึงยอดอนุสรณ์สถาน 25 ม. หมายถึงปีพ.ศ.2525 ที่เป็นปีที่สิ้นสุดการรบ และความกว้างฐานสามเหลี่ยมด้านละ 2.6 ม. หมายถึงปีพ.ศ.2526 ซึ่งเป็นปีที่สร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้

ฝั่งตรงข้ามอนุสรณ์สถานเป็นเนินเขาเตี้ยๆ ที่ชื่อว่าฐานกรุงเทพ เป็นฐานแรกที่รัฐบาลยึดคืนมาได้ ตั้งชื่อตามนายทหารที่ส่วนใหญ่มาจากกรุงเทพฯ ปัจจุบันยังมีหลุมบังเกอร์หลบภัยที่คงสภาพจากในอดีตสงครามไว้เป็นอย่างดี

ฐานกรุงเทพฯ วิวกว้างๆ

ส่วนใหญ่รู้จักฐานกรุงเทพในฐานะที่เป็นจุดชมวิวที่งดงามอีกแห่งของเขาค้อ มองเห็นถนนเบื้องล่างลัดเลาะผ่านบรรดาภูเขาหญ้าอย่างสวยงาม

พิพิธภัณฑ์อาวุธ

พิพิธภัณฑ์อาวุธ
อยู่ทางขึ้นเขาค้อ ก่อนถึงอนุสรณ์สถานเขาค้อประมาณ 500 ม. ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า ฐานอิทธิ ตามชื่อ พ.อ.อิทธิ สิมารักษ์ ทหารคนสำคัญที่ช่วยรัฐบาลไทยต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) จนสามารถยึดเขาค้อได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2524 เป็นที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์

ภายในรวบรวมซากอาวุธต่างๆ ที่ใช้ในสงคราม ไม่ว่าจะเป็น ปืนใหญ่ 105 มม. ปืนใหญ่ 155 มม. ปืนอาร์พีจี ปืนครก ปืนอาร์ก้า เสื้อเกราะ รถถัง ปืนใหญ่ รถแทรกเตอร์ เฮลิคอปเตอร์ รวมทั้งบังเกอร์หลบภัย อีกทั้งยังมีหอพิพิธภัณฑ์อาวุธ ที่มีห้องประชุมจัดแสดงปฏิบัติการสู้รบกับ ผกค. พร้อมทั้งยังมีการจัดบรรยายให้แก่ผู้เข้าชมเป็นหมู่คณะด้วย

หอสมุดนานาชาติเขาค้อ ดอกไม้สวย

หอสมุดนานาชาติเขาค้อ
อยู่บนยอดเขาบ้านกองเนียม ภายในอาคารขนาดใหญ่รูปเพชรคว่ำ สร้างด้วยกระจกสะท้อนแสง เป็นแหล่งรวบรวมหนังสือและของใช้เก่าแก่โบราณของไทยและต่างประเทศ สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2538 ภายในแบ่งพื้นที่บริการเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือหอนานาชาติ ที่เก็บรักษาโบราณวัตถุมีค่าจาก 3 ประเทศ ได้แก่ไทย ลาว (เชียงขวาง) และจีน (สิบสองปันนา)

ส่วนที่ 2 คือหอสมุดประชาชน เป็นแหล่งให้บริการข้อมูลการศึกษาแก่บุคคล มีหนังสือหมวดเกี่ยวกับการเกษตรมากที่สุด และส่วนสุดท้ายคือสำนักงานศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียน อ.เขาค้อ สถานที่แห่งนี้ในอดีตยังเคยเป็นจุดนัดพบของบรรดาเอกอัครราชทูตของประเทศต่างๆ ที่มาร่วมงาน ‘วันนัดพบเอกอัครราชทูต ณ เขาค้อ’ ที่จัดขึ้นในเดือนธันวาคม

บริเวณด้านขวาของหอสมุด เป็นที่ตั้งของเจดีย์พระบรมสารีริกธาตุ ที่ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศศรีลังกา ที่ชาวเพชรบูรณ์ร่วมใจกันสร้างถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงร.9 ในวโรกาสทรงครองราชย์ครบ 50 ปี

น้ำตกศรีดิษฐ์หน้าฝน สีน้ำขุ่นข้นไหลแรง

น้ำตกศรีดิษฐ์
อยู่ที่บ้านร่มโพธิ์ร่มไทร ผ่านพระตำหนักเขาค้อ ตรงไปจนถึงสามแยกบ้านหนองแม่นา น้ำตกชั้นเดียวที่มีลักษณะเป็นหน้าผากว้าง เวลาสายน้ำไหลผ่านแผ่นหินดูคล้ายม่านน้ำขนาดใหญ่ มีน้ำไหลตลอดปี เป็นต้นน้ำของลำน้ำเช็กที่ไหลผ่าน จ.พิษณุโลก

ในอดีตเป็นศูนย์ปฏิบัติการของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ และยังเหลือร่องรอยบางอย่างจนถึงปัจจุบัน เช่น ครกกระเดื่องตำข้าว เชิงสะพานไม้ทางเดินเข้าน้ำตก แนะนำให้มาในช่วงฤดูร้อนและฤดูหนาวที่สายน้ำไม่แรงมาก และใสสะอาด

ผลิตผลจากเขาค้อ สดๆ ทุกวัน

และนี่คือที่เที่ยวหลักๆ ของเขาค้อที่อยู่ยงคงกระพันคู่กับเขาค้อมานานหลายสิบปี ปัจจุบันมีที่เที่ยวใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกหลายแห่งช่วยสร้างสีสัน และทำให้คนที่มาเขาค้อแล้วก็อยากจจะกลับมาอีก

การเที่ยวเขาค้อซึ่งเป็นคลื่นภูเขาสลับซับซ้อน มีถนนเชื่อมเขาแต่ละลูก จึงเหมาะสำหรับขับรถเที่ยว เมื่อขับรถเที่ยวจึงเห็นทิวทัศน์งดงาม ทั้งวิวทะเลภูเขา ทะเลหมอกยามเช้า

วัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว ซ่อนวิวสวยๆ ไว้อีกด้วย
ความงดงามของวัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว

ที่นิยมกันมากในหลายปีมานี้คือวัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว วัดนี้ศาสนิกทุกศาสนาไปเที่ยวชมความงามทั้งตัววัด เจดีย์ และทิวทัศน์ที่งดงามสุดสุด

และไร่ GN ที่เที่ยวมาแรงที่สุดในยุคนี้ ชมวิวทุ่งกังหันลม สวนดอกไม้ สวยสุดสุดในหน้าหนาว ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่บนเขาจึงชมวิวได้โดยรอบ คุณจะเห็นเลยว่าทะเลภูเขาอันสลับซับซ้อนเป็นอย่างไร ใครที่ชอบถ่ายภาพจะอยู่ที่นี่ได้ทั้งวัน รวมทั้งสาวๆ ที่จะเพลินกับสีสันดอกไม้จนลืมคืนลืมวันเลยล่ะ

ของแถมทริปนี้มีทั้งชิมกาแฟเจ้าดังๆ หลายร้าน เที่ยวเขาค้อทะเลภู ซื้อผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติกลับไปใช้ ความที่อากาศดีเย็นสบายตลอดปี และถูกเปรียบเปรยให้เป็นสวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย ใครไปนอนที่เขาค้อจะมีอายุยืน อีกทั้งเที่ยวได้ทุกวัย ที่พักแต่ละแห่งไม่ว่าจะอยู่ยอดเขาไหนรถยนต์เข้าถึงอย่างสะดวกสบาย

ขี่จักรยานไปทุ่งนางพญาผ่านทุ่งหญ้าสวันน่า

เที่ยวต่อเนื่องไปทุ่งแสลงหลวง

ทุ่งแสลงหลวง ชมทะเลหมอกที่ศาลาดุสิตา 

Location: ห่างจากอำเภอเมืองพิษณุโลก ประมาณ 80 กม. 

จุดเริ่มต้นของการเที่ยวทุ่งแสลงหลวงนั้นอยู่ที่ หน่วยพิทักษ์ฯ หนองแม่นา ใกล้ๆ กับเขาค้อ คุณอาจเริ่มต้นเที่ยวกันที่ ทุ่งโนนสน เป็นแห่งแรกก็ได้ นั่งรถขับเคลื่อนสี่ล้อเข้าไประยะทางประมาณ 17 กม. เพื่อไปยังจุดเริ่มต้นเดินเท้า จากนั้นเดินต่อไปอีกประมาณ 15 กม. เป็นเส้นทางราบใช้เวลาเดินประมาณ 4-5 ชม. จะถึงทุ่งโนนสน ลักษณะเป็นทุ่งกว้างอยู่ใจกลางอุทยานฯ มีมวลหมู่ไม้ให้ชมอย่างสวยงามเป็นจำนวนมาก จากนั้นกางเต็นท์พักแรมหนึ่งคืน รุ่งเช้าเดินทางกลับไปพักบริเวณหน่วยพิทักษ์หนองแม่นาสามารถกางเต็นท์พักได้ที่แก่งวังน้ำเย็น 

ดอกไม้ปลายฝนที่ทุ่งโนนสน

รุ่งขึ้น ค่อยขับรถไปเที่ยวทุ่งนางพญา ระยะทางประมาณ 14 กม.เป็นเส้นทางสบายขับรถชมวิวได้ตลอดทาง ทุ่งนางพญา หากไปชมในช่วงฝนทุ่งหญ้าจะเป็นสีเขียวขจีกว้างใหญ่ แต่หากมาชมในช่วงหนาวทุ่งหญ้าจะเป็นสีทองอร่าม หากอยากกางเต็นท์พักแรมบริเวณทุ่งนางพญาก็สามารถกางเต็นท์ได้ เช้ามาชมวิวพระอาทิตย์ขึ้น และทะเลหมอกที่ลานดุสิตา มองเห็นวิวได้ไกลจนถึงยอดเขาค้อเลยทีเดียว

ชมเขาค้อยามเช้าจากลานดุสิตา

จากนั้นขากลับหากมาเที่ยวในช่วงฤดูร้อน ไม่ควรพลาดแวะไปเที่ยวแก่งบางระจัน เป็นแก่งใหญ่ของสายน้ำเข็กช่วงต้นๆ ตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน มีกิจกรรมล่องเรือชมแมงกะพรุนน้ำจืดให้ไปชม ซึ่งเป็นแหล่งค้นพบเป็นลำดับที่ 5 ของโลก 

แก่งวังน้ำเย็น น่าไปแค้มปิ้ง

ถ้าชอบสะดวกสบายก็พักรีสอร์ทที่เขาค้อ แล้วขับรถไปเที่ยวทุ่งนางพญา ชมป่าสน ทุ่งหญ้าสวันน่า และแก่งวังน้ำเย็น เพียงเท่านี้ก็ได้ของแถมที่สุดคุ้มค่าแล้ว

แก่งวังน้ำเย็น น่าไปแค้มปิ้ง

เที่ยวบ้านเพชรดำ ชาวลีซู

Location บ้านเพชรดำ อ.เขาค้อ

จากสามแยกแคมป์สน ให้เลี้ยวเข้าสู้เส้นทางหลวงหมายเลข 2196 มุ่งหน้าสู่เขาค้อ จากนั้นก่อนถึงพระบรมธาตุเจดีย์กาญจนาภิเษกจะพบป้ายบ้านเพชรดําอยู่ทางขวามือ ให้คุณเลี้ยวขวาและขับรถตรงไปตามทางประมาณ 2 กม. จะพบหมู่บ้านเพชรดํา

หมู่บ้านเพชรดำของชาวลีซูอยู่บนเขาค้อ คุณจึงสามารถเลือกพักรีสอร์ตที่ชอบใจบนเขาค้อ แล้วขับรถไปเที่ยวก็ได้ ช่วงงานปีใหม่จะมีงานประเพณี น่าไปเยี่ยมเยือน

เขาค้อยังมีหมู่บ้านชาวลีซอ หรือลีซูที่ชื่อหมู่บ้านเพชรดำ ในระยะหลายปีหลังนี้เป็นที่นิยมมากเพราะหมู่บ้านนี้ปลูกสตรอเบอรี่พื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ให้ผลผลิตในหน้าหนาวที่วิวสวยเป็นพิเศษ และเมื่อไปเที่ยวชมเที่ยวชิมสตรอเบอรี่แล้ว ยังสัมผัสวิชีวิตชาวเขาเผ่านี้ได้อีกด้วย

ชุดสวยๆ ของชาวลีซู

ในความเข้าใจของนักท่องเที่ยวทั่วไป มักจะคิดว่าม้งเป็นชาวเขาเผ่าเดียวบนเขาค้อ อันที่จริงแล้ว เขาค้อยังมีชาวเผ่าลีซู (ลีซอ) ที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากพื้นที่ต่างๆ ของภาคเหนือ เช่น เชียงราย เชียงใหม่ น่าน มาสร้างครอบครัวอยู่ ยืดอาชีพทําไร่ เช่นเผ่าชาวลีซูบนเขาค้อที่ยังยืดถือประเพณีและวัฒนธรรมของตนเอง ทั้งจากการแต่งกาย และมีงานเทศกาลประจําเผ่าของตนทุกปี คุณสามารถเดินทางไปเที่ยวชมและสัมผัสบรรยากาศและวิถีชีวิตของชาวเผ่าลีซูนี้ได้ในเทศกาลวันปีใหม่ งานเทศกาลสารจีน และงานแต่งงานชนเผ่าซึ่งจัดขึ้นทุกเดือน 12 ของทุกปี

ลีซู เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่จัดอยู่ในกลุ่มธิเบต-พม่า ของชนชาติโลโล ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของชนเผ่าลีซูอยู่บริเวณต้นน้ำโขงและแม่น้ำสาละวิน อยู่เหนือหุบเขาสาละวินในเขตมณฑลยูนนานตะวันตกเฉียงเหนือและตอนเหนือของรัฐคะฉิ่น ประเทศเมียนม่าร์ ชนเผ่าลีซูส่วนใหญ่เชื่อว่าเมื่อ 4,000 ปี ที่ผ่านมา เคยมีอาณาจักรเป็นของตนเอง แต่ต้องเสียดินแดนให้กับจีนและกลายเป็นคนไร้ชาติ

สองเจเนอเรชั่น

ต่อมาชนเผ่าลีซูจึงได้เคลื่อนย้ายเข้าสู่รัฐฉานตอนใต้ กระจัดกระจายอยู่ตามภูเขาในเมืองต่างๆ เช่น เมืองเชียงตุง บางส่วนอพยพไปอยู่เขตเมืองซือเหมา สิบสองปันนา ประเทศจีน หลังจากนั้นได้อพยพลงมาทางใต้ เนื่องจากเกิดการสู้รบกันระหว่างชนเผ่าอื่น นับเวลาหลายศตวรรษ ชนเผ่าลีซูได้ถอยร่นเรื่อยลงมา จนในที่สุดก็แตกกระจายกันเข้าสู่ประเทศพม่า จีน อินเดีย แล้วเข้าสู่ประเทศไทย เมื่อประมาณปีพ.ศ. 2464 ลีซูแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ ลีซูลายกับลีซูดำ ชาวลีซูที่อยู่ในประเทศไทยเกือบทั้งหมดเป็นลีซูลาย ส่วนลีซูดำนั้นอยู่พม่า จีน

จุดเด่นของชาวลีซูอย่างหนึ่งคือการแต่งตัวที่ดูอลังการ์มากโดยเฉพาะช่วงเวลาสำคัญๆ อย่างงานขึ้นปีใหม่ ถ้าใครไปเที่ยวช่วงนี้จะได้เห็นการแต่งกายแบบครบเครื่อง

ชุดของผู้ชายนั้นไม่เท่าไหร่ ทุกวัยแต่งกายเหมือนกัน โดยสวมใส่กางเกงที่มีความยาวเลยเข่าเล็กน้อย เป้ากว้าง สีน้ำเงิน สีเขียว ฟ้า เสื้อสีดำ แขนยาว คอป้ายตกแต่งกระดุมเงิน ติดรังดุมสีน้ำเงินที่ส่วนบนของตัวเสื้อ สวมปลอกขาสีดำ

ส่วนผู้หญิงลีซอจะจัดเต็ม สวมใส่เป็นเสื้อตัวหลวม แขนกระบอก ส่วนหน้าของเสื้อยาวถึงเข่า นิยมสีน้ำเงิน เขียว ฟ้า และม่วง คอเป็นผ้าสีดำ ตกแต่งลวดลายสวยงาม โดยนำผ้าแถบผ้าสีต่างๆ เช่น ม่วง ฟ้า ชมพู เขียว ดำ ขาว ส้ม แดง มาเย็บต่อกันเป็นริ้ว สวมเสื้อกั๊กที่ตกแต่งด้วยกระดุมเงิน สวมกางเกงหลวมๆ สีดำ ในตัวเสื้อ ใช้ผ้าสีดำพันรอบเอว คล้ายเข็มขัด สวมปลอกขาเพื่อป้องกันแมลง กิ่งไม้ หรือกันหนาว ผู้หญิงสูงวัยโพกหัวด้วยผ้าสีดำยาวพันหัวหลายๆ รอบแล้วเก็บชาย สวมหมวกโดยประดับประดาด้วยลูกปัดหลากสี 

เรียกได้ว่าแค่ไปดูการแต่งตัวของหญิงชาวลีซูก็คุ้มค่าแล้ว

ถูกใจที่เที่ยวแล้ว คราวนี้มาหาที่พักให้ถูกใจ จองกับผู้ประกอบการโดยตรง คลิ๊กเลย!