เมืองเก่าริมโขง ที่คนรุ่นใหม่เลิฟเลิฟ
แม่น้ำโขง ทอดยาวเลียบเมืองเชียงคาน เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวสวยงาม หน้าหนาวน้ำเต็มตลิ่ง ท้องฟ้าสดใส มองไปทางไหนก็สุขใจสุขตา พอย่างเข้าหน้าร้อน ในฤดูน้ำลด เกิดเกาะแก่งและหาดทรายกลางน้ำมากมาย ชาวบ้านซึ่งว่างเว้นจากการเกษตรพากันออกมาหารายได้เสริมจากแม่น้ำสายชีวิตแห่งนี้ พอฝนเริ่มลง ระดับน้ำเริ่มสูง บางวันที่ฝนตกมีรุ้งกินน้ำสีสวยมาประดับลำน้ำโขงให้ยิ่งงามขึ้นอีกด้วย
เลาะเลียบชายฝั่งแม่น้ำโขง
ที่พักหลายแห่งจะถูกจับจองก่อนเพื่อนถ้าตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง บางแห่งมีระเบียงสองด้านๆ หนึ่งชมวิวแม่น้ำโขง อีกด้านหนึ่งชมถนนคนเดิน เช้าขึ้นมาก็เดินลงมาตักบาตรพระกิจกรรมยอดนิยมได้เลย ลองมาดูทริปท่องแม่น้ำโขงที่ได้รับความนิยมกัน
เที่ยวแก่งคุดคู้
ที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของเชียงคาน ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 3 กม. เป็นแก่งหินขนาดใหญ่กั้นกลางแม่น้ำโขงบริเวณที่เป็นจุดหักเหของสายน้ำพอดี ทำให้กระแสน้ำบริเวณนั้นไหลเชี่ยว ที่แก่งคุดคู้คนนิยมมาเที่ยวในช่วงเดือนก.พ.-พ.ค.เพราะเป็นช่วงน้ำลด
รอบๆ แก่งปรากฎเป็นหาดทรายกว้าง เห็นก้อนหินหลากหลายเฉดสีที่เคยอยู่ใต้น้ำ ลงไปเดินเล่นและนั่งทานอาหารบริเวณนั้นได้ โดยของขึ้นชื่อของที่นี่คือ กุ้งเต้น และเมนูปลาน้ำโขงต่างๆ
หากไปในช่วงน้ำเต็มตลิ่งก็ดูสวยไปอีกแบบ โดยเฉพาะวิวหน้าหนาว ลมแม่น้ำเย็นๆ พัดมาปะทะช่างสดชื่นสดใส เรียกว่ามาแก่งคุดคู้ช่วงไหนของปีก็สวยไม่ซ้ำกัน
ล่องเรือชมแม่น้ำโขง
ชมวิวชาวบ้าน 2 ฝั่งโขง โดยมากใช้เวลาทัวร์ประมาณ ½-1 ชม. หากมีเวลาจะนั่งชมวิวกันยาวๆ ไปเลยก็ได้ สวยทั้ง 3 ฤดู ยิ่งหน้าหนาว ลมเย็นๆ พัดปะทะแล้วชื่นอกชื่นใจ
คายัค พิชิตแม่น้ำโขง
สำหรับผู้ที่สนใจกิจกรรมต้องว่ายน้ำเป็นเท่านั้น โดยจะมีการบรรยายวิธีการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ก่อนลงเรือที่เชียงคาน ผ่านแก่งคุ้ดคู้-ผาแบ่น-บุฮม-คกเลาเหนือ-คกเลาใต้ สิ้นสุดที่บ้านหาดเบี้ย รวมระยะทาง 30 กม.ติดต่อกิจกรรมได้ที่ แม่โขง คัลเจอร์ แอนด์ เนเจอร์ ทัวร์/รีสอร์ท โทร. 042 821 457
เที่ยวบ้านหาดเบี้ย
เก็บหินเบี้ย ที่บ้านหาดเบี้ย (แก่งหินฟ้า) อยู่บริเวณต.บุฮม ห่างจากเมืองเชียงคานประมาณ 31 กม.ในช่วงน้ำลดเดือนม.ค.-เม.ย. (ยกเว้นวันพระ) ชาวบ้านซึ่งว่างเว้นจากการเกษตร
สมัยก่อนนิยมไปร่อนทองและเก็บหินเบี้ยที่ชายฝั่งแม่น้ำโขง ปัจจุบันทองไม่มีให้ร่อน แต่ยังพอมีหินแม่น้ำสวยๆ ที่ได้จะนำมาตกแต่งบ้านและขายให้กับนักท่องเที่ยว
พระอาทิตย์อัสดงลงฝั่งโขง
ถือว่าไฮไลท์ภาคบังคับที่นักท่องเที่ยวทุกคนต้องไม่พลาด นั่นคือการดูพระอาทิตย์ตกที่เชียงคาน โดยบริเวณถนนชายโขงมีร้านอาหารสำหรับนั่งชมวิวสวยๆ ให้เลือกหลายร้าน หรือบางคนอาจเดินเล่นเลาะชายฝั่งไปเรื่อยๆ ถ้าต้องการความเป็นส่วนตัวจะนั่งดูพระอาทิตย์ตกจากระเบียงห้องก็โรแมนติกดี
จุดชมวิวสูงบนยอดภู
เชียงคาน เป็นเมืองโบราณที่ซุกซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งภูเขา แม่น้ำ ลำธาร การไปยังจุดชมวิวต่างๆ ทำให้เราได้มองเห็นทัศนียภาพในมุมที่แปลกตา
ภูทอก
จุดชมวิวยอดนิยมของเชียงคาน ในช่วงปลายหน้าฝนยาวจนกระทั่งหมดหน้าหนาว จะเห็นวิวทะเลหมอกขาวโพลนตัดกับแสงสีส้มของพระอาทิตย์ยามเช้า การขึ้นภูทอกในปัจจุบันมีขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่าสมัยก่อนเล็กน้อย เนื่องจากบริษัท TOT ได้เช่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นสถานีทวนสัญญาณโทรศัพท์ และทำด่านเปิดปิดทางเข้าเป็นเวลาตั้งแต่ 08.00 – 17.00 น. ถ้าใครต้องการขึ้นชมวิวนอกเวลาทำการ
วัดพระพุทธบาทภูควายเงิน
ชาวบ้านสร้างวัดนี้ขึ้นเพื่อระลึกถึงบุญคุณวัวควายที่ทำให้มีกินมีใช้ เป็นควายเงินคนละตัวกับตำนานจึ่งขึ่งดำแดงที่แก่งคุดคู้ การเดินทางไปตามถนนสายเชียงคาน-ปากชม ประมาณ 6 กม. แยกเข้าบ้านอุมุงอีก 3 กม.
ด้านบนมีรอยพระพุทธบาทยาวประมาณ 120 ซ.ม. กว้าง 65 ซ.ม.ตั้งอยู่บนหินลับพร้า ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไปแล้วตั้งแต่ปีพ.ศ. 2478 จุดชมวิวของที่นี่มองเห็นเมืองปากชม แม่น้ำโขง และฝั่งประเทศลาว ได้อย่างชัดเจน ทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 มีงานสมโภชประจำปี ถือเป็นงานสำคัญของชาวบ้านในแถบนั้น
พระใหญ่ภูคกงิ้ว
ไปทางอำเภอท่าลี่ ออกจากเมืองเชียงคานประมาณ 20 กิโลเมตร แต่ถนนหนทางไม่ค่อยสะดวกนัก มีหลุมบ่อ และถนนดินบางช่วง ทางขึ้นภูอยู่บริเวณบ้านท่าดีหมี ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำเหืองไหลบรรจบกับแม่น้ำโขงพอดี โดยเราสามารถเดินลัดเลาะเข้าไปชมวิวแม่น้ำจากด้านล่างก็ได้ ช่วงน้ำลดจะเห็นหาดทรายและโขดหินสวยงามยิ่งนัก
พระใหญ่ภูคกงิ้วเป็นพระพุทธรูปปางลีลาประทานพร สร้างเมื่อปีพ.ศ. 2542 มองเห็นทัศนียภาพที่สวยงามของแม่น้ำโขงและประเทศลาว
เมืองเก่าที่มีชีวิตชีวา
ชมธรรมชาติบนที่สูงกันแล้ว ต่อมาเราก็มาสัมผัสวิถีชีวิตคนเชียงคาน กับบ้านเรือนที่ยังคงเป็นบ้านไม้โบราณได้รับการอนุรักษ์ไว้ ประหนึ่งถูกล็อกเวลาวันวานเอาไว้ บ้านเก่าเรือนเดิมนี้จะอยู่บนนถนนชายโขง ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าอยู่ชิดสนิทกับแม่น้ำโขง จึงได้สองบรรยากาศ
วิถีชีวิตชาวบ้าน
นอกจากทรัพยากรณ์ธรรมชาติที่สวยงาม วิถีชีวิตของคนเชียงคานยังน่าสนใจ และเต็มไปด้วยวัฒนธรรมที่หลากหลาย ผสมผสานกันไปทั้งชาวไทย ลาว จีน และไทดำ
บ้านไม้โบราณ
เรียกว่ากลายเป็นเอกลักษณ์ของเชียงคานไปแล้ว สำหรับบ้านไม้โบราณที่ถ.ชายโขง โดยเจ้าของเดิมส่วนใหญ่เป็นคนจีนที่ทำมาค้าขายในแถบนี้ ภายหลังถูกทิ้งร้างเพราะวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของชาวบ้าน 2 ฝั่งน้ำ
จากอดีตถึงปัจจุบันบ้านไม้เหล่านี้ถูกดัดแปลงไปน้อยมากๆ ถ้าเทียบกับพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทยที่จะนิยมรื้อบ้านไม้เปลี่ยนเป็นบ้านตึก เพราะชาวบ้านแถวนี้ส่วนใหญ่จะนิยมย้ายขึ้นไปอยู่ที่ถนนเส้นบนมากกว่า และจากการถูกทิ้งไว้หลายสิบปีนั่นเอง ทำให้เราได้เห็นบรรยากาศเก่าๆ ของเมืองทั้งเมืองคล้ายกับถูกสตัฟฟ์เอาไว้ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ยังคงมีชีวิตรอให้เราได้เข้าไปหาคุณค่าจากวันเวลาเก่าๆ
ตักบาตรข้าวเหนียว
การตักบาตรเป็นพระเพณีของชาวพุทธ แสดงถึงการเสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่รู้จักแบ่งปัน และมีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่งประเพณีการตักบาตรข้าวเหนียวที่เชียงคานมีลักษณเหมือนกับที่หลวงพระบาง เพราะชาวบ้านจะใช้มือเปล่าปั้นข้าวเหนียวเป็นก้อนแล้วหย่อนลงบาตรพระ ส่วนกับข้าวนั้นจะมีการนำไปถวายที่วัดอีกที
ถ้าใครมาเชียงคานแล้วอยากตักบาตรข้าวเหนียวควรตื่นแต่เช้า เพราะพระจะออกบิณฑบาตรตอน 6 โมง ควรแจ้งกับทางที่พักให้เตรียมของไว้ให้ล่วงหน้า หรือจะไปซื้อข้าวเหนียวเองที่ตลาดเช้า ส่วนใหญ่จะแบ่งขายครั้งละ ½-1 กก.
งานประเพณีผีขนน้ำ
หรืองานบุญเดือนหก จัดขึ้นช่วงแรม 3-5 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี ที่บ้าน
นาซ่าว เป็นประเพณีที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เพื่อรำลึกถึงบุญคุณวัวควายที่ใช้ทำมาหากินตลอดจนขอให้ผีปู่ย่าตายายให้ช่วยปกปักรักษาหมู่บ้าน เพื่อความร่มเย็นเป็นสุข
การทำผีขนน้ำนั้นชาวบ้านจะนำไม้เนื้ออ่อนมาสลักเป็นรูปหน้ากากแล้ววาดลวดลายลงสี ตัวทำจากผ้า จากที่นอนเก่า เวลาเต้นรำนุ่นที่ติดอยู่กับที่นอนจะฟุ้งกระจายไปทั่ว มีการร้องเล่น เป่าแคน ดีดพิณอย่างสนุกสนาน สามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อบต.นาซ่าว โทร. 042 855 152
ชุมชนชาวไทดำ
บ้านนาป่าหนาด บางแห่งเรียกคนไทดำว่า ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง ลาวซงดำ ผู้ไทยดำ ผู้ไตซงดำ ไทยทรงดำ ไทยโซ่งดำ แต่คำว่า “ไทดำ” จะเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากที่สุด ถิ่นเดิมของชาวไทดำอยู่ในแคว้นสิบสองจุไทย (ปัจจุบันอยู่ในประเทศเวียดนาม) ชาวไทดำมีประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยโบราณ มีขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ภาษาพูด ภาษาเขียนเป็นของตัวเอง ถ้าใครเข้าไปเที่ยวที่บ้านนาป่าหนาดจะสังเกตได้ว่าป้ายต่างๆ นอกจากภาษาไทยและภาษาอังกฤษแล้ว ยังมีภาษาไทดำเขียนไว้ด้วย
ไทดำทุกคนจะมี “สิง” หรือ “แซ่” แบบเดียวกับประเทศจีน สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ก่อนประเทศไทยจะเริ่มใช้นามสกุลกันเสียอีก มีบุญประจำปี เรียกว่า “บุญประทาย ข้าวเปลือก” โดยเดือน 6 เป็นงานบวงสรวงก่อนลงมือเพาะปลูก และจัดงานขอบคุณอีกครั้งในเดือน 11 หรือ 12
ของฝากยอดนิยมของที่นี่ได้แก่ผ้าฝ้ายทอมือดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตั้งแต่ที่รองจาน กระเป๋า ผ้าพันคอ ผ้าปูโต๊ะ นอกจากนี้ยังมี “ดอกไม้ไทดำ” ที่ใช้ในพิธี “แซปังไทดำ” เป็นการบูชาผีสางเทวดา นิยมนำมาห้อยไว้ที่ประตูเพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของคนในบ้าน ตุ้มแต่ละชิ้นมีความหมายในตัวเอง ตุ้มรูปบ้านแทนบ้านอันเป็นที่พักอาศัย ตุ้มนก (รูปเต็นท์) แทนนกซึ่งไทดำใช้สื่อสารและเลี้ยงสัตว์ ตุ้มหนู (รูปสี่เหลี่ยม) แทนหนูที่มักใช้เป็นอาวุธ ตุ้มต่อตุ้มแตน (รูปวงรี) แทนอาวุธล่าสัตว์ ตุ้มหัวใจเป็นเหมือนศูนย์รวมจิตใจของทุกสิ่งเข้าด้วยกัน
ข้าวเปียกเส้น
หากพูดถึงอาหารพื้นบ้านของอำเภอเชียงคาน อย่างหนึ่งที่โด่งดังก็ต้องนึกถึงชื่อข้าวเปียกเส้น และถ้านึกถึงข้าวเปียกเส้นก็ต้องนึกถึงร้าน ข้าวเปียกเส้น การันตีความอร่อยกลมกล่อมมาเนิ่นนาน ด้วยการคัดสรรวัตถุดิบอย่างดี น้ำซุปหอมอร่อย เข้ากันดีกับน้ำพริกเผาปรุงเองที่จะทำให้น้ำซุปหอมจัดจ้านอร่อยยิ่งขึ้น เมนูที่คุณไม่ควรพลาดชิมเลยก็คือ ข้าวเปียกเส้น โจ๊กหมูสับ และเกาเหลาเลือดหมู
ร้านข้าวเปียกเส้น อยู่ที่ถ.ศรีเชียงคาน ระหว่างซอย 11 และซอย 12 ตรงข้ามวัดป่ากลาง
สะพานมิตรภาพไทย-ลาว อ.ท่าลี่
อ.ท่าลี่ ห่างจากอ.เชียงคานประมาณ 22 กม. ขับรถตามถนนลาดยางไปไม่เกิน 30 นาทีก็ถึง เมืองเล็กๆ ริมปากน้ำเหืองแห่งนี้เป็นเมืองท่องเที่ยวต่อเนื่องจากเชียงคานที่คุณไม่ควรพลาด เพราะที่นี่ไม่เพียงมีสินค้าตลาดชายแดนให้เลือกซื้อเท่านั้น ยังมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาวเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมไปถึงแขวงหลวงพระบางทางตอนเหนือของลาวได้
สะพานมิตรภาพนี้ สร้างขึ้นบริเวณบ้านนากระเซ็ง ต.อาฮี เชื่อมต่อกับฝั่งลาวบริเวณบ้านเมืองหมอใต้ เมืองแก่นท้าว แขวงไชยบุรี สะพานมิตรภาพแห่งนี้นักท่องเที่ยวมักใช้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวต่อเนื่องไปยังหลวงพระบาง เพียงคุณนำหนังสือเดินทาง Passport ไปประทับตราที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองเท่านี้ก็ข้ามไปเที่ยวเมืองไชยบุรีได้แล้ว
ส่วนการจะไปเที่ยวแขวงหลวงพระบางหากคุณไม่ได้ขออนุญาตนำรถข้ามแดน และไม่มีใบขับขี่สากลที่สามารถขับรถทั่วภูมิภาคอาเซียนได้ ก็หาที่พักที่เมืองไชยบุรีได้สักคืน เช้าวันรุ่งขึ้นค่อยไปซื้อตั๋วรถโดยสารไปเที่ยวหลวงพระบางได้สะดวกสบาย และยังมีเรือท่องเที่ยวไปยังหลวงพระบางให้คุณเลือกอีกหนึ่งทางเลือกด้วย
แต่ถ้าคุณยังไม่มีทริปข้ามไปเที่ยวเมืองไชยบุรีและแขวงหลวงพระบาง ที่อ.ท่าลี่ก็มี พระธาตุสัจจะ ห่างจากตลาดท่าลี่ไปประมาณ 4 กม.อยู่ในวัดลาดป่าทรงธรรม เป็นวัดจำลองมาจากพระธาตุพนม ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระอรหันต์ธาตุ และพระปถวีธาตุพนม (ดินที่นำมาจากพระธาตุพนม) บนยอดองค์พระธาตุประดิษฐานเศวตฉัตรเจ็ดชั้น มีงานนมัสการพระธาตุพระธาตุประจำปีทุกๆ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3
ก่อนกลับมาพักที่เชียงคานก็ยังได้แวะเดินเที่ยว เดินชมสินค้าตลาดชายแดน และสินค้าพื้นบ้าน ที่ตลาดท่าลี่ได้
งานประจำปีที่เชียงคาน
เดือนมกราคม
ปีใหม่สากล
มีการตักบาตรใหญ่สถานที่จะประกาศให้ทราบ เวลา 7.30 น.
มาฆบูชา (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3)
วันสำคัญทางพุทธศาสนา มีการทำบุญข้าวจี่ (ข้าวเหนียวปิ้งชุปไข่) และเวียนเทียนทุกวัด ใครอยู่คุ้มไหนจะไปทำบุญที่คุ้มนั้น (เชียงคานแบ่งวัดกันตามคุ้ม บ้านใครใกล้ที่ใหนก็ไปที่นั่น)
เดือนเมษายน
สงกรานต์
งานสงกรานต์ของที่นี่นิยมไปเล่นที่แก่งคุดคู้ เพราะเป็นช่วงน้ำลงพอดี เกิดหาดทรายและโขดหินโผล่ขึ้นมาเต็มแม่น้ำโขง
เดือนพฤษภาคม
บุญมหาชาติ
หรือบุญพระเวส (ขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 6) มีการแห่กัณฑ์หลอน แห่บั้งไฟ และแห่พระเวส ที่วัดมหาธาตุ
วิสาขบูชา
(ขึ้น 15 ค่ำ เดือน6) วันสำคัญทางพุทธศาสนา ชาวบ้านจะเข้าวัด ทำบุญตักบาตร รักษาศีล 5 ศีล 8 ฟังพระธรรมเทศนา ตกกลางคืนไปเวียนเทียนรอบโบสถ์ตามคุ้มของตนอีกเช่นกัน
งานประเพณีผีขนน้ำ
หรืองานบุญเดือนหก (แรม 3-5 ค่ำ เดือน 6) มีการจุดบั้งไฟ และเล่นผีขนน้ำ เพื่อรำลึกบุญคุณวัวควายและบูชาผีบรรพบุรุษ ที่วัดโพธิ์ศรี บ้านนาซ่าว
เดือนกรกฎาคม
อาสาฬหบูชา (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8) วันสำคัญทางพุทธศาสนา มีการทำบุญตักบาตรและเวียนเทียนตามคุ้มต่างๆ เฉกเช่นวันสำคัญทางพุทธศาสนาอื่นๆ
เข้าพรรษา
(แรม 1 ค่ำ เดือน 8) เข้าพรรษาเชียงคานไม่มีการจัดงานยิ่งใหญ่อย่างจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสาน เพราะนิยมจัดงานตอนออกพรรษามากกว่า ชาวบ้านมักทำบุญถวายเทียนข้ามคุ้มกันในวันนี้
เดือนสิงหาคม
ข้าวประดับดิน
หรือบุญเดือนเก้า (แรม 14 ค่ำ เดือน 9) เป็นประเพณีของชาวอีสาน เป็นการทำบุญให้แก่เปรตและบรรพบุรุษที่ล่วงลับ
เดือนกันยายน
สลากภัต
(ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10) วันทำบุญใหญ่ ชาวบ้านจะไปทำบุญที่วัดใกล้บ้านเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว
เดือนตุลาคม
ออกพรรษา
(ขึ้น 11-15 ค่ำ เดือน 10) งานใหญ่ประจำปีของเชียงคาน มีการแห่ขบวนปราสาทผึ้ง แข่งเรือยาว ไหลเรือไฟจากคุ้มต่างๆ ที่ช่วยกันตกแต่งอย่างสวยงาม กิจกรรมส่วนใหญ่จะมีในวันสุดท้าย (ขึ้น 15 ค่ำ)
ตักบาตรเทโว
(แรม 1 ค่ำ เดือน 11) มีการตักบาตรใหญ่ที่บริเวณสามแยกหน้าสำนักงานสาธารณสุข โดยประชาชนจะนั่งเรียงเป็นแถวยาวรอพระเดินแถวเข้ามาบิณฑบาตร
เดือนพฤศจิกายน
ลอยกระทง
(ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12) มีการประกวดนางนพมาศ และลอยกระทงขอขมาต่อพระแม่คงคา
ชอบงานไหนไปงานนั้น โดยรวมแล้ว เชียงคาน เที่ยวกันได้ทั้งปีเลยจ้า….