ขับสนุกเลียบโขง กับทางหลวงหมายเลข 212 จากบึงกาฬสู่นครพนม+มุกดาหาร
ทั้งนครพนม และมุกดาหาร ต่างมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ เป็นเมืองริมโขง แม่น้ำที่ได้ชื่อว่ามหานทีแห่งแดนอินโดจีน ไม่เพียงตัวเมืองเท่านั้นที่ติดแม่น้ำโขง ที่เที่ยวส่วนใหญ่ก็ยังอยู่เลียบแม่น้ำโขงด้วย โดยมีทางหลวงหมายเลข 212 เป็นถนนหลักที่เหมาะกับการขับรถเที่ยว เส้นทางนี้เริ่มต้นที่หนองคาย ไล่เลาะแม่น้ำโขงจากอีสานเหนือ ไปสิ้นสุดที่ตัวเมืองอุบลฯ อีสานใต้ ขับรถเที่ยวสนุกมากกว่าเส้นทางไหนๆ
ถนนหนทางในนครพนม+มุกดาหาร
ทั้งนครพนมและมุกดาหาร ต่างมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือตัวเมืองตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ถนนที่เชื่อมทั้งสองจังหวัดนี้ก็ยังแล่นเลียบแม่น้ำโขงให้คุณได้ขับรถกินลมชมวิวแบบเพลินๆ ตรงข้ามกับนครพนมคือเมืองท่าแขก หากมีเวลาก็ข้ามโขงไปเที่ยวลาวได้ เช่นเดียวกับจ.มุกดาหารที่ขับรถข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ไปเที่ยวฝั่งลาวได้เช่นกัน สนุกทั้งเที่ยวไทยและต่างประเทศเลยทีเดียว
ทางหลวงหมายเลข 212
ทางสายนี้เริ่มต้นจากหนองคาย เป็นถนนเลียบชายโขงที่เหมาะกับการขับรถเที่ยวอย่างยิ่ง นอกจากจะเพลิดเพลินกับวิวสวยๆ ตลอดลำน้ำโขงแล้ว ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวให้แวะตลอดทาง นอกจากนี้ทางหลวงสายนี้ไม่ได้ผ่านแค่จ.นครพนม แต่ยังผ่านจ.มุกดาหาร จ.อำนาจเจริญ และจ.อุบลราชธานี ระยะทางไม่ไกล้ แต่ขับไป เที่ยวไปได้ไม่เบื่อ
ทางหลวงหมายเลข 2034
เส้นทางสายนี้เริ่มต้นจากตัวเมืองมุกดาหาร เป็นเส้นทางเลียบโขงเช่นเดียวกับทางหลวงหมายเลข 212 เพียงแต่ระยะทางสั้นกว่า เส้นทางสายนี้มุ่งหน้าสู่อ.ดอนตาล ผ่านสู่อ.ชานุมาน และอ.เขมราฐ จ.อำนาจเจริญ เมื่อถึงเขมราฐแล้ว หากขับตรงไปตามทางหลวงหมายเลข 2112 จะไปอ.โขงเจียม แต่หากเลี้ยวขวาจะเข้าสู่ตัวเมืองอำนาจเจริญ แม้ว่าระยะทางจะสั้น แต่ก็ผ่านสถานที่ท่องเที่ยวที่พลาดไม่ได้เลยเพราะจะผ่านอุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ ประติมากรรมหินที่งดงาม และอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว สองอุทยานฯ เด่นของเมืองมุกดาหาร
เลียบโขงชมเมืองนครพนม
จากบึงกาฬ ขับล่องลงมาตามการไหลของแม่น้ำโขงเข้าสู่จ.นครพนม ผ่านอุทยานฯภูลังกาให้คุณแวะเที่ยว อยู่ก่อนถึงอ.บ้านแพงประมาณ 6 กม.ล่องลงมาอีกประมาณ 67 กม. ผ่านอ.ท่าอุเทน แวะชมพระธาตุท่าอุเทน จากนั้นขับลงไปอีกเพียง 26 กม. คุณก็จะถึงตัวเมืองนครพนม ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำโขง ตรงข้ามกับเมืองท่าแขกของลาว
จากหนองคายล่องสู่นครพนม
ทางหลวงหมายเลข 212 เริ่มต้นจากตัวเมืองหนองคาย เลียบแม่น้ำโขงลงไปทางทิศใต้ ขับผ่านบึงกาฬ มีที่เที่ยวให้แวะก็หลายแห่ง น่าแวะที่สุดคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัวในอ.บุ่งคล้า ที่นี่มีน้ำตกเจ็ดสีและน้ำตกชะแนนที่ทั้งสวย และน่าเล่นน้ำ มีแอ่งน้ำให้ลงเล่น และโขดหินให้นั่งพักผ่อนสบายๆ
ออกจากเขตรักษาพันธฺสัตว์ป่าภูวัวลงใต้ไปอีกไม่ไกลนัก ถึงอ.บ้านแพง ตรงนี้เริ่มเข้าสู่จ.นครพนมแล้ว ที่นี่ก็น่าแวะเพราะมีอุทยานแห่งชาติภูลังกาตั้งอยู่ หากคุณไม่เดินป่าขึ้นไปบนยอดเขาเพื่อชมวิวแม่น้ำโขง ก็มีน้ำตกเล็กๆ แต่ร่มรื่นให้ชม ที่นี่มีอยู่ 2 น้ำตก ขนาดไม่ใหญ่นัก น้ำตกแรกคือน้ำตกตาดโพธิ์ เดินทางสะดวกมีทางรถเข้าถึง ขับรถเที่ยวชมได้ง่าย จากนั้นไม่ไกลกันนักขับรถเข้าไปที่ทำการอุทยานฯ ด้านหลังมีน้ำตกตาดขาม เดินเท้าไปไม่ไกลก็ถึงแล้ว
เที่ยวน้ำตกเสร็จแล้วขับตรงเข้าสู่อ.ท่าอุเทน เปลี่ยนบรรยากาศไปเที่ยววัดกันสักหน่อย ที่น่าชมคือวัดพระธาตุท่าอุเทน สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2455 ตามแบบศิลปะเดียวกับพระธาตุพนม สูงจากพื้นถึงยอด 33 วา ฐานกว้างด้านละ 6 วา 3ศอก ภายในพระธาตุบรรจุพระธาตุของพระอรหันต์ซึ่งพระอาจารย์ศรีทัตถ์ได้อัญเชิญมาจากเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า
นอกจากนี้พระธาตุยังตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ชมวิวได้สวยสุด จากนั้นขับต่อมาเข้าเขตตัวเมืองแล้วเลี้ยวซ้ายตามถ.สุนทรวิจิตร จะถึงวัดนักบุญอันนาหนองแสง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง บนถ.สุนทรวิจิตร สร้างขึ้นเมื่อค.ศ.1926 โดยคุณพ่อเอทัวร์ นำลาภ อธิการโบสถ์ เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงว่าเมืองนครพนมนั้นเป็นเมืองนานาชาติ ที่มีคนหลากหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่นั่นเอง
หลังจากชมวัดคาทอลิคแล้ว จากนี้ก็เข้าเมืองนครพนมไปเที่ยวกันต่อ หรือจะพักกินมื้อเที่ยงก่อนก็ได้ มีร้านเรือนแพให้เลือกชิมริมโขงหลายร้าน เลือกที่ชอบได้ตามสบาย
จากนครพนมล่องใต้เลียบโขงตามทางหลวงหมายเลข 212 สู่อ.ธาตุพนม
ทางหลวงหมายเลข 212 ที่เริ่มต้นจากตัวเมืองนครพนมล่องลงใต้ จะผ่านอ.เด่นของนครพนม 2 อำเภอคือ อ.เรณูนครและอ.ธาตุพนม ซึ่งทั้งสองเป็นพุทธสถานที่ตั้งของพระธาตุศักสิทธิ์ของชาวพุทธทั่วประเทศ คุณจึงไม่ควรพลาดที่จะได้ขับรถชมวิวโขง ไปไหว้พระธาตุเรณูนครและพระธาตุพนม ทางสายนี้ยังต่อเนื่องไปจนถึงจ.อำนาจเจริญ ตรงเข้าสู่ตัวเมืองอุบลราชธานีได้อีก ขับเที่ยวได้ไกลจากอีสานเหนือจนถึงอีสานใต้เลยทีเดียว
พระธาตุเรณูนคร
Location : วัดพระธาตุเรณูนคร อ.เรณูนคร ห่างจากตัวเมืองนครพนม 51 กม.
จากตัวเมืองนครพนมขับรถมาตามทางหลวงหมายเลข 212 ระยะทาง 44 กม. จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2031 เข้าอ.เรณูนครอีกราว 7 กม. จะเห็นวัดพระธาตุเรณูนครอยู่ด้านซ้ายมือ ตรงข้ามกับที่ว่าการอ.เรณูนคร
อ.เรณูนครนี้ได้ถูกกล่าวถึงมานานและเป็นที่รู้จักพอๆ กับที่อ.ธาตุพนม เพราะทั้งสองอำเภอนี้เป็นที่ตั้งพระธาตุศักดิ์สิทธิ์และเก่าแก่ที่ชาวอีสานให้ความเคารพมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ ในขณะที่พระธาตุพนมเป็นพระธาตุประจำเดือนของคนเกิดปีวอก ส่วนพระธาตุเรณูก็ยังเป็นพระธาตุประจำวันของคนเกิดวันจันทร์ด้วย
พระธาตุเรณู ถูกสร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2460 โดยพระอุปัชฌาย์อินภูมิโย มีการจำลองรูปทรงมาจากพระธาตุพนมองค์เดิมในช่วงก่อนที่จะล้มลงจากฟ้าผ่าในปีพ.ศ. 2518 แต่มีขนาดเล็กกว่า ประกอบด้วยซุ้มประตู 4 ด้าน ภายในองค์พระธาตุเรณูบรรจุพระไตรปิฏก พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปเงิน และของมีค่าที่ชาวบ้านบริจาค รวมทั้งเครื่องกกุธภัณฑ์ของพระยาและเจ้าเมืองเดิม มีการทำพิธีบรรจุพระบรมสาริกธาตุ และพระอรหันต์ธาตุเมื่อปีพ.ศ. 2519 ถือเป็นพระธาตุที่ได้รับการเคารพสักการะมากแห่งหนึ่งในอีสานนอกจากนี้ยังมีการจัดงานเทศกาลนมัสการพระธาตุเรณูนครขึ้นทุกวันขึ้น 11-15 ค่ำ เดือน 4 ประมาณเดือนมีนาคมทุกปี
ในพระอุโบสถวัดพระธาตุเรณูยังเป็นที่ประดิษฐานของพระองค์แสน หล่อด้วยทองเหลืองตันทั้งองค์ ซึ่งเชื่อกันว่ามีอายุนานกว่า 100 ปีแล้ว โดยมีมาก่อนการสร้างองค์พระธาตุเรณู พระองค์แสนถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองนครพนม ที่ชาวนครพนมเคารพนับถือและศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเชื่อว่าเป็นพระขอฝน หากปีใดฝนฟ้าแล้งก็จะจัดขบวนแห่พระรอบเมืองเพื่อขอฝนด้วย
พระธาตุพนม
Location : ริมทางหลวงหมายเลข 212 อ.ธาตุพนม ติดริมแม่น้ำโขง ห่างจากวัดพระธาตุเรณูนคร 15 กม.
จากตัวเมืองนครใช้ทางเดียวกับมาอำเภอเรณูนคร ตามทางหลวงหมายเลข 212 ขับเลยทางแยกเข้าอ.เรณูนครมาราว 15 กม. รวมระยะทางจากตัวเมืองนครพนม 60 กม.
วัดพระธาตุพนม หรือชื่อเต็มคือ “วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร” เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงบนถ.ชยางกูร มีลักษณะเป็นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสก่อด้วยอิฐกว้างด้านละ 12.33 ม. สูง 53.6 ม. มีกำแพงล้อมองค์พระธาตุอยู่ 4 ชั้น ความเป็นมาของพระธาตุพนมนั้นมีมานานแล้ว ตามตำนานอุรังคธาตุกล่าวว่า ท้าวพญาทั้งห้าผู้เป็นใหญ่ ได้แก่พญาสุวรรณภิงคาร เจ้าเมืองหนองหานหลวง พญาคำแดง เจ้าเมืองหนองหานน้อย พญาจุลณีพรหมทัต เจ้าเมืองจุลนีพรหมทัต พญาอินทรปัตถ์ เจ้าเมืองอินทปัตถนคร และพญานันทเสน เจ้านครศรีโคตรบูรณ์อันเป็นที่ตั้งของพระธาตุ ได้สร้างอูบมูงขึ้นเพื่อประดิษฐานพระอุรังคธาตุตามพุทธพยากรณ์
โดยก่อสร้างด้วยดินดิบ (อิฐดิบ) ฐานพระธาตุพนมได้ขุดลงไปจนเป็นอูบมุง (อุโมงค์) เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อก่อด้วยดินดิบเสร็จแล้วจึงได้ก่อไฟเผาพระธาตุเป็นเวลาหลายวัน อิฐจึงได้แห้งสนิทจรดกัน ในพระธาตุพนม บรรจุพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระพุทธเจ้า ซึ่งประมาณพ.ศ. 8 พระอุตรเถระและพระโสณเถระ สมรทูตของพระเจ้าอโศกมหาราช ได้อัญเชิญมา และพระมหากัสสปะเถระ ได้นำมาประดิษฐานไว้บนภูกำพร้า เป็นเนินดินสูงจากพื้นธรรมดาราว 3 ม.ในยุคนั้นพระธาตุพนมได้รับการบูรณะและอุปถัมภ์โดยกษัตริย์แห่งล้านช้าง
นอกจากนี้องค์พระธาตุยังได้รับการบูรณะมาหลายครั้ง องค์เดิมนั้นไม่สูงเท่าที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ในพ.ศ. 2223-2225 องค์พระธาตุพนมเดิมเป็นมีรูปแบบศิลปะที่นิยมในอีสาน ต่อมาพ.ศ. 2233 พระครูโพนเสม็ด (ญาคูขี้หอม) ได้ปฏิสังขรณ์พระธาตุให้สูงขึ้น จากนั้นพ.ศ. 2483 รัฐบาลได้บูรณะให้สูงขึ้นอีก จนมาถึงวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2518 เวลาประมาณ 19.38 น. ได้เกิดพายุฝน ฟ้าผ่า ทำให้พระธาตุพนมพังทลายลงมาทั้งองค์ ภาครัฐ ประชาชนและพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศได้ร่วมบริจาคทุนทรัพย์เพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ตามแบบเดิม แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2522
สำหรับชาวพุทธทั่วประเทศมีความเชื่อว่าพระธาตุพนม เป็นพระธาตุประจำปีของคนเกิดปีวอก การได้มานมัสการพระธาตุจึงถือเป็นสิริมงคลอย่างมาก นอกจากนี้ในวันเพ็ญ (15 ค่ำ) เดือน 3 ถึง แรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปีจะมีการจัดงานนมัสการพระธาตุพนมด้วย