ท่องโลกกล้วยไม้ที่ภูหลวง จ.เลย

Trips เลย

กุหลาบแดงสีสดๆ ต้อนรับลมร้อนบนภูหลวง

หน้าร้อน ช่วงเวลาทองแห่งการชมกล้วยไม้

ภูหลวง มีความหมายว่า เขาสูงใหญ่ เกิดจากการยกตัวของพื้นผิวโลกและดินส่วนที่อ่อนพัดพาลงสู่พื้นที่ส่วนต่ำคงเหลือหินซึ่งเป็นโครงสร้างส่วนที่แข็งไว้เป็นภูเขา มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 560,593 ไร่ เป็นพื้นที่ราบสูงตั้งอยู่ในบริเวณท้องที่อ.วังสะพุง อ.ภูเรือ อ.ด่านซ้าย และอ.ภูหลวง มีความสูงเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1,200–1,500 ม.จากระดับน้ำทะเล จึงทำให้บนภูเรือนั้นมีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี ภูหลวงแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ขึ้นชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพืชยืนต้น พืชดอก รวมถึงสัตว์ป่านานาชนิด ทั้งที่เป็นสัตว์ป่าสงวนอย่างเลียงผา และสัตว์ป่าคุ้มครองอีกหลายชนิด 

Location : เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง อ.วังสะพุง อ.ภูเรือ อ.ด่านซ้าย และอ.ภูหลวง จ.เลย

จากอ.ภูเรือ ใช้ทางหลวงหมายเลข 203 ไปทางอ.เมือง ผ่านบ้านโนนสะอาดถึงบ้านสานตม เลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหมายเลข ลย.2011 ไปอีก 3 กม.ถึงสามแยกตัว Y ให้ไปทางซ้าย ถึงบ้านนาน้อย เดินทางต่อไปอีก 5 กม.ถึงที่ทำการฯ

เขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าภูหลวง มีเนื้อที่กว่า 5 แสนไร่ แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเรียกว่าโหล่นแต้ หรือฝั่งอ.วังสะพุง ไม่เปิดให้ขึ้นไปเที่ยว ส่วนที่สองเรียกว่าโคกนกกระบา หรือฝั่งภูเรือ ที่เราขึ้นมาเที่ยวชมธรรมชาติได้ มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติที่ไปเช้ากลับบ่าย และต้องขออนุญาตล่วงหน้า

รู้จักดอกกล้วยไม้

กล้วยไม้ (Orchid) เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว เป็นหนึ่งในพืชดอกที่มีจำนวนชนิดมากที่สุดในบรรดาพรรณไม้ทั่วโลก  โดยมีประมาณ 880 สกุล และประมาณ 22,000 ชนิดที่มีการยอมรับ กล้วยไม้คือพืชที่มีส่วนต่างๆ สมบูรณ์ คือ มีราก ต้น ใบ ดอก และผล รากของกล้วยไม้ไม่มีรากแก้ว ลำต้นไม่มีแก่นไม้ ใบจัดเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวมีเส้นใบขนานกันตามความยาวของใบ ส่วนปัจจัยในการเจริญเติบโตของกล้วยไม้นั้นค่อนข้างมีความละเอียดอ่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแร่ธาตุ อากาศ น้ำ และแสงแดดที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและออกดอกของกล้วยไม้ทั้งสิ้น

ทั้งนี้กล้วยไม้ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือที่เรียกกันว่ากล้วยไม้ป่านั้น หาชมได้ยากมาก เนื่องจากการเติบโตของกล้วยไมประเภทนี้ต้องอาศัยปัจจัยที่ซับซ้อนทั้งด้านความสมบูรณ์ของแร่ธาตุ ความชื้น อากาศ แสงแดด รวมอุณหภูมิที่ละเอียดอ่อนกว่ากล้วยไม้บ้าน หรือกล้วยไม้เลี้ยง ปัจจุบันจึงมีกฏหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองกล้วยไม้ป่าชนิดต่างๆ ครอบคลุมไปถึงการเคลื่อนย้าย ซื้อขาย การนำเข้าและส่งออกด้วย

ด้วยความพร้อมทางด้านทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างมากมายนี้เอง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงจึงได้จัดให้มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ เพื่อชมพรรณไม้หายาก และทุ่งดอกไม้ป่าที่สมบูรณ์และสวยงาม ยกตัวอย่างเช่น ทุ่งกุหลาบแดง ทุ่งกุหลาบขาว รวมถึงอีกหนึ่งไฮไลท์คือรอยเท้าไดโนเสาร์ ที่มีอายุมากกว่า 120 ล้านปี หน้าผาที่สูงชันและทิวทัศน์อันสวยงามของผาสมเด็จ รวมถึงสวนหินธรรมชาติที่มีพืชพรรณไม้ดอกกล้วยไม้ป่ากว่า 160 ชนิด ทำให้ภูหลวงกลายเป็นห้องสมุดธรรมชาติขนาดใหญสำหรับผู้ที่รักและต้องการศึกษาธรรมชาติอย่างจริงจัง

Day 1

ที่ภูหลวงนอกจากช่วงฤดูหนาวที่ผู้คนนิยมมาเที่ยวชมทิวทัศน์ทะเลหมอกและไม้ดอกนานาพันธุ์แล้ว ในช่วงฤดูร้อนแบบนี้ ที่ภูหลวงยังมีไฮไลท์เด่นเป็นพันธุ์ดอกกล้วยไม้ป่ากว่าร้อยชนิดให้คุณได้เดินเพลิดเพลินกับการเดินทอดน่องชมความสวยงามของไม้ดอก และความสมบูรณ์ของธรรมชาติ พร้อมกับสัมผัสอากาศดี เย็นสบายทั้งวัน 

การเดินทางมาเที่ยวภูหลวงนั้น หากคุณมาจากกรุงเทพฯ ก็จะถึงตัวอ.ภูเรือบริเวณที่เป็นทางขึ้นสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงในช่วงบ่ายมาถึงตรงนี้เลือกที่จะแวะพักผ่อนจากการเดินทางที่ตัวอ.ภูเรือก่อนสักคืน แล้วค่อยเดินทางขึ้นสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงในตอนเช้า เที่ยวเสร็จบ่ายแก่ๆ ก็ขับรถลง หากต้องการพักแรมบนหน่วยพิทักษ์ป่าโคกนกกระบา ต้องติดต่อจองล่วงหน้าก่อนเดินทาง

หากคุณติดต่อที่พักบนหน่วยพิทักษ์่ป่าโคกนกกระบาไว้แล้ว จากตัวอ.ภูเรือ ขับรถขึ้นเขามายังหน่วยพิทักษ์ป่าโคกนกกระบา ใช้เวลาประมาณ 2 ชม. ควรเป็นรถกระบะ หรือขับเคลื่อนสี่ล้อ เนื่องจากทางชันหลายช่วง และถนนไม่เหมาะสำหรับรถเก๋ง เมื่อเดินทางมาถึงด้านบนและจัดสัมภาระเข้าที่เรียบร้อยแล้วคุณควรรับประทานอาหารกลางวันให้เรียบร้อยก่อน ที่หน่วยพิทักษ์ป่าโคกนกกระบา ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงแห่งนี้ก็จะมีบริการอาหารจากโรงครัวของเจ้าหน้าที่ และที่สำคัญ ก่อนออกเดินเที่ยวชมธรรมชาตินั้น คุณควรแจ้งเจ้าหน้าที่ หรือแม่ครัวเอาไว้ก่อน เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้รับทราบและบริการได้อย่างเต็มที่

เส้นทางการเดินศึกษาธรรมชาติบนภูหลวงมีให้คุณได้เลือก 2 เส้นทาง ได้แก่เส้นทางระยะไกล และเส้นทางระยะสั้น โดยเส้นทางระยะไกล เป็นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติโดยการเดินเท้าระยะทางประมาณ 4 กม. มีเจ้าหน้าที่คอยนำทางและให้ข้อมูล เริ่มจากบริเวณที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไปยังผาช้างผ่าน และโคกพรหมจรรย์ ซึ่งเป็นทุ่งกุหลาบขาวที่บานสะพรั่งอยู่เต็มพื้นที่ ซึ่งจะออกดอกประมาณเดือน มีนาคม–เมษายน ของทุกปี จากนั้นจึงค่อยเดินเท้าต่อไปยังผาสมเด็จ จากจุดนี้มองเห็นตัวผาเตลิ่นจุดชมวิวที่อยู่ถัดไป รวมถึงทิวทัศน์ของบ้านนาหลวงที่อยู่เบื้องล่างได้อย่างชัดเจน 

หลังจากที่หยุดแวะพักชมวิว พร้อมเก็บภาพประทับใจกันจนเมื่อยนิ้ว เดินเท้าต่อไปอีกไม่ไกล คุณก็จะถึงผาเตลิ่น ที่มีชื่อเป็นภาษาท้องถิ่นแปลว่า มีลักษณะเป็นขั้นๆ หรือ ชั้นๆ ตามลักษณะ โดยมีหน้าผาสูงราว 1,055 ม. ตั้งอยู่แนวโขดหินริมผาด้านตะวันออก ยาวประมาณ 3 กม. มีพรรณไม้แคระ กุหลาบแดง กุหลาบขาว และมีบีโกเนียแซมอยู่ตามชะง่อนหิน

จากจุดนี้มองเห็นเทือกเขาภูกระดึงได้อย่างชัดเจน จุดที่น่าสนใจถัดมาก็คือรอยเท้าไดโนเสาร์ ตามทางเดินบริเวณโคกยาว จะได้พบกับรอยเท้าไดโนเสาร์ที่มีอายุประมาณ 100-140 ล้านปี ประทับอยู่บนแผ่นหินทรายจำนวน 15 รอย โดยผู้ที่มาทำการสำรวจได้ให้ข้อมูลไว้ว่าเป็นรอยเท้าของไดโนเสาร์จำพวกคาร์โนซอร์ หรือไดโนเสาร์ที่กินเนื้อเป็นอาหาร รอยเท้าไดโนเสาร์เหล่านี้ได้ถูกค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2525 ถือเป็นการพบรอยเท้าครั้งแรกแถบเอเชียอาคเนย์

เมื่อชมรอยเท้าไดโนเสาร์เสร็จ ก็ถึงเวลาที่เจ้าหน้าที่จะนำทางเรากลับสู่ที่ทำการฯเพื่อรับประทานอาหารเย็น พร้อมชมวิวพระอาทิตย์ตกที่ผากุหลาบแดงที่อยู่ไม่ไกลกับหน่วยพิทักษ์ป่าโคกนกกระบา ก่อนที่จะแยกย้ายกันพักผ่อน ระหว่างทางเดินในช่วงขากลับยังได้ชื่นชมกับพันธุ์ไม้ดอกหายากนาชนิดรวมถึงร่องรอยของสัตว์ป่าที่มีให้พบเห็นอยู่ตลอดเส้นทาง

Day 2

หลังจบทริปเส้นทางเดินชมธรรมชาติระยะไกลในวันแรกผ่านไปแล้ว ในวันที่สองนี้เป็นอีกหนึ่งทริประยะสั้นให้คุณเดินได้อย่างสบายๆ นั่นก็คือ เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติระยะสั้นลานสุริยัน เป็นเส้นทางที่มีระยะทางเดินรวม 1,870 ม. เดินเป็นวงรอบไม่ย้อนกลับทางเดิม เป็นเส้นทางที่ใช้เวลาเดินทางไม่มาก เหมาะสำหรับผู้ที่มีเวลาน้อยและผู้สูงอายุที่ลำบากจะเดินทางไกล โดยมีลักษณะเส้นทางเป็นพื้นราบไม่สูงชัน

เมื่อเดินเข้าสู่ลานสุริยันสิ่งที่น่าสนใจคือ สภาพป่าที่เป็นป่าดิบแคระมีพรรณไม้หลากหลายชนิด แต่ที่เด่นๆ ได้แก่พรรณไม้จำพวกก่อ เช่น ก่อดำ, ก่อหนู, ส้มแปะ, กุหลาบแดง, กุหลาบขาว, ส้มสา ขึ้นสลับตามลานหิน ที่สำคัญในเส้นทางเดินนี้ยังมีกล้วยไม้ขึ้นชื่อและหายากชนิดต่างๆ ที่น่าสนใจให้ชมมากมาย เช่นเอื้องตาเหิน, เอื้องสำเภางาม, เอื้องพลายงาม, สิงโตสยาม, สิงโตใบพาย, สิงโตรวงข้าว, เอื้องขยุกขยุย ฯลฯ

กล้วยไม้และพรรณไม้แต่ละชนิดจะค่อยๆ ออกดอกบานสลับกันไปตามช่วงระยะเวลา จะไม่บานพร้อมกันชนิดไหนที่ออกดอกก็จะพบเห็นได้ตลอดเส้นทางเดิน และเนื่องจากพื้นที่เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติลานสุริยันเป็นพื้นที่ที่มีความเปราะบาง ในการเดินแต่ละครั้งจะต้องมีเจ้าหน้าที่นำทางไปด้วย

นอกจากพรรณไม้ และกล้วยไม้ป่าชนิดต่างๆ แล้วในเส้นทางเดินนี้ยังมีหินรูปทรงต่างๆ เช่น หินโคกนกกระบา, หินเจดีย์ และหินขนาดใหญ่ที่สามารถปีนขึ้นไปเพื่อมองเห็นวิวพื้นที่เส้นทางเดินได้โดยรอบ ก่อนจะเดินถึงทางออกที่อยู่ตรงหน่วยพิทักษ์ป่าโคกนกกระบาก็เป็นอันสิ้นสุดทางเดินศึกษาธรรมชาติระยะสั้น และหากคุณมีเวลามากพอหลังจากลงจากภูหลวงแล้ว การแวะเที่ยวที่อำเภอภูเรือ พร้อมเลือกค้างแรมสักคืนก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย

เนื่องจากทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงด้านโคกนกกระบา ซึ่งเป็นจุดอนุญาตให้เข้าไปศึกษาธรรมชาติได้นั้น อยู่ในเขตของอ.ภูเรือ และการเดินทางสัญจรก็มีความสะดวกสบาย อีกทั้งอากาศก็เย็นสบายตลอดทั้งปีอีกเช่นกัน ดังนั้นหากคุณเดินทางมาเที่ยวภูหลวงแล้วล่ะก็ การได้แวะพักรับประทานอาหารร้อนๆ และกลับมานอนพักผ่อนท่ามกลางบรรยากาศที่มีสายลมเย็นสบายกำลังดีที่ภูเรือหลังจากได้เที่ยวชมธรรมชาติที่ภูหลวงแล้วจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรพลาด และสามารถทำได้อย่างง่ายดาย

บ้านพักรับรองบริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าโคกนกกระบา ร้านอาหารสวัสดิการ รับจัดทำข้าวกล่องสำหรับติดตัวนำไปเดินป่า หรือนั่งรับประทานที่ร้าน ลานกางเต็นท์ ห้องน้ำ หรือจะใช้บริการรีสอร์ตต่างๆ ในอำเภอภูเรือ แล้วค่อยเดินทางขึ้นมาเที่ยว

เขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าภูหลวง โทร 042 80 1955