พระธาตุหริภุญชัย ลำพูน

Trips ลำพูน

พระธาตุหริภุญชัย เจดีย์ทรงล้านนาปิดด้วยทองจังโก้

1 ใน 8 พระธาตุที่มีอายุเกิน 1,000 ปี

ลำพูน เมืองเนิบช้า….

คุณอาจจะรู้สึกเที่ยวแบบสบายๆ ไม่รีบร้อนในเชียงใหม่ที่อยู่เหนือขึ้นไปจากลำพูน แต่หากคุณได้เดินทางสู่ลำพูน คุณจะรู้สึกได้เลยว่า เวลาหมุนช้าลงกว่าเชียงใหม่เสียอีก

ถนนในตัวเมืองเล็กๆ มีรถราสัญจรไม่มาก แม้ในวันธรรมดา บ้านเรือนยุคเก่ายังคงอยู่ดีมีสุข ผู้คนไม่เบียดเสียดพลุกพล่าน ไม่ว่าจะมุมไหน แม้ว่านี่คือจังหวัดที่เล็กที่สุดของภาคเหนือก็ตาม

ถนนต้นยางเชื่อมเชียงใหม่-ลำพูน

และทริปที่ไม่ควรพลาดเลยก็คือการมาเที่ยววัดพระธาตุหริภุญชัย สำหรับชาวพุทธ การมานมัสการพระธาตุเป็นสิ่งที่หลายคนปรารถนา และสำหรับเพื่อนศาสนิกชนอื่นๆ การได้มาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ชมงานศิลปะก็คือสิ่งที่ไม่น่าพลาดสำหรับโบราณสถานที่สำคัญที่สุดของจังหวัดลำพูน และของไทย

หากมองในแผนที่คุณจะเห็นว่ารอบพระธาตุหริภุญชัยซึ่งมีเนื้อที่กว่า 27 ไร่ นั้นมีถนน 4 สายอยู่ล้อมรอบในลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทิศเหนือ คือถนนอัฏฐารส ทิศใต้ คือถนนสุพรรณรังษี ทิศตะวันออก คือถนนรอบเมืองใน ทิศตะวันตก คือถนนอินทยงยศ ถนนรอบเมืองในที่ติดน้ำกวง คือทางเข้าพระธาตุด้านหน้านั่นเอง

โดยทั่วไปการเที่ยวโบราณสถานนั้นอาจจะไม่เป็นชื่นชอบของคนยุคใหม่ แต่หากเราทดลองตั้งคำถามถึงสิ่งก่อสร้างโบราณนี้ จะทำให้คุณสนุกกับการแสวงหาคำตอบ ไม่แน่ คุณอาจจะเป็นนักท่องเที่ยวเชิงโบราณคดีไปเลยก็ได้

ซุ้มประตูสิงห์หน้าวัด ศิลปทราวดี

Q : ใครเป็นคนสร้างอาณาจักรหริภุญชัย?

A : ตำนานจามเทวีโบราณ บันทึกว่า ฤาษีวาสุเทพ เป็นผู้สร้างเมืองหริภุญชัยขึ้นในปี พ.ศ. 1204 

Q : ฤาษีวาสุเทพ เป็นใคร?

A : ฤาษีวาสุเทพ เป็นชาวเมืองละโว้ ยุคนั้นเมืองละโว้ ซึ่งก็คือจังหวัดลพบุรีในปัจจุบันนี้ มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมากจึงมีการสร้างเมืองใหม่เพื่อแผ่ขยายวัฒนธรรมออกไป

Q : ฤาษีวาสุเทพ สร้างหริภุญชัยเป็นเมืองแรกหรือไม่?

A : แท้ที่จริงฤาษีตนนี้เคยสร้างเมืองมิคสังฆนคร อยู่ที่เชิงดอยสุเทพมาก่อน แต่ด้วยภูมิประเทศเป็นที่ลาดเทเมืองจึงดูไม่งดงาม ต่อมาได้ไปสร้างในที่ลุ่ม แต่ก็เมืองก็จมหนองน้ำไปอีก 

ฤาษีวาสุเทพ มีสหายคือฤาษีสุกกะทันต์ ซึ่งเป็นชาวเมืองละโว้เหมือนกันได้ให้คำแนะนำถึงการเลือกภูมิประเทศซึ่งก็ได้บริเวณที่ตั้งพระธาตุหริภุญชัยนั่นเอง และยังได้ขุดดินดูพบดินก้อนหนึ่งมีลักษณะเป็นแก้วเจ็ดประการ อีกก้อนหนึ่งเห็นถ่านเขียว อีกก้อนเห็นข้าวสาร อีกก้อนเห็นข้าวเปลือก 

พระประธานในวิหารหลวง หน้าพระธาตุ

Q : อาณาจักรหริภุญไชยอยู่ในช่วงพุทธศักราชใด?

A : จะว่าไปแล้วอาณาจักรหริภุญชัยนี่ก็แปลก ในขณะที่อาณาจักรอื่นๆ เขาจะมีบันทึกทางประวัติศาสตร์ แต่สำหรับอาณาจักรหริภุญชัยเป็นเพียงตำนาน ซึ่งนักวิชาการประวัติศาสตร์หลายท่านก็คาดการณ์กันว่าน่าจะใกล้เคียงกับเหตุการณ์จริง

อาณาจักรหริภุญชัยเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 1206-1836 รวม 618 ปี มีกษัตริย์ปกครอง 47 พระองค์

Q : ใครเป็นกษัตริย์องค์แรกของอาณาจักรหริภุญชัย หลังจากฤาษีวาสุเทพสร้างเมืองขึ้นมา?

A : ฤาษีวาสุเทพได้ไปอัญเชิญพระนางจามเทวี ซึ่งเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์ขอมจากเมืองละโว้ ขึ้นไปครองเมืองหริภุญชัย การเดินทางของพระนางจามเทวีในครั้งนั้นจึงได้นำพระสงฆ์ นักปราชญ์ และช่างแขนงต่างๆ ขึ้นไปด้วยเป็นจำนวนมากนับหมื่นคน พระนางได้ทำนุบำรุงและก่อสร้างบ้านเมือง ทำให้เมืองหริภุญชัยเป็นแหล่งศิลปวัฒนธรรมที่เจริญรุ่งเรือง ต่อมาพระนางยังได้สร้างเขลางค์นคร หรือเมืองลำปาง ขึ้นอีกเมืองหนึ่งด้วย

พระนางจามเทวีคือปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญชัย แม้จะปกครองอาณาจักรแห่งนี้อยู่เพียง 7 ปี (พ.ศ. 1206-1213) แต่พระนางก็ได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับอาณาจักรอย่างนี้เป็นอย่างมาก ตำนานยังกล่าวว่าพระนางจามเทวียังเป็นบุตรบุญธรรมของฤาษีวาสุเทพอีกด้วย

Q : อาณาจักรหริภุญชัยมีพื้นที่ขนาดไหน?

A : บริเวณภาคเหนือของไทย เคยเป็นที่ตั้งของ 3 อาณาจักร คือ

อาณาจักรโยนก

อาณาจักรหริภุญไชย

อาณาจักรล้านช้าง (อาณาจักรนี้เกิดจากพระยาเม็งรายบุกตีอาณาจักรหริภุญไชย ในสมัยพระเจ้ายีบา กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์หริภุญไชย แล้วรวมกับพื้นที่ทางเหนือเป็นอาณาจักรล้านช้าง)

สำหรับอาณาจักรหริภุญชัย คือจังหวัดลำพูนในปัจจุบัน และพื้นที่อีกหลายส่วนทางภาคเหนือ (ใส่แผนที่ประกอบ)

วิหารพระบาท 4 รอย เป็นรอยเล็ก 4 รอย ซ้อนในรอยใหญ่

Q : ใครเป็นผู้สร้างพระธาตุหริภุญชัย?

A : พระธาตุหริภุญชัย ถูกสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1651 ในรัชสมัยพระเจ้าอาทิตยราช กษัตริย์องค์ ที่ 30 แห่งอาณาจักรหริภุญชัย

Q : ทำไมต้องสร้างพระธาตุหริภุญชัย?

A : ตำนานกล่าวว่า เดิมทีบริเวณพระธาตุหริภุญชัยนี้ พระเจ้าอาทิตยราช โปรดให้สร้างปราสาทราชมณเฑียรเป็นที่ประทับ เมื่อสร้างเสร็จพระองค์จึงเสด็จไปประทับ วันหนึ่งขณะจะเสด็จไปวสัญชนฐาน (ห้องน้ำ) ได้มีกาตัวหนึ่งบินโฉบลงมากันไม่ให้พระองค์เข้าไปวสัญชนฐาน สร้างความขุ่นเคืองพระราชหฤทัยให้กับพระองค์ที่ต้องไปใช้ห้องน้ำที่อื่น และทรงมีรับสั่งให้จับกานั้นมาฆ่าเสีย แต่เทวาดาผู้รักษาพระเกสธาตุได้มาดลใจอำมาตย์ผู้หนึ่งสงสัยในพฤติการณ์ของกาจึงทัดทานไว้ไม้ให้ฆ่ากา คืนต่อมาใกล้รุ่งสาง เทวดาผู้รักษาเกสธาตุได้มาสำแดงในพระสุบิน (ฝัน) ถวายคำแนะนำให้พระองค์นำทารกมาอยู่กับกา 7 วัน และอยู่กับคน 7 วัน สลับกันไปเป็นเวลา 7 ปี เมื่อถึงเวลานั้นเด็กจะสามารถแปลภาษากาให้ทุกคนรู้ถึงเหตุปริศนา

เมื่อถึงเวลาพระองค์จึงทราบเรื่องเกี่ยวกับพระเกสธาตุ โปรดให้เชิญพระยากาเผือกมาเล่าความเป็นมาถวาย พระองค์ทรงมีพระราชหฤทัยอภิรมย์ยินดียิ่ง จึงโปรดให้รื้อราชมณเฑียรออกไป ให้พระสงฆ์มาสวดพระปริตตมงคลเพื่ออาราธนาพระบรมธาตุให้ออกมา และพระธาตุเจ้าได้โผล่พ้นขึ้นมาจากแผ่นดินและลอยขึ้นในอากาศสูงเท่าต้นตาล เปล่งฉัพพัณรังสีเจิดจ้าไปทั่วนครหริภุญชัย 7 วัน 7 คืน แล้วจึงลอยมาประดิษฐานบนแผ่นดินดังเดิม

พระเจ้าอาทิตยราชโปรดให้ขุดเอาโกศบรรจุพระธาตุขึ้นมา โปรดให้สร้างโกศทองคำหนัก 3,000 คำ สูง 7 ศอก ประดับแก้วทั้ง 7 ประการครอบโกศพระธาตุของพระพุทธเจ้านั้น แล้วให้สร้างมณฑปราสาทสำหรับประดิษฐาน

Q : มีอะไรในพระธาตุหริภุญชัย?

A : พระธาตุหริภุญชัยเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ อันมี ธาตุกระหม่อม  ธาตุกระดูกอก  ธาตุกระดูกนิ้วมือ และธาตุย่อยอีกเต็มบาตรหนึ่ง

Q : ทำไมจึงต้องมีการสร้างเจดีย์มากมายในประเทศไทย?

A : การสร้างเจดีย์มีจุดประสงค์เพื่อเป็นที่เคารพบูชาระลึกถึง เป็นสิ่งก่อสร้างในพุทธศาสนาเพื่อบรรจุอัฐิ หรือประดิษฐานพระพุทธรูป ใช่แต่ประเทศไทยเท่านั้น ยังมีการสร้างเจดีย์ทั่วไปในเอเชียอีกด้วย เจดีย์มี 4 ประเภทคือ

1 ธาตุเจดีย์ คือ สิ่งก่อสร้างที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ของพระมหากษัตริย์

2 บริโภคเจดีย์ คือ สถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ใช้เป็นที่ระลึกถึงพระองค์เมื่อเสด็จปรินิพพานแล้ว ได้แก่ สังเวชนียสถาน 4 แห่ง คือ สวนลุมพินีวัน (ที่ประสูติ) อุรุเวลาเสนานิคม (พุทธคยา-ที่ตรัสรู้) ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน (สารนาถ-ที่แสดงปฐมเทศนา) และสาลวโนทยาน เมืองกุสินารา (ที่ปรินิพพาน)

3 ธรรมเจดีย์ คือ พระธรรม คัมภีร์ในพุทธศาสนา เป็นสิ่งแทนองค์พระพุทธเจ้า ต่อมาเขียนลงเป็นตัวอักษรประดิษฐานไว้เพื่อบูชา

4 อุเทสิกเจดีย์ คือ สถานที่หรือสิ่งของที่สร้างขึ้นโดยเจตนาอุทิศต่อพระพุทธเจ้า ไม่กำหนดว่าจะต้องทำอย่างไร เช่น พระพิมพ์ พระพุทธรูป ธรรมจักร บัลลังก์ เจดีย์ เป็นต้น

หอไตร เด่นด้วยิงโตหินประดับที่หัวเสา

Q : ชมอะไรที่พระธาตุหริภุญชัย?

A : จุดเด่นมี 4 แห่ง คือ ซุ้มประตู วิหารหลวง พระธาตุหริภุญชัย และพระสุวรรณเจดีย์

ซุ้มประตูด้านหน้า มีลักษณะการก่อสร้างแบบก่ออิฐถือปูนประดับลวดลายวิจิตรพิสดาร ด้วยฝีมือช่างโบราณสมัยศรีวิชัย ประกอบด้วยซุ้มยอดเป็นชั้นๆ หน้าซุ้มประตูมีสิงห์ใหญ่คู่หนึ่ง สูงประมาณ 1 เมตร พระเจ้าอาทิตยราชทรงถวายเพื่อให้เป็นสังฆทาน

วิหารหลวง ใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศล และประกอบศาสนกิจทุกวันพระ ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระปฏิมาใหญ่ก่ออิฐ ถือปูน ลงรักปิดทองบนแท่นแก้ว 3 องค์ และพระพุทธปฏิมาหล่อโลหะ สมัยเชียงแสน วิหารหลวงที่เห็นในปัจจุบันนี้เป็นอาคารหลังใหม่ที่สร้างขึ้นหลังจากที่หลังเก่าถูกพายุพัดพังทะลายไป เมื่อ พ.ศ. 2466 

พระธาตุหริภุญชัย เป็นพระเกศบรมธาตุบรรจุในโกศทองคำ ประดิษฐานอยู่ในพระเจดีย์ เป็นเจดีย์แบบล้านนาที่ลงตัวสวยงาม ประกอบด้วยฐานปัทม์ แบบฐานบัวลูกแก้ว ย่อเก็จ ต่อจากฐานบัวลูกแก้วเป็นฐานเชียงกลมสามชั้น ตั้งรับองค์ระฆังกลม บัลลังก์ย่อเหลี่ยม เจดีย์มีลักษณะใกล้เคียงกับพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ สูง 25 วา 2 ศอก ฐานกว้าง 12 วา 2 ศอก 1 คืบ มีรั้วเหล็กและรั้วทองเหลือง 2 ชั้น สำเภาทองประดิษฐานอยู่ประจำรั้วชั้นนอกทั้งทิศเหนือ ทิศใต้ มีซุ้มกุมภัณฑ์ และฉัตรประจำสี่มุม และหอคอยประจำทุกด้านรวม 4 หอ 

พระสุวรรณเจดีย์ สร้างขึ้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ 17 ตั้งอยู่ทางขวาของพระบรมธาตุ สร้างขึ้น โดยพระนางปทุมวดี อัครมเหสีของพระเจ้าอาทิตยราช ภายหลังเมื่อสร้างพระธาตุฯ เสร็จแล้วได้ 4 ปี พระ สุวรรณเจดีย์องค์นี้เป็นรูปแบบพระปรางค์ 4 เหลี่ยม ฝีมือช่างละโว้มีพระพุทธรูปประจำซุ้ม ฝีมือและแบบขอมหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง ยอดพระเจดีย์มีทองเหลืองหุ้มอยู่ ภายใต้ฐานชั้นล่างเป็นกรุบรรจุพระเปิม ซึ่งเป็นพระเครื่องชนิดหนึ่ง

นอกจากนี้ยังมีกังสดาล หอระฆัง หอไตร หอยอ เจดีย์เชียงยัน ที่น่าไปชมเช่นกัน

Q : พระธาตุหริภุญชัยที่เห็นในปัจจุบัน เป็นเหมือนในอดีตหรือไม่?

A : หลังจากพระเจ้าอาทิตยราช ได้สร้างมณฑปครอบโกศทองคำบรรจุพระบรมธาตุไว้ภายในแล้ว หลังรัชกาลของพระองค์ต่อมาได้มีการสร้างเสริมกันอีกหลายครั้ง ในปี พ.ศ. 1986 พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ผู้ครองนครเชียงใหม่ ทรงทำการปฏิสังขรณ์บูรณะครั้งใหญ่ โดยสร้างโครงขึ้นใหม่เป็นรูปแบบลังกา เพราะพระองค์ทรงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลังกา และเป็นพระธาตุที่เราเห็นกันในปัจจุบัน

Q : พระธาตุหริภุญชัยมีจุดเด่นเรื่องใดใน พ.ศ. นี้?

A : พระธาตุหริภุญชัย เป็น 1 ใน 8 องค์ ที่มีอายุเก่าแก่เกิน 1,000 ปี ในประเทศไทย

หอระฆัง สวยงาม และยิ่งใหญ่

Q : คำว่า “หริภุญชัย” มีความหมายว่าอะไร?

A : ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาบิณฑบาตร และได้แวะรับฉันลูกสมอ ที่ชาวลั๊วนำมาถวาย พระองค์ทรงพยากรณ์ว่า สถานที่แห่งนี้จะมีผู้มาสร้างเมืองและตั้งชื่อหริภุญชัยนคร ซึ่งมีความหมายว่าเมืองที่พระพุทธเจ้าเคยเสวยลูกสมอ 

หริ แปลว่า ลูกสมอ

ภุญชัย แปลว่า เสวย

นคร แปลว่า เมือง

พระธาตุ 8 แห่งในประเทศไทยที่มีอายุเกิน 1,000 ปี

1 พระธาตุหริภุญชัย อ.เมือง จ.ลำพูน

2 พระธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช วัดพระมหาธาตุ อ.นครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช

3 พระศรีรัตนมหาธาตุสวรรคโลก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย

4 พระมหาธาตุเชลียง วัดช้างล้อม อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย

5 พระปฐมเจดีย์ วัดพระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม

6 พระเจดีย์ชัยมงคล วัดใหญ่ชัยมงคล อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

7 พระธาตุเมืองละโว้ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อ.เมือง จ.ลพบุรี

8 พระธาตุพนม วัดพระธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม

รอบๆ พระธาตุหริภุญชัยนั้นยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ให้คุณเที่ยวชมอีกหลายแห่ง ซึ่งใช้เวลาไม่มากนัก โบราณสถานเหล่านี้ล้วนมีเรื่องราวเล่าขานจนอาจทำให้คุณยอมทุ่มเวลาให้หมดวันก็เป็นได้

วัดจามเทวี

วัดจามเจวี

Location : ถ.จามเทวี 

วัดนี้สร้างโดยพระนางจามเทวี กษัตริย์องค์แรกของอาณาจักรหริภุญชัย จุดเด่นน่าชมอยู่ที่เจดีย์กู่กุด เป็นเจดีย์ทรงเหลี่ยมที่ถือเป็นต้นแบบศิลปหริภุญไชย และรัตนเจดีย์ สร้างโดยพญาสรรพสิทธิ์ พุทธศตวรรษที่ 17 เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงแปดเหลี่ยม

อนุสาวรีย์จามเทวี

อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี

Location : ถ.รอบเมืองใน ห่างจากพระธาตุหริภุญไชย 1 กม.

ประดิษฐานบนแท่นสูงประมาณ 2ม.มองเห็นได้แต่ไกล สง่างามในการทรงเครื่องแบบกษัตริย์ อิริยาบถยืน โดยพระหัตถ์ซ้ายถือดาบยาวปลายดาบถึงพื้น พระหัตถ์ขวายื่นออกเบื้องหน้า สิ่งที่น่าสังเกตก็คือหลังอนุสาวรีย์ก่อกำแพงสีน้ำตาลแดง ซึ่งเป็นศิลปแบบทราวดี ซึ่งพระนางจามเทวีเป็นพระราชธิดากษัตริย์เมืองละโว้ และได้นำศิลปะแบบทราวดีมาสู่แผ่นดินล้านนา

วัดมหาวัน

วัดมหาวัน

Location : ถ.จามเทวี

สร้างในสมัยพระนางจามเทวี เป็น 1 ในวัด 4 มุมเมือง อยู่ห่างจากอนุสาวรีย์พระนางจามเทวีไปเพียง 500 ม. จุดเด่นน่าชมคือ พระรอดหลวง หรือพระหินดำ เพราะสกัดจากหินดำ เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชร ถือเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองลำพูน เจดีย์ด้านหลังวิหาร หอไตรที่ประดับไม้แกะสลักลายพญานาคอันสวยงาม

กู่ช้าง กู่ม้า

กู่ช้าง-กู่ม้า

Location : ต.ในเมือง ห่างจากตัวเมือง 2 กม.

ตำนานเล่าว่าเป็นเจดีย์ที่เก็บซากช้างคู่บารมีของพระเจ้ามหันตยศ ส่วนกู่ม้านั้นเชื่อว่าเป็นที่เก็บซากม้าของพระเจ้ามหันตยศเช่นกัน จุดเด่นเจดีย์กู่ช้างนั้นเชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากเจดีย์บอบอคยีของพม่า ดูไม่เหมือนเจดีย์ใดๆ ในบริเวณนี้ ส่วนกู่ม้าเป็นเจดีย์แบบล้านนา

วัดพระยืน

วัดพระยืน

Location : ต.เวียงยอง ห่างจากตัวเมืองลำพูน 1.5 กม.

ไปชมเจดีย์เก่าแก่ที่ไม่เหมือนเจดีย์ใดในลำพูน วัดแห่งนี้เคยเป็นที่จำพรรษาของพระสุมนเถระที่เดินทางจากเมืองสุโขทัย เพื่อเผยแผ่พุทธศาสนาในสมัยพระเจ้ากือนา

วัดประตูป่า

วัดประตูป่า

Location : ต.ประตูป่า ห่างจากตัวเมืองลำพูน 4 กม.

ไปชมหอไตรที่ได้รับการยกย่องว่างดงามที่สุด ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตั้งแต่ปีพ.ศ. 2533 

วัดกู่ระมัก

Location : ต.ต้นธง ห่างจากตัวเมืองลำพูน 3 กม.

ชมเจดีย์วัดกู่ระมักที่พระนางจามเทวีสร้างขึ้น เล่ากันว่าเมื่อครั้งที่พระนางเดินทางตามแม่น้ำปิงจากเมืองละโว้ขึ้นมาเพื่อครองนครหริภุญไชย และได้มีการยิงธนูเสี่ยงทายเพื่อหาทำเลสร้างวัด ลูกธนูได้มาตกบริเวณที่สร้างเจดีย์นั่นเอง

กาดขัวมุง

กาดขัวมุง

หลังเที่ยวชมพระธาตุหริภุญชัยแล้ว หน้าวัดบริเวณติดกับแม่น้ำกวง มีกาด (ตลาด) ขัวมุง ให้คุณแวะช้อปปิ้งสินค้าพื้นเมือง และลำใยอบแห้งที่ขึ้นชื่อ หรือจะเดินชมวิวทิวทัศน์แม่น้ำกวงก็ได้

Location : ต.เวียงยอง อ.เมือง

อยู่ด้านหน้าวัดพระธาตุหริภุญชัย ริมฝั่งแม่น้ำกวง

ถนนรอบเมือง ซึ่งอยู่ด้านหน้าวัดด้านที่ติดกับแม่น้ำกวง จะเป็นทางเข้าสู่วัดพระธาตุหริภุญชัย ใครมาถึงต่างก็จะจอดรถกันริมถนนด้านหน้า แล้วเดินไปเที่ยวชมพระธาตุหริภุญชัย หลังจากชมกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก่อนกลับจะข้ามไปอีกฝั่งถนนเพื่อช้อปปิ้งสินค้าที่ระลึก และลำใยอบแห้งเป็นของฝากกลับบ้าน และที่นี่เรียกกนว่า “ขัวมุงท่าสิงห์”

ลำพูนปลูกลำใยมากที่สุดในประเทศ

“ขัว” มีความหมายว่า สะพาน ส่วนคำว่า “มุง” ก็คือมุงหลังคานั่นเอง เป็นถ้อยคำในภาษาล้านนา สะพานนี้สร้างข้ามแม่น้ำกวง เดินจากพระธาตุหริภุญชัยไปยังชุมชนชาวยองที่อยู่อีกฝั่งได้ ความยาวของสะพานประมาณ 100 ม.

อย่ามัวจดจ่อแต่ของอร่อย ของฝาก เพราะสิ่งที่น่าชมของสะพานก็คือลายฉลุบนตั่งยาวตลอดแนวสะพาน วิวทิวทัศน์ก็สวยงามดูร่มรื่น และร่มเย็น เหมาะแก่การเดินเล่น ไม่ต้องกลัวรถยนต์แล่นข้าม เพราะสะพานเล็ก ผ่านได้เพียงมอเตอร์ไซค์ จักรยาน และเดินเท่านั้น

ผ้าทอต้องซื้อ

สินค้าที่น่าช้อปปิ้งจะเป็นผ้าทอจากต.เวียงยอง เป็นผ้าไหมยกดอก ที่ขึ้นชื่อมากคือลายดอกพิกุล และลายเปลวเพลิง ส่วนวัยรุ่นอย่าเพิ่งเบื่อ เพราะมีเสื้อยืดที่ระลึก ถุงผ้า และของประดับตกแต่งให้ซื้อหาได้หลายอย่างเช่นกัน สำหรับคนชอบชิม จะพลาดไม่ได้กับลำใยอบแห้ง รสชาติดี ไม่หวานเกินไป ลำพูนได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่ปลูกลำใยมากที่สุดในประเทศ จึงไม่ผิดหวังที่จะซื้อหาติดไม้ติดมือกลับไปเป็นของฝาก

หากมาเดินเที่ยวในเวลาเที่ยงได้เวลาอาหารกลางวัน เดินทะลุกาดขัวมุงไปลงยังชุมชนเวียงยอง จะพบร้านก๋วยเตี๋ยวลำใยอันโด่งดังรอให้คุณลิ้มรสอยู่

ถนนคนเดิน หน้าวัดพระธาตุหริภุญชัย

ถนนคนเดิน “ข่วงคนเตียวหละปูน”

Location : ใจกลางเมืองลำพูน ทอดยาวจากวัดช้างสีไปจนถึงสี่แยกมหาวัน

ในขณะที่เชียงใหม่ม่ีถนนคนเดินวัวลาย และถนนคนเดินท่าแพอันโด่งดัง ที่ลำพูนเองก็มีถนนคนที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมมากเหมือนกันทั้งจากคนลำพูนเอง และจากนักท่องเที่ยว นั่นก็คือ “ข่วงคนเตียวหละปูน”

ถนนคนเดินสายน้ีมีความยาวกว่า 1.5 กม. เปิดให้บริการทุกวันศุกร์ ตลอดทั้งปี ตั้งแต่บ่ายแก่ๆ ไปจนถึงค่ำๆ

ข่วงคนเตียวหละปูน เป็นการร่วมมือกันของชุมชนทุกอำเภอของจ.ลำพูน คุณมาเดินที่เดียวจึงได้สินค้าของที่ระลึกครบทุกอำเภอไม่ต้องไปตระเวณซื้อหาให้เหนื่อย นอกงานฝีมืออันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชนทั้ง 17 อำเภอแล้ว ยังมีอาหารพื้นเมืองให้ชิมด้วย

สำหรับร้านเด่นๆ ที่ขึ้นชื่อบนถนนคนเดินสายนี้ เช่น ร้านป้ารัญจวน ขายขนมโบราณพื้นบ้าน เรียกกันว่าขนมหนุกงา หรือขนมปุก ใช้แผ่นแป้งที่ทำจากข้าวเหนียวดำและข้าวกล้องแดงมาย่าง โรยด้วยงา และน้ำตาล หากินที่ไหนไม่ได้ 

ร้านหัวโตนะ ขายตุ๊กตาไม้เชือกป่านสีสด เน้นเป็นรูปเด็กไทยโบราณที่ทำทรงผมหัวแกละ มัดจุก ถักเปีย ยืนยิ้มแป้นน่ารัก ส่วนร้านวันวานยังหวานอยู่ ขายทั้งของเล่นและของกินโบราณ 

ร้านเรือนไม้ ขายกระโปรงผ้าป่านไทย ผ้าป่านอินเดีย และผ้าพื้นเมือง ลวดลายดอกไม้ถูกใจสาวๆ เป็นที่สุด ร้านกิตติคุณ ขายงานแฮนด์เมดจำพวกกระเป๋าสะพานหลายแบบ ใช้เชือกปอ ผ้าฝ้ายและไหมย้อมสีธรรมชาติ

นอกจากนี้ยังมีร้านของฝาก ของกินอีกมากมายรายเรียงตลอดความยาวของถนนกว่าหนึ่งกิโลเมตร หลังจากจบทริปท่องเที่ยวในช่วงกลางวันแล้ว หากตรงกับศุกร์ไม่ควรพลาดที่จะมาจับจ่ายหาของที่ระลึกกลับบ้านไป บางชิ้นที่คุณได้ไป อาจจะเป็นงานชิ้นเดียวในโลกก็ได้