ใครชอบเที่ยววัด ชมเมืองบรรยากาศสบายๆ มาเที่ยวเมืองน่านรับรองไม่ผิดหวัง เพราะตัวเมืองน่านมีวัดวาอารามสไตล์ล้านนาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองคู่แฝดกับหลวงพระบาง เมืองมรดกโลก ขับรถเที่ยวชมได้ด้วยตัวเองวัดเด่นของน่านจะตั้งอยู่บนถ.สุริยพงษ์ เพียงคุณยึดถนนแห่งนี้ไว้เป็นเส้นทางสายหลักก็ชมที่เที่ยวเด่นๆ ของน่านได้หลายแห่ง แม้น่านจะมีวัดนับร้อยแห่ง แต่ครั้นจะเที่ยวให้ครบอาจใช้เวลานับเดือน วัดที่ได้รับความนิยมและไม่ควรพลาดทั้ง 7 แห่ง เพียงพอกับเวลาในการมาเยือนในทริปเดียว
1.วัดภูมินทร์
Location: บริเวณตัวเมืองน่าน ต.ในเวียง
จากทางหลวงหมายเลข 101 แพร่-น่าน เลี้ยวขวาเข้าสู่ถ.สุริยพงษ์บริเวณแยกวัดศรีพันต้น จากนั้นตรงไปผ่านวัดมิ่งเมือง จะพบวัดภูมินทร์อยู่ทางด้านขวา
วัดภูมินทร์ เป็นวัดหลวงตั้งอยู่ในเขตพระนคร หรือต.ในเวียงในปัจจุบัน สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2139 โดยเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ ต่อมาอีกประมาณ 300 ปี ได้มีการบูรณะวัดภูมินทร์ครั้งใหญ่ ที่ใช้เวลานานถึง 7 ปี ในสมัยของเจ้าอนันตวรฤทธิ์เดช เมื่อประมาณปีพ.ศ. 2410 ปลายสมัยรัชกาลที่ 4
วัดภูมินทร์ เป็นวัดเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่สร้างทรงจัตุรมุข ดูคล้ายตั้งอยู่บนหลังพญานาคขนาดใหญ่ 2 ตัว อาคารนี้เป็นทั้งพระอุโบสถ พระวิหาร และพระเจดีย์ในหลังเดียวกัน ตรงใจกลางพระอุโบสถจัตุรมุข ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ 4 องค์ หันพระพักตร์ออกด้านประตูทั้งสี่ทิศ หันเบื้องปฤษฏาค์ชนกัน ประดับนั่งบนฐานซุกชี เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ภายในวิหารจัตุรมุขทั้ง 4 ด้าน มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามและเลื่องชื่อให้ชื่นชม แสดงเรื่องราวชาดก วิถีชีวิตตำนานพื้นบ้าน และความเป็นอยู่ของชาวน่านในอดีต ทั้งการแต่งกายคล้ายผ้าซิ่นลายน้ำไหล การทอผ้าด้วยกี่ทอมือ ภาพชายหญิงเกี้ยวพาราสี บริเวณบานประตูยังมีงานแกะสลักลึก 3 ชั้นบนไม้สักทอง เป็นลวดลายเครือเถา ที่มีทั้งดอกและมีผลระย้า รวมทั้งสัตว์นานาชนิด
2. วัดช้างค้ำวรวิหาร
Location: ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน บริเวณสี่แยกข่วงเมือง บนถ.สุริยพงษ์
จากวัดมิ่งเมือง ใช้ถ.สุริยพงษ์ตรงไปยังวัดภูมินทร์ ผ่านสี่แยกข่วงเมืองจะพบวัดอยู่ทางซ้ายติดกับสี่แยกข่วงเมือง
วัดช้างค้ำวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงสำคัญของจ.น่าน ในอดีตชื่อ “วัดหลวงกลางเวียง” ในสมัยเจ้าปู่เข่งครองเมืองระหว่างปีพ.ศ. 1950-1960 ได้สร้างวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร แต่สร้างไม่ทันเสร็จก็ถึงแก่พิราลัย พญางั่วฬารผาสุม ผู้เป็นหลาน จึงได้สร้างต่อจนแล้วเสร็จ ลักษณะของเจดีย์ช้างค้ำเป็นศิลปสมัยสุโขทัย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 รอบเจดีย์ มีรูปปั้นช้างปูนปั้น เพียงครึ่งตัวประดับอยู่โดยรอบ และได้สร้างพระพุทธรูปทองคำปางลีลาปัจจุบันคือ พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี ประดิษฐานอยู่ในวิหารของวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหารจนถึงปัจจุบัน
พระธาตุเจดีย์ช้างค้ำวรวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน เป็นเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปะสุโขทัย จากเจดีย์ทรงลังกา ที่วัดช้างล้อม ในช่วงบ่ายที่แสงอาทิตย์ตกกระทบเจดีย์สีเหลืองทองอร่ามนั้นสวยงามที่สุด ภายในพื้นที่ของวัดยังมีโรงเรียนสงฆ์ กู่วัดพระธาตุช้างคำวรวิหาร และหอไตรปิฎกทรงล้านนาให้ชื่นชม
3. วัดหัวข่วง
Location: ตั้งอยู่ใกล้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน เยื้องกับคุ้มเจ้าราชบุตร (หมอกฟ้า) ณ น่าน
จากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติน่าน ขับรถตรงไปตามถนนผากลอง จะพบวัดหัวข่วงอยู่ทางซ้าย
วัดหัวข่วง เป็นวัดเด่นที่มีความงดงามของวิหาร เจดีย์ ธรรมมาส และหอไตรเป็นศิลปกรรมแบบท้องถิ่นล้านนา ฝีมือสกุลช่างเมืองน่านที่ประณีตและงดงามมาก จนได้รับพระราชทานวิสูงคามสียาเมื่อ พ.ศ. 2505 กรมศิลปกรจึงได้ประกาศให้เป็นโบราณสถานแห่งชาติ ดังปรากฎในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 97 ตอนที่ 123 วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2523
วิหารของวัดหัวข่วง มีลักษณะเป็นอาคารทรงจั่ว เด่นที่หน้าบันประดับลวดลายไม้จำหลักรูปพรรณพฤกษาสวยงาม ซุ้มประตูหน้าต่าง ประดับลายปูนปั้นรูปใบผักกาด เป็นวิหารฝีมือช่างเมืองน่านที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ภายในวัดยังมีหอไตรเก่าลักษณะคล้ายวิหาร แต่มีขนาดเล็ก และทรงสูง ตั้งอยู่ใกล้องค์เจดีย์ภายในเก็บรักษาพระไตรปิฎกฉบับใบลานไว้ สำหรับเจดีย์วัดหัวข่วงนั้น มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงประสาท ได้รับอิทธิพลจากศิลปะล้านนา ลักษณะคล้ายกับเจดีย์วัดโลกโมฬี อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยสำริด ที่ทั้งชาวน่านและชาวต่างถิ่นเลื่อมใสและศรัทธา
4. วัดมิ่งเมือง
Location: บนถ.สุริยพงษ์ ห่างจากข่วงเมือง วัดภูมินทร์ประมาณ 500 ม.
จากทางหลวงหมายเลข 101 แพร่-น่าน เลี้ยวขวาเข้าสู่ถ.สุริยพงษ์บริเวณแยกวัดศรีพันต้น จากนั้นตรงไปผ่านสี่แยกไฟแดงไม่ไกลจะพบวัดมิ่งเมืองทางด้านขวา
วัดมิ่งเมือง เป็นหนึ่งในวัดสวยและสำคัญของจังหวัดน่าน มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบล้านนา ต่อมาภายหลังได้มีการบูรณะ มีการผสมผสานทางด้านศิลปะหลากหลายแขนง ทำให้วิหารนั้นงดงามแปลกตากว่าวัดแห่งอื่นของจ.น่าน โดยเฉพาะที่วิหารของวัดมิ่งเมือง ที่มีลวดลายศิลปะปูนปั้นประดับตกแต่งรอบอาคารวิหารอย่างประณีตวิจิตรบรรจง ส่วนหลังคาสีขาวโดดเด่น และยังเป็นสถานที่ประดิษฐานของ เสาหลักเมืองน่าน ที่ทุกๆ ปีจังหวัดน่านจะมีงานประเพณีทำบุญ สักการะบูชาเสาหลักเมืองน่าน ให้ได้ร่วมทำบุญ และร่วมชมประเพณีของชาวบ้านเมืองน่านแบบใกล้ชิด
5. วัดพญาภู
Location: ห่างจากวัดกู่คำ ประมาณ 150 ม.ต.เวียงใต้
จากวัดมิ่งเมือง ใช้ถ.สุริยพงษ์ ผ่านสี่แยกข่วงเมือง ตรงไปจนถึงสี่แยกวัดกู่คำ จากนั้นเลี้ยวขวาตรงไปตามทางจะพบวัดพญาภู
จุดเด่นของวัดพญาภูอยู่ที่ซุ้มประตูโขง เป็นซุ้มประตูสีขาวทรงล้านนาโดดเด่น พื้นที่ภายในวัดร่มรื่นด้วยสวนไม้ดอกไม้ประดับน้อยใหญ่ จากซุ้มประตูจะมองเห็นวิหารวัดหลังใหญ่ บันไดด้านหน้ามีพญานาคขนาบข้างทั้งสองด้าน ภายในวิหารมีพระปฏิมากรปางมารวิชัย สมัยเชียงแสน และพระพุทธนันทมหมุนี นับเป็นปรางค์ประธานที่งดงามและใหญ่ที่สุดของจ.น่าน ภายในวิหารยังมีพระพุทธรูปปางลีลา ที่สวยงามและอ่อนช้อยที่สุดในจ.น่านให้ชม
ด้านหลังของวิหารวัด มีพระธาตุเจดีย์วัดพญาภูสีขาวตั้งเด่น เชื่อว่าสร้างไว้เพื่อครอบทรัพย์สินมีค่าสมัยอดีตไว้ เจดีย์สีขาวก่อด้วยอิฐปูนตามอิทธิพลศิลปะจากล้านนา ด้านข้างยังมีโบสถ์หลังเก่า โดดเด่นที่ผนังซุ้มประตูทางเข้าด้านหน้ามีลวดลายจิตรกรรมฝาผนังตกแต่งด้วยกระจกหลากสีสัน คล้ายกับภาพต้นโพธิ์ของเมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว และยังมีประติมากรรมสิงห์ลอยตัว 2 ตัว ตามแบบศิลปะล้านนา และพม่าให้ชื่นชมอีกด้วย
6. วัดสวนตาล
Location: ริมถ.มหายศ ต.ในเวียง อ.เมือง
จากวัดมิ่งเมือง ใช้ถ.สุริยพงษ์ตรงไปจนถึงสี่แยกข่วงเมือง จากนั้นเลี้ยวซ้ายไปตามถ.ผากอง ขับรถตรงไปผ่านสี่แยกจราจรสามแห่งจะพบวัดตั้งอยู่ทางด้านซ้าย
วัดสวนตาล สร้างขึ้นโดยพระนางปทุมมาวดี ชายาของพญาภูคา เจ้าผู้ครองนครน่าน เมื่อประมาณปีพ.ศ. 1955 เป็นวัดที่ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองน่านด้านทิศเหนือ ในวัดมีสวนตาลหลวงขึ้นมากมาย จนเป็นที่มาของชื่อ วัดสวนตาล
จุดเด่นของวัดอยู่ที่เจดีย์หลังวิหาร ในอดีตเป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบศิลปะสุโขทัย ต่อมาพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ผู้ครองนครน่านโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะขึ้นใหม่เมื่อปีพ.ศ. 2547ได้แก้ไขรูปทรงกลายเป็นเจดีย์ยอดปรางค์จนถึงปัจจุบัน ภายในวัดเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าทองทิพย์ พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยองค์ใหญ่หน้าตักกว้าง 10 ฟุต สูง 14 ฟุต 4 นิ้ว พระเจ้าติโลกราช แห่งนครเชียงใหม่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 1993 เพื่อแสดงถึงชัยชนะที่พระองค์สามารถยึดเมืองน่านไว้ในพระราชอำนาจ ทุกปีในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ชาวน่านจะจัดงานสรงน้ำพระเจ้าทองทิพย์ และจะอัญเชิญรูปจำลององค์พระแห่แหนทั่วทั้งเมือง
7. วัดพระธาตุแช่แห้ง
Location: ต.ม่วงตี๊ด อ.ภูเพียง จ.น่าน
จากตัวเมืองน่านขับรถข้ามสะพานพัฒนาภาคเหนือไปตามทางหลวงหมายเลข 1168 สายน่าน-แม่จริม ประมาณ 3 กม.ก็จะถึงวัดพระธาตุแช่แห้ง
วัดพระธาตุแช่แห้ง เป็นพระอารามหลวง สร้างในสมัยเจ้าพระยาการเมือง (เจ้าผู้ครองนครน่านระหว่างพ.ศ.1869-1902) เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระมหาชินธาตุเจ้า 7 พระองค์ พระพิมพ์เงินและพระพิมพ์ทอง ที่ได้รับพระราชทานจากพระมหาธรรมราชาลิไท เมื่อครั้งที่เจ้าพระยาการเมืองเสด็จไปช่วยสร้างวัดหลวงอภัย (วัดป่ามะม่วง จังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน) ในปีพ.ศ. 1897
องค์พระธาตุเป็นเจดีย์ทรงระฆัง รูปแบบของพระธาตุแช่แห้งสันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจากเจดีย์พระธาตุหริภุญไชย โดยรอบองค์บุด้วยทองจังโก (ทองดอกบวบ ทองเหลืองผสมทองแดง) ทางขึ้นสู่องค์พระธาตุเป็นตัวพญานาค หน้าบันเหนือประตูทางเข้าพระวิหารเป็นปูนปั้นลายนาคเกี้ยว ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของศิลปกรรมเมืองน่าน พระบรมธาตุแช่แห้งเป็นพระธาตุประจำปีกระต่าย ชาวล้านนาเชื่อว่า หากได้เดินทางไป “ชุธาตุ” หรือนมัสการพระธาตุประจำปีเกิดจะได้รับอานิสงส์อย่างยิ่ง เข้าชมวัดพระธาตุแช่แห้งได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น.