7 มุมน่ามองในเมืองน่าน

Trips น่าน

หมู่บ้านปากนาย เที่ยวทะเลสาบ ชิมปลา พักแพ

อำเภอเมืองน่าน เป็นเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองเนิบช้าที่มีบรรยากาศอันสุนทรีย์ที่สุดแห่งหนึ่งของภาคเหนือ มาเที่ยวเมืองน่านจึงเหมาะสำหรับคนชอบการเดินเล่นชมเมืองในแบบฉบับชิวๆ จะไปเดินเล่นชมบ้านเก่า หรือตลาดยามเช้าก็น่าประทับใจ

ส่วนยามเย็นต้องไปที่สวนสาธารณะริมแม่น้ำน่าน บรรยากาศดีที่สุด แม้แต่คนน่านเองยังนิยมมาเดินเล่นพักผ่อนหย่อนใจกัน

1. ถนนคนเดิน กาดหมั้วคัวศิลป์  

Location: ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวจ.น่าน ติดสี่แยกข่วงเมือง เปิดวันศุกร์-เสาร์ ตั้งแต่เวลา 17.00-22.00 น. (ปัจจุบันเปิดให้เที่ยวชมเฉพาะในช่วงฤดูท่องเที่ยว ตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคมเท่านั้น ส่วนช่วงโควิด-19 ตรวจสอบก่อนไปเที่ยว ไม่งั้นจากถนนคนเดินจะเป็นถนนคนเดียวไป)  

จากวัดมิ่งเมือง ใช้ถ.สุริยพงษ์ จนถึงสี่แยกข่วงเมือง เลี้ยวขวาคุณจะพบถนนคนเดินอยู่ทางด้านซ้าย ตรงข้ามวัดภูมินทร์

ถนนคนเดิน กาดหมั้วคัวศิลป์ เป็นที่จัดแสดง และจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์งานฝีมือของชาวน่านในท้องถิ่น เช่น เสื้อยืด ภาพวาด ผ้าทอ เครื่องประดับ เครื่องเงิน พวงกุญแจ กระเป๋า และโปสการ์ดต่างๆ งานโฮมเมดส่วนใหญ่จึงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้คุณเดินชมได้อย่างเพลิดเพลิน หากต้องการอาหารท้องร้องก็ไม่ต้องไปหาร้านอาหารที่ไหนไกล ที่ถนคนเดินก็มีอาหารพื้นเมือง และขนมต่างๆ ให้เดินชิมได้อย่างเอร็ดอร่อย

2. พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ

Location: ถ.ผากอง ฝั่งตรงข้ามกับวัดภูมินทร์ (เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่ 9.00 น.-16.00 น.)

จากวัดมิ่งเมือง ใช้ถ.สุริยพงษ์ตรงไปยังวัดภูมินทร์ จากนั้นเลี้ยวซ้ายบริเวณสี่แยกข่วงเมือง จะพบพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติทางด้านซ้าย หรือจะเดินไปเที่ยวชมจากวัดภูมินทร์ก็ได้ 

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ.น่าน เดิมเป็นคุ้มของอดีตเจ้าผู้ครองนครน่าน ที่เรียกว่า “หอคำ” โดยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าเมืองน่านได้สร้างขึ้น เพื่อเป็นที่ประทับเมื่อปีพ.ศ. 2446 ลักษณะตัวอาคารก่ออิฐถือปูนแข็งแรง แต่ตกแต่งให้อ่อนช้อยสวยงามด้วยลายลูกไม้ นับเป็นสถาปัตยกรรมก่อสร้างที่สวยงามโดดเด่นแห่งหนึ่งของประเทศไทย 

ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือชั้นล่างและชั้นบน ส่วนชั้นล่างมีการจัดแสดงชาติพันธุ์วิทยาเกี่ยวกับล้านนา ทั้งอาคารบ้านเรือน ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน การทอผ้า ผ้าพื้นเมืองน่านแบบต่างๆ งานประเพณี ความเชื่อต่างๆ และเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของชนกลุ่มน้อย ในจังหวัดน่านถึง 5 เผ่าด้วยกัน คือ ไทลื้อ ม้ง เย้า ถิ่น และตองเหลือง ส่วนชั้นบนเป็นการจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมืองน่าน และที่สำคัญที่สุดก็คือ ห้องเก็บ “งาช้างดำ”  ปูชนียวัตถุคู่เมืองน่าน ลักษณะเป็นงาปลี ยาว 94 ซม. เปลือกสีน้ำตาลเข้ม ส่วนปลายมน มีจารึกอักษรธรรมล้านนาภาษาไทย กำกับไว้ว่า “กิ่งนี้หนักหนึ่งหมื่นห้าพัน” หรือประมาณ 18 กก.

3. คุ้มเจ้าราชบุตร (หมอกฟ้า) ณ น่าน 

Location: บนถ.มหาพรหม เยื้องกับวัดหัวข่วง อ.เมืองน่าน

จากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติน่าน ขับรถตรงไปตามถ.ผากลอง จะพบคุ้มเจ้าราชบุตร (หมอกฟ้า) ณ น่าน อยู่ทางขวามือ

คุ้มเจ้าราชบุตร (หมอกฟ้า) ณ น่าน มีลักษณะเป็นเรือนพักไม้ล้านนาโบราณ 2 ชั้น ภายในแวดล้อมด้วยสวนไม้ร่มรื่น มีข้าวของเครื่องใช้ในอดีตมากมายให้คุณชม สามารถเดินชมได้ทั้งชั้นบนและชั้นล่าง ชั้นล่าง จะมีเครื่องจักสานหลายรูปแบบ กระบวยใส่น้ำ ตะเกียง แผ่นเสียง เครื่องฉายหนังโบราณ และงานแกะสลักที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวน่าดูชม ชั้นบน เป็นพื้นที่ของห้องนอน และห้องครัว ที่ปัจจุบันลูกหลานของ เจ้าราชบุตร ณ น่าน ยังคงใช้เป็นสถานที่พำนักอยู่จริง การเที่ยวชมที่นี่จึงต้องได้รับความอนุญาตจากลูกหลานเสียก่อน และแม้จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ แต่ก็บริจาคได้ตามศรัทธา    

4. ด่านพรมแดนห้วยโก๋น

Location: อ.เฉลิมพระเกียรติ อยู่ห่างจากเมืองน่าน 138 กม.

จากตัวเมืองน่าน ใช้ทางหลวงหมายเลข 1169 ผ่านอ.สันติสุข ตรงไปจนถึงอ.บ่อเกลือ ระยะทางประมาณ 109 กม. และจากอ
บ่อเกลือใช้ทางหลวงหมายเลข 1081 (บ่อเกลือ-เฉลิมพระเกียรติ) ไปจนถึงด่านพรมแดนห้วยโก๋น

จ.น่านมีชายแดนติดต่อกับประเทศลาว รวมเป็นระยะทางถึง 277 กม.ทำให้มีด่านสากลที่ข้ามไปเที่ยวประเทศลาวได้นั่นก็คือ ด่านบ้านห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน-เมืองเงิน แขวงไชยะบุรี ประเทศลาว อนุญาตให้ประชาชนไทย-ลาว เข้าออกด่านทุกวัน ตั้งแต่ 08.00-17.00 น. 

ด่านผ่านแดนบ้านห้วยโก๋น เป็นเส้นทางสู่หลวงพระบาง ของจ.น่านที่มีระยะทางใกล้ที่สุด ประมาณ 200 กม. แบ่งเป็นสองช่วงคือ ทางรถยนต์ และทางเรือ ทางรถยนต์ จะเริ่มที่ จ.น่านไปสิ้นสุดที่ท่าเรือปากห้วยแคน (เส้นทางสายใหม่) ทางเรือ จะไปลงเรือที่ ปากห้วยแคน เลยจากท่าห้วยโก๋นไปประมาณ 45 กม. จากนั้นล่องเรือไปตามแม่น้ำโขง ชมวิวทิวทัศน์ตระการตาสองฝั่งประมาณ 5 ชม. ก็จะถึงหลวงพระบาง เมืองมรดกโลกของประเทศลาว   

หากคุณมาเที่ยวด่านผ่านแดนบ้านห้วยโก๋นวันเสาร์ คุณยังจะได้เที่ยวตลาดนัดชายแดน ที่จะเริ่มตั้งแต่เวลาเช้าไปจนถึงประมาณใกล้เที่ยง มีสินค้าห้องถิ่นน่าสนใจมากมาย เช่น ผ้าทอลายน้ำไหลฝีมือชาวไทลื้อของเมืองเงิน และของป่า 

5. การทำเกลือสินเธาว์ 

Location: อ.บ่อเกลือ ห่างจากตัวเมืองน่านประมาณ 109 กม.

จากตัวเมืองน่าน ใช้ทางหลวงหมายเลข 1169 ผ่านอ.สันติสุข ตรงไปจนถึงอำเภอบ่อเกลือ ระยะทางประมาณ 109 กม.

บ่อเกลือสินเธาว์ เป็นสิ่งมหัศจรรย์กลางขุนเขาของอ.บ่อเกลือที่น่าดูชมที่สุด อยู่ในบ้านบ่อหลวง คุณจะพบโรงเรือนต้นเกลือเหนือทางขวา และบ่อเกลือใต้ทางซ้าย ซึ่งเป็นหมู่บ้านผลิตเกลือมาตั้งแต่สมัยโบราณ ปัจจุบันยังคงใช้วิธีต้มเกลือแบบดั้งเดิม คือยกตักน้ำเกลือจากบ่อส่งผ่านมาตามลำไม้ไผ่สู่บ่อพักภายในโรงต้ม ก่อนจะนำน้ำเกลือมาต้มในกระทะขนาดใหญ่ เคี่ยวจนแห้งเหลือเพียงเกล็ดสีขาวของเกลือ จากนั้นตักไปพักให้แห้งเติมสารไอโอดีนก่อนออกจำหน่าย หากคุณสนใจจะซื้อเกลือกลับไปเป็นของฝาก บริเวณรอบๆ บ่อเกลือจะพบเกลือห่อถุงอย่างดีวางขายอยู่หน้าบ้านชาวบ้านหลายแห่ง  

6. เตาเผาโบราณบ้านบ่อสวก

Location: อยู่ที่บ้านบ่อสวกพัฒนา หมู่ 10 ต.บ่อสวก ห่างจากตัวเมือง 17 กม.

ใช้เส้นทางน่าน-อ.ภูเพียง ระยะทางประมาณ 17 กม. จะเห็นป้ายหมู่บ้านบ่อสวกอย่างชัดเจน  

บ้านบ่อสวก ในอดีตเคยเป็นแหล่งผลิตเครื่องเคลือบภาชนะดินเผาที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองน่าน มีรูปแบบและกรรมวิธีการผลิตเป็นลักษณะเฉพาะของตัวเอง สันนิษฐานว่าการผลิตเครื่องเคลือบที่บ้านบ่อสวกเริ่มขึ้นและพัฒนาในสมัยเจ้าพระยาพลเทพฤาชัย (พ.ศ. 2071-2102) ซึ่งเป็นยุคสมัยแห่งความรุ่งเรืองของเมืองน่าน 

เตาเผาบ้านบ่อสวก ได้รับการสำรวจและศึกษาเบื้องต้นโดยกองโบราณคดีกรมศิลปากร มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2527 และได้ประกาศให้เป็นเป็นแหล่งโบราณคดีชุมชนที่น่าท่องเที่ยว โดยแหล่งที่มีการค้นพบเตาเผาเมื่อเดือนตุลาคมพ.ศ. 2542 ตั้งอยู่ในเขตบ้านพักของ จ.ส.ต.มนัส และคุณสุนัน ติคำ บริเวณที่พบเตาอยู่ริมแม่น้ำ ลักษณะของเตาหันหน้าเข้าหาแม่น้ำเพื่อสะดวกในการขนส่ง ภายในเป็นโพรงใหญ่เพื่อให้คนเข้าไปข้างในได้ เตามีความลาดเอียงและมีปล่องระบายอากาศอยู่ด้านบน เตาโบราณจำนวน 2 เตาได้รับการบูรณะ และก่อสร้างอาคารถาวรคลุม ส่วนบริเวณใต้ถุนบ้าน จ่ามนัสจัดเป็นนิทรรศการแสดงโบราณวัตถุจากแหล่งเตาเผา 

7. ปากนาย

Location: อ.นาหมื่น ห่างจากตัวเมืองน่าน 96 กม.

ใช้เส้นทางน่าน-เวียงสา-นาน้อย จากอ.นาน้อย มีทางแยกไปถึงอ.นาหมื่นประมาณ 20 กม.จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1339 เป็นทางลาดยางคดเคี้ยวไปตามไหล่เขาอีกประมาณ 25 กม.ก็จะถึงบ้านปากนาย 

บ้านปากนาย เดิมเป็นเพียงหมู่บ้านริมแม่น้ำน่าน แต่หลังจากมีการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ หมู่บ้านปากนายได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน ซึ่งมีลักษณะเหมือนทะเลสาบขนาดใหญ่ โอบล้อมด้วยทิวเขาเขียวขจี ที่นี่จึงได้พัฒนาให้เป็นที่เที่ยวสวยริมทะเลสาบ มีแพร้านอาหารให้เลือกชิมปลาจากเขื่อนสดอร่อยหลายร้าน รวมถึงแพห้องพักไว้บริการ

จากบ้านปากนาย ยังเช่าเรือล่องไปตามลำน้ำน่านสู่อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ มีทิวทัศน์เป็นป่าเขาสวยงาม เกาะแก่ง เรือนแพ ชาวประมง ในช่วงนอกฤดูฝน จะมีแพลากไปวัดปากนาย นั่งรับประทานอาหารบนเรือได้ ใช้เวลาประมาณ 2 ชม. และมีแพขนานยนต์ข้ามฟากไปยังอ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ด้วย