สุดยอดถ้ำแห่งเมืองไทยที่อำเภอแม่ลาน้อย
ในบรรดาอำเภอทั้งหมดของแม่ฮ่องสอนจำนวน 7 อำเภอ ต้องยกให้แม่ลาน้อย ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดใกล้กับอ.แม่สะเรียง เป็นอำเภอที่ประดุจบ้านน้อยกลางป่าใหญ่ แต่แม้จะเป็นดั่งบ้านน้อย แต่มีของดีที่ล้ำค่า นั่นคือถ้ำแก้วโกมล ถ้ำที่ได้รับการยกย่องว่ามีผลึกแคลไซต์ที่งามที่สุดของเมืองไทย
หากมองในแผนที่จะเห็นว่าอ.แม่ลาน้อยนั้น ดูเหมือนจะเป็นเพียงทางผ่านที่อยู่ระหว่างอ.แม่สะเรียง และอ.ขุนยวม มีทางหลวงหมายเลข 108 พาดผ่าน หากคุณเดินทางมาจากอ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เพื่อจะไปเที่ยวอ.ขุนยวม อ.เมืองแม่ฮ่องสอน เป็นต้องผ่านอ.แม่ลาน้อย แต่แม่ลาน้อยก็มิควรเลยผ่านไปโดยไม่แวะเที่ยววนอุทยานถ้ำแก้วโกมล
Location จากเชียงใหม่ถึงแม่ลาน้อย
เส้นทางฮอด-แม่สะเรียง
ใช้ทางหลวงหมายเลข 108 ผ่านอ.หางดง สันป่าตอง จอมทอง ฮอด จากนั้นเข้าสู่อ.แม่สะเรียง จากแม่สะเรียงเดินทางต่อไปยังอ.แม่ลาน้อย ขุนยวม และอ.เมืองได้ด้วยทางหลวงหมายเลข 1095 รวมระยะทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ ถึงอ.แม่สะเรียง 195 กม. และจากอ.แม่สะเรียง ไปยังอ.แม่ลาน้อย ขับสนุกไปอีก 30 กม.
จากอ.แม่ลาน้อย จะไปเที่ยวตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ขับไปอีก 134 กม.
ถ้ำแก้วโกมล
Location : วนอุทยานถ้ำแก้วโกมล อยู่บ้านห้วยมะไฟ ต.แม่ลาน้อย อ.แม่ลาน้อย
ใช้ถนนรพช. ไปบ้านทุ่งสารภี ถนนคอนกรีต มีป้ายบอกทางตลอด ระยะทาง 5 กม.
แม้เมืองไทยเราจะมีถ้ำสวยๆ หลายถ้ำ บางแห่งเด่นที่หินงอกหินย้อย บางแห่งเด่นที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในถ้ำ และบางแห่งเด่นเรื่องความงามสะท้อนแสงไฟคล้ายกากเพชร แต่ทั้งหมดนี้ต้องตกเป็นรองถ้ำแก้วโกมลทันที เพราะที่แปลกกว่ากากเพชร คือผลึกแคลไซต์ หรือแคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งเกิดจากการกลั่นตัวตกผลึกของไอน้ำร้อน ละลายสารแคลเซียมเกิดเป็นผลึกจับผนังถ้ำ สีขาวบริสุทธิ์เหมือนเกล็ดหิมะตก
ถ้ำนี้พบเมื่อปีพ.ศ. 2536 เมื่อครั้งมีการมาตรวจประทานบัตรแล้วพบความสวยงาม ต่อมากรมทรัพยากรธรณี ได้พัฒนาเป็นที่ท่องเที่ยว และกลายมาเป็นวนอุทยานแห่งชาติถ้ำแก้วโกมลมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2538
ลักษณะของถ้ำเป็นโพรงลึกแนวดิ่ง 30 ม. ทางเข้าและออกเป็นบันได ระยะทาง 120 ม. และเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติจึงจัดมุมให้ชมเป็นจุดๆ โดยส่องไฟให้เห็น เข้าไปข้างในลึกๆ ไม่ได้ เพราะอากาศไม่ถ่ายเท ถ้ำนี้มีความสวยงามเป็นอันดับหนึ่งของไทย พบเป็นแห่งที่สองในทวีปเอเซีย ซึ่งที่แรกนั้นพบที่จีน
การเดินเที่ยวถ้ำนั้นไม่ยาก เพราะเขาแบ่งเป็นห้องต่างๆ ให้เที่ยวชม โดยจะมีเจ้าหน้าที่นำทางให้คำแนะนำตลอดเวลา
ห้องที่ 1 และ 2 ชมหินงอก หินย้อย ผลึกแคลไซต์ เป็นออเดิร์ฟก่อน
ห้องที่ 3 เดินลงไปสัก 50 ม. ตามบันได ชมผลึกหินงอก หินย้อย และลวดลาย ริ้วรอย ที่สวยงาม เป็นสีขาวบ้าง สีน้ำตาลบ้าง ตามรอยน้ำที่ไหลเข้ามา
ห้องที่ 4 ชมผลึกแคลไซต์ที่สวยงาม มีทั้งแบบปะการัง แบบเข็ม และเกล็ดน้ำแข็ง ต้องใช้ความระมัดระวังในการเที่ยวชม
ห้องที่ 5 ไกลที่สุด อยู่ลึกลงไป 30 ม. และเป็นห้องที่สวยที่สุด ผลึกแคลไซต์สมบูรณ์มาก ว่ากันว่าขาวสะอาดราวกับหิมะ
ช่วงเวลาที่เหมาะกับการเที่ยวถ้ำแก้วโกมล อยู่ระหว่างเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ติดต่อเจ้าหน้าที่ก่อนเข้าชม ใช้เวลาเที่ยวสัก 2-3 ชม. แล้วค่อยเดินทางต่อ ใครจะไปเที่ยวดอยแม่อูคอก็ใช้ทางหลวงหมายเลข 108 ไปอีกไม่ไกลก็ถึงอ.ขุนยวม หรือใครกลับจากเที่ยวดอยแม่อูคอแล้ว จะกลับเชียงใหม่ ออกจากถ้ำนี้ใช้ทางหลวงหมายเลข 108 เช่นเดียวกัน ผ่านอ.แม่สะเรียง เข้าสู่อ.ฮอด จังหวัดเชียงใหม่ได้สบายๆ
เนื่องจากเป็นถ้ำที่มีความสวยงามและเปราะบาง การเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวจึงต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามสวมหมวกระหว่างเที่ยวถ้ำ ฯลฯ
อ.แม่ลาน้อยยังมีที่เที่ยวเด่นอีกแห่งคือ โฮมสเตย์บ้านห้วยห้อม ไปสัมผัสชีวิตของชนเผ่าปากญอ หรือกะเหรี่ยง ลั๊ว หรือละว้า ไทยใหญ่ และม้ง พร้อมเที่ยวไร่กาแฟชื่อดังอีกด้วย
บ้านเก่าชนเผ่า “ลั๊ว”
ดินแดนอันสวยงามแห่งนี้ก่อนที่จะได้รับการจัดตั้งเป็นอ.แม่ลาน้อย เป็นชุมชนของชาวเขาเผ่าลั๊ว หรือละว้า มาก่อน ซึ่งตั้งบ้านเรือตลอดริมฝั่งแม่น้ำยวม และแม่น้ำลาน้อย แม่น้ำสายนี้ไหลมาจากอ.ขุนยวม ผ่านต.แม่ลาหลวง ต่อมาชาวลั๊วได้อพยพไปยังถิ่นอื่น และมีชาวไทยใหญ่ หรือ เงี้ยว อพยพมาอยู่แทน
สมัยก่อนการเดินทางมายังอำเภอแม่ลาน้อยมี 2 เส้นทาง คือ ทางบก และทางน้ำ ทางบก จะใช้ม้า ช้าง เป็นพาหนะ หรือไม่ก็ต้องเดินเท้า ทางน้ำ ใช้วิธีล่องแพไปตามลำน้ำแม่ลาหลวงสู่แม่น้ำยวม ซึ่งจะผ่านต.แม่ลาน้อยในปัจจุบัน
ปัจจุบันการเดินทางสู่อ.แม่ลาน้อยแสนสะดวกสบาย ที่ตั้งของอ.แม่ลาน้อยอยู่ทางทิศใต้ของจ.แม่ฮ่องสอน เดินทางง่ายด้วยทางหลวงหมายเลข 108 ระยะทาง 134 กม.
ของฝากติดมือ
มาเที่ยวอ.แม่ลาน้อยอันแสนสงบ คุณไม่ควรพลาดช้อปปิ้งสินค้าพื้นเมืองกลับไปเป็นของฝาก จากกลุ่มหัตถกรรมต่างๆ เช่น กลุ่มถนอมอาหารจากผลไม้ อยู่บ้านแม่ลาน้อย ต.แม่ลาน้อย กลุ่มทำเครื่องเงิน อยู่ที่บ้านแม่ละอูบ ต.ห้วยห้อม กลุ่มทำสิ่งประดิษฐ์จากเศษไม้ อยู่ที่บ้านวังคัน ต.แม่ลาน้อย และกลุ่มแปรรูปจากผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร อยู่ที่บ้านแม่ลาน้อย ต.แม่ลาน้อย