4 สุดยอดจุดชมวิว ภูเก็ต

Trips ภูเก็ต

แหลมพรหมเทพ ต้นร้อนทุ่งหญ้าเริ่มเป็นสีทองสวย

มองภูเก็ตด้วยสายตา Bird eye’s view.

ด้วยความเป็นเกาะใหญ่ที่มีขุนเขา และเวิ้งอ่าวน้อยใหญ่ตั้งกระจายอยู่รอบเกาะ ภูเก็ตจึงไม่ได้มีดีเพียงแค่หาดทราย และท้องทะเลอันงดงามเท่านั้น แต่เกาะแห่งนี้ยังมีจุดชมวิวที่มีวิวสวยเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศให้ไปเที่ยวชมควบคู่กับการเที่ยวชมทะเลแสนงามกันด้วย ซึ่งทุกแห่งแม้จะตั้งอยู่บนเขา แต่ก็เดินทางไปเที่ยวชมได้อย่างสะดวก เพราะรถเข้าถึงได้ทุกแห่ง และที่สำคัญไม่ต้องออกแรงเดินมากนักจึงไปเที่ยวชมได้ทุกเพศทุกวัย  

แหลมพรหมเทพ 

Location: ทิศใต้ของเกาะภูเก็ต ห่างจากหาดราไวย์ 2 กม.

จากตัวเมืองภูเก็ตใช้ทางหลวงหมายเลข 4021 ถึงห้าแยกฉลองใช้ทางหลวงหมายเลข 4024 ผ่านหาดราไวย์ จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 4233 ระยะทาง 650 ม. จะถึงลานจอดรถแหลมพรหมเทพ รวมระยะทางห่างจากตัวเมืองภูเก็ต 19 กม. 

บริเวณลานจอดรถมีร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร และเครื่องดื่มคอยให้บริการอยู่หลายร้าน 

ประภาคารกาญจนาภิเษก นำทางให้กับเรือต่างๆ ในเกาะภูเก็ต

แหลมพรหมเทพ เป็นจุดชมวิวที่ได้รับการยกย่องว่ามีความสวยงามที่สุดของเกาะภูเก็ต โดยเฉพาะในช่วงพระอาทิตย์ตกที่ชมวิวพระอาทิตย์อัสดงลับของฟ้าผ่านแหลมหิน ทุ่งหญ้า และต้นตาลได้อย่างสวยงาม มาเที่ยวภูเก็ตจึงไม่ควรพลาดการมาเที่ยวชมวิวที่แหลมพรหมเทพที่สุด 

แหลมพรหมเทพ ยามโพล้เพล้

แหลมพรหมเทพ อยู่ทางทิศใต้สุดของเกาะภูเก็ตระหว่างหาดในหาน และหาดราไวย์ การขับรถมาเที่ยวชมจึงมาได้ทั้งทางหาดในหาน และหาดราไวย์ เมื่อมาถึงลานจอดรถคุณจะพบประภาคารกาญจนาภิเษก สร้างขึ้นโดยกองทัพเรือ และประชาชนชาวภูเก็ต เพื่อเป็นเครื่องหมายในการเดินเรือของเกาะภูเก็ต และสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติในหลวงร.9 ครบ 50 ปี สำหรับจุดชมวิวบริเวณแหลมพรหมเทพมีให้เลือก 2 จุด หากคุณอยากชมวิวในมุมสูงจากลานจอดรถมีทางเดินไปบนเนินเขา จากจุดนี้จะเห็นแหลมพรหมเทพในมุมสูงสวยงามไปอีกแบบ แต่หากคุณอยากชมแหลมพรหมเทพอย่างใกล้ชิดต้องเดินเท้าลงตามทางเดินไปบริเวณปลายแหลมอีกประมาณ 1 กม. จากจุดนี้คุณจะมองเห็นแหลมพรหมเทพทอดยาวไปในทะเล โดยมีเกาะแก้วน้อย และเกาะแก้วใหญ่อยู่ทางด้านหน้า ส่วนฝั่งขวาจะเป็นทิวทัศน์ของหาดในหาน  

แหลมพรหมเทพ แสงสุดท้าย ก่อนแยกย้ายกันกลับ

ทำไมจึงมีการแจ้งเวลาพระอาทิตย์ตกที่แหลมพรหมเทพ ในข่าววิทยุ และแจ้งเวลาพระอาทิตย์ขึ้นที่ไหน ?

หากคุณเคยฟังการรายงานข่างจากสำนักข่าวไทยในวิทยุ คงเคยได้ยินประโยคที่กล่าวว่า วันพรุ่งนี้พระอาทิตย์ขึ้นที่ผาชนะไดเวลา…. และพระอาทิตย์ตกที่แหลมพรหมเทพเวลา…. ซึ่งสาเหตุที่ต้องใช้ผาชนะได และแหลมพรหมเทพในการกำหนดเพราะสถานที่ทั้งสองตั้งอยู่สุดขอบตะวันออก และตะวันตกของประเทศ ผาชนะได อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ต.นาโพธิ์กลาง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เป็นที่ตั้งของทิศตะวันออกสุดของประเทศไทย

ส่วนแหลมพรหมเทพ อ.เมือง จ.ภูเก็ต เป็นตำแหน่งที่มองเห็นพระอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าเป็นแห่งสุดท้ายในไทย การรายงานข่าวของสำนักข่าวแห่งประเทศไทย และกรมอุตุนิยมวิทยาจึงใช้ผาชนะไดเป็นจุดเริ่มต้นคำนวณเวลาพระอาทิตย์ขึ้น และคำนวนเวลาพระอาทิตย์ตกที่แหลมพรมเทพนั่นเอง    

จุดชมวิว 3 อ่าว ซ้อนกันเหมือนเลข 3

จุดชมวิว 3 อ่าว

Location: ทางทิศใต้ของหาดกะตะน้อย  

จากตัวเมืองภูเก็ตใช้ทางหลวงหมายเลข 4021 ถึงห้าแยกฉลองใช้ทางหลวงหมายเลข 4024 ผ่านหาดราไวย์ แหลมพรหมเทพ หาดในหาน จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 4233 ขับตรงไปทางหาดกะตะจะพบจุดชมวิว 3 อ่าว ทางด้านซ้าย หรือเดินทางจากหาดป่าตองใช้ทางหลวงหมายเลข 4233 ขับตรงลงมาทางใต้ผ่านหาดกะรน หาดกะตะใหญ่ กะตะน้อย จากนั้นขับรถไป 5 กม.จะพบจุดชมวิว 3 อ่าว     

บริเวณจุดชมวิว 3 อ่าวมีลานจอดรถ ศาลาให้ชมวิว ห้องน้ำ และร้านขายเครื่องดื่มเล็กๆ ให้บริการตลอดวัน  

ชื่ออย่างเป็นทางการของจุดชมวิวแห่งนี้คือ กะรนวิวพอย์ท แต่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะรู้จักกันดีในชื่อ จุดชมวิว 3 อ่าว นับเป็นจุดชมวิวยอดนิยมอันดับสองของเกาะภูเก็ตรองจากแหลมพรหมเทพ ด้วยที่ตั้งอยู่ใกล้กันช่วงกลางวันหลายคนจึงนิยมขับรถมาเที่ยวชมที่นี่ก่อน จากนั้นช่วงเย็นค่อยขับรถไปชมวิวพระอาทิตย์ตกกันต่อที่แหลมพรหมเทพ     

จุดชมวิว 3 อ่าว เหมือนพระจันทร์เสี้ยว

จุดชมวิว 3 อ่าว เป็นจุดชมวิวบนเนินเขาตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 4233 ระหว่างทางไปหาดกะตะ และหาดในหาน เมื่อมีโอกาสไปเที่ยวชมสองหาดนี้หลายคนจึงไม่พลาดที่จะแวะไปเที่ยวชมจุดชมวิวแห่งนี้อยู่เสมอ จากลานจอดรถเดินขึ้นไปบนศาลาหกเหลี่ยมคุณจะได้ชมอ่าว 3 แห่งตั้งเรียงต่อกันอย่างชัดเจน ไกลสุดคือ หาดกะรน ตรงกลางคือ หาดกะตะใหญ่ และใกล้สุดคือ หาดกะตะน้อย ทั้งสามอ่าวมีลักษณะภูมิศาสตร์เป็นอ่าวรูปร่างพระจันทร์เสี้ยวเหมือนกัน จึงมองดูเหมือนเลข 3 ตามชื่อเลยทีเดียว จากจุดชมวิวยังสามารถเห็นหาดทรายขาว น้ำทะเลสีคราม และเกาะปูตั้งอยู่ทางด้านซ้ายอย่างชัดเจนด้วย ซึ่งหากแหลมพรหมเทพได้ชื่อว่าเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามที่สุดในช่วงเย็น จุดชมวิว 3 อ่าวแห่งนี้ก็นับเป็นจุดชมวิวที่สวยงามที่สุดในช่วงกลางวัน 

การเกิดขึ้นของเว้าอ่าว?

อ่าวเกิดขึ้นจากน้ำทะเลเข้ามาท่วมระหว่างแนวเทือกเขาใต้ทะเล และบนแผ่นดิน หรือการกัดเซาะแนวชายฝั่ง ซึ่งส่วนที่กัดเซาะได้ง่ายจะเว้าลึกเข้าไปเป็นจำนวนมาก เมื่อวันเวลาผ่านไปเนิ่นนานก็จะยิ่งกัดเซาะเป็นอ่าวขนาดใหญ่จนกระทั่งไปถึงพื้นที่กัดเซาะได้ยากขึ้น นอกจากอ่าวจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติแล้ว ในบางแห่งก็เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ที่ใช้สิ่งก่อสร้างมากีดขวางเพื่อป้องกันการกัดเซาะของชายฝั่ง รวมถึงใช้เครื่องมือต่างๆ มาทำลายพื้นชายฝั่ง 

ช่องเขาขาด อีกจุดชมวิวควรไป

จุดชมวิวช่องเขาขาด 

Location: ต.วิชิต อ.เมือง ใกล้กับอ่าวมะขาม ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะภูเก็ต  

จากตัวเมืองภูเก็ตใช้ทางหลวงหมายเลข 4023 ถึงสามแยกเลี้ยวขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 4129 ขับตรงไปผ่านอ่าวมะขาม จากนั้นก่อนถึงแหลมพันวาจะมีทางเข้าซอยไปยังจุดชมวิวช่องเขาขาด   

จุดชมวิวช่องเขาขาดมีลานจอดรถ และห้องน้ำให้บริการก่อนทางเดินขึ้นไปสู่จุดชมวิว

นับเป็นจุดชมวิวที่มีความสวยงามอีกแห่งของเกาะภูเก็ต แม้จะไม่มีชื่อเสียงโด่งดังเทียบเท่ากับแหลมพรหมเทพ และจุดชมวิว 3 อ่าว แต่ทิวทัศน์บนจุดชมวิวช่องเขาขาดแห่งนี้ก็มองเห็นวิวเกาะภูเก็ตได้ถึง 360 องศาเลยทีเดียว จึงนับเป็นอีกหนึ่งจุดชมวิวที่คุณไม่ควรพลาดเลยจริงๆ    

จุดชมวิวช่องเขาขาด ชมวิวได้ 360 องศา

จุดชมวิวช่องเขาขาด ตั้งอยู่ในเขตต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ต สร้างขึ้นจากโครงการขององค์กรการบริหารส่วนต.วิชิต จากลานจอดรถต้องเดินขึ้นไปบนหอคอยชมวิวทรงแปดเหลี่ยม ซึ่งเป็นหอชมวิวที่นักท่องเที่ยวชมวิวได้รอบ 360 องศา ทางด้านทิศเหนือมองได้ไกลถึงตัวเมืองภูเก็ต ส่วนทางด้านทิศตะวันออกจะเห็นอ่าวมะขาม แหลมพันวา เกาะสิเหร่ เกาะตะเภาน้อย เกาะตะเภาใหญ่ เกาะไม้ท่อน และทางด้านทิศใต้จะเห็นวิวอ่าวฉลอง และเทือกเขาสูงทางฝั่งตะวันตกของเกาะภูเก็ต ภายในบริเวณหอชมวิวจะมีป้ายอธิบายว่าแต่ละจุดคือสถานที่แห่งใดของภูเก็ตไว้อย่างชัดเจน  

ยอดเขาสูงสุดของภูเก็ต 

เขาไม้เท้าสิบสอง เป็นยอดเขาที่มีความสูงที่สุดของเกาะภูเก็ต มีความสูง 529 ม.จากระดับน้ำทะเล ภูเขาแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตอ.กระทู้ หรือขุนเขาสูงที่ตั้งอยู่ด้านหลังของหาดป่าตองนั่นเอง การขึ้นไปเที่ยวชมวิวขับรถขึ้นไปได้จากทางบ้านฉลองระยะทาง 4 กม. แต่ขับรถมาได้แค่จุดชมวิวเท่านั้น ส่วนบนยอดเขาไม่ขึ้นไปได้เพราะเป็นพื้นที่หวงห้ามของทางกองทัพอากาศ  

จุดชมวิวเขารัง ชมวิวเมือง

จุดชมวิวเขารัง 

Location: ถ.คอซิมบี้ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือในตัวเมืองภูเก็ต  

จากสี่แยกอนุสาวรีย์วีรสตรี ใช้ทางหลวงหมายเลข 402 ไปทางตัวเมืองภูเก็ต ถึงสี่แยกโรงเรียนสตรีภูเก็ตเลี้ยวขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 4020 ขับรถตรงไปถึงสี่แยกเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนคอซิมบี้เป็นเส้นทางสู่ยอดเขารัง 

บนเขารังมีร้านอาหาร ร้านกาแฟ และร้านขายเครื่องดื่มให้บริการตั้งแต่เช้าถึงช่วงค่ำ  

เขารัง ชื่อของเนินเขาเล็กๆ แต่วิวใหญ่มาก

เขารัง เป็นชื่อของเนินเขาเล็กๆ ในเมืองภูเก็ต แต่วิวด้านบนเขาลูกนี้นับว่ามีความงดงามไม่แพ้ภูเขาใหญ่ๆ เพราะมองเห็นวิวบ้านเรือน ขุนเขา และทะเลรอบเมืองภูเก็ตได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในยามค่ำแสงไฟจากอาคารต่างๆ จะส่องแสงจนตัวเมืองภูเก็ตเสมือนมีดาวมาประดับอยู่บนพื้นดินเลยทีเดียว     

เขารัง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมืองภูเก็ต แม้จะถูกเรียกว่าเขาแต่เขารังก็ไม่ถือว่าเป็นภูเขาสูงชันเป็นเพียงเนินเขาขนาดย่อมๆ เท่านั้น แถมการเดินทางก็ยังสะดวกสบายมีถนนคอซิมบี้เชื่อมต่อไปจนถึงบนยอดเขา บนยอดเขายังเป็นเนินเขาที่มีพื้นอันกว้างขวางทางเทศบาลภูเก็ตจึงจัดสร้างให้เป็นสวนสุขภาพ และสวนสาธารณะเพื่อให้ประชาชนได้มาพักผ่อนหย่อนใจ นอกจากนี้ยังสร้างอนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี หรือในชื่อ คอซิมบี้ ณ ระนองไว้ในบริเวณสวนสาธารณะบนเขารังแห่งนี้ด้วย 

ศาลาชมวิวบนเขารัง

สำหรับคนชอบชมวิวสวยบริเวณเขารังมีศาลาให้คุณมานั่งพักผ่อนชมวิวสวยของตัวเมืองภูเก็ตกันหลายหลัง จากจุดนี้หากมองออกไปจะพบวิวอันกว้างไกลมองเห็นอาคารบ้านเรือนในตัวเมืองภูเก็ตไปจนถึงขุนเขาทอดยาวด้านหลัง แต่ช่วงเวลาที่มีความสวยงามที่สุดของที่นี่คือ ช่วงเย็นจนถึงช่วงค่ำเพราะแสงไฟจากอาคารต่างๆ ในตัวเมืองจะส่องแสงระยิบระยับควบคู่ไปกับแสงสุดท้ายของวัน นับเป็นภาพที่สวยงามหากคุณพักอยู่ในตัวเมืองภูเก็ตไม่ควรพลาดที่จะขึ้นมาเที่ยวชมเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งชาวภูเก็ตเองก็ยังนิยมขับรถขึ้นมาดินเนอร์มื้อค่ำชมวิวสวยในร้านอาหารบนเขารังแห่งนี้กันเป็นประจำ   

คอซิมบี้ ณ ระนอง

พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี คือใคร? 

หลายคนรู้จักในชื่อ คอซิมบี้ ณ ระนอง เป็นชาวจ.ระนอง และเป็นบุตรคนสุดท้องของพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซูเจี้ยง ณ ระนอง) หลังจากเข้ารับราชการในตำแหน่งมหาดเล็กไม่นานก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการเมืองกระบี่ และต่อมาก็ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ดำรงตำแหน่งผุ้ว่าราชการจ.ตรัง ในช่วงดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตรังเป็นเวลากว่า 11 ปี ท่านได้สร้างผลงานไว้มากมายทำให้เมืองตรังเจริญก้าวหน้า จึงได้รับมอบหมายให้มาเป็นสมุหเทศาภิบาล มณฑลภูเก็ต ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลหัวเมืองตะวันตกหลายแห่ง ได้แก่ ภูเก็ต ตรัง กระบี่ พังงา ระนอง และสตูล หลังจากนั้นท่านก็ยังสร้างผลงาน และพัฒนาเมืองต่างๆ ไว้อีกมากมาย โดยเฉพาะใน 6 ด้านสำคัญ ได้แก่ การคมนาคม การศึกษา สาธารณะสุข เกษตรกรรม การค้า และการรักษาความสงบ ด้วยคุณงามความดีเหล่านี้ทำให้ในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงทรงแต่งตั้งให้พระยารัษฏาฯ เลื่อนขั้นมาดำรงตำแหน่งเป็นองคมนตรี และตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ

ซึ่งพระยารัษฎาฯ ก็ได้ปฏิเสธทุกตำแหน่ง โดยขอดำรงตำแหน่งเดิมต่อไป